posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (35)

04 มิถุนายน 2565

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*****************

ว่ากันว่าถ้าไม่เกิด “ธนาธิปไตย” นักการเมืองไทยก็ไม่มีราคาอะไรเลย

“ธนาธิปไตย” แปลตามศัพท์ว่า “เงินเป็นใหญ่” ตามประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ50กว่าปีก่อน คือตั้งแต่การเลือกตั้ง พ.ศ. 2512 ที่พรรคสหประชาไทย ที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และมีพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ตอนนั้นผมมีอายุ 10 ขวบ สามารถจำเหตุการณ์ทั้งในและนอกประเทศได้เป็นอย่างดี โดยที่นอกประเทศเป็นปีที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ และที่ในประเทศก็คือการเลือกตั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็จำได้แม่นยำมากเพราะพ่อชอบพาผมไปฟังปราศรัย ส่วนผมก็ชอบไปด้วยเพราะได้กินของกินต่าง ๆ ที่เขาหาบมาขายรายล้อมบริเวณที่ปราศรัยจนอิ่มแปล้ไปทุกวัน

พรรคสหประชาไทยเป็นพรรค “ของทหาร โดยทหาร เพื่อทหาร” โดยแท้ นอกจากหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคจะเป็นทหารแล้ว กรรมการบริหารพรรคอีก 15 คนนั้นก็เป็นทหารและตำรวจเสีย 11คน ตอนที่ตั้งพรรคนี้ขึ้นเป็นข่าวที่ตื่นเต้นสะเทือนไปทั้งประเทศ หนังสือพิมพ์บางฉบับพาดหัวว่า “กองทัพไทยตั้งพรรคกวาดเรียบอดีต ส.ส.ทั้งประเทศ”

นั่นก็เป็นเพราะว่าพรรคสหประชาไทยได้กวาดต้อนเอาอดีต ส.ส.ในหลาย ๆ จังหวัดให้มาสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค โดยคาดการณ์ว่าการทำอย่างนี้จะสามารถสร้างชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” และได้ครองเสียงข้างมากได้โดยง่าย นั่นก็หมายถึงการได้ยึดครองอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ซึ่งก็คือการเป็นรัฐบาล อันเป็นเป้าหมายของนายทหารทั้งหลายมาตั้งแต่ยุคทหารครองเมือง ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และต่อเนื่องมาถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นแล้ว

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสหประชาไทยได้ ส.ส.มาแค่ 75 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งสภาที่มีได้ในสมัยนั้นจำนวน219 คน จึงต้องไปรวมรวม ส.ส.จากพรรคอื่นมารวมเข้าด้วยจนมีจำนวนพอเพียง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นั่นเองเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ (ตรงนี้ช่างเหมือนกับการตั้งพรรคพลังประชารัฐมาก ๆ เลย เพราะก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่26มีนาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นนายกรัฐมนตรีแบบเผด็จการเหมือนจอมพลถนอม รวมทั้งที่ทหารนั้นก็กำกับควบคุมการเขียนรัฐธรรมนูญ พอทำรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างที่ทหารต้องการเสร็จก็ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งรูปแบบการตั้งพรรคก็รวบรวมเอาอดีตการเมือง “ทุกสายพันธุ์” มารวมกันไว้ แต่ผลการเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นเสียงข้างมาก ต้องไปควานหาพรรคเล็ก ๆ มาโปะ แล้วก็เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในรูปแบบเดียวกัน)

พ่อของผมเป็นคนที่ชอบการเมืองเอามาก ๆ โดยจะซื้อหนังสือพิมพ์วันละ 2ฉบับ ทั้ง ๆ ที่เป็นตำรวจชั้นผู้น้อยเงินเดือนไม่มาก และพ่อบอกว่าไม่ได้ไป “เบ่ง” ขอมาฟรี ๆ จากอาแปะที่ขายหนังสือพิมพ์ ตามแบบที่ตำรวจบางคนชอบทำในสมัยนั้นอีกด้วย ผมจึงได้มีโอกาสแอบอ่านหนังสือพิมพ์ที่พ่อวางไว้หลังจากที่พออ่านเสร็จแล้วนั้นทุกวัน (ที่ต้องแอบอ่านเพราะหนังสือิพิมพ์ยุคนั้นเริ่มมีภาพโป๊และเรื่องโป๊ ๆ บ้างแล้ว และผมก็เป็นผู้ชายที่กำลังเติบโตเป็นวัยรุ่น พ่อแม่จึงไม่ค่อยชอบให้อ่านหนังสือแนวนี้) จึงได้อ่านข่าวการเมืองที่มักจะพาดหัวหน้า 1 เป็นประจำในยุคนั้นด้วย โดยเรื่องที่มีข่าวออกมาตลอดเวลาก็คือการคอร์รับชันโกงกินของรัฐบาล ตลอดจนความวุ่นวายของ ส.ส.ในสภา ซึ่งตามข่าวบอกว่ามีการรับเงินและอามิสสินจ้างแลกกับการยกมือให้กับรัฐบาลนั้นอยู่เป็นประจำ

รัฐบาลและสภายุคนั้นมีปัญหามาก หนังสือพิมพ์ก็ประโคมข่าวเรื่องฉาวโฉ่ของรัฐมนตรี(รวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย)กับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่ทุกวัน ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอนนั้นก็เป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังและเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ มีแฟนคลับติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก ท่านได้ใช้คอลัมน์ของท่านเขียน “เรื่องสั้น” ขึ้นเรื่องหนึ่ง ตั้งชื่อเรื่องว่า “สหัปมงคล” เพื่อสะท้อนเสียดสีการเมืองในยุคนั้น โดยเฉพาะรัฐบาลกับพรรคสหประชาไทย

