posttoday

ความต่างประเทศในคำและความคิด

24 มิถุนายน 2565

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

 ***********************

ในการเข้าไปสัมพันธ์กับต่างประเทศตะวันตกในศตวรรษที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และราชสำนักแวร์ซายส์เป็นศูนย์กลางอำนาจใหญ่ในยุโรป หรือในการสัมพันธ์กับโลกมุสลิมในช่วงเวลาเดียวกัน สิ่งที่ศูนย์กลางอำนาจในยุโรปและในโลกมุสลิมเสนอการเปลี่ยนแปลงผ่านคำเชิญชวนมายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยา คือ การเชิญชวนให้พระมหากษัตริย์เปลี่ยนศาสนา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่ทรงเปลี่ยนเป็นคริสตัง หรือเปลี่ยนมานับถือศาสนาพระมะหะหมัด (สมจัย อนุมานราชธน 2563) แต่ทรงตอบสนองคำเชิญชวนที่มาจากต่างประเทศดังกล่าวไปอีกทางหนึ่ง นั่นคือ การไม่กีดกันการเผยแผ่ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคริสต์หรืออิสลาม

ข้าพเจ้ายังค้นไม่พบว่าในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระศาสดาในศาสนาอิสลามหรือของศาสนาคริสต์ พวกครูสอนศาสนาหรือสังฆราชบาทหลวงอย่าง สังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau 1637 – 1696) เลือกใช้คำในภาษาอยุธยาถ่ายทอดคำสอนออกมาแบบใด ได้ยืมคำและความคิดจากคัมภีร์ในพุทธศาสนา เช่น วิญญาณ จิต เมตตากรุณา นรก สวรรค์ ฯลฯ ไปใช้ในการถ่ายทอดและเผยแผ่ศรัทธา และต้องพบกับปัญหาในการปรับคำและความหมายที่มีรูปความคิดตามศาสนาพุทธและพราหมณ์เดิม หรือศาสนาผี ติดมาด้วยบ้างหรือไม่ และท่านเหล่านั้นกับคนที่เข้ารีตและต้องการเข้าถึงพระธรรมคำสอนของศาสนาใหม่พบช่องว่างของความเข้าใจมากน้อยเพียงใด

แต่นอกจากการเผยแผ่ศาสนาแล้ว ความตกลงที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาทำกับฝรั่งเศสยังอนุญาตพวกมิชชันนารี “มีสิทธิทำการสั่งสอนวิทยาศาสตร์ กฎหมาย และวิชาอื่นๆ ที่ไม่เป็นการขัดต่อรัฐบาลและกฎหมายของบ้านเมือง” (สมจัย อนุมานราชธน 2563, 210) การถ่ายทอดความรู้ชุดใหม่อย่างวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ หรือกฎหมายของประเทศตะวันตก ก็ต้องอาศัยคำสำหรับถ่ายทอดความคิดจากภาษาต้นทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจในฝ่ายที่เป็นผู้รับที่อยู่ในท้องถิ่นปลายทาง ในระหว่างนั้น จะมีคำที่จำเป็นต้องคิดขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการถ่ายทอดความคิดและความรู้เหล่านี้มากน้อยเพียงใด อย่างคำว่า science ซึ่งเป็นคำตรงกันทั้งในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ภาษาสมัยอยุธยาจะแปลคำนี้ด้วยคำไหนที่ถ่ายทอดให้คนที่ลพบุรีและสุพรรณบุรีเข้าใจตรงกับคนที่อยุธยาและปารีส ถ้ามีใครค้นคว้านำคำใหม่ที่ผู้ถ่ายทอดในเวลานั้นต้องคิดขึ้นใช้สำหรับสื่อความคิดความเข้าใจข้ามพรมแดนก็คงจะได้ความรู้ไม่น้อยทีเดียว

