posttoday

ชัยชนะของอาจารย์ชัชชาติ (2)

10 มิถุนายน 2565

โดย....น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**************

เหตุปัจจัยประการที่สอง ที่ทำให้อาจารย์ชัชชาติชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เป็นปัจจัยที่น่าจะสำคัญที่สุด คือการตัดสินใจประกาศลงเลือกตั้งก่อนได้เลือกตั้งจริงยาวนานถึง 2 ปีครึ่ง

กทม. ไม่ใช่เขตปกครองที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารอย่างนครราชสีมาหรือเชียงราย แต่ก็มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล และมีประชากรหนาแน่นที่สุด โดยมีประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนและ “ประชากร” แฝง รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน มากกว่า “เมือง” ที่มีประชากรมากเป็นอันดับสอง คือ สมุทรปราการกว่า 10 เท่า (ประชากรของสมุทรปราการราว 7 แสน) ช่วงเวลานับตั้งแต่ประกาศให้มีการเลือกตั้งถึงวันเลือกตั้งจริงสั้นมาก ไม่มีทางที่ผู้สมัครคนใดจะ “เข้าถึง” ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ได้อย่างทั่วถึงในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น การที่อาจารย์ชัชชาติตัดสินใจ “แน่วแน่” ที่จะลงรับเลือกตั้งตั้งแต่ “ไก่โห่” ทำให้มีเวลายาวนานเพียงพอที่จะไปพบปะผู้คนได้อย่างทั่วถึงทุกเขต และผลการเลือกตั้งก็ปรากฏออกมาว่าอาจารย์ชัชชาติชนะทุกเขต

แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ ที่มีเวลา “ลงพื้นที่” สั้นกว่ามาก มีเพียง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ “ปูพื้น” “สร้างฐาน” มาหลายปีก็จริง แต่เพิ่งมาประกาศ “เปิดตัว” ทำให้มีเวลา “หาเสียง” เพียง 7 เดือน ยาวนานกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ โดยมาก แต่ก็สั้นกว่าอาจารย์ชัชชาติหลายเท่า ประกอบกับพรรคประชาธิปัตย์ยังอยู่ในช่วง “ขาลง” และยังมาเจอกับเรื่องราวฉาวโฉ่ กรณีนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อีกด้วย แม้คะแนนจะมาเป็นที่สอง แต่ก็ “ตามห่าง” จากอาจารย์ชัชชาติชนิดไม่เห็นฝุ่น

ที่สำคัญ นอกจากมีเวลายาวนานถึง 2 ปีครึ่งแล้ว การลงพื้นที่ของอาจารย์ชัชชาติยังเป็นการลงพื้นที่อย่างมีคุณภาพสูง ในลักษณะเป็น “การทำงานการเมือง” มากกว่าการมุ่ง “หาเสียง” นั่นคือ การลงไป “เรียนรู้” ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน และ “รับฟัง” เพื่อให้ทีมงานศึกษาและพัฒนาเป็นนโยบาย จึงเป็นไปตามหลักการและวิธีการของ “กระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา” (Participatory Public Policy Process based on Wisdom) อย่างแท้จริง ผลคือสิ่งที่อาจารย์ชัชชาติและทีมงานเรียกว่า “กรุงเทพฯ 9 ดี 214 นโยบาย” ที่ “โดนใจ” และ “ชนะใจ” ประชาชน จนปรากฏเป็นคะแนนที่ “ท่วมท้น” “ทิ้งห่าง” คู่แข่งทุกเขต แม้ว่าคู่แข่งหลายคนจะมีคุณภาพ “คับแก้ว” อยู่ไม่น้อย

แต่ส่วนใหญ่มุ่งไป “หาเสียง” และไม่มีเวลาเพียงพอในการที่จะพัฒนาออกมาเป็นนโยบายตาม “กระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา” ทำให้นโยบายของหลายคนออกมาในลักษณะ “ขายฝัน” “เลื่อนลอย” และหลายนโยบายมีลักษณะ “ประชานิยม” ที่ยากจะชนะใจประชาชน เพราะประชาชนโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ “ไม่ได้กินแกลบ” และประชาชนคนไทยโดยมากเป็นคนมีเมตตาสูง จึงมีท่าที “ถนอมน้ำใจ” เมื่อพบปะผู้สมัครที่ลงไป “หาเสียง” ส่วนใหญ่จึงแสดงออกในทางชื่นชม และฝากความหวัง ทำให้หลายคนเชื่อมั่นใน “เสียง” แต่ความเป็นจริงไม่ออกมาเป็น “คะแนน”

ผู้สมัครบางคนถึงขั้นปรากฏใน “โพลล์” บางโพลล์ ว่าคะแนนไล่ตามอาจารย์ชัชชาติมาอย่างกระชั้นชิด ชนิด “หายใจรดต้นคอ” แล้ว บางกลุ่มก็พยายามจะชักจูงให้ “ลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์” เพื่อเอาชนะ ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนตัดสินใจออกมา “ใช้บารมี” ช่วยพรรคพวกในช่วงโค้งสุดท้าย หรือช่วงทางตรงใกล้เส้นชัย ผลที่สุดคะแนนก็ออกมาอย่างที่ปรากฏ

