posttoday

ตำนานสุนทราภรณ์ (20)

31 พฤษภาคม 2565

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*****************

อันที่จริง การนำวงดนตรีสุนทราภรณ์ไปทำการตลาดให้แก่ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ตามแนวคิด “สุนทรียะมาร์เกตติ้ง” ของอาจารย์ไพบูลย์ นับเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญในการพัฒนาวงดนตรีสุนทราภรณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง งานนี้เริ่มประเดิมการแสดงครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งมีผลเป็นการสร้างพื้นฐานสำคญในการจัดงาน 60 ปี สุนทราภรณ์อีก 4 ปีต่อมา

วันที่ถือเป็นวันกำเนิดวงดนตรีสุนทราภรณ์คือวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 วันครบรอบ 60 ปี ของวงสุนทราภรณ์ จึงเป็นวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

อาจารย์ไพบูลย์เริ่มตำนาน “60 ปีสุนทราภรณ์” ว่า “การที่จะทำงานอะไรไม่ว่าเล็กว่าใหญ่ เงินหรือ Money เป็นปัจจัยสำคัญของทฤษฎี 3 M ที่รู้จักคุ้นเคยกันดี นอกจาก Man (คน) Management (การบริหารจัดการ) ที่ต่อมา เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น Market (ตลาด ลูกค้า) Morale (ขวัญ กำลังใจทีมงาน) Machine (เครื่องมือเครื่องไม้) ฯลฯ” (เล่ม 8 น. 98)

จึงจำเป็นต้องคิด “แผนการหาเงินหารายได้มาไว้เป็นกองทุนต่อเอาไว้ให้ด้วย เพื่อให้แต่ละโครงการสามารถเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาปรับปรุงวงดนตรีสุนทราภรณ์ซึ่งเป็นสินค้าเดิม (Existing Product) ที่จะจับตลาดเดิม ลูกค้าเดิม แฟนเพลงเก่า (Existing Market) ให้ได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดขยายฐานของกลุ่มลูกค้าใหม่ แฟนเพลงรุ่นใหม่ (New Market) ในอนาคต”

ในเดือนมีนาคม 2542 อาจารย์ไพบูลย์จึงทำ “โครงการเทปเพลงอมตะ 60 เพลงดี 60 ปีสุนทราภรณ์ เสนอให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. เป็นเจ้ามือจัดทำเทปชุดพิเศษชุดนี้ ออกขายตามปั๊มน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ เพื่อหวังที่จะนำรายได้ส่วนหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายและเป็นทุนสำหรับพัฒนาวงดนตรีสุนทราภรณ์...”

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากคุณกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีและคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. (ต่อมาได้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่) โครงการดังกล่าว ได้ระบุหลักการเหตุผลว่า

“ในโอกาสที่วงดนตรีสุนทราภรณ์จะมีอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 นั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานผลงานด้านวรรณศิลป์และคีตศิลป์ของบรรดาครูเพลง นักแต่งเพลง นักดนตรี นักร้อง ของวงสุนทราภรณ์ที่มีผลงานเป็นอมตะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานสืบไป... โดยจะนำเงินรายได้จากการจำหน่ายเทปเพลงอมตะ 60 เพลงดี 60 ปีสุนทราภรณ์ดังกล่าว ไปใช้เป็นกองทุนการจัดงานฉลองในวาระครบรอบ 60 ปี ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ด้วยกัน 4 งาน คือ งานรวมใจอาสากาชาด ถวายราช 72 พรรษา : 60 เพลงดี 60 ปีสุนทราภรณ์ ผู้จัด สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานคอนเสิร์ต 35 ปี มช. 60 เพลงดี 60 ปี สุนทราภรณ์ ผู้จัด สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 งานสุนทราภรณ์วิชาการ วันเพลงสุนทราภรณ์ครั้งที่ 2 ผู้จัด ภาควิชาดนตรี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานสุนทราภรณ์ สดุดีคีตกวี มหาจักรีบรมราชวงศ์ ผู้จัด มูลนิธิโรคหัวใจแห่งประเทศไทย วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” (เล่ม 8 น.99-100)

