posttoday

คนไทยสูงวัยอย่างมีพลัง

22 พฤษภาคม 2565

โดย...ก.บ.ชนิตพล บุญยะวัตร

*****************************

ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มที่ (Super aged society) คือ มีประชากรสูงอายุ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศภายในปี พ.ศ. 2575 อีกสิ่งหนึ่งที่ควบคู่กับอายุที่มากขึ้นคือการเสื่อมตามวัย สมรรถภาพในด้านต่าง ๆ เสื่อมถอยลง เช่น สภาพทางกาย กระบวนการคิดและความเข้าใจ ทำให้มุมมองผู้สูงอายุเป็นวัยที่ขาดความสามารถ ต้องพึ่งพิง และได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่น

แต่ในขณะเดียวกันยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนหนึ่งที่มีสุขภาพดี สามารถดูแลตนเอง และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ อีกทั้งยังมีคุณค่าต่อครอบครัว และสังคมอยู่ จึงทำให้เกิดแนวคิด “Active aging” หรือ พฤฒพลัง ซึ่งเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ ในด้านความสามารถ คุณค่า คุณประโยชน์ และศักยภาพในการดำเนินชีวิต องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้ความหมายไว้ว่า เป็นแนวคิดที่แสดงถึงภาวะสุขสมบูรณ์ของผู้สูงอายุและเป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยพฤฒพลัง ประกอบด้วย 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ สุขภาพ (Health) คือการมีสุขภาพทางด้านร่างกายและจิตใจที่ดี การมีส่วนร่วม (Participation) คือการมีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย มีส่วนร่วมกับผู้อื่น และความมั่นคง (Security) คือการมีหลักประกันและความมั่นคง

คนไทยสูงวัยอย่างมีพลัง

ความมั่นคงทางรายได้ ที่อยู่อาศัย และผู้ดูแล ภาวะพฤฒพลังในประเทศไทยมีการแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต่ำ ระดับปานกลาง และระดับสูง โดยภาวะพฤฒพลังผู้สูงอายุของไทยในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง และผู้สูงอายุเพศชายมีภาวะพฤฒพลังมากกว่าเพศหญิง และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่าด้านสุขภาพอยู่ในระดับที่สูง ด้านความมั่นคงอยู่ในระดับปานกลาง และด้านการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการที่จะส่งเสริมภาวะพฤฒพลังในผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นได้จะต้องอาศัย 3 ส่วนสำคัญ คือ สุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคงในชีวิตที่สมดุลกัน การไม่มีภาวะเจ็บป่วย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค ร่วมกับมีความพร้อมและความมั่นคงในด้านต่าง ๆ จะส่งผลต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ เมื่อมีสุขภาพกายและใจที่ดี ก็จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพ ซึ่งการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดังนี้

กิจกรรมการเคลื่อนไหว เป็นการส่งเสริมความสามารถด้านร่างกายให้มีความแข็งแรง คล่องแคล่ว โดยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ผ่านการออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวง่าย ๆ ไม่หนักจนเกินไป อาจเป็นการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การกวาดบ้าน ถูบ้าน ทำสวน ทำอาหาร โดยกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ลดการเจ็บป่วย และการเสียชีวิต อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกาย และกระบวนการคิดความเข้าใจเกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กิจกรรมที่หลากหลาย การทำกิจกรรมที่หลากหลาย หรือการทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ ตามความสนใจของตนเอง เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน มีความสุข คลายเครียด สนุกสนาน ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ เช่น การร้องเพลง ฟังเพลง งานฝีมือ หรืองานอดิเรกที่สนใจ หรือการช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ซึ่งการทำกิจวัตรประจำวัน เป็นกิจกรรมที่สำคัญและมักถูกมองข้าม ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ร้อยละ 28 ของผู้สูงอายุในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอายุมากว่า 65 ปี มีปัญหาในการดูแลตนเอง ต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ดูแล หากผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริม หรือสามารถเข้าถึงกิจกรรมต่าง ๆ นี้ได้ จะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่น ความมั่นใจ และความภาคภูมิใจให้แก่ตนเองได้

กิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์มีส่วนร่วมกับผู้อื่น เช่น การพบปะเพื่อน ๆ การได้พบเจอลูกหลาน การออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน จะเป็นการเพิ่มคุณค่า ความเชื่อมั่น ความมั่นใจ และความภาคภูมิใจให้แก่ตนเองได้

กิจกรรมบริหารสมองเป็นการส่งเสริมกระบวนการคิดและความเข้าใจ ส่งเสริมได้จากการเรียนรู้หรือได้ทำกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกิดกระบวนการคิด การวางแผน และการลงมือทำ ตัวอย่างกิจกรรมบริหารสมอง เช่นการทำกิจกรรมเป็นกลุ่มหรือทำกิจกรรมกับเพื่อน เช่น การทำอาหาร หมากรุก หมากล้อม ส่งเสริมผ่านการฝึกสหสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหว เช่น การออกกำลังกายตามแบบจากวิดีโอ โยคะ หรือ กิจกรรมประเภทเย็บปักถักร้อย เกมที่ส่งเสริมความจำ ความเข้าใจรูปแบบต่าง ๆ เช่น เกมจับคู่ภาพ เกมบวกเลข เกมนึกชื่อสิ่งของ ซึ่งการออกกำลังกายร่วมกับการทำกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการคิดและความเข้าใจควบคู่กัน และทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยส่งเสริมทักษะด้านนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มมีภาวะความสามารถของสมองบกพร่องเล็กน้อย (Mild cognitive impairment หรือ MCI)

กิจกรรมส่งเสริมการรับรู้ และเข้าใจตนเอง เป็นการควบคุมและจัดการภาวะอารมณ์ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความเครียด โดยการนั่งสมาธิ ภาวนาจิต ฝึกการคิดที่ยืดหยุ่น ไม่คิดลบ รับรู้ความเป็นไปของผู้อื่น คิดถึงประสบการณ์ดี ๆ ของตนเองที่เคยเกิดขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ ผู้สูงอายุไทยสามารถมีระดับพฤฒพลังในระดับสูงในทุกด้านได้ หากมีการทำกิจกรรมที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้สูงอายุเกิดการพัฒนาศักยภาพในตนเอง ส่งเสริมความมั่นใจ เพิ่มการมีเกียรติในตนเอง และทำให้รู้ถึงศักยภาพของตนเองมากขึ้น ดังนั้น การทำกิจกรรมดังกล่าว จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะส่งเสริมภาวะพฤฒพลังในผู้สูงอายุได้

*******************

รวบรวมข้อมูล : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล