posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (33)

21 พฤษภาคม 2565

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

“ถ้าจะเล่นการเมืองต้องมี3 อย่างนี้ 1 เงิน 2 บารมี และ 3 เล่ห์เหลี่ยม”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกอย่างนี้กับหลาย ๆ คน ที่มาถามท่านว่าถ้าอยากจะเล่นการเมืองจะต้องทำอย่างไร อย่างครั้งหนึ่งท่านอาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการพรรคกิจสังคม และได้ชื่อว่าเป็น “มือขวา” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็แซวขึ้นมาว่า “มิน่าท่านอาจารย์(คึกฤทธิ์)จึงประสบความสำเร็จ เพราะมีครบทั้งสามอย่างนี่เอง แต่ผมนี้คงไปไม่รอด เพราะไม่มีเงินและไม่มีบารมี”

“แต่คุณก็มีเล่ห์เหลี่ยม นั่นก็พอแล้ว” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตอบแล้วก็หัวเราะหึ ๆ

อย่างที่ได้เล่ามาในตอนที่แล้วว่า เมื่อแรกตั้งพรรคกิจสังคมขึ้นใน ปี 2517 นั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องร่วมลงขันกับแกนนำของพรรคอีกหลายคน ด้วยการเอาบ้านที่ซอยสวนพลูไปจำนองกับทางธนาคาร ประมาณว่าพรรคกิจสังคมใช้เงินไปในการเลือกตั้งปี 2518 ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท เพื่อส่งผู้สมัคร 200 กว่าคน (ส.ส.ปี 2518 มีจำนวน 269 คน แต่พรรคกิจสังคมไม่ได้ส่งครบทุกเขต) แต่ว่าก็ได้ ส.ส.มาแค่ 18 คน กระนั้นก็ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างที่เรียกว่า “มหัศจรรย์สุด ๆ”

ความมหัศจรรย์ดังกล่าวมีเหตุผลพอที่จะอธิบายได้ นั่นก็คือ “บารมี” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั่นเอง แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ “คารม” ที่ท่านใช้ในการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ จนสามารถโน้มน้าวใจบรรดาพรรคต่าง ๆ ให้ลงคะแนนโค่นรัฐบาลนั้นในท้ายที่สุด ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อภิปรายว่า “นักการเมืองในพรรคการเมืองอื่น ๆ ในสายตาพรรคประชาธิปัตย์นั้น ล้วนแต่เลวทรามต่ำช้าทั้งสิ้น แม้แต่น้องชายตัวเอง(ตอนนั้นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พี่ชายของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์)ที่ออกมาจากท้องแม่เดียวกันก็ยังเป็นคนเลว” ซึ่งเป็นถ้อยคำอันเชือดเฉือนใจ เพราะในการเลือกตั้งปี 2518 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ยังหาเสียงด้วยการ “ด่า” พรรคอื่น (และการด่านี้ก็เป็น “แบรนด์เนม” ของพรรคประชาธิปึตย์อยู่ในยุคนั้น) เมื่อพรรคต่าง ๆ ได้ฟังก็คงสะเทือนใจ จนกระทั่งตัดสินใจไม่เอารัฐบบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว

จากนั้นพรรคการเมืองที่มีเสียงรองลงมาอย่างพรรคธรรมสังคม พรรคชาติไทย และพรรคสังคมชาตินิยม ก็ได้มาขอให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์รับเป็นนายกรัฐมนตรี กับพรรคเล็กพรรคน้อยอีก 4-5 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยสื่อมวลชนเรียกรัฐบาลชุดนั้นว่า “รัฐบาลสหพรรค” จนถึง “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” เพราะมีจำนวนพรรคมาร่วมกันเป็นจำนวนมากนั่นเอง แม้จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงเกินครึ่งไม่มากนัก แต่การจัดตั้งในตอนแรกก็ผ่านไปด้วยดี ทว่าพอผ่านไปสักสองเดือนก็เกิดปัญหา เพราะมีการเคลื่อนไหวในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่น พรรคธรรมสังคม และพรรคชาติไทยขอปรับคณะรัฐมนตรี สื่อมวลชนเรียกสภาพความวุ่นวายตอนนั้นว่า “จับปูใส่กระด้ง” เพราะมีแต่ ส.ส.เรียกร้องเอาตำแหน่งและผลประโยชน์ต่าง ๆ

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า วิธีแก้ปัญหาความวุ่นวายในตอนนั้นก็ยังต้องใช้วิธีเดิม ๆ คือ “ป้อนนม” (มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “แจกกล้วย” ในสมัยนี้) ต้องหาเงินมาแจกจ่ายเจือจุนให้บรรดา “ส.ส.เสือหิว” ไม่เว้นแม้แต่ตัวท่านเอง แต่ก็ยังโชคดีที่ท่านมี “สปอนเซอร์” อยู่ข้างบ้าน นั่นก็คือพี่สาวของท่าน ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี ภริยาของ พลตำรวจเอกพระพินิจชนคดี อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ที่เกษียณมาเป็นประธานธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ โดยพี่สาวของท่านได้นำเงินใส่ถุงหิ้วเอามาให้ท่านใช้อยู่เป็นประจำเป็นจำนวนมาก ๆ พร้อมกับกำชับท่านว่า “ใช้ให้ดี ๆ นะ จะได้ไม่ไปโกงกินเหมือนกับคนอื่นเขา”

สมัยนั้นมีการจ่ายเงินให้แก่ ส.ส.เป็นรายเดือน โดยจ่ายตาม “ฐานานุรูป” แปลว่าถ้า ส.ส.คนใดจนก็จะได้เงินมาก ประมาณว่าตั้งแต่ 3-5 หม่นบาทต่อเดือน ส่วนที่พอมีฐานะแต่ก็อยากได้เงินกับเขาด้วย ก็ต้องแจกจ่ายให้รายละ 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน เพื่อมิให้ร้องแรกแหกกระเชอ

นอกจากนี้ยังมีการแจกจ่ายเงินตามเทศกาลหรือตามประเพณี อย่างเช่นงานกฐินผ้าป่าที่มีอยู่ตลอด(โดยเฉพาะผ้าป่าที่ทำได้ทุกวันทั้งปี) เมื่อ ส.ส.มา “บอกบุญ” ท่านก็ต้องใส่ซอง “ช่วยงาน” อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีซองละ1 หมื่นบาท (อันนี้ก็เป็นไปตามฐานานุรูปของเจ้าของซอง) ทำนองเดียวกันกับการ “แลกเช็ค” คือพอ ส.ส.คนใดร้อนเงินจำนวนมาก ๆ ก็จะเอาเช็คที่เขียนจำนวนเงินมาก ๆ นั้น มาขอแลกกับเช็คของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์(หรือคนที่ ส.ส.คิดจะมาขอเงิน) โดยไม่ได้สัญญาว่าจะเอาเงินเข้าธนาคารตามกำหนดในเช็คนั้นหรือไม่ ซึ่งก็คือการขอเงินแบบ “ทำให้ดูดี” เหมือนว่าเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งนั่นเอง

การจ่ายเงินแบบนี้คงเป็นภาระแก่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นอย่างมาก เพราะในปี 2522 ที่ท่านพาพรรคกิจสังคมชนะเลือกตั้งเข้ามา 88 คน แม้จะเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล จนกระทั่งมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในปี 2523 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องพึ่งพรรคกิจสังคมให้เป็นแกนในการสนับสนุนรัฐบาล โดยที่ท่านอาจารน์คึกฤทธิ์ไม่ได้รับตำแหน่งอะไร แต่ท่านก็ยังต้อง “แจกขนม” (พัฒนามาจาก “ป้อนนม

ในครั้งที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีเอง) เพราะต้องมีขนมนานาชนิดให้กับ ส.ส. ไม่เพียงแต่เงินที่ต้องแจกเป็นรายเดือน แต่ยังต้องดูแล “ค่าใช้จ่ายพิเศษ” ต่าง ๆ ให้กับ ส.ส.หลาย ๆ คนด้วย แม้ว่าจะมีสปอนเซอร์(ซึ่งถึงตอนนี้พี่สาวท่านได้เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่ได้สนับสนุนเงินทองให้อีก)จากผู้สนับสนุนพรรคจำนวนหนึ่งให้เงินช่วยเหลืออยู่เป็นประจำ แต่ก็คงไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับเสือหิวทั้งหลายนั้น เพราะตอนนั้นผมได้ทำงานเป็นเลขานุการของท่านแล้ว จึงได้รู้ได้เห็นถึงเงินทองที่ท่านต้องจ่าย รวมถึงที่ต้องเอาเงินเหล่านั้น “ใส่ซอง” แยกจำนวนไปตามที่จะแจก ส.ส.แต่ละคนนั้นด้วย รวมถึงที่ได้รู้ได้เห็น(และได้ทำ)ว่าท่านต้องขายหุ้นในบริษัทบางบริษัทที่ท่านซื้อหุ้นเก็บไว้ออกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็คงทำให้ท่านต้อง “ถังแตก” ในที่สุด

ใน พ.ศ.2524 ที่ผมเล่าว่าเป็นปีที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ปรารภขึ้นมาถึงการ “วางมือ” ทางการเมือง ที่หลาย ๆ คนได้ยินดัง ๆ ทั่วกันเป็นครั้งแรก น่าจะมีเหตุมาจากการที่ท่านกำลังถังแตกนี้ด้วย นอกเหนือจากที่ท่านก็มีอายุ 70 ปี แม้จะยังไม่มากสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่ตรากตรำทำงานการเมืองมากว่า 30 ปี ก็คงจะต้องบอกว่า “เหลืออดเหลือทน” และอย่างที่ท่านบอกกับใคร ๆ ว่า “ท่านอยากจะมีชีวิตส่วนตัวบ้าง” ก็คงจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่ท่านจะ “ลาโรง” เสียที

แต่กว่าที่ท่านจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคมได้ก็ต้องทอดเวลามาถึงปี 2528 ซึ่งมีเรื่องราวที่ “ดราม่า” เป็นอย่างมาก รวมถึงเป็นสิ่งที่ทำให้พรรคกิจสังคม “พลิกโฉม” ไปในทันที โดยเปลี่ยนจากพรรค “บารมีนิยม” เป็นพรรค “ธนบัตรนิยม” อย่างเต็มตัว

******************************