posttoday

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ 3)

23 มิถุนายน 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

แปดเดือนหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อประเด็นปัญหาเรื่องรูปแบบการปกครองของสยาม โดยวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2469 พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาในภาษาอังกฤษเรื่อง “ปัญหาบางประการของสยาม” (Problems of Siam) ไปถึงที่ปรึกษากฎหมายชาวอเมริกัน ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis B. Sayre/พระยากัลยาณไมตรี) โดยมีคำถามสำคัญที่ทรงขอคำปรึกษาจากฟรานซิส บี. แซร์อยู่ 3 หัวข้อหลัก นั่นคือ

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ 3)

หนึ่ง เรื่องรูปแบบการปกครอง สอง เรื่องกิจการด้านการคลัง และสาม เรื่องกิจการภายในประเทศ

ภายใต้หัวข้อที่หนึ่งที่ว่าด้วยรูปแบบการปกครอง พระองค์ได้กล่าวถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ โดยทรงอธิบายแก่ ฟรานซิส บี. แซร์ ว่า

“พระมหากษัตริย์แห่งสยามน่าจะมาจากการเลือกโดยประชาชน เพราะในสมัยโบราณ หลังจากที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต จะมีพิธีการเลือกพระมหากษัตริย์ โดยมีการประชุมที่ประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางเสนาบดีและพระมหาเถระผู้ใหญ่ โดยพระบรมวงศานุวงศ์หรือเสนาบดีผู้อาวุโสจะเป็นผู้เสนอพระนามของเจ้านายพระองค์ใดให้ขึ้นเสวยราชย์ และจะถามว่ามีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ โดยทั่วไป จะไม่มีใครตอบคำถามดังกล่าวนี้ แต่บางครั้ง การตอบยืนยันจะใช้วิธีการแสดงสัญลักษณ์ยอมรับด้วยการพนมมือขึ้นหรือค้อมศีรษะรับ จากนั้น จะมีการประกาศพระนามพระมหากษัตริย์ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยจะมีการใช้คำว่า ‘เลือกโดยมหาชน’ต่อท้ายพระนามของพระองค์ ประเพณีดังกล่าวนี้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ห้า”

ผู้เขียนขออธิบายความเพิ่มเติมพระราชหัตถเลขาส่วนนี้ ดังนี้คือ ที่ว่า “พระมหากษัตริย์แห่งสยามน่าจะมาจากการเลือก” มาจากข้อความในพระราชหัตถเลขาที่ว่า “The Kings of Siam are supposed to be elected by the people.” และคำว่า “เลือกโดยมหาชน” ผู้เขียนแปลมาจากคำว่า “elected by the people” ที่พระองค์ทรงใช้ในพระราชหัตถเลขา

ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่ได้หมายถึงว่าพระมหากษัตริย์มาจากการเลือกโดยประชาชนทั่วไป แต่มาจากความเห็นชอบพร้อมใจกันของที่ประชุมที่ประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางเสนาบดีและพระมหาเถระผู้ใหญ่ ประเพณีการมาประชุมกันเพื่อเลือกพระมหากษัตริย์นี้จะมีมาแต่โบราณแค่ไหนนั้น ผู้เขียนไม่แน่ใจ

แต่ตามหลักฐานปรากฎชัดเจนในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาจนถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในพระสุพรรณบัฏของรัชกาลที่สี่และรัชกาลที่ห้าจะมีคำว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” หรือ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ต่อท้ายพระนามของทั้งสองพระองค์

โดยในพระสุพรรณบัฏรัชกาลที่สี่ จะมีข้อความดังต่อไปนี้

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ……..มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ......”

และในพระสุพรรณบัฏรัชกาลที่ห้า มีข้อความดังต่อไปนี้

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ…….มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ…..”

แม้ว่าในพระสุพรรณบัฏรัชกาลที่สามจะไม่ปรากฏคำว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” และ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” แต่ในทางปฏิบัติ พระองค์ทรงเสด็จขึ้นเสวยราชย์จากความเห็นพ้องต้องกันของที่ประชุม ผู้เขียนเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยถึงเงื่อนไขที่พระองค์ได้เสวยราชย์ และก็เข้าใจด้วยว่า ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์นั้นก็เป็นไปตามหลักการที่ที่ประชุมพร้อมใจกันเลือกพระองค์ให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จขึ้นครองราชย์จากความเห็นชอบของที่ประชุมมากกว่าจะเป็นไปตามหลักการของสถานะกำเนิด เพราะถ้าว่ากันตามสถานะกำเนิด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าฟ้า และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก่อนจะเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงพระอิสรริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ดังนั้น ประเพณีการเลือกโดยที่ประชุมจึงเริ่มขึ้นชัดเจนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่สองสู่รัชกาลที่สาม และเมื่อดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่สี่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงกำหนดไว้ในพระสุพรรรณบัฏของพระองค์ตามเงื่อนไขความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และสืบต่อไปถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯด้วย

