posttoday

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ(ตอนที่สิบห้า)

26 พฤษภาคม 2565

โดย ไชยันต์ ไชยพร

******************

ข้อดีของฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะการใช้หลักการการสืบราชสันตติวงศ์โดยตำแหน่งมกุฎราชกุมาร เป็นการลดทอนอำนาจและอิทธิพลของขุนนางเสนาบดีในการกำหนดตัวผู้ที่จะเสวยราชย์ ดังที่เห็นได้จากการกำหนดตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์ในสมัยรัชกาลที่สองต่อสาม และสามต่อสี่ และสี่ต่อห้า

ปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงประสบในขณะที่ทรงครองราชย์ มีดังนี้คือ 1) ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์โดยหลักการใหม่ นั่นคือ จากการสถาปนาการสืบราชสันตติวงศ์โดยตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช สยาม มกุฎราชกุมารจากสถานะของการเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ โดยไม่ผ่านการยอมรับของที่ประชุมขุนนางเสนาบดี มหาเถระและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ หรือ “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สาม

ข้อดีประการแรก ของการสืบราชสันตติวงศ์โดยตำแหน่งมกุฎราชกุมาร คือ มีความชัดเจนแน่นอนของตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์ในตอนเปลี่ยนรัชกาล ไม่เกิดปัญหา “การเมือง” และความวุ่นวายสับสนที่เกิดจากการประชันหรือแย่งชิงบัลลังก์ในตอนเปลี่ยนรัชกาลที่ผ่านมา

อย่างในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่สี่สู่รัชกาลที่ห้า “หมอสมิธ” มิชชันนารีชาวอเมริกันได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ “สยามริปอสิตอรี” ว่า “เวลานี้ ทั่วประเทศสยามพากันสั่นสะท้าน และหวาดหวั่นอยู่ในระหว่างเปลี่ยนรัชกาล ด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่า ซึ่งมีพระเดชพระคุณแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาก และได้ทรงปกครองชนชาติอื่น ที่มาพึ่งพระบารมีอยู่ในพระราชอาณาเขต กับทั้งชาวต่างประเทศอันอยู่ในบังคับของกงสุล มิได้เสด็จสถิตอยู่ในเศวตฉัตร ให้คนทั้งหลายเกรงพระราชอาญาเสียแล้ว

ม้สมเด็จเจ้าฟ้าอันเป็นพระราชโอรส ได้ทรงรับรัชทายาทก็จะเกรงอยู่ แต่ว่าประชวรพระกำลังยังปลกเปลี้ย จะรอดพระชนม์ทนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการรับแขกเมืองเฝ้าได้แลหรือ แม้แต่ในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกำลังประชวร ยังไม่สวรรคต ก็มีกิตติศัพท์ว่าจะเกิดกบฏ และได้มีเหตุวุ่นวายด้วยเรื่องจับฝิ่นเถื่อน ทั้งปรากฏว่ามีผู้ทำอัฐปลอมมาก เกิดยุ่งยากในเรื่องเครื่องแลก จนตื่นกัน ไม่เป็นอันซื้อขายในท้องตลาดอยู่หลายวัน”

ข้อดีประการต่อมาเป็นข้อดีของฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะการใช้หลักการการสืบราชสันตติวงศ์โดยตำแหน่งมกุฎราชกุมาร เป็นการลดทอนอำนาจและอิทธิพลของขุนนางเสนาบดีในการกำหนดตัวผู้ที่จะเสวยราชย์ ดังที่เห็นได้จากการกำหนดตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์ในสมัยรัชกาลที่สองต่อสาม และสามต่อสี่ และสี่ต่อห้า

โดยในสมัยรัชกาลที่สองต่อสาม ขุนนางที่มีอำนาจอิทธิพลคือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค ก็จะเลือกกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเป็นรัชกาลที่สาม เพราะมีผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกัน

ในสมัยรัชกาลที่สามต่อสี่ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นเป็นรัชกาลที่สาม เพราะต้องการให้ทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่คั่งค้างมาแต่ปลายรัชกาลที่สามสำเร็จ และต้องการพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีทรรศนะที่เปิดกับต่างชาติตะวันตก อีกทั้งเจ้าฟ้งมงกุฎก็ไม่ทรงมีอำนาจบารมีมากพอที่จะสร้างปัญหากับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคด้วย

