posttoday

พัฒนาการเด็กปฐมวัย เสริมสร้างศักยภาพได้ด้วย"วิธีการเรียนการสอนรูปแบบ Nature-based learning"

05 มิถุนายน 2565

โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ

แต่ละครอบครัวมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเมื่อก่อน มีวิถีชีวิตความเป็นคนเมืองมากขึ้น นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยในการทำงาน หรือเพื่อการผ่อนคลาย บางครอบครัวที่พ่อแม่ผู้ปกครองทำงานหนัก จนแทบไม่มีเวลา ทำให้เด็กต้องอยู่กับสื่อดิจิทัลมากขึ้น หรือไม่ค่อยมีโอกาสในการออกไปทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการนอกบ้าน โดยเฉพาะการออกไปสัมผัสธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม การที่เด็กอยู่แต่ในห้อง หรืออยู่กับสื่อดิจิทัลมากเกินไปตั้งแต่ช่วงปฐมวัย หรือช่วงอายุ 3 – 6 ขวบ จะมีผลต่อการพัฒนาพื้นฐานสมอง ร่างกาย และอารมณ์ได้ เช่น การอยู่กับหน้าจอไอแพดเป็นเวลานาน ทำให้ขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงการเล่นเกมผ่านหน้าจอ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้เด็กคุ้นชินกับการสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่รู้จักการรอคอย

นอกจากนี้ การแข่งขันทางด้านการเรียน ทำให้มีการเสริมวิชาการให้เด็กช่วงปฐมวัยมากขึ้น เด็กจะไม่สนุกกับการเรียนรู้ เพราะพื้นฐานอาจจะไม่พร้อม พ่อแม่และผู้ปกครองจึงควรเปลี่ยนมาให้ความสำคัญต่อสร้างพื้นฐานสมองและร่างกายตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เพราะเป็นวัยที่เด็กจะเริ่มเรียนรู้จากสิ่งต่างๆรอบตัว ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ได้แก่ มองเห็น ได้ยิน หยิบจับ สัมผัส เคลื่อนไหวร่างกาย ดังนั้น การเรียนการสอนในรูปแบบ “Nature-based learning หรือ การเรียนรู้โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน” จะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสใช้ประสาทสัมผัสพร้อมๆ กับการอยู่กับธรรมชาติ เพื่อสร้างพื้นฐานสมองและร่างกายของเด็ก เตรียมความพร้อมก่อนเข้าวัยประถมศึกษา

พัฒนาการเด็กปฐมวัย เสริมสร้างศักยภาพได้ด้วย"วิธีการเรียนการสอนรูปแบบ Nature-based learning"

Nature-based learning หรือ การเรียนรู้โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน คือการให้เด็กออกไปอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายของหลักสูตรสิ่งแวดล้อมคือ ความยั่งยืนของธรรมชาติ และสร้างผู้นำที่รักสิ่งแวดล้อม รักธรรมชาติ ส่วนเป้าหมายของการศึกษาปฐมวัย คือการที่เด็กมีพัฒนาการสมวัย ประเมินได้จากการเคลื่อนไหว การใช้ภาษา การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เป็นต้น Nature-based learning จึงเป็นการเชื่อมโยงทั้งสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้จากในห้องเรียน มาอยู่กับธรรมชาติ หรือนำธรรมชาติเข้ามาในห้องเรียนมากขึ้น เด็กจะมีความสนุกที่ได้เรียนรู้ มีความกระตือรือร้น มีความสุข และมีแรงจูงใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานหลักที่จะทำให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ เด็กได้ประสบการณ์จริงจากการเรียนรู้กับสิ่งแวดล้อม เกิดความรักและความผูกพันกับสิ่งแวดล้อม เราสามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่ปฐมวัย เด็กจะค่อยๆ ซึมซับแล้วเห็นคุณค่าสิ่งรอบตัว ที่นอกเหนือจากคนด้วยกัน คือการเห็นคุณค่าของต้นไม้ พื้นดิน สัตว์ตัวเล็กที่อยู่รอบตัว เมื่อโตขึ้น จะทำให้เค้าหวงแหน และอยากจะอนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย

