posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (๓๗)

18 มิถุนายน 2565

 โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

“ธนาธิปไตยคลื่นลูกที่ ๓” นั้นเขาหากินทางการเมืองกันเป็นเครือข่าย

อย่างที่ได้เขียนมาว่า ธนาธิปไตยคลื่นลูกที่ ๑ คือการใช้เงินแจกหว่านสร้างฐานอำนาจเป็นรายบุคคล ที่เริ่มต้นในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อครั้งที่แกคิดจะใช้พรรคการเมืองรองรับอำนาจขอแก ด้วยการตั้งพรรคสหประชาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ แล้วก็ต้องใช้เงินเลี้ยงดูจนทนไม่ได้ จนต้องทำรัฐประหารล้มสภานั้นเสียในอีก ๒ ปีต่อมา ส่วนธนาธิปไตยคลื่นลูกที่ ๒ คือการใช้เงินตั้งกลุ่มกันสร้างอำนาจต่อรองเอากับผู้มีอำนาจ ในระบบ “มุ้ง” และ “โควตา” ก็เกิดขึ้นในอีก ๑๐ ปีต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยนายทหารที่คิดจะใช้นักการเมืองหนุนฐานอำนาจของตนอีกเช่นกัน คือพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งสุดท้ายก็ไปไม่รอด ถูกนักการเมืองนั่นเองเปลี่ยนขั้วไปหนุนนายทหารอีกคนหนึ่ง คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

พลเอกเปรมใช้ระบบ “พูดน้อย ๆ” ไม่สุงสิงกับนักการเมืองให้สนิทสนมมากนัก แต่กระนั้นก็เจอปัญหาอยู่มาก ทั้งเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดเพราะถูกลอบสังหารอยู่ถึง ๒ - ๓ ครั้ง และเกือบจะย่ำแย่เพราะถูกก่อการกบฏอีก ๒ ครั้ง จนเมื่อเห็นว่าจะเอาไม่อยู่เพราะการเมืองทั้งในสภาและในกองทัพก็รุนแรงมากขึ้นทุกที รวมทั้งที่ถูกถวายฎีกาว่าจะทำให้ประเทศชาติย่ำแย่ลงไปอีก ในที่สุดหลังการเลือกตั้งในปี ๒๕๓๑ ท่านก็บอกว่า “ผมพอแล้ว” ลงจากตำแหน่งไปอย่างสง่างาม

หลังจากที่พลเอกเปรมประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ดูเหมือนจะไม่ได้กล่าวถึงพลเอกเปรมไม่ว่าจะในเรื่องอะไรอีกต่อไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้คณะผู้ยื่นฎีกาก็ได้ไปพบกับท่านที่บ้านซอยสวนพลู ซึ่งท่านก็เห็นด้วยกับการยื่นฎีกาดังกล่าว โดยคอลัมนิสต์บางคนบอกว่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พลเอกเปรมไม่อยากเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะขนาดคนที่เคยเชียร์และ “อุ้ม” พลเอกเปรมมาโดยตลอด ก็ประกาศไม่เอาพลเอกเปรมด้วยอีกคนหนึ่ง

เรื่องที่ท่านไม่กล่าวถึงนายทหารที่สิ้นอำนาจไป รวมถึงนักการเมืองคนอื่น ๆ ที่เลิกเล่นการเมืองไป แล้วท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ไปวอแวอีกนั้น คนที่รู้จักท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ดีจะลอกว่า นั่นคือ “มารยาท” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ โดยท่านจะไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์บุคคลนั้น ๆ อีกเลย ไม่ว่าในทางใด ๆ ทั้งยังมีมิตรจิตมิตรใจให้แก่คนเหล่านั้นเหมือนไม่เคยมีอะไรโกรธเคืองกัน เช่น ท่านเคยให้ผมเอาลิ้นจี่จากดอยขุนตานที่ท่านปลูกไว้ไปให้พลเอกเกรียงศักดิ์ที่บ้านบางเขน

ในตอนที่ท่านพลเอกเกรียงศักดิ์กำลังป่วย หรือเอาดอกไม้ไปให้ในวันเกิดแก่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่เคยให้ทหารพรานมาบุกพังบ้านท่าน แต่พอท่านไม่มีตำแหน่งใด ๆ ทางการเมืองแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะค้างคาใจต่อกัน ส่วนพลเอกเปรมนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เคยส่งอาหารปักษ์ใต้ไปให้รับประทาน รวมถึงที่พลเอกเปรมก็ส่งอาหารมาให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์รับประทานด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ถือเป็น “ความน่ารักทางการเมือง” ที่คนทั่วไปอาจจะไม่เคยได้ทราบมาก่อน

