posttoday

ชัยชนะของอาจารย์ชัชชาติ (4)

22 มิถุนายน 2565

โดย...นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

****************

นอกจากความยากของปัญหาใน กทม. นอกจากความคาดหวังที่สูงและเอาใจยากของคน กทม. และ “ด่านวิบาก” ต่างๆ แล้ว เชื่อว่าอาจารย์ชัชชาติ มีการเตรียมตัวมาดี มีทีมงานที่เข้มแข็ง และมีอิสระในการทำงานพอสมควรเพราะตัดสินใจสมัครรับเลือกตั้งในนามผู้สมัครอิสระ การศึกษาบทเรียนจากผู้ว่าคนก่อนๆ น่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย

เรื่องหนึ่งที่น่าศึกษา คือ วิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และปัญหาเรื้อรังใน กทม. เพราะ กทม. เป็นที่ลุ่ม ใกล้ทะเล มีระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงเล็กน้อย ประกอบกับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ที่จำนวนมากยังขาดวินัยในการอยู่ในเมือง ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงท่อ และส่วนหนึ่งลงแม่น้ำลำคลอง สิ่งก่อสร้างจำนวนมากกีดขวางการระบายน้ำและวัสดุบางอย่างจากการก่อสร้างทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน ที่สำคัญนอกจากฝนตกชุกในบางช่วงปีแล้ว ภาวะโลกร้อนยังทำให้ฝนตกหนักขึ้นและถี่ขึ้นด้วย

คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์บางคนคงยังจำได้ถึงผู้ว่า กทม. คนแรกจากการเลือกตั้ง คือ คุณธรรมนูญ เทียนเงิน สส. ฝีปากกล้าของประชาธิปัตย์จากชลบุรี ที่สามารถ “ข้ามห้วย” มาโด่งดังบนหลังคารถหาเสียงใน กทม. และในที่สุดก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. คนแรก ด้วยคะแนน 99,247 คะแนน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518

ตอนนั้นคุณธรรมนูญเป็น “ขวัญใจ” และเป็น “ความหวัง” ของคน กทม. แต่พอเจอฝนตกน้ำท่วมยกแรกก็ถึงขั้น “เสียศูนย์” ตอนเกิดเหตุคุณธรรมนูญเดินทางไป “ทัศนศึกษา” ที่กรุงมอสโคว์ ซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองหลวงของสหภาพโซเวียตรัสเซีย คุณธรรมนูญพูดทางวิทยุส่งข่าวถึงคนกรุงเทพฯ ว่ากำลังอยู่ในมอสโคว์ขณะฝนตกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พอดี เสียงตอบรับของคนกรุงเทพฯ คือเสียงด่าระงม เพราะในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มีแต่ภาพน้ำท่วมและรถตายบนท้องถนนเพราะน้ำเข้าหัวฉีด ผู้คนเดือดร้อนกันทั่วแต่ผู้ว่ากลับ “ไปเที่ยวสนุก” อยู่ที่มอสโคว์ ผลคือคุณธรรมนูญต้อง “เผ่นกลับ” ก่อนกำหนด และทันทีที่มาถึงกรุงเทพฯ ก็ “สร้างภาพ” โดยการพับขากางเกงและถลกแขนเสื้อลงไปช่วยเข็นรถที่ตายอยู่บนท้องถนน

คุณธรรมนูญก็ “ชื่อเสีย” มาตั้งแต่บัดนั้น และปัญหาน้ำท่วมใน กทม. ก็ดูไม่มีทางว่าจะแก้ได้ จนมีข้อเสนอว่าควรจะย้ายกรุงเทพฯ หนีน้ำไปอยู่ที่ดอน แต่ปัญหาการย้ายเมืองหลวงเป็นปัญหาใหญ่กว่าปัญหาน้ำท่วมมาก หลายประเทศย้ายเมืองหลวงแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการย้ายเมืองหลวงต้องอาศัยผู้นำที่มีความรู้ความสามารถและภาวะผู้นำสูง ต้องใช้เงินทองมากมาย และต้องเป็น “อภิมหาโครงการ” ที่ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน

หลังปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 6 ตุลา 2519 และต่อมากรุงเทพฯ ก็ได้ผู้ว่าแต่งตั้งเป็น “มือแข็ง” จากมหาดไทย คือ คุณเชาวน์วัส สุดลาภา ซึ่งเป็น “สายตรง” จากมหาดไทย โดย “ควบ” ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อ พ.ศ. 2523 แต่พอเจอปัญหาน้ำท่วมใน กทม. ก็ “จนแต้ม” และหันไปแก้ปัญหาด้วย “ลมปาก” คือบอกคนกรุงเทพฯ ว่าปัญหาที่คนกรุงเทพฯ เจอไม่ใช่ปัญหา “น้ำท่วม” แต่เป็น “น้ำขัง” จึงแทนที่จะแก้ปัญหาได้ก็เปลี่ยนมาสร้างวาทกรรมเบี่ยงเบนปัญหาแทน ผลคือแก้ปัญหาไม่ได้ และ “วาทกรรม” นี้ก็ยังมีคนนำมาใช้โดยเติม “สร้อย” ว่า “น้ำท่วมขังรอระบาย”

การแก้ปัญหาน้ำท่วมใน กทม. มา “เริ่ม” ประสบความสำเร็จในสมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่า “แบกะดิน” ที่เลือกตั้งชนะ “มือดี” ของประชาธิปัตย์ คือ คุณชนะ รุ่งแสง ผู้บริหารมืออาชีพจากธนาคารกสิกรไทย พล.ต.จำลอง ชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 ด้วยคะแนนเสียง 480,233 คะแนน ตอนนั้น พล.ต.จำลอง “โด่งดัง” จากการเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีภาพลักษณ์ของนายทหารผู้นำกลุ่ม “ยังเติร์ก” ที่มือสะอาดเพราะว่าเป็นศิษย์สำนักสันติอโศกของท่านโพธิรักษ์ กินอาหารมังสวิรัติ วันละมื้อเดียว อาบน้ำวันละ 5 ขัน และอยู่กับภรรยาในฐานะ “ญาติธรรม” เลิกการมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว และยัง “โด่งดัง” ด้วยการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อไปคัดค้านกฎหมายทำแท้ง ที่ผ่านสภาผู้แทนไปแล้วด้วยคะแนน 72 ต่อ 2 แต่ พล.ต.จำลอง ลาออกไปรณรงค์คัดค้านจนกฎหมายนั้นถูกคว่ำไปในวุฒิสภา ทำให้ไม่มีโอกาสได้ผุดได้เกิดมาจนทุกวันนี้

พล.ต.จำลอง เป็นคนประเภท “จิตว่าง” คือว่างจาก “อัตตาตัวตน” จึงมีอิสระสูงในการใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างเต็มที่ วันดีคืนดี พล.ต.จำลอง ก็แต่งชุดหม้อฮ่อม สวมหมวกหรุบหน้าออกไปกวาดขยะริมถนน ซึ่งแม้เป็นเพียง “การแสดง” แต่ก็มีผลเรื่องการแก้ปัญหาความสะอาดใน กทม. ได้อย่าง มีพลัง

ปัญหาน้ำท่วม พล.ต.จำลอง ก็แก้อย่างเป็นระบบ และมียุทธศาสตร์ ด้วยการวิเคราะห์ให้เห็นภาพและ สื่อกับประชาชนได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่ายว่าปัญหาน้ำท่วมใน กทม. เกิดจาก 3 น้ำ คือ (1) น้ำฝน (2) น้ำเหนือ และ (3) น้ำทะเลหนุน