รูปแบบ Nature-based learning นั้น ประกอบด้วย “Indoor” หมายถึง การจัดสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น เช่น การเพิ่มจำนวนต้นไม้ในห้องเรียน นำอุปกรณ์ที่เป็นวัสดุธรรมชาติ เช่น กิ่งไม้ หรือ พื้นดิน พื้นทราย มาใช้ในห้องเรียน เพื่อให้เด็กได้ใช้ระบบประสาทสัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น เช่น เอาดินมาปั้นตัวหนังสือ สอนนับเลขผ่านการเรียงใบไม้ หรือกิ่งไม้ “Outdoor” ด้วยการให้เด็กวิ่งเล่นข้างนอก สัมผัสธรรมชาติมากขึ้น ครูอยู่ร่วมทำกิจกรรมกับเด็กมากขึ้น และเปลี่ยนสถานที่สำหรับกิจกรรมของเด็กปฐมวัย จากการอ่านนิทาน ร้องเพลง กินนม กินข้าว ทำงานศิลปะ ในห้องเรียน ย้ายไปทำภายนอกห้องเรียน เช่น อ่านนิทานใต้ต้นไม้ ทำกิจกรรมต่างๆ ใต้ต้นไม้ หรือ ทานอาหารข้างนอกห้องเรียนมากขึ้น ขึ้นกับบริบทและความพร้อมของแต่ละสถานที่ และ “Beyond” เป็นการจัดกิจกรรมนอกรั้วโรงเรียน เช่น พาเดินไปสวนสาธารณะ ออกไปเข้าป่า มีค่าย เพื่อให้เด็กได้สัมผัสป่าหรือธรรมชาติจริงๆ

ในฐานะครู ต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ จะทำให้ครูประยุกต์การอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น โดยปกติแล้ว ครูจะมีบทบาทและมีหน้าที่สำคัญในการสอนและดูแลเด็กปฐมวัยอยู่ 4 หน้าที่หลัก คือ การดูแลสุขภาพร่างกาย ความปลอดภัยและโภชนาการของเด็ก การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับครู เช่น การใช้วินัยเชิงบวก การให้คำชมเด็ก เพื่อให้เด็กมีความสุข และ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กในด้านต่าง ๆ เมื่อนำ Nature-based learning เข้ามาเชื่อมโยงนั้น หน้าที่ของครูยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่มีการเพิ่มเติมหน้าที่ให้สอดคล้อง คือ เด็กต้องได้รับความปลอดภัยในการไปอยู่สิ่งแวดล้อมนั้นๆ หากมีพื้นที่เสี่ยง จะมีการทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไป มีการจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นในห้องเรียนและโรงเรียน การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับครู ด้วยการแสดงความสนใจ ใส่ใจ และเรียนรู้ร่วมกับสิ่งที่เด็กสนใจและตื่นเต้นไปกับเด็ก การเป็นตัวอย่างที่ดี สำคัญมาก ครูจะต้องไม่ตัดสินเด็กว่า เด็กคนนี้ซนมาก เพียงเพราะเด็กอยากจะวิ่งเล่น เค้าสนุกกับการเคลื่อนไหวร่างกาย

สำหรับ พ่อแม่เองสามารถนำ Nature-based learning หรือ การเรียนรู้โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน ไปใช้ที่บ้านได้ โดยเริ่มจากการปรับกิจกรรมที่บ้าน เน้นให้เด็กอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น เช่น อาจจะชวนลูกปลูกต้นไม้ ให้เด็กสัมผัสดินทรายมากขึ้น ไปเดินบนสนามหญ้า และจัด “เวลาคุณภาพ” อาจจะใช้เวลาเพียง 20 นาทีต่อวัน เพื่อทำกิจกรรมไปพร้อมกับลูก ให้เด็กอยู่กับธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องร่วมสนใจและสนุกไปพร้อมกับลูก พ่อแม่สนุกกับอะไร สิ่งนั้นก็จะน่าสนุก และพ่อแม่เองจะต้องไม่นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือขณะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพราะจะทำให้สิ่งต่างๆที่ทำไม่สัมฤทธิ์ผล นอกจากนี้ การใช้เวลาร่วมกันภายในครอบครัวยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เด็กจะได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่ และรู้สึกว่าเป็นที่รัก เพราะพ่อแม่ให้เวลากับเขาอย่างเต็มที่ เป็นเกราะป้องกันให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างดี

ในต่างประเทศมีการนำ Nature-based learning หรือ การเรียนรู้โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน มาใช้ในการเรียนการสอนเด็กปฐมวัยมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี สำหรับประเทศไทยเอง มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนจากเดิมมาเป็น Nature-based learning ถ้าเราต้องการความยั่งยืนในการพัฒนาเด็ก คือ การกลับมาเน้นเรื่องการพัฒนาระบบสมอง ระบบร่างกาย และอารมณ์ ความรู้สึก แรงจูงใจของเด็ก เป็นสำคัญ ทำให้ระบบร่างกายและสมองมีความพร้อมที่จะเรียนรู้วิชาการในระดับที่สูงขึ้น เป็นการเรียนรู้แบบไม่รู้ตัว เด็กจะค่อยๆ ดึงศักยภาพเด่นของตัวเอง มีสมาธิมากขึ้น กระตือรือร้นในการเรียนรู้มากขึ้น และมีความสุข ส่งผลให้เด็กคนนี้เติบโตได้อย่างสมบูรณ์

***************************

เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล