posttoday

น้ำเกี๋ยน : ตำบลจัดการตนเอง

20 พฤษภาคม 2565

โดย...ประสาร มฤคพิทักษ์ : [email protected]

***********************

เราคุ้นหูแต่คำว่า  “จังหวัดจัดการตนเอง”  ที่ภาคประชาสังคมพยายามนำเสนอมาหลายปีแล้ว น่าสนใจว่า ผืนดินไทยแห่งนี้ มี “ตำบลจัดการตนเอง” ที่ดำเนินการมาแล้วนานกว่า 15 ปี

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น ยาเสพติด การพนัน ตำรวจไม่ต้องเหนื่อยแรง ชาวบ้านจัดการเองได้ การตัดไม้ ทำลายป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ไม่ต้องมายุ่ง ชาวบ้านจับเองได้

บทเรียนของ “42 ขุนศึก น้ำเกี๋ยน” แห่ง ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน เป็นกรณีศึกษา ที่บ่งบอกคุณภาพของชุมชน และตอกย้ำความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”

น้ำเกี๋ยน  :  ตำบลจัดการตนเอง

การเดินทางร่วมคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่นำโดย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ไปศึกษาติดตามการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก เมื่อ 8 เมย. 65 ที่บ้านน้ำเกี๋ยน นอกจากได้เห็นความคืบหน้าในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ของชาวบ้านที่นั่นแล้ว  ยังทำให้ได้ทบทวนความทรงจำ เมื่อปี 2554  ผู้เขียนได้ร่วมคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตร “การเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง” ของ กกต. ไปศึกษาดูงานที่ ต.น้ำเกี๋ยน

11 ปีผ่านไป จากวันนั้นถึงวันนี้ ศักยภาพและคุณภาพของชุมชนยังเข้มแข็งมีพลังเหมือนเดิม ที่แตกต่างคือภารกิจจาก “ป้องปราม” ในวันก่อน มาเป็น “การยกระดับคุณภาพชีวิต” ในวันนี้

ชุมชนน้ำเกี๋ยน ในอดีตประสบปัญหา ตัดไม้ ทำลายป่า ปัญหาการพนัน และปัญหายาเสพติด ทำให้ นายสฤษดิ์ สุฤทธิ์ อดีตสหายป่า ซึ่งเป็นหมออนามัย เมื่อหลายปีก่อน เชิญชวนบุคคลสำคัญของ 5 หมู่บ้านในตำบลมาร่วมกันคิดแก้ปัญหา เรียกว่า 42 ขุนศึก ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หมอประจำตำบล อาจารย์ใหญ่โรงเรียน  ประธานชมรมผู้สูงอายุ  ประธานเยาวชนหมู่บ้าน รวม  42  คน มาหารือร่วมกันโดยใช้หลักโครงสร้าง บวรส คือ บ้าน วัด โรงเรียน สาธารณสุข  มีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันทั้ง 5 หมู่บ้าน เพื่อหาข้อยุติไปในทิศทางเดียวกัน  ได้ใช้ฐานอำนาจจากผู้ใหญ่บ้านผนวกกับอำนาจของชาวบ้านให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

นายมังกร ดีปินตา นายก อบต.น้ำเกี๋ยน  เมื่อปี 2554  เล่าว่า 42 ขุนศึก สัญจรประชุมชาวบ้านทั้ง  600 หลังคาเรือน  มีข้อยุติเป็นกฎกติกาที่ยอมรับร่วมกันเช่น ห้ามเล่นการพนัน บ้านไหนฝ่าฝืนกฎนี้จะต้องถูกปรับครั้งละ 2,000 บาท  จะถูกตัดขาดสวัสดิการของตำบลทั้งหมด

บ้านไหนมีคนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด วิธีง่ายๆ คือให้ชาวบ้านเขียนชื่อบอกเบาะแสคนเสพ คนค้า แล้วเอาชื่อใส่กล่อง ถ้าใครถูกเขียนชื่อซ้ำกันจากหลายๆ คน แสดงว่าคนนั้นมีปัญหา ผู้เสพจะถูกเรียกเข้าสู่กระบวนการบำบัด ผู้ค้าจะถูกตักเตือนและห้ามค้าอีกต่อไป ใครฝ่าฝืนก็ถูกตัดความช่วยเหลือ และถูกฟ้องตำรวจเพื่อดำเนินคดี

