posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสอง): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

30 พฤษภาคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**********************

การศึกษาเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ผู้ที่ศึกษาในขณะที่เกิดเหตุการณ์หรือคล้อยหลังมาหน่อยอาจจะได้เปรียบและเสียเปรียบผู้ที่ศึกษาหลังเหตุการณ์นั้นเป็นเวลานานแล้ว ข้อที่ได้เปรียบก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ ผู้ศึกษาอาจจะได้สัมผัสบรรยากาศความรู้สึกของผู้คน ที่ไม่มีใครสามารถบันทึกไว้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำแท้จริง  เช่น บรรยากาศของเหตุการณ์ที่มีมวลชนออกมาทั้งประท้วงและสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึงการทำรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และเช่นกันคือ เหตุการณ์มีมวลชนออกมาทั้งประท้วงและสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในช่วงระหว่างปลายปี พ.ศ. 2556 จนถึงการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ส่วนข้อเสียเปรียบคือ ผู้ที่ศึกษาในช่วงที่เกิดเหตุการณ์หรือหลังไม่นาน จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและเอกสารบางอย่างที่ไม่สามารถเผยแพร่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์หรือหลังไม่นานได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานพอสมควร  คนบางคนในเหตุการณ์สามารถเปิดเผยข้อมูลสำคัญออกสู่สาธารณะได้ เพราะไม่มีอันตรายต่อตัวเองและผู้ที่ถูกกล่าวพาดพิง

หรือในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่การทูตหรือตัวเอกอัครราชทูตของสถานทูตต่างชาติหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างประเทศที่เข้ามาหาข้อมูลในประเทศนั้นๆ ได้ขอเข้าสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ หรือทำการสังเกตการณ์เหตุการณ์ด้วยตัวเอง และรายงานกลับไปยังกระทรวงการต่างประเทศหรือรายงานกลับไปที่หน่วยงานของตน เช่น หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เช่น CIA เอกสารรายงานดังกล่าวจะถูกปิดเป็นความลับจนเมื่อเวลาผ่านไปและแน่ใจว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะไม่กระทบกระเทือนผู้ใด ก็จะมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณะ  และด้วยเหตุนี้นี่เองที่ผู้ศึกษาในช่วงหลังๆจึงสามารถมีงานวิชาการที่ศึกษาในเรื่องเดียวกันกับที่เคยมีผู้ศึกษามาแล้ว ได้ข้อมูลใหม่และทำงานวิชาการหรืองานวิจัยของตนได้รับการยอมรับและมีความน่าสนใจ เพราะสามารถเข้าใจเหตุการณ์ในอดีตได้ดีและถูกต้องกว่าผู้ที่ศึกษาในช่วงก่อนๆเข้าใจ

แต่ตั้งแต่มี วิกิลีกส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ข้อมูลลับที่ยังไม่เปิดเผยหรือถูกควบคุมไว้อย่างเคร่งครัดไม่ได้ให้สาธารณะเข้าถึง ได้ถูกเปิดเผยออกมาโดยวิกิลีกส์  วิกิลีกส์ (Wikileaks) เป็นองค์กรสื่อข้ามชาติและรวมถึงห้องสมุดที่เกี่ยวข้อง ก่อตั้งโดยจูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange)  ในปี 2549  สาเหตุที่อัสซานจ์ก่อตั้งวิกิลีกส์ขึ้นมา เพราะเขาเห็นว่า มีข้อมูลลับที่เป็นการกระทำอันเลวร้ายของรัฐบาลหรือผู้นำทางการเมือง ธุรกิจ ฯลฯ ที่สื่อทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงหรือรายงานออกมาได้ทันเหตุการณ์ สาธารณะหรือประชาคมโลกจึงไม่สามารถล่วงรู้ ตรวจสอบหรือมีปฏิกิริยาต่อการกระทำดังกล่าวได้  และถ้าหากสามารถเปิดโปงได้ทันการณ์ ก็จะสามารถทำให้รัฐบาลหรือผู้นำต่างๆเหล่านั้นไม่กล้าที่จะทำในสิ่งต่างๆที่เลวร้ายและลอยนวลได้ หรือกว่าจะรู้ คนเหล่านี้ก็เสียชีวิตไปแล้วด้วยสาเหตุทั่วไป เหตุการณ์สำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้อัสซานจ์ก่อตั้งวิกิลีกส์ขึ้นก็คือ การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯในเมืองแบกแดด ประเทศอิรัก

ตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา วิกิลีกส์เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และเผยแพร่ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของเอกสารทางการที่ถูกเซ็นเซอร์หรือถูกจำกัด ซึ่งเกี่ยวข้องกับสงคราม การสอดแนม และการทุจริต จนถึงปัจจุบันมีการเผยแพร่เอกสารและการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10 ล้านฉบับ

และไม่นานมานี้ วิกิลีกส์ (Wikileaks) ได้เปิดเผยข้อมูลรายงานของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยเกี่ยวกับเบื้องหลังวิกฤตการเมืองของไทยในปี พ.ศ.2549  โดยเป็นบทสนทนาระหว่างเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยขณะนั้นกับนักการเมืองระดับแกนนำของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง โดยนักการเมืองท่านนั้นได้เล่าให้เอกอัครราชทูตฯฟังเกี่ยวกับเบื้องหลังการยุบสภาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549  โดยบทสนทนานั้นเกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นเวลาประมาณ 9 วัน ประเด็นสำคัญในบทสนทนาคือ นักการเมืองท่านนั้นได้กล่าวถึงการที่นายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ ทักษิณ ชินวัตรได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกา โดยนักการเมืองท่านนั้นได้กล่าวว่า ทักษิณได้ขอคำแนะนำบางอย่างจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อทางออกของวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้นและอ้างว่า ทักษิณได้เล่าให้เขาฟังว่า พระองค์ได้แนะนำอย่างไร และทักษิณได้นำมาปฏิบัติอย่างไร

บทสนทนาดังกล่าวนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯได้ทำเป็นเอกสารและรายงานกลับไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และยังอยู่ในสถานะที่ปกปิดเป็นความลับอยู่ แต่วิกิลีกส์สามารถดึงออกมาเปิดสู่สาธารณะได้  และผู้เขียนก็สามารถเข้าถึงเอกสารดังกล่าวที่รั่วออกมาได้  และขณะนี้ได้ทำการสอบถามไปยังอดีตเอกอัครราชทูตท่านนั้น (ส่งอีเมลย์ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังไม่ได้รับการตอบแต่อย่างใด คาดว่าน่าจะไม่ตอบไปตลอด)  ส่วนนักการเมืองท่านนั้น ผู้เขียนก็ได้ส่งเอกสารดังกล่าวและสอบถามว่าข้อความในบทสนทนานั้นเป็นความจริงหรือไม่ ?  อีกทั้งยังได้ส่งเอกสารและคำถามไปยังบุคคลที่ถูกพาดพิงในบทสนทนานั้นด้วย   หากได้ความอย่างไร และเมื่อถึงเวลาอันสมควร ผู้เขียนก็จะนำคำตอบที่ได้มานำเสนอแก่สาธารณะต่อไป

กรณี “อู นุ-เนวิน 2501” ก็เช่นกัน ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างของอัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ ผู้สื่อข่าวที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกไกลชาวอเมริกันก็ดีที่เขียนรายงานออกมาในปี พ.ศ. 2502  หรือนักวิชาการที่ศึกษาเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไม่นานหลังจากเกิดเหตุการณ์อย่าง แซมมวล อี. ไฟน์เนอร์ ศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ที่เขียนงานออกมาในปี พ.ศ. 2505  จะไม่สามารถวิเคราะห์ฟันธงได้แน่ชัดว่า การที่ อู นุ ตัดสินใจลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการและเชิญนายพลเนวินให้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนเขา โดยการเสนอชื่อให้สภาลงมติยอมรับตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการกระทำที่ อู นุสมัครใจทำเองเพราะเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น ตัวเขาและรัฐบาลของเขาไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้เกิดขึ้นอย่างสงบเรียบร้อยและเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เพราะพรรคของเขาเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม

หรือเป็นเพราะว่า เขาถูกบีบจากกองทัพให้ต้องลาออก จากการถูกขู่ว่าจะทำรัฐประหารและเปิดทางให้นายพลเนวิน เสนาธิการทหารบกของกองทัพพม่าได้ขึ้นสู่อำนาจ ?