ดังคาถา “เยธัมมา” ของพระอัสสชิ ที่ว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงรู้เหตุและความดับแห่งธรรมนั้น เมื่อวิเคราะห์เหตุแห่งน้ำท่วม กทม. ได้แล้ว พล.ต.จำลอง ก็หาทาง “ดับเหตุ” แห่งปัญหา โดยปัญหาจากน้ำฝนแก้โดยให้น้ำระบายออกไปให้เร็วที่สุด โดย (1) ลอกท่อระบายน้ำ ไม่ให้อุดตัน ทำให้เห็นภาพนักโทษจากกรมราชทัณฑ์ออกมาลอกท่อ โดยต้องลอกท่อก่อนจะมี “ฝนแรก” (2) น้ำจากท่อระบายไหลลงคลองเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นต้อง “พร่องน้ำ” เพื่อให้ “รับน้ำ” จำนวนมากจากน้ำฝน แต่จะ “สูบทิ้ง” จนหมดก็ไม่ได้ เพราะถ้าเกิดไฟไหม้ จะได้สามารถดูดน้ำไปดับไฟได้

ปัญหาน้ำเหนือ ก็ “ป้องกัน” และ “แก้ไข” โดย 2 มาตรการ คือ (1) ประสานกับกรมชลประทานให้หยุดหรือชะลอการปล่อยน้ำช่วงมีฝนและน้ำทะเลหนุน และ (2) สร้างคันดินตอนเหนือของกรุงเทพฯ เพื่อเบี่ยงน้ำให้น้ำเหนือระบายออกไปทางแม่น้ำท่าจีนทางฝั่งตะวันตก และแม่น้ำบางปะกงทางฝั่งตะวันออก

คันดินเหล่านี้กลายเป็นถนนถาวรในเวลาต่อมา สมัยน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554 มีผู้มีอิทธิพลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกไม่ยอมให้น้ำไปท่วมสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ที่ตนดูแล ผลคือท่วมหมดทั้งกรุงเทพฯ และสองฝั่ง

สำหรับปัญหาน้ำทะเลหนุน กทม. มีการสร้างประตูปากคลองทุกแห่ง เมื่อน้ำลดก็เปิดให้น้ำระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อน้ำในแม่น้ำเอ่อสูงก็ปิดไม่ให้เข้าคลอง และมีที่สูบน้ำขนาดใหญ่สูบออกทะเลอยู่แล้ว ปัญหาใหญ่อยู่ที่เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เหล่านี้มักชำรุด และไม่มีการซ่อมให้ใช้งานได้ตลอดเวลา แต่ “เบิกจ่าย” น้ำมันเต็มตามจำนวนเครื่อง ผลคือการระบายน้ำยังขาดประสิทธิภาพทำให้น้ำท่วมขังอยู่ใน กทม.

พล.ต.จำลอง มาจาก “แบกะดิน” ก็จริง แต่มี “กองทัพธรรม” ราว 2 พันคน กินมังสวิรัติตอนเช้ามื้อเดียวแล้วก็กระจายไปตามเขตและจุดต่างๆ เป็นหูตา “สับปะรด” ที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูง จึงวางรากฐานการแก้ปัญหาต่างๆ ใน กทม. ได้มาก โดยเฉพาะปัญหายากและใหญ่อย่างปัญหาน้ำท่วม แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายใหญ่สายเดียวที่ระบายน้ำสู่ทะเล จึงไม่เพียงพอ ความคดเคี้ยวก็มีการแก้ไขโดย “คลองลัดโพธิ์” และเพิ่มทางระบายน้ำโดยการขุดอุโมงค์ลอดใต้กรุงเทพฯ หลายแห่ง

พล.ต.จำลอง ทำงานสำเร็จหลายอย่าง ทำให้ได้รับเลือกตั้งสมัยที่สอง ด้วยคะแนนท่วมท้นถึง 703,671 คะแนน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2533 แต่ไปเจอ “ฝนพันปี” เลยทำให้ “เสียศูนย์” และเพราะ “คิดการใหญ่” เบนหัวเรือจากการเมืองท้องถิ่น ออกสู่ “สนามใหญ่” ด้วยการตั้งพรรคพลังธรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงหนึ่ง แล้วก็เสื่อมลงตามหลักอนิจจัง แต่ความ “สำเร็จ” ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. ของ พล.ต.จำลอง เป็นสิ่งที่ทีมงานของอาจารย์ชัชชาตินำมา “ต่อยอด” ได้มาก