ในสมัยรัชกาลที่สี่ต่อรัชกาลที่ห้า กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นรัชกาลที่ห้า เพราะพระองค์ทรงพระเยาว์ จำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้น การมียุวกษัตริย์จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้นำตระกูลบุนนาคขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ในขณะที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงประชวรหนัก การได้พระมหากษัตริย์ที่ทั้งทรงพระเยาว์และทรงประชวร ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ข้อเสีย ภายใต้หลักการการขึ้นครองราชย์โดยตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ทำให้ผู้สืบราชสันตติวงศ์ไม่ได้ผ่านการยอมรับของที่ประชุมขุนนางเสนาบดี พระมหาเถระและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่

ดังนั้น ผู้ที่ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์จึงจำต้องพิสูจน์พระองค์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว เพื่อให้ได้รับการยอมรับต่อเสนาบดีกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งกระทรวงทบวงกรมต่างๆนี้ได้เกิดขึ้นจากการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินในปี พ.ศ.2435 ในสมัยรัชกาลที่ห้า

1)นอกจากการพิสูจน์พระองค์ในการทรงบริหารราชการแผ่นดินแล้ว คุณสมบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยในด้านการศึกษา ผู้ที่ขึ้นครองราชย์ยังจะต้องมีคุณสมบัติทางการศึกษาเพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย จะเห็นได้ว่า เสนาบดีกระทรวงทบวงกรมต่างๆ หลัง พ.ศ.2439 จะเริ่มมีพระเจ้าลูกยาเธอที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และกลับมารับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงต่างๆ

นเรื่องวุฒิการศึกษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยสาเหตุพระประชวร ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว ในขณะที่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นพระเชษฐาหรือพระอนุชาที่ทรงเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ และหลายพระองค์ก็มีผลการเรียนดีเด่น ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงเผชิญกับ “ปัญหาความชอบธรรมในเรื่องของวุฒิการศึกษา”

และเมื่อเชื่อมโยงกับ 1) ก็ยิ่งทำให้พระองค์จะต้องพิสูจน์ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสองเท่า

2)นอกจาก 1) และ 2) แล้ว ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่พระองค์ต้องทรงเผชิญคือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์ทรงมีความ “อาวุโส” และ “ความเป็นผู้นำ” เพราะส่วนใหญ่ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็น “พระอนุชา” หรือไม่ก็เป็นเสนาบดีที่เคยเป็นผู้อยู่ภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์มาก่อน อีกทั้งพระมหากษัตริย์เป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน จัดตั้งกระทรวงทบวงกรมขึ้นและเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลที่พระองค์ทรงเห็นสมควรลงในตำแหน่งต่างๆ

ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในช่วงต้นรัชกาล บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งสืบเนื่องมาแต่รัชกาลก่อน และมีความ “อาวุโส” กว่าพระองค์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางสามัญชน ตัวอย่างเช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงอยู่ในสถาะของ “พระปิตุลา” (อา) ที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่ต้นจนถึงช่วงเปลี่ยนรัชกาล เป็นเวลาถึง 18 ปี แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการในกระทรวงมหาดไทยอย่างยิ่ง

จากปัญหาตั้งแต่ 1) – 4) นี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังที่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงนิพนธ์ไว้ว่า“ครั้นเมื่อเปลี่ยนรัชกาล วิธีปฏิบัติราชการระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับเสนาบดีย่อมเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ตามส่วนแห่งพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ที่ฉลองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่แล้วมาโดยคล่องแคล่วถูกพระราชอัธยาศัย บางทีอาจไม่สดวกสำหรับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ก็เป็นได้ อาการเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นเสมอ ไม่แต่ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับเสนาบดีเท่านั้น

