posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

13 มิถุนายน 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

******************************

กรณี “อู นุ-เนวิน 2501” มีความสำคัญต่อการเมืองพม่าทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และการเมืองในปัจจุบัน เพราะเป็นจุดตั้งต้นของการที่กองทัพพม่าเข้าแทรกแซงการเมืองของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง  แต่การแทรกแซงหรือการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของนายพลเนวินในปี พ.ศ. 2501 ยังไม่ชัดเจนอย่างที่เกิดขึ้นอีกสามปีต่อมา นั่นคือ ในปี พ.ศ. 2505 ที่นายพลเนวินทำรัฐประหารโดยใช้กำลังเข้ายึดอำนาจอย่างชัดเจน  ทำให้รัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่า พ.ศ. 2490 (Constitution of the Union of Burma 1947) อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกหลังได้เอกราชต้องสิ้นสุดลง จากนั้นนายพลเนวินได้ครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ พ.ศ. 2505 – 2516 เป็นเวลา 11 ปีโดยไม่มีรัฐธรรมนูญและไม่มีการเลือกตั้ง

สภาพการณ์ทางการเมืองดังกล่าวนี้ของพม่าดูจะไม่ต่างจากการเมืองไทยนัก เพราะตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 ไม่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจนกระทั่ง พ.ศ. 2511 ถึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2501 นับเป็นระยะเวลา 10 ปีที่ประเทศไทยปกครองโดยผู้นำกองทัพ นั่นคือ จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อนิจกรรม พ.ศ. 2506 หลังจากนั้นจอมพลถนอม กิตติขจรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2511 และมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี พ.ศ. 2502

หลังจากครองอำนาจมาได้ 11 ปี ในปี พ.ศ. 2516 นายพลเนวินได้จัดให้มีการทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพม่าและมีการประกาศใช้ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญพม่าฉบับ พ.ศ. 2517 มีชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า  (the Constitution of the Socialist Republic of the Union of Burma)  ซึ่งเป็นไปตามคำประกาศของนายพลเนวินในปี พ.ศ. 2501 ในช่วงที่เขาได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากสภาพม่าให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยหนึ่งในเป้าหมายในคำประกาศของเขาคือ การสถาปนาระบอบเศรษฐกิจสังคมนิยมขึ้นในพม่า

รัฐธรรมนูญฉบับสาธารณรัฐสังคมนิยมของพม่านี้ กำหนดให้มีระบบสภาเดียว (ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 เป็นระบบสองสภา) โดยสภาที่ว่านี้เรียกว่า สภาประชาชน ซึ่งสมาชิกสภามาจากสมาชิกพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (the Burma Socialist Programme Party) ที่มีนายพลเนวินเป็นประธานพรรค สมาชิกสภาจะมีวาระ 4 ปี และผู้นำประเทศจะมีตำแหน่งเดียว นั่นคือ ตำแหน่งประธานาธิบดี (ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 มีทั้งประธานาธิบดีในฐานะประมุขของรัฐ และนายกรัฐมนตรีในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร) แต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ของพม่าให้ประธานาธิบดีควบรวมทั้งสองตำแหน่งซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 คือ นายพลเนวิน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวด้วย นั่นคือ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า

หลังจากสภาครบวาระ 4 ปี มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2521 และพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าก็ชนะเลือกตั้ง เพราะไม่มีพรรคการเมืองอื่นแข่งขัน และเช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นทุกๆ 4 ปีนั่นคือ พ.ศ. 2524 และ พ.ศ. 2528  พรรคโครงการสังคมนิยมพม่าชนะเลือกตั้งมาตลอดทุกครั้ง   การเมืองพม่าจึงตกอยู่ในการควบคุมของกองทัพโดยมีนายพลเนวินเป็นผู้นำเป็นระยะเวลานานถึง 26 ปี นั่นคือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2505-2523  และเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำทางการเมืองของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ครองอำนาจยาวนานในช่วงเวลาใกล้เคียง อันได้แก่

นาย ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ อยู่ในอำนาจต่อเนื่องกันเป็นเวลา 31 ปี (พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2533)

ประธานาธิบดีมาร์กอสของฟิลิปปินส์ อยู่ในอำนาจเกือบ 21 ปี (พ.ศ. 2508-2529)

ประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย อยู่ในอำนาจเป็นเวลา 32 ปี (พ.ศ. 2510-2541)

จะเห็นได้ว่า นายพลเนวินถือว่าเป็นผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดคนหนึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากผู้นำสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียคือ ผู้นำพม่าเป็นทหาร ส่วนผู้นำของอีกสามประเทศนั้นเป็นพลเรือน