ซึ่งในรายงานของราเวนโฮลท์กล่าวว่า กองทัพปฏิเสธข่าวลือเรื่องรัฐประหาร  ส่วนงานของไฟน์เนอร์กล่าวว่า มีข้อมูลอยู่สองชุด และไม่แน่ใจว่า ชุดไหนมีความจริงมากน้อยแค่ไหน ?

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เป็นเวลา 31 ปีหลังจากเหตุการณ์ “อู นุ-เนวิน 2501” และเป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากที่นายพลเนวินต้องลงจากอำนาจ หลังจากที่ครองอำนาจต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 26 ปี (นายพลเนวินทำรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2505) มาร์ติน สมิธ นักวิเคราะห์อิสระ ผู้ทำวิจัยและรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าให้สื่อต่างๆ ตลอดจนองค์กรวิชาการและองค์กรเอนจีโอ มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ พ.ศ. 2523  ได้สามารถเข้าถึงจดหมายที่ อู นุ เขียนไปยังนาพลซอหม่อง (Saw Maung) เป็นจดหมายลงวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2533

สาเหตุที่ อู นุ เขียนจดหมายไปหานายพลซอหม่อง เพราะหลังจากที่เกิดลุกฮือของประชาชน นิสิตนักศึกษา พระภิกษุ แม่บ้าน ลุกฮือขับไล่นายพลเนวิน จนทำให้นายพลเนวินลาออก แต่การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป จนทหารออกมาปราบกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงและนายพลซอหม่องได้ทำรัฐประหาร  เป็นไปได้ว่า อู นุ เชื่อว่า นายพลซอหม่องไม่ได้เป็นพวกเดียวกับนายพลเนวิน

สาระสำคัญบางตอนในจดหมายของ อู นุ กล่าวว่า  ความแตกต่างระหว่างการทำรัฐประหารสองครั้งที่ทำโดยนายพลเนวิน ในปี พ.ศ. 2501 และ พ.ศ. 2505  คือ ในปี พ.ศ. 2501   อู นุ รู้ล่วงหน้าว่า ทหารจะทำรัฐประหาร จึงทำให้เขาสามารถจัดให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสงบเรียบร้อย “เพื่อที่จะรักษาเกียรติของกองทัพ”

นั่นหมายความว่า อู นุ ต้องการสื่อว่า ในความเข้าใจของเขา การขู่ว่าจะทำรัฐประหารเป็นเรื่องจริง และเขาเลือกที่จะไม่ให้เกิดรัฐประหารในพม่า เพื่อรักษารัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าที่ใช้มาเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2490  และใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญในการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากตัวเขาไปสู่นายพลเนวิน โดยที่เขาตัดสินใจลาออกและเสนอชื่อนายพลเนวินต่อสภา

และจากจดหมายนี้เองที่ทำให้ อู นุ ต้องถูกกักบริเวณ ไม่ต่างจากที่ ออง ซาน ซู จีถูกกักบริเวณ ซึ่งก็คือ การคุมขังอย่างหนึ่ง