น้ำเกี๋ยน  :  ตำบลจัดการตนเอง

เรื่องการตัดไม้มาสร้างบ้าน ที่ผ่านมาถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับกันเพราะเป็นไปเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัย แต่เมื่อมีกติการ่วมกันแล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ใครฝ่าฝืนก็ถูกฟ้อง ถูกตัดสิทธิไปตามความหนักเบาของโทษทัณฑ์

ภายในเวลา  3-5 ปีนับแต่ “42  ขุนศึก” สำแดงพลังภาคปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ปัญหาทั้งสามลดลงไปมาก

ในวันนี้ การพนันและการตัดไม้ทำลายป่า หมดไปอย่างสิ้นเชิง การค้ายาบ้ายังหลงเหลืออยู่น้อยมาก

คุณประพันธ์ บุญตัน  รองนายก อบต.น้ำเกี๋ยน1 ใน 42 ขุนศึก เล่าว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน ลูกบ้านคนหนึ่งมีความกล้าหาญ มาสารภาพด้วยตนเองว่าลูกชายและลูกสะใภ้ของเขา ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่องานเข้าอย่างนี้ ขุนศึกจึงเชิญบุคคลเป้าหมายทั้งสองมา นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดต่อไป

ในปี 2541 เมื่อรู้ว่ามีการตัดไม้ทำลายป่า ขุนศึกทั้ง 42 คน ซึ่งมีสตรีและเยาวชนด้วยพากันยกขบวนไปยังพื้นที่ตัดไม้ ได้พบแต่ตอและไม้ของกลางที่ถูกตัดโค่นแล้ว และเลื่อยโซ่ตัดไม้ 3 ชุด ขุนศึกมีมติร่วมกันใช้สนามหน้าโรงเรียนน้ำเกี๋ยนจัดการเผาเลื่อยโซ่ของกลางทั้งหมด ต่อหน้าชาวบ้านทั้งตำบล เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เป็นการแสดงความเด็ดขาดให้ปรากฏ

42 ขุนศึก ยังมีกระบวนการจัดตั้ง “กลุ่มเสี่ยว” ที่เกิด พ.ศ. เดียวกัน ให้รวมกลุ่มช่วยเหลือกันเอง ซึ่งมีถึง 40 กลุ่ม สมาชิกกลุ่มเสียชีวิต ก็เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ใครยากจนไม่มีค่าเทอมลูก ก็ลงขันให้ทุนการศึกษา เจ็บป่วยก็ไปดูแลกัน ใครยังเล่นหวยอยู่ก็รวมกลุ่มกันสาธิตทดลองแทงเบอร์กันด้วยฉลากใส่เบอร์ ตั้งแต่ 00-99 แล้วให้ลองแทงเบอร์ เพื่อเรียนรู้ว่าโอกาสแทงเบอร์ถูกมีน้อยมาก 

เพื่อลดปัญหาการสูบบุหรี่ในชุมชน ก็ขอความร่วมมือจากร้านค้าชุมชนว่าอย่าขายบุหรี่ ใครอยากสูบต้องไปหาซื้อจากข้างนอก มีร้านค้าจากภายนอกเข้ามาขายบุหรี่ ถูกชาวบ้านต่อต้านจนต้องปิดร้านไป

น้ำเกี๋ยน  :  ตำบลจัดการตนเอง

นี่คือบทบาทในอดีต เป็นการป้องปรามในสิ่งที่ทำร้ายชุมชน ทำลายสุขภาพ ซึ่ง 42 ขุนศึกยังสามารถรักษามาตรฐานไว้ได้ค่อนข้างดี

ในวันนี้ บทบาทของ 42 ขุนศึก เปลี่ยนไปเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

คุณจิตติกร ลำทะสอน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ชี้ให้เห็นว่า 42 ขุนศึกในปัจจุบัน มีภารกิจในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เพราะปัญหาหนักๆ ถูกแก้ไขไปแล้ว

