posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบห้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็นการศึกษากรณี “อู นุ-เนวิน 2501” ตลอดระยะเวลา 46 ปี

20 มิถุนายน 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

****************************

ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไร ตัวละครสำคัญในเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นปริศนาต่างพากันจากโลกนี้ไป และเหตุการณ์ที่ว่านั้นก็เริ่มหมดอิทธิพลสำคัญต่อสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ความจริงที่เคยถูกปิดไว้ก็เริ่มถูกเปิดเผยออกมาได้ และนี่ก็คือ การศึกษากรณี “อู นุ-เนวิน 2501” ในการเมืองพม่าตลอดระยะเวลา 46 ปีสำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตาม กรณี “อู นุ-เนวิน 2501” ขอขยายความอีกครั้งว่า กรณีดังกล่าวนี้ คือ “การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ อู นุ หัวหน้าพรรค ‘สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์’ ของพม่าในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2501  และได้กลายเป็นเงื่อนไขให้ เนวิน เสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ"

การรับรู้กรณีดังกล่าวนี้เริ่มต้นจากรายงานข่าวที่เขียนขึ้นในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ. 2502  (เก้าเดือนหลังเหตุการณ์) ของอัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ ผู้สื่อข่าวที่เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รายงานข่าวของเขาทำให้คนอ่านเข้าใจว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองอันตึงเครียดในพม่า ได้มีข่าวลือว่าจะเกิดการรัฐประหาร ฝ่ายรัฐบาลได้เรียกตัวนายพลเนวินเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว นายพลเนวินปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว ขณะเดียวกัน ทางกองทัพได้ส่งนายพันเอกหม่อง หม่องและนายพันเอก อ่อง ยีเข้ามารายงานจุดยืนของกองทัพต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งยืนยันว่า กองทัพไม่ได้ต้องการจะทำรัฐประหาร และก็ไม่ต้องการประกาศกฎอัยการศึก และจะไม่เป็นผู้เริ่มลงมือใดๆก่อน  แต่ทหารจะไม่ยอมรับการกระทำใดๆที่จะทำให้กองทัพเสียหาย อีกทั้งกองทัพก็ไม่ยอมให้มีการใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญที่พวกนักการเมืองในรัฐบาลพยายามจะใช้ รวมทั้งการไปดึงพวกคอมมิวนิสต์เข้ามา

จากรายงานของราเวนโฮลท์กล่าวว่า หลังจากนั้น อู นุ ตัดสินใจลาออกและเชิญนายพลเนวินให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยเขาจะเสนอชื่อนายพลเนวินสู่สภาเพื่อให้ลงมติรับรองตามครรลองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490

ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 (3 ปีหลังเหตุการณ์)  แซมมวล ไฟน์เนอร์ (S.F. Finer) ศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้ออกหนังสือ  “The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics” (บุรุษบนหลังม้า: บทบาทของทหารในการเมือง) และเสนอกรอบทฤษฎีในการอธิบายการเกิดหรือไม่เกิดรัฐประหาร กรอบที่ว่านี้เขาตั้งชื่อว่า “Disposition and opportunity:' the calculus of intervention” (ทัศนคติแนวโน้มพฤติกรรมและโอกาส การคิดคำนวณชั่งน้ำหนักถึงความเป็นไปได้ข้อดีข้อเสียในการแทรกแซง) โดยมีสมมุติฐาน 3 ข้อคือ

1)  ในกรณีที่กองทัพไม่มีความคิดหรือทัศนคติในการแทรกแซง และไม่มีโอกาสหรือมีเงื่อนไขในการแทรกแซง การแทรกแซงก็จะไม่เกิดขึ้น

2) ในกรณีที่กองทัพมีทั้งสองปัจจัยนี้ การแทรกแซงจะเกิดขึ้น

3) ไม่มีปัจจัยด้านความคิดและทัศนคติ แต่มีเงื่อนไขหรือโอกาสให้แทรกแซง

การใช้กรอบ “Disposition and opportunity: the calculus of intervention” เข้าศึกษาวิเคราะห์กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”  ไฟน์เนอร์ลงความเห็นว่า กรณีดังกล่าวนี้ กองทัพไม่ได้มีความคิดที่จะแทรกแซงทางการเมือง แต่เงื่อนไขจำเป็นให้กองทัพต้องเข้าแทรกแซงจากการเชิญของ อู นุ ที่ทำให้นายพลเนวินจำเป็นต้องรับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ แต่กระนั้น ในเชิงอรรถ ไฟน์เนอร์แสดงทีท่าว่าข้อมูลที่เขาได้รับไม่น่าจะเป็นความจริงทั้งหมด !