แต่ระหว่างหัวหน้าการงานทุกอย่าง ทุกชั้นกับผู้ใต้บังคับบัญชาของตนก็มีเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงบัญชาราชการโดยอาศัยหลักรัฐประศาสโนบายเดียวกันกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ แต่พระราชอัธยาศัยไม่สู้เหมือนกันทีเดียว ในรัชกาลที่ 5 ตอนกลางและตอนหลัง เสนาบดีส่วนมากเป็นบุคคลที่ท่านเลี้ยงขึ้นมาแต่ตำแหน่งต่ำๆ ทรงคุ้นเคยมามาก ทรงหัดมาเอง ตรงกับคำที่พูดกันเล่นๆว่าเป็น ‘ลูกศิษย์’ ท่านทั้งนั้น

ในรัชกาลที่ 6 ชั้นต้น เสนาบดีแทบทุกท่านมีพระชัณษาและอายุมากกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงคนละรุ่นทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์เป็นผู้มีพระอัธยาศัยสุภาพเป็นอย่างอุกฤษณ์ดั่งที่รู้กั้นอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้ทรงเกรงใจท่านเสนาบดีเหล่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเสนาบดีเหล่านั้นจึงต่างกันกับในรัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุนี้เป็นข้อใหญ่ จึงเป็นผลให้ทรงปล่อยการงานไว้ในมือเจ้ากระทรวงยิ่งขึ้นกว่าในรัชกาลก่อน โดยมากทรงวางรัฐประศาสโนบายไว้ แต่ไม่สู้จะได้ทรงควบคุมกวดขันเหมือนอย่างในรัชกาลที่แล้วมา”

และข้อความที่ว่า “….ในรัชกาลที่ 6 ชั้นต้น เสนาบดีแทบทุกท่านมีพระชัณษาและอายุมากกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงคนละรุ่นทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ/ผู้เขียน) เป็นผู้มีพระอัธยาศัยสุภาพเป็นอย่างอุกฤษณ์ดั่งที่รู้กั้นอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้ทรงเกรงใจท่านเสนาบดีเหล่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเสนาบดีเหล่านั้นจึงต่างกันกับในรัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุนี้เป็นข้อใหญ่ จึงเป็นผลให้ทรงปล่อยการงานไว้ในมือเจ้ากระทรวงยิ่งขึ้นกว่าในรัชกาลก่อน โดยมากทรงวางรัฐประศาสโนบายไว้ แต่ไม่สู้จะได้ทรงควบคุมกวดขันเหมือนอย่างในรัชกาลที่แล้วมา”

อาจจะตีความตรงตัวเลยก็ได้ หรืออาจจะตีความอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ด้วยความมีอาวุโส ความสามารถและประสบการณ์ของบรรดาเสนาบดีส่วนใหญ่ ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯไม่สามารถทรง “ทำอะไรได้มากนักในการบริหารราชการแผ่นดิน” อีกทั้งด้วยบุคลิภาพของพระองค์ที่ “สุภาพเป็นอย่างอุกฤษณ์” นั่นคือ สุภาพอย่างประเสริฐสุด หรือสุภาพอย่างยิ่งยวด

ในปรัชญาการเมืองของอริสโตเติล ความสุภาพถือเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ความสุภาพอย่างยิ่งยวดหรือขนาดหนักหรือเกินไป อาจจะกลายเป็นความอ่อนได้ หรือถ้ากล้าหรือแข็งกร้าวมากไป ก็ไม่ใชความกล้าหาญ แต่จะกลายเป็นความมุทะลุบ้าบิ่น หรือถ้าสุขุมมากเกินไปก็จะไม่ใช่ความสุขุม แต่กลายเป็นความขี้ขลาด

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า ปัญหาสำคัญสำหรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ปัญหาในข้อ 1) ที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเป็นปัญหาดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่การเมืองสมัยอยุธยา นั่นคือ ผู้ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ตามสายโลหิต ถ้าไม่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนอย่างแท้จริงจากที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดี จะอยู่ในสถานะที่ไร้เสถียรภาพความมั่นคง ประกอบกับพระบุคลิกภาพของพระมหากษัตริย์ที่ไม่เข้มแข็งหรือไม่สามารถสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นได้หลังขึ้นครองราชย์ ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ อันนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาต่อภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์โดยรวมในสายตาของข้าราชการและประชาชน เพราะข้อดีของการสืบราชสันตติวงศ์โดยตำแหน่งมกุฎราชกุมารคือความชัดเจนแน่นอน แต่ข้อเสียคือ การขัดกับหลักหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านการปกครองโดยชนชั้นนำของปาเรโต (circulation of power) ที่ชนชั้นนำที่จะขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครอง (governing elite) ควรมีความถนัดตามเงื่อนไขความต้องการของบริบทขณะนั้น