ข้าพเจ้าทราบแต่ว่าภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แล้ว การเผยแผ่ศาสนาพบข้อจำกัดมากขึ้น ส่วนการเผยแผ่ถ่ายทอดวิทยาการไม่แน่ใจว่าจะดำเนินต่อมาได้เพียงใด แต่ความคับคั่งของแขกเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีปรากฏหลักฐานหนึ่งอยู่ในหนังสือพระราชปุจฉา สมเด็จพระนารายณ์ “มีพระราชโองการให้อำมาตย์คนหนึ่งมาถามพระพรหม  ณ วัดปากน้ำประสบ” ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระองค์ คราวหนึ่งทรงถามว่า “พระสงฆ์วัดวังไชยนินทาพระเจ้าว่าพระเจ้ารักแขกเมืองยิ่งกว่าข้าแผ่นดิน แลพระเจ้าให้ขับเสียนั้น ชอบฤามิชอบ” อีกคราวหนึ่ง “ตรัสใช้ให้นายสิทธิ์มาถามพระพรหมอีกเล่าว่าบัดนี้แขกเมืองเข้ามามากจะเห็นเป็นประการใด” คำวิสัชนาของพระพรหมถวายสมเด็จพระนารายณ์ใครอ่านเข้าก็ต้องนึกนิยมในความคมคาย

พอมาถึงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เราทราบกันดีว่าคราวนี้ ฝรั่งตะวันตกมิได้เข้ามาขอให้พระมหากษัตริย์เปลี่ยนศาสนา แต่มาโดยความคิดที่เปลี่ยนไปมากแล้วจากสมัยบาทหลวงเดอชัวซี ดังเช่นที่จอห์น เบาริ่ง ประกาศอย่างมั่นใจว่า การค้าเสรีคือพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าคือการค้าเสรี (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 2549, 60)

นอกจากคำและความคิดเกี่ยวกับการค้าขาย อย่างคำว่า company และ agent ซึ่งคงใช้แบบทับศัพท์กันมาก่อน ที่ต้องคิดคำมาถ่ายทอดให้เข้าใจทั้งนัยความหมายทั่วไป และนัยความหมายตามกฎหมายแพ่งแล้ว แบบแผนวิถีปฏิบัติและกิจกรรมในทางสังคม นอกเหนือจากเรื่องที่เกี่ยวศาสนาและวิชาการความรู้ ก็ทยอยกันเข้ามา ผ่านผู้เป็นสื่อกลาง เช่น หมอบรัดเลย์กับกิจการหนังสือพิมพ์ แต่อะไรคือแนวคิด/ความคิดเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ เราทราบแน่ว่าคนกลุ่มแรกที่กังวลอ่อนไหวต่อการมีเอกชนนำตัวบทกฎหมายมาพิมพ์เผยแพร่ให้คนทั่วไปที่อ่านหนังสือออกเข้าถึงได้อ่านได้ใช้ได้ คือฝ่ายทางการบ้านเมืองนั่นเอง แต่ใครเป็นคนแรกที่อธิบายความคิดและความสำคัญของ journalism ต่อสังคม ออกมาให้เกิดความเข้าใจได้ลึกซึ้งกว่าที่ลำพังคำว่า หนังสือพิมพ์ จะสื่อความได้

ลองพิจารณาข้อความใน New Monthly Magazine ที่ตีพิมพ์ที่ลอนดอน ปี ค.ศ. 1831 ต่อไปนี้

Where men are insulated they are easily oppressed; when road become good, and intercourse is easy, their force is increased more than a hundred fold: when, without personal communication, their opinions can be interchanged, and the people thus become one mass, breathing one breath and one spirit, their might increase in a ratio of which it is difficult to find the measure or the limit. Journalism does this office. (คัดมาจากฐานข้อมูล etymonline.com ในคำว่า journalism)

ถ้าหากมีใครส่งนิตยสารฉบับนี้เข้ามาที่กรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ 3 แล้วต้องการแปลเพื่ออธิบายความหมายความสำคัญของ Journalism และ “หนังสือพิมพ์รายวัน” คำและความคิดที่อยู่ในภาษาสมัยรัชกาลที่ 3 จะแปลย่อหน้าข้างต้นในนิตยสารดังกล่าวออกมาให้ความเข้าใจได้แบบไหน