แต่ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตเลขาว่า “โดยพระบรมวงศานุวงศ์หรือเสนาบดีผู้อาวุโสจะเป็นผู้เสนอพระนามของเจ้านายพระองค์ใดให้ขึ้นเสวยราชย์ และจะถามว่ามีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ โดยทั่วไป จะไม่มีใครตอบคำถามดังกล่าวนี้ แต่บางครั้ง การตอบยืนยันจะใช้วิธีการแสดงสัญลักษณ์ยอมรับด้วยการพนมมือขึ้นหรือค้อมศีรษะรับ”

นั้น ในที่ประชุมในครั้งที่เลือกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯนั้นเป็นไปตามพระราชหัตถเลขา เพียงแต่ในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ตำแหน่งวังหน้า) ที่เกิดขึ้นในที่ประชุมหลังจากพร้อมเพรียงกันยกให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสวยราชย์แล้ว เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เสนาบดีอาวุโสได้เสนอต่อที่ประชุมให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วถามว่ามีผู้ใดจะคัดค้านหรือไม่ ปรากฎว่าได้มีการคัดค้านเกิดขึ้น โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพเป็นผู้คัดค้าน อันเป็นเหตุให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตอบโต้โดยถามกรมขุนวรจักรฯว่าที่คัดค้าน เพราะกรมขุนวรจักรฯอยากจะได้รับพระราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้เสียเอง

ซึ่งต่อมา ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพระราชทานแก่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ มีความตอนหนึ่งยืนยันว่า “....การที่ตั้งวังหน้าคนนี้ (กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ/ผู้เขียน) ขึ้นนั้นเพราะเห็นว่า เมื่อแรกหม่อมฉันก็ยังเจ็บแล้วก็เป็นเด็กอยู่ มีเจ้านายที่มุ่งหมายจะเป็นวังหน้าวังตาเหมือนกรมขุนวรจักร..”

จากที่กล่าวมา กล่าวได้ว่า ตั้งแต่รัชกาลที่สามเป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ห้า การกำหนดตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นอำนาจของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีมากกว่าจะเป็นพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกัน ในกรณีของตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่เป็นบุคคลที่อยู่ในสถานะที่จะสืบราชสันตติวงศ์หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต

แม้ว่า อำนาจในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจะเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง และแม้ว่าพระมหากษัตริย์อาจจะทรงต้องการให้จะพระราชโอรสของพระองค์เป็นองค์รัชทายาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถแต่งตั้งพระราชโอรสของพระองค์ในตำแหน่งวังหน้าได้เสมอไป นอกจากนี้ ในบางสถานการณ์ พระองค์ทรงปล่อยให้ตำแหน่งดังกล่าวนี้ว่างลง อันแสดงให้เห็นว่า ในการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหากษัตริย์ทรงตกอยู่ภายใต้ปัจจัยต่างๆดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้ว

และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงสามารถดึงพระราชอำนาจกลับคืนมา พระองค์ได้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และสถาปนาตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารขึ้น อันหมายถึงการสืบราชสันตติวงศ์ต่อไปจะเป็นไปตามผู้ดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร นั่นคือ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ และในกฎมณเฑียรบาลที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่หกก็ยังเป็นไปตามหลักการดังกล่าวนี้

ดังนั้น ในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีไปยังฟรานซิส บี. แซร์ พระองค์จึงทรงปรึกษาโดยตั้งคำถามว่า

หนึ่ง พระมหากษัตริย์ควรมีสิทธิ์ในการเลือกเจ้านายพระอง์ใดพระองค์หนึ่งเป็นองค์รัชทายาทหรือไม่ ?

สอง ควรจะยอมรับหลักในการเลือกของพระมหากษัตริย์ หรือให้การสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นอยู่กับสถานะกำเนิดเท่านั้น และจะต้องมีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลที่มีอยู่ขณะนั้นหรือไม่ ? (กฎมณเฑียรบาลขณะนั้นถูกตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2467 และทรงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2468)

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ 3)

                               ฟรานซิส บี. แซร์มีความเห็นอย่างไรต่อประเด็นคำถามดังกล่าว โปรดติดตามตอนต่อไป