การจัดทำเทปเพลงอมตะ 60 เพลงดี 60 ปี สุนทราภรณ์ มีการคัดเลือกเพลงยอดนิยมของวงดนตรี สุนทราภรณ์ 60 เพลง จากที่มีอยู่กว่า 2,000 เพลง โดยวิธีการให้แฟนเพลงโหวตผ่านเว็บไซต์บ้านคนรัก สุนทราภรณ์แล้วนำมาบันทึกเสียงใหม่โดยเพิ่มดนตรี จากเดิมที่เป็นระบบโมโน ให้เป็นระบบสเตอริโอ แต่ใช้เสียงร้องเดิมโดยให้ครูดำ พูลสุข สุริยพงษ์รังสี ปรับปรุงเพิ่มเติมเสียงดนตรีให้เกิดความไพเราะมากขึ้น

ส่วนช่องทางการจำหน่าย (Place) คือ ปั๊มน้ำมัน ปตท.ทั่วประเทศ ซึ่งเวลานั้นมีมากกว่า 500 แห่ง โดยกำหนดให้แฟนเพลงสุนทราภรณ์หรือผู้สนใจ ที่ซื้อน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์ของ ปตท. ในมูลค่า 300 บาท จะสามารถซื้อเทปเพลงชุดนี้ ซึ่งมีเทป 4 ม้วน 60 เพลง จากราคาชุดละ 300 บาท เหลือ 200 บาท ปรากฏว่าเทปเพลง 100,000 ชุด ขายหมดเกลี้ยงในเวลาไม่ถึงเดือน (เล่ม 8 น. 100-101) ได้กำไร 10,000,000 บาท ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย 2,500,000 บาท เป็นรางวัลในการขายให้ปั๊มน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ 2,500,000 บาท ส่วนหนึ่งมอบให้วงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นกองทุนเพื่อพัฒนาปรับปรุงวงดนตรี และการแต่งกายของบรรดานักร้องในงานคอนเสิร์ตครั้งต่อๆ ไป

ส่วนงานคอนเสิร์ต 4 ครั้ง ตามที่แผนวางไว้ มีปัญหาอุปสรรคต่างๆ กัน เช่น คอนเสิร์ตของคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วางแผนจะจัดบรรเลงเพลงเป็น 4 แบบ คือ แบบวงออร์เคสตรา, แบบขับร้องประสานเสียง, แบบวงดนตรีแนวแจ๊ส และแบบคีตสัมพันธ์ ไม่สามารถจัดได้ เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ต้องเริ่มต้นเขียนโน้ตใหม่ และฝึกซ้อมใหม่ จึงไม่อาจจัดได้ตามที่ “ฝัน” ไว้

แต่อีก 3 งาน ก็มีปัญหา ทำให้ต้องมีการปรับแผน และจัดได้อย่างยิ่งใหญ่ เช่น งานคอนเสิร์ตรวมใจอาสากาชาด ถวายราช 72 พรรษา : 60 เพลงดี 60 ปีสุนทราภรณ์ ; งานคอนเสิร์ตคีตนิทัศน์สุนทราภรณ์สดุดี : คีตกวี มหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งอาจารย์ไพบูลย์ได้เล่าไว้แล้ว ทุกเรื่องเป็นการสรุปบทเรียนทั้งความสำเร็จ ท่ามกลางปัญหาอุปสรรค ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งทั้งสิ้น

ปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงไว้คือ การที่คุณอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ บุตรสาวคนเดียวของครูเอื้อ ได้ตัดสินใจลาออกจากงานที่สถานทูตอังกฤษเพื่อมาดูแลวงดนตรีสุนทราภรณ์อย่างเต็มตัว ในช่วงนั้น

*****************************