เช่นในวันนี้ ชาวบ้าน 90 % มีการปลูกยางเป็นอาชีพ ที่ผ่านมาแต่ละหมู่บ้านต่างก็ขายยางกันแบบตัวใครตัวมัน ทำให้ราคายางแตกต่างกัน บางหมู่ได้ราคาดี บางหมู่ได้ราคาต่ำ  42 ขุนศึกจึงชักชวนชาวบ้านทั้งหมดมาร่วมประมูลขายในราคาเดียวกัน แม้ว่าตลาดยางจะมีราคาผันผวนในแต่ละวัน แต่เมื่อร่วมกันประกาศในราคาเดียวกันทั้งหมด ทำให้มีอำนาจต่อรองราคากับพ่อค้ายาง เป็นมาตรการที่ชาวบ้านพอใจมาก

ขณะนี้ ต.น้ำเกี๋ยน กำลังระดมแรงและทุนรวมทั้งทำโครงการเสนอของบประมาณจากภาครัฐ

เพื่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ (Soil  Cement Weir) ณ บริเวณห้วยน้ำเกี๋ยน และร่องน้ำบริเวณป่าชุมชน จำนวน 30 ฝาย

ฝายแกนดินซีเมนต์  เป็นนวัตกรรมต่อยอดจากฝายมีชีวิตและฝายแม้ว ตรงที่มีแกนดินผสมซีเมนต์ฝังลึกลงไปใต้ดิน 2-4  เมตร และมีปีกกั้นอีก 2 ข้าง  ข้างละ 2-4 เมตร น้ำไหลจากที่สูงที่เคยไหลลอดใต้ฝายและไหลลัดเลาะซึมฝาย จะถูกปราการแกนดินซีเมนต์กั้นไว้ น้ำที่เอ่อล้นสันฝายจะไหลไปต่อ แต่น้ำที่ถูกฝายหน่วงไว้ และน้ำใต้ดินที่ยกตัวขึ้นมาจะแผ่กระจายไปสองฟากฝั่ง นำความชุ่มชื้นไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง น้ำจะซึมซ่านออกไปจนสามารถขุดบ่อบาดาลน้ำตื้นเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรได้

ในวันนี้ ชาวบ้านตำบลน้ำเกี๋ยน  มี 5 หมู่บ้านได้สร้างแบบอย่าง “ตำบลจัดการตนเอง” ช่วยทำให้เห็นอย่างเป็นจริงว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” เป็นพลังพลเมืองที่เอาการเอางาน (Active Citizen) นับตั้งแต่การป้องปรามตัดไม้ การพนัน ยาเสพติด โดยกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ ที่ชาวบ้านเป็นผู้ออกแบบและลงมือทำ ผ่าน “42 ขุนศึก” และปัจจุบันได้ทำหน้าที่ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนด้วยผลงานเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถประกาศได้เต็มปากเต็มคำว่า “น้ำเกี๋ยน คือตำบลจัดการตนเอง” ที่มีอานุภาพ

น้ำเกี๋ยน  :  ตำบลจัดการตนเอง

มีประเด็นคำถามว่าการทำงานแบบ “42 ขุนศึก” นี้ มีกฎหมายอะไรมารองรับหรือไม่

คำตอบคือไม่มีกฎหมายโดยตรง แต่จากองค์ประกอบ 42 คน มีตัวแทนจาก ผู้ใหญ่บ้านและ

ผช.ผญบ. ซึ่งเกิดจาก พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ (2494) มีนายก อบต. มาจากการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล (2537) และมีตัวแทนชาวบ้านที่เป็นผู้นำตามธรรมชาติ ประกอบกันขึ้นเป็นองค์กรแบบไม่เป็นทางการ

จึงเป็นการผสมผสานระหว่าง ราชการส่วนภูมิภาค กับ อปท. (Representative Democracy)

กับ ภาคประชาชน (Direct Democracy) ทำให้เกิด “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” (Consultative

Democracy) ที่เห็นได้ว่าสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงและได้รับการยอมรับมากกว่า

นี่คือ ชุมชนจัดการตนเองที่เป็นจริง โดยไม่ต้องรอกฎหมายใดๆ แม้แต่ พรบ.จังหวัดจัดการตนเอง ที่อยู่ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้