ปัจจัยประการที่สาม การตัดสินใจลงสมัครอิสระ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาจารย์ชัชชาติได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำจากทุกฝ่าย แม้อาจารย์ชัชชาติจะมีภูมิหลังผูกพันกับพรรคเพื่อไทย และไม่สามารถ “สลัดภาพ” ของพรรคเพื่อไทยออกไปได้ โดยอาจารย์ชัชชาติไม่พยายามปฏิเสธ เพราะเป็น “ความจริงแห่งชีวิต” ทำให้ได้คะแนนเต็มๆ จากพรรคเพื่อไทย และการประกาศจุดยืนเป็นผู้สมัครอิสระ เปิดให้ได้คะแนนจากทุกพรรค

คะแนนที่ท่วมท้นบ่งบอกว่า นอกจากคะแนนพื้นฐานจากพรรคเพื่อไทยแล้ว อาจารย์ชัชชาติยังได้คะแนนทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐ ตลอดจนน่าจะได้หนึ่งเสียงจากคุณแม่ของอาจารย์ชัชชาติเองที่บอกว่าจะลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์

ขณะที่ผู้ลงสมัครในนามพรรค หรือ โดยการสนับสนุนโดยพฤตินัยจากพรรค เช่น ดร.สุชัชวีร์ คุณวิโรจน์ ก็ดูจะได้อานิสงส์จากการสมัครในนามพรรคไม่มากนัก

ปัจจัยประการที่สี่ คือ ความเข้มแข็งโดยเฉพาะด้านจิตใจของตัวอาจารย์ชัชชาติเอง ประสบการณ์ของคนที่ผ่านความทุกข์ยากจากการที่มีลูกชายเกิดมาพิการหูหนวก ซึ่งย่อมมีผลตามมาคือ “เป็นใบ้” ด้วย และแทบไม่มีความหวังเลยว่าจะแก้ไขเยียวยาช่วยเหลือลูกได้ เป็นประสบการณ์ที่อาจ “ทำลาย” คนให้ใจสลายและโกรธแค้นโชคชะตา แต่ก็สามารถหล่อหลอมคนให้ “เห็นหัวอกของคนที่ทุกข์ยาก” ได้เช่นกัน ดังกรณี แฟรงคลิน ดี. โรสเวลท์ ที่เป็นโปลิโอในวัย 30 เศษ ขณะมีอนาคตทางการเมืองอันรุ่งโรจน์ แต่เขาฟันฝ่าช่วงชีวิตอันเลวร้ายนั้นมาได้และกลายเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของสหรัฐ โดยเป็นคนเดียวที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีติดต่อกันถึง 4 สมัย

ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ผ่านประสบการณ์การสูญเสียภรรยาคนแรก จากภาวะหัวใจวายหลังคลอดลูกคนแรกได้ 3 สัปดาห์ ในวัยเพียง 31 ปี และต่อมายังพบว่าตัวเองเป็นโรคร้าย คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งต่อมลูกหมาก ต้องผ่านกระบวนการบำบัดรักษาที่ทุกข์ทรมาน ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประสบการณ์อันเลวร้ายย่อมเป็นทั้งไฟที่เผาผลาญ และไฟที่สร้างความเข้มแข็งโดยเฉพาะด้านจิตใจ

ประสบการณ์เรื่องลูกประกอบกับพื้นฐานของอาจารย์ชัชชาติเอง น่าจะมีส่วนไม่น้อย ทำให้เกิดท่าทีที่อ่อนโยน ไม่แข็งกร้าว โดยไม่มีการโจมตีใครตลอดช่วงการหาเสียง และประกาศการ “ไม่ถือโกรธ” และ “ให้อภัย” แม้กับกรณีที่โดนจับคลุมถุงดำไปสอบสวนหลัง คสช. ทำรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ทำให้ลดศัตรู เพิ่มมิตร และแน่นอนว่า เพิ่มคะแนน

ปัจจัยประการสุดท้าย ได้แก่ ทีมงาน และวิธีการหาเสียงตลอดจนผู้สนับสนุน อาจารย์ชัชชาติ มีทีมงานทั้งครูบาอาจารย์ นักธุรกิจ ที่มีทั้งหลักวิชาและประสบการณ์ทางธุรกิจ ร่วมกับคนรุ่นใหม่ ที่ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีครึ่ง อย่างเข้มแข็ง ขยันขันแข็ง และมีระเบียบวินัยสูง ป้ายหาเสียงก็เตรียมการออกแบบให้มีขนาดเล็ก ไม่เกะกะ และมีจำนวนไม่มากเพื่อมิให้เกิด “ทัศนะอุจาด” วัสดุที่ใช้ทำด้วยไวนิลที่นำไปทำเป็นถุงได้เมื่อจบการเลือกตั้ง ดังปรากฏว่ามีคนมาตัดไปทำถุงหิ้วหรือสะพายแล้วจริงๆ ขณะที่ผู้สมัครบางคนยังใช้วิธี “โบราณ” ติดป้ายขนาดเขื่องจำนวนมาก เพื่อให้ “เตะตา” แต่กลายเป็น “เกะกะ กีดขวาง” จนต้องแก้ไขกันอย่างชุลมุน

เมื่อต้อง “ดีเบต” กับผู้สมัครคนอื่นๆ ข้อมูลที่อาจารย์ชัชชาติ “ทำการบ้าน” มาอย่างดี จึงสามารถตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็น ชัดเจน และกระชับ ฉับไว “เก็บคะแนน” ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่บางคนฉวยจังหวะพูดยาว และบางคน “น็อตหลุด” “เสียศูนย์”

ชัยชนะของอาจารย์ชัชชาติ บ่งบอกว่าคนกรุงเทพฯ “ตาสว่างแล้ว”