หลังกรณี “อู นุ-เนวิน 2501” เป็นเวลา 31 ปี ในปี พ.ศ. 2534  มาร์ติน สมิธได้ออกหนังสือเรื่อง “Burma: Insurgency and the Politics of Ethnicity” (พม่า: การก่อความไม่สงบและการเมืองชาติพันธุ์) และได้เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณี “อู นุ-เนวิน 2501” ไว้ด้วย โดยเขาสามารถได้เอกสารสำคัญมาฉบับหนึ่ง นั่นคือ จดหมายที่ อู นุ เขียนไปถึง นายพลซอ หม่อง (Saw Maung)  ลงวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) เป็นเวลา 31 ปีหลังจากเหตุการณ์ “อู นุ-เนวิน 2501” และเป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากที่นายพลเนวินลงจากอำนาจ หลังจากที่ครองอำนาจต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 26 ปีแล้ว สาระสำคัญบางตอนในจดหมายของ อู นุ กล่าวว่า  ความแตกต่างระหว่างการทำรัฐประหารสองครั้งที่ทำโดยนายพลเนวิน ในปี พ.ศ. 2501 และ พ.ศ. 2505  คือ ในปี พ.ศ. 2501   อู นุ รู้ล่วงหน้าว่า ทหารจะทำรัฐประหาร จึงทำให้เขาสามารถจัดให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสงบเรียบร้อย “เพื่อที่จะรักษาเกียรติของกองทัพ”

นั่นหมายความว่า อู นุ ต้องการสื่อว่า ในความเข้าใจของเขา การขู่ว่าจะทำรัฐประหารเป็นเรื่องจริง และเขาเลือกที่จะไม่ให้เกิดรัฐประหารในพม่า เพื่อรักษารัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าที่ใช้มาเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2490  และใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญในการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากตัวเขาไปสู่นายพลเนวิน โดยที่เขาตัดสินใจลาออกและเสนอชื่อนายพลเนวินต่อสภา  และจากจดหมายนี้เองที่ทำให้ อู นุ ต้องถูกกักบริเวณ ไม่ต่างจากที่ ออง ซาน ซู จีถูกกักบริเวณ ซึ่งก็คือ การคุมขังอย่างหนึ่งนั่นเอง

ดังนั้น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501” จึงถือว่าเป็นการรัฐประหารอย่างหนึ่งที่ไม่ได้มีการใช้กำลังความรุนแรงยึดอำนาจ แต่เป็นการใช้อำนาจอิทธิพลกดดันให้อู นุ ลาออกและเชิญนายพลเนวินขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการผ่านวิถีทางรัฐสภา  ซึ่งการรัฐประหารในลักษณะนี้ มีศัพท์วิชาการเรียกว่า “constitutional coup”  คือการทำรัฐประหารโดยไม่ทำให้เห็นว่ามีการฉีกรัฐธรรมนูญแถมยังดำเนินไปตามช่องทางกฎหมาย  ในการเมืองไทย รัฐประหารแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 ที่ฝ่ายทหาร “จี้” ให้นายควง อภัยวงศ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อ จอมพล ป พิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี  และการทำรัฐประหารในลักษณะนี้ (constitutional coup) ผู้เขียนเรียกว่า “รัฐประหารอำพราง”

จาการค้นคว้าของมาร์ติน สมิธ ดูเหมือนว่าจะตัดสินปิดฉากข้อสงสัยในกรณี “อู นุ-เนวิน 2501”ลงได้โดยสรุปได้ว่า ทหารจะทำรัฐประหารจริงๆ แต่อู นุหาทางที่จะไม่ให้เกิดรัฐประหารโดยการลาออกและใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญให้นายพลเนวินเป็นายกรัฐมนตรีโดยไม่พม่าไม่ต้องสูญเสียรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไป

แต่เรื่องไม่ได้จบเพียงแค่นั้น ! เพราะในปี พ.ศ. 2546  สี่สิบห้าปีหลังกรณี “อู นุ-เนวิน 2501” แมรี่ คาลาแฮนได้ออกหนังสือเรื่อง “Making Enemies: War and State Building in Burma” ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2546  และในงานชิ้นนี้ของแมรี่ คาลาแฮน เธอได้เข้าถึงเอกสารหลายชิ้นที่มาร์ติน สมิธไม่สามารถเข้าถึงได้ เอกสารที่ว่านี้คือ หลักฐานบันทึกการประชุมของนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ ค.ศ. 1950 ยืนยันถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองกับนายทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างพรรค Clean AFPFLของ อู นุ และ พรรค Stable AFPFL กับเหล่านายทหาร

ซึ่งทำให้ผู้ศึกษากรณี “อุ นุ-เนวิน 2501”  เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า  “รัฐประหารอำพราง” มีสาเหตุมาจากการที่พรรค AFPFL ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลขณะนั้น ได้เกิดความขัดแย้งจนพรรค AFPFL ถึงกับต้องสลายตัวและแตกออกเป็นพรรคใหม่สองพรรค นั่นคือ พรรค Clean AFPFL ที่นำโดยอู นุ และพรรค Stable APFPFL ที่นำโดยบาซเว และการแตกของพรรคการเมืองนี้ได้นำไปสู่ความแตกแยกภายในกองทัพด้วย   นายทหารส่วนใหญ่อยู่ข้างพรรค Stable AFPFL และต่อต้านพรรค Clean AFPFL ของ อู นุ  โดยนอกจากปัจจัยเรื่องจุดยืนทางการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำ Stable AFPFL กับนายทหาร เช่น นายทหารบางคนเป็นน้องเขยของแกนนำ Stable AFPFL และการแตกแยกในกองทัพเป็นการแตกระหว่างทหารฝ่ายเสนาธิการกับทหารฝ่ายคุมกำลัง

แม้ว่าข้อมูลของคาลาแฮนจะตรงกับของราเวนโฮลท์ที่ว่า หลังจากที่รัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลของ อู นุ รายงานต่อ อู นุว่า มีข่าวลือว่ากองทัพจะทำรัฐประหาร เนื่องจากสถานการณ์ในย่างกุ้งก็ดี และในพื้นที่ต่างๆในชนบทก็ดี มีแนวโน้มจะเกิดความสับสนวุ่นวาย แต่นายพลเนวินปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว  และทางกองทัพได้ส่งพันเอกหม่อง หม่อง (Maung Muang) และพันเอกอ่อง ยี (Aung Gyi) ไปหารือกับอู นุ 

ในงานของคาลาแฮนได้กล่าวถึงบันทึกข้อความที่พันเอกหม่อง หม่อง ได้กล่าวก่อนที่จะมีการผ่องถ่ายอำนาจจาก อู นุไปยังนายพลเนวินว่า “เราไม่ต้องการให้พวกเขาทำรัฐประหาร ดังนั้น เราจึงตัดสินที่จะทำรัฐประหารก่อน” และจากคำกล่าวนี้ทำให้สรุปได้ว่า พันเอกหม่อง หม่อง และพันเอกอ่อง ยี น่าจะเป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกดดัน อู นุ โดยขู่ว่าจะยึดอำนาจ ส่งผลให้ อู นุ ตัดสินใจลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๑

ทหารฝ่ายที่ต่อต้านอู นุ คือทหารสายกำลัง และเป็นฝ่ายที่กดดันอู นุโดยขู่ว่าจะทำรัฐประหาร เพื่อหวังจะสร้างสูตรผสมใหม่ระหว่างทหารกับพลเรือน  ซึ่งน่าจะหมายถึงการจัดตั้งรัฐบาลโดยแกนนำของพรรค Stable AFPFL ร่วมกับแกนนำของทหารสายกำลัง

แต่จากข้อมูลที่ได้มานั้น ไม่มีการกล่าวถึงนายพลเนวิน  ดังนั้น จึงไม่สามารถกล่าวได้ชัดเจนถึงบทบาทของนายพลเนวินในการกดดันให้ อู นุ ลาออกเพื่อตนจะได้เข้ามาแทน แต่บทบาทของนายพลเนวินคือ การเข้ามาแทรกแซงแผนการทำรัฐประหารของพันเอกหม่อง หม่องและพันเอกอ่อง ยี  ผ่านการต่อรองเจรจากับ อู นุ ให้มีการผ่องถ่ายอำนาจมาที่กองทัพเสีย และยืนยัน “เป้าหมายร่วมกัน” ของกองทัพ โดยประกาศผ่านเอกสารที่มีชื่อ “อุดมการณ์แห่งชาติและบทบาทในการป้องกันประเทศ”  โดยมีเป้าหมายหลักคือ การนำกองทัพกลับสู่ความเป็นเอกภาพ

งานของคาลาแฮนทำให้เห็นภาพว่า แม้ว่าการพยายามทำรัฐประหารจะมีจริงในปี พ.ศ. 2501 แต่ไม่ใช่ “กองทัพ” โดยรวมที่พยายามจะทำรัฐประหารอย่างที่สมิธอ้างจดหมายของอู นุ  แต่มีความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนซ่อนอยู่ภายในกองทัพ  และด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถกล่าวได้อย่างกว้างๆว่า กองทัพมี disposition ในการแทรกแซงการเมืองอย่างที่ไฟน์เนอร์ตั้งเป็นสมมุติฐานไว้

แต่สิ่งที่ควรติดตามศึกษาต่อไปคือ นายพลเนวินมีความตั้งใจที่จะนำกองทัพกลับสู่ความเป็นเอกภาพจริงๆ หรือเพียงแต่เขาฉกฉวยโอกาสขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้เงื่อนไขที่อู นุต้องการรักษารัฐธรรมนูญไว้ เพื่อกันไม่ให้ทหารคุมกำลังขึ้นมามีอำนาจ เพราะตัวนายพลเนวินอยู่ในฝ่ายเสนาธิการ

คำตอบน่าจะอยู่ที่ตอนนายพลเนวินจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ เขาดึงทหารฝ่ายคุมกำลังเข้ามาร่วมรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน ?

และทำไมในปี พ.ศ. 2505 เขาถึงทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้ง ?