และถ้าย้อนกลับไปพิจารณากรอบที่ไฟน์เนอร์เคยเห็นว่า สามารถอธิบาย เหตุการณ์ “อู นุ-เนวิน 2501” ได้ นั่นคือ  “กองทัพไม่มีความคิดจะแทรกแซง แต่มีเงื่อนไขหรือโอกาสให้กองทัพเข้าแทรกแซง”  แต่สมิธเห็นว่า แม้ว่า ขณะนั้น อู นุจะประกาศต่อสาธารณะว่า เขาสมัครใจที่จะลาออกและเชิญนายพลเนวินมารักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้มีการจัดการการเลือกนายกรัฐมนตรีรักษาการคนใหม่ผ่านช่องทางตามรัฐธรรมนูญ และสภาก็ลงคะแนนเสียงอย่างเปิดเผย ขนาดหนังสือพิมพ์ the Times ของอังกฤษ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ( 10 วันหลังจากที่ อู นุ ประกาศลาออกและขอให้นายพลเนวินรับตำแหน่งแทน) ยังพาดหัวว่า ในการเมืองพม่า “ได้มีการมอบอำนาจให้นายพลที่ไม่เต็มใจนัก ?” (Power in Burma Thrust upon a Reluctant General ?)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสอง): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสอง): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสอง): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

แต่ในการวิเคราะห์ของสมิธหลังจากที่เขาสามารถเข้าถึงจดหมายของ อู นุ เหตุการณ์ “อู นุ-เนวิน 2501” คือ การทำรัฐประหาร ที่คนอาจจะไม่เข้าใจนัก

ถ้าเหตุการณ์ “อู นุ-เนวิน 2501” คือ การทำรัฐประหาร ก็ย่อมแตกต่างจากรัฐประหารทั่วไปที่กระทำการอย่างโจ่งแจ้ง เช่น เข็นรถถังและทหารออกมายึดอำนาจ และยุติหรือฉีกรัฐธรรมนูญ  ประกาศทางสถานีโทรทัศน์วิทยุว่า บัดนี้ ได้ยึดอำนาจหรือจำเป็นต้องเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อย เพราะเหตุการณ์ “อู นุ-เนวิน 2501” ไม่มีอะไรแบบนั้นเลย  ไม่มีการเข็นรถถัง ไม่มีการสั่งให้ทหารเคลื่อนย้ายกำลัง ไม่มีการประกาศยึดอำนาจ และที่สำคัญคือ ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ

ปรากฎการณ์แบบนี้ มีนักวิชาการฝรั่งเรียกว่า “constitutional coup”  ซึ่งจริงๆแล้ว สองคำนี้ไม่น่ามาอยู่ด้วยกันได้ โดยเฉพาะให้คำว่า constitutional มาขยายคำว่า coup  ถ้าแปลตรงตัวคือ รัฐประหารตามรัฐธรรมนูญ หรือภายใต้รัฐธรรมนูญ  เพราะโดยปกติ เมื่อมีรัฐประหาร รัฐธรรมนูญที่เคยใช้อยู่ก็จะหมดสภาพไป

รัฐประหารโดยไม่ล้มรัฐธรรมนูญ (constitutional coup) ที่เกิดขึ้นในพม่าครั้งแรกในเหตุการณ์

“อู นุ-เนวิน 2501” ทำให้ราเวนโฮลท์ตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าจะกลายเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆในเอเชียได้ การตั้งข้อสังเกตแบบนี้ น่าจะสื่อว่า ราเวนโฮลท์ไม่เคยรู้เรื่องปรากฎการณ์การเมืองไทยในปี พ.ศ. 2491 อันเป็นเหตุการณ์ที่รับรู้กันว่า คณะรัฐประหารได้ “บังคับให้ (นายควง อภัยวงศ์/ผู้เขียน) ลาออกในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 และเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ยังอยู่ปลอดภัยเป็นปกติดี

ดังนั้น เหตุการณ์ “ควง-จอมพล ป. 2491” ของไทยเราจึง “น่าจะ” เป็นต้นแบบการทำรัฐประหารอำพราง (constitutional coup) ในเอเชีย  และมาก่อน “อู นุ-เนวิน 2501”  ส่วนพม่าจะลอกเลียนแบบเราหรือไม่นั้น ไม่สามารถบอกได้ เพราะไม่มีหลักฐานข้อมูลครับ

(แหล่งอ้างอิง: Albert Ravenholt, Burma’s New Deal from the Army---Is It a Pattern for Asia ?;  S.E. Finer, The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics;  Martin Smith, Burma: Insurgency and the Politics of Ethnicity)