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับของไทยเรา จะเห็นได้ว่า การเมืองพม่ากับการเมืองบ้านเราจะมีความคล้ายคลึงกัน เพราะผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานของเราก็เป็นทหาร  นั่นคือ จอมพล ป พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี พ.ศ.2481ถึง 2487 และ 2491 ถึง 2500 รวมระยะเวลา 14 ปี 11 เดือน นับเป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่เป็นทหารที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด แต่ไม่ได้ต่อเนื่องเหมือนผู้นำอื่นๆในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กล่าวไปข้างต้น ระยะเวลาการครองอำนาจครั้งแรกของจอมพล ป. คือประมาณ 6 ปี (พ.ศ. 2481-2487)  ส่วนครั้งหลังเกือบ 9 ปี (พ.ศ. 2491-2500)  ขณะเดียวกัน การครองอำนาจครั้งหลังของจอมพล ป.ก็มีลักษณะที่แตกต่างไปจากครั้งแรก

และที่น่าสนใจในเชิงเปรียบเทียบกับการเมืองไทยก็คือ ในการลุกฮือขับไล่นายพลเนวินในปี พ.ศ. 2531 จนเกิดภาวะจลาจลสับสนวุ่นวายอันเป็นเหตุให้นายพลเนวินต้องลาออก และนายพลซอ หม่องตัดสินใจทำรัฐประหาร และขึ้นครองอำนาจต่อจากนายพลเนวิน ทำให้การเมืองพม่าตกอยู่ภายใต้ทหารเช่นเคย โดย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐพม่า คือ นายพล ซอ หม่องและนายพลต้านชเว อยู่ในอำนาจยาวนานถึง 23 ปี (พ.ศ. 2531-2554)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

และหากจะนับเวลาที่การเมืองพม่าตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารตั้งแต่นายพลเนวินจนถึงนายพลซอ หม่องและนายพลต้ายชเว ก็เป็นเวลาถึง 49 ปี นั่นคือ ตั้งแต่ พ.ศ.2505 ถึง พ.ศ.2554 และขณะนี้ ก็กลับมาอยู่ภายใต้ทหารอีกครั้ง หลังจากที่นายพลมิน อ่อง หล่าย ทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ดูเหมือนว่า การเมืองพม่าจะยังไม่สามารถหลุดพ้นออกจากวังวนที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองโดยทหารได้เลยตั้งแต่การทำรัฐประหารโดยนายพลเนวินในปี พ.ศ. 2505

ส่วนของไทยเรา หลังจากจอมพล ป พิบูลสงครามครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรียุคที่สอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 – 2500  ก็มีประชาชน นิสิตนักศึกษาลุกขึ้นประท้วงเช่นกัน โดยประท้วงการทุจริตเลือกตั้งของจอมพล ป และพวก จนในที่สุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ออกมารักษาความสงบเรียบร้อย และแม้จะไม่ได้ขึ้นเป็นผู้นำทางการเมืองเองอย่างนายพลซอ หม่องและนายพลต้านชเว แต่ให้พลเรือนคือ นายพจน์ สารสินเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และพรรคที่ชนะเลือกตั้งคือ พรรคสหภูมิที่จอมพลสฤษดิ์สนับสนุนอยู่ อีกทั้งจอมพลสฤษดิ์ยังมีพรรคการเมืองของตัวเองอีกด้วยนั่นคือ พรรคชาติสังคม ซึ่งหลังเลือกตั้ง จอมพลสฤษดิ์ได้ตัดสินใจยุบพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลาพร้อมกับดูด ส.ส. ประเภท 1 ซึ่งไม่สังกัดพรรคและ ส.ส. ประเภท 2 ซึ่งมาจากการแต่งตั้งเข้ามาอยู่ในพรรคชาติสังคม และส่งให้พลโทถนอม กิตติขจร (ตำแหน่งขณะนั้น) ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และหลังจากพลโทถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 8 เดือน  จอมพลสฤษดิ์ถึงได้ชวนพลโทถนอมทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพลโทถนอม และคราวนี้ จอมพลสฤษดิ์ถึงได้ขึ้นเป็นายกรัฐมนตรีเอง……….ผู้นำทหารบ้านเราอย่างจอมพลสฤษดิ์ดูจะมีลีลาสลับซับซ้อนกว่าจะขึ้นครองอำนาจด้วยตัวเองจริงๆ  !  

แหล่งอ้างอิง: https://myanmar.anfrel.org/en/media-toolkit/history-of-elections-in-myanmar  ; Nick Cheesman, “How an Authoritarian Regime in Burma Used Special Courts to Defeat Judicial Independence”, Law & Society Review , December 2011, Vol. 45, No. 4)