ในเวลาหลังจากนั้นไม่นานนัก การถ่ายทอดคำและความคิดที่จำเป็นคือส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการปกครองสมัยใหม่ทั้งหมด ในส่วนนี้ เรารู้แน่ว่าผู้มีบทบาทสำคัญ จะเรียกได้ว่ามากที่สุด คือท่านผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ คือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ พระองค์วรรณฯ และทรงใช้เวทีหนังสือพิมพ์เป็นสื่อกลางในการเสนอคำ ความหมาย และความเข้าใจความคิดที่อยู่เบื้องหลังคำต่างๆ ลองดูตัวอย่างสักคำนะครับ ว่าการถ่ายทอดศัพท์ทางการเมืองการปกครองมีนัยสำคัญและมีความสำคัญอย่างไรในการใช้คำหนึ่งแทนที่จะเป็นอีกคำ หรือคำอื่นๆ ที่อาจใช้ได้

คำที่ขอยกมาคือ administer

พระองค์วรรณฯ ทรงบันทึกว่าไทยพบกับคำว่า administered by ในสนธิสัญญาก่อนและเราเลือกแปลในบริบทของสนธิสัญญาในความหมายว่าอาณาเขตและดินแดนทั้งปวงตามที่ปรากฏในข้อตกลงนั้นใครเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ปกครอง แต่มีพระมติต่อไปว่า ถ้าจะนำคำว่า ปกครอง มาใช้ถ่ายทอดคำว่า administer หรือ administration ก็ไม่สู้จะเหมาะ เพราะได้ใช้คำว่า ปกครอง คำนี้แปล government ไปแล้ว โดยที่ Government แปลว่า รัฐบาล ทรงตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “เมื่อกล่าวคำว่าปกครองขึ้น คนไทยยังเข้าใจว่า รักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ปราบ เป็นที่ตั้ง หาได้นึกถึงการบำรุงไม่”

พระองค์วรรณฯ ทรงเห็นว่า คำที่เหมาะมากกว่าคำว่า ปกครอง สำหรับจะใช้ถ่ายทอดคำ administer/ administration คือคำว่า บริหาร แต่คำนี้ก็ใช้แปล Executive ไปแล้วว่า คือ ฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายนี้แยกออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ นิติบัญญัติออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารหมายถึง “องค์การอำนวยการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และมิได้หมายเฉพาะถึงองค์การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย เราจึงควรใช้คำว่าบริหารให้ตรงกับคำว่า Executive ต่อไป”  (เน้นคำตามต้นฉบับ)

แต่คำที่เหมาะกว่านั้นยังมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคิดถึงว่ามูลศัพท์ของคำว่า administer มีความหมายต่างจากการปกครองไม่ว่าจะตามนัยของคำไทยหรือคำว่า government  พระองค์วรรณฯ ทรงบันทึกว่าตามมูลศัพท์ administer “หมายความว่ารับใช้ หรือบำเรอ ซึ่งเกี่ยวกับการบำรุงอย่างยิ่ง” เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่จะแปล administer ว่าปกครอง หรือ บริหาร ทรงเสนอคำแปลสำหรับ administer ให้รับนัยของการบำรุงรักษาเข้ามาไว้ในตัวคำ ทรงเลือกคำว่า บริบาล และ บริรักษ์ มาเสนอให้พิจารณา และทรงเห็นว่า คำว่า บริรักษ์ น่าจะเหมาะที่จะใช้แปล administer/ administration

แต่สุดท้าย คำติดตลาดสำหรับแปลคำนี้คือคำว่า บริหาร

พอเป็นแบบนั้น ก็เลยยากที่จะหาพบใครสักคนในฝ่ายบริหารของประเทศไทยที่จะเข้าใจ การรับใช้ และการบำรุงรักษา

ขอใช้บทความที่เขียนรำลึกถึงนักการหนังสือพิมพ์คนสำคัญ ส่งเป็นบทความสุดท้ายที่มีโอกาสเขียนให้หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์