ท่านสมมุติตัวละครคนหนึ่งให้ชื่อว่า “ลุงหนอม” ที่บ้านแกมีแร้งมาเกาะที่หลังคาและมีตัวเหี้ย(สมัยนั้นเขาเรียกชื่อสัตว์พันธฺนี้ตรง ๆ ไม่เรียกเลี่ยง ๆ ว่าตัวเงินตัวทองเหมือนที่เรียกกันในเวลาต่อมา)อยู่ใต้ถุนบ้าน แกเอ็นดูสัตว์ทั้งสองนี้มาก จึงเอามาเลี้ยงใส่กรงไว้ด้วยกัน จนมันผสมกันออกลูกมาเป็น “สัตว์ประหลาด” ตัวหนึ่ง หัวและปากเป็นแร้ง ลำตัวและหางเป็นเหี้ย มีปีกแบบแร้ง มี4ขาแบบเหี้ย แต่มีเกล็ดแบบขาแร้ง แถมมีลิ้นแลบออกมาจากปากเป็นแฉก ๆ แบบเหี้ยนั้นด้วย แกตั้งชื่อเรียกว่า “สหัปมงคล” ซึ่งแกชอบอุ้มไปตามที่ต่าง ๆ แรก ๆ ชาวบ้านก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะลุงหนอมแกเป็นคนแปลก ๆ ในสายตาชาวบ้านอยู่แล้ว แต่พอไอ้สหัปมงคลนั้นโตขึ้น มันก็ส่งเสียงร้องว่า “ซวย ๆ ๆ” อยู่ตลอดเวลา แถมยังขอกินไม่หยุด แต่ก็ไม่รู้จักอิ่มสักที ถึงขนาดขโมยไก่ที่แกเลี้ยงไว้กินจนหมดเล้า แล้วยังแอบออกไปนอกบ้านขโมยไก่ของชาวบ้านกินอีกด้วย สุดท้ายแกจึงตัดปัญหาด้วยการ “หักคอ” เจ้าสหัปมงคลจนตายด้วยมือของแกเอง

ชะตากรรมของพรรคสหประชาไทย ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เอามาล้อเลียนเรียกว่า “ตัวสหัปมงคล” นั้นก็มีชะตากรรมเป็นแบบเดียวกัน คือพอวุ่นวายมาก ๆ เรียกร้องมาก ๆ จอมพลถนอมก็คงจะทนไม่ไหว แกก็ใช้อำนาจทางทหารที่แกเป็นผู้ควบคุมกองทัพอยูด้วยนั้น “ยกเลิก” การใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511แล้วให้ใช้ประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมายสูงสุดแทน นั่นก็คือการยึดอำนาจตัวเองที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว เพื่อล้มรัฐบาลและรัฐสภารวมถึงรัฐธรรมนูญ(ที่ร่างกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2502จนได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุดในโลก)นั้นเสีย แต่นั่นก็ทำได้แค่การแก้ปัญหาความวุ่นวายภายในรัฐบาลกับรัฐสภา เพราะในสังคมภายนอกนั้นยังคงเต็มไปด้วยความไม่พอใจต่อระบอบเผด็จการ และยังมีการก่อหวอด “ด่าทอ” รัฐบาลอยู่ในทั้งทางลับทางแจ้ง จนถึงขั้นออกมาเรียกร้องเอาประชาธิปไตยและขับไล่รัฐบาลให้ออกไป นั่นก็คือที่มาของความรุนแรงในทางการเมืองในอีก 2 ปีต่อมา “14 ตุลามหาวิปโยค2516”

การแจกเงิน ส.ส.ในสมัยนั้นสื่อมวลชนเรียกว่า “แจกขนม” (ที่ในสมัยนี้เรียกว่า “แจกกล้วย” ทั้งที่คำว่าแจกกล้วยนี้ในยุคก่อนหน้านี้หมายถึง “การแจกสิ่งของหวงแหน”) สื่อบางสำนักในตอนนั้นเรียกว่า “ขนมโก๋” เพราะมันคือเงินเป็นฟ่อนที่เอาใส่ซองขาว ๆ ลักษณะเหมือนก้อนขนมโก๋(บางท่านอาจจะเกิดไม่ทันขนมชนิดนี้ แต่เป็นขนมที่นิยมกันมากสำหรับเด็ก ๆ เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว)ไว้แจกก่อนเข้าประชุมพรรคสหประชาไทย

ขนมโก๋นี้คือแป้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียวมาบดละเอียดผสมน้ำตาล แล้วปั้นอัดเป็นก้อนแบน ๆ กลมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง หรือเป็นรูปสัตว์และดอกไม้ต่าง ๆ เวลากินต้องดื่มน้ำตามไม่งั้นจะติดคอ ถ้ายังมีอยู่ในสมัยนี้ถ้าจะอนุโลมเรียกว่า “ขนมแป้งผง” ก็น่าจะเข้ากับยุคสมัย ทั้งตัวเหตุการณ์และตัวบุคคล ขนมแป้งผงนี้คือต้นเหตุของ “ธนาธิปไตย” ที่ยังมีตำนานมาเล่าสู่กันฟังอีกมาก รวมถึงตำนานบางเรื่องที่เชื่อมโยงมาถึงการแจกกล้วยในปัจจุบัน

******************************