ตอนที่พลเอกเปรมประกาศวางมือทางการเมืองนี้เอง ก็ถือเป็น “ยุคเงินยุคทอง” ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ตอนนั้นผมได้ถูกยืมตัวมาช่วยราชการที่กระทรวงพาณิชย์ (พอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคมในปลายปี ๒๕๒๘ ผมก็ไม่ต้องทำหน้าที่เป็นเลขานุการของท่านอีก จึงไปสอบเข้าเป็นข้าราชการที่สำนักข่างกรองแห่งชาติในตอนต้นปี ๒๕๒๙ แล้วพอเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๓๐ ผมก็สอบโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ต่อมาหลังการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๑ พรรคกิจสังคมได้ร่วมรัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ดร.สุบิน ปิ่นขยัน ส.ส.เชียงใหม่ของพรรคกิจสังคมได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่ากากรกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง ดร.สุบินก็ถือว่าเป็น “ก้นกุฏิ” ของบ้านซอยสวนพลูด้วยท่านหนึ่ง) จึงได้เห็น “ธนาธิปไตยคลื่นลูกที่ ๓” นั้นอย่างใกล้ชิด

ดร.สุบิน ปิ่นขยัน ถ้าใครได้รู้จักใกล้ชิดจะรู้ว่าท่านเป็นคนที่ “ดีมาก ๆ” ทั้งในทางส่วนตัว ทางครอบครัว และทางหน้าที่การงาน ทั้งในงานอาชีพวิศวกรและครูบาอาจารย์ของท่าน กับงานอาชีพการเมืองที่ผมได้รู้จักนี้ โดยเมื่อได้มานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้รักษาความเป็นคนดีนั้นอยู่เสมอ แต่ปรากฏว่าภายหลังรัฐประหารในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ท่านเป็น ๑ ใน ๑๕ คนในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประกาศยึดทรัพย์ ด้วยข้อหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีเงินและทรัพย์สินที่ถูกยึดไปราว ๒๖๐ ล้านบาท ในขณะที่นักการเมืองที่สาธารณชนรู้ดีว่าเป็น “ตู้เอทีเอ็มประจำรัฐสภา” และอีกหลายคนที่ร่ำรวยแบบเดียวกันนี้ ไม่ได้ถูกยึดทรัพย์ โดยสื่อมวลชนในยุคนั้นได้รายงานข่าวว่า คนพวกนั้น “ไม่มีใบเสร็จ”

เรื่องใบเสร็จทางการเมืองนี้เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปของคนที่ติดตามข่าวสารทางการเมือง ซึ่งหมายถึง “หลักฐานของการคอร์รัปชั่น” ที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดอยู่แล้ว แต่ในสมัยนั้นกฎหมายเกี่ยวกับการเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริตยังไม่ได้มีขึ้นเป็นการเฉพาะ(กฎหมายก่อตั้ง ปปช.และมาตรการในการตรวจสอบเอาผิดนักการเมือที่ทุจริตเพิ่งจะมีในภายหลังที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) ดังนั้นการกระทำทุจริตของนักการเมืองจึงค่อนข้างจะโจ๋งครึ่ม จนรัฐบาลชุดนั้นถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “บุฟเฟต์คาบิเนต” แปลว่าเป็นรัฐบาลที่มีการโกงกินกันอย่างมูมมาม ไม่อับไม่อาย และกระทำกันอย่างเปิดเผย เพียงแต่ว่าไม่มีใบเสร็จหรือหลักฐานการทุจริตดังกล่าว แต่กระนั้นเมื่อ รสช.ประกาศยึดทรัพย์นักการเมืองบางคนในรัฐบาลพลเอกชาติชาย รวมถึงตัวพลเอกชาติชายที่เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ก็พยายามบอกว่ามีหลักฐานการทุจริตหรือ หลักฐานต่าง ๆ แต่ท้ายที่สุดก็มีการยึดทรัพย์รัฐมนตรีเหล่านั้นได้น้อยมาก จนมีข่าวลือว่าถ้าใครสามารถ “เคลียร์” กับผู้นำ รสช.ได้ ก็จะได้รับการยกเว้นและคืนทรัพย์สินให้ ซึ่งทุกคนก็ได้คืนทรัพย์สินมากบ้างน้อยบ้างตาม “พลังเคลียร์” นั้น

เรื่องการทำมาหากินของนักการเมืองในยุคนั้น อย่างที่ผมเรียกว่า “ธนาธิปไตยคลื่นลูกที่ ๓” เป็นเรื่องที่สลับซ้อน แต่ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจ โดยผมจะขออนุญาตนำประสบการณ์ของผมเองในฐานะที่ได้ไปทำงานเป็น “หน้าห้อง” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒ เป็นวลาปีกว่า ๆ นั้น มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ “สยองขวัญ” มาก ๆแล้วก็จะรู้ว่าล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น จนผมไม่เชื่อว่าผมนี้ “รอดปากเหยี่ยวปากกา” นั้นมาได้อย่างไร

ครับ เขาทำมาหากินกันเป็นเครือข่าย มีโยงใยกว้างขวางมาก แต่ทำเพื่ออะไร ทำทำไม และทำอย่างไรนั้น ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปครับ

******************************