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ(ตอนที่สิบห้า)

                   วิเฟรโด ปาเรโต                                                              อริสโตเติล

แต่ข้อเสียของหลักนี้คือไม่สามารถกำหนดตัวไว้ได้ล่วงหน้าเป็นเวลานาน ย่อมสร้างเงื่อนไขให้เกิดการแข่งขันกัน และเมื่อถึงช่วงสิ้นรัชกาลก็จะเกิดความสับสนอลหม่านขึ้น แต่ถ้าวางหลักการไว้แน่นอนว่า การขึ้นครองราชย์จะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะบุคคลที่ประกอบไปด้วยพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ ก็อาจจะแก้ปัญหาความสับสนวุ่นวายไปได้ ดังที่ผู้เขียนได้ตีความว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” เป็นประเพณีการปกครองสำหรับการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์สืบเนื่องต่อไป กระนั้น ปัญหาก็จะกลับมาสู่วังวนที่ทำให้กลุ่มขุนนางมีอำนาจอิทธิพลเหนือพระมหากษัตริย์อย่างที่เคยเกิดขึ้นอยู่ดี

แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดในการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและไม่ได้ใช้พระราชอำนาจทางการเมืองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั่นคือเป็นการปกครองในระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือการปกครองแบบผสมที่อภิชนาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนครองอำนาจนำเหนือราชาธิปไตย

แต่ถ้าให้ราชาธิปไตยมีอำนาจนำเหนืออภิชนาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง การสืบราชสันตติวงศ์ก็จะกลับมาเป็นปัญหาทางสองแพร่งระหว่างการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลหรือการสืบราชสันตติวงศ์ตามมติของที่ประชุมสภา และหากการสืบสานสถาบันพระมหากษัตริย์กลับกลายเป็นปัญหามากกว่าจะเป็นข้อได้เปรียบเหนือรูปแบบการปกครองอื่น ดังที่ศาสตราจารย์ทอม กินส์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบและเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกาได้กล่าวว่า “ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอาจเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดที่มีอยู่” การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมือง

ดังนั้น จึงน่ากลับไปพิจารณาให้ความสำคัญกับเงื่อนไขในการธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์หรือราชาธิปไตยตามที่อริสโตเติลได้กล่าวไว้ว่า

“โดยทั่วไป วิธีการธำรงรักษาราชาธิปไตยก็คือวิธีการที่ตรงกันข้ามกับวิธีการที่ทำลาย สถาบันกษัตริย์จะยั่งยืนนานได้ก็โดยการจำกัดอำนาจ ยิ่งมีอำนาจน้อยเท่าไร ก็จะยั่งยืนโดยไม่เสียหายได้ยาวนานมากขึ้นเท่านั้น เมื่อกษัตริย์ทรงกระทำการด้วยการไตร่ตรองอย่างระมัดระวัง ไม่พยายามใช้อำนาจตามอำเภอใจ พระองค์ก็ไม่ต่างจากพลเมืองของพระองค์ และพลเมืองก็จะอิจฉาริษยาพระองค์น้อยลง”

(แหล่งข้อมูล: พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; : สำเนาพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กับประวัติเจ้าพระยายมราช, พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2482; Vilfredo Pareto,

"The Mind and Society," Section XI, "The Elitists" in The Great Political Theories, Michel Curtis (ed.), (New York, N.Y.: Avon Books, 1981); ศาสตราจารย์ทอม กินส์เบิร์ก ในการสัมมนาเรื่อง บทบาทตุลาการกับการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน. จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 15 พ.ค.2564 แหล่งที่มา:

https://prachatai.com/journal/2021/05/93178 [10 มิถุนายน 2564]; Aristotle, Politics, translated by H. Rackham, (Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press: 1932), 1313a20.)