posttoday

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสี่)

19 พฤษภาคม 2565

ในการตีความและวิเคราะห์ของผู้เขียน เห็นว่า ในการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสบปัญหาสำคัญ 4 ประการ

ประการแรก ก่อนหน้าที่พระองค์จะได้รับการสถาปนาเป็นพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระบรมโอรสาธิราชฯ ก่อนหน้าพระองค์คือ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี แต่ต่อมา เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงสวรรคตหลังจากทรงพระยศได้ 7 ปีกว่า

ประการที่สอง พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ภายใต้หลักสืบราชสันตติวงศ์ใหม่ผ่านการสถาปนาตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชฯ แทนหลักการเดิม “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” ที่ให้เสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ มหาเถระและพระบรมวงศานุวงศ์มาประชุมเพื่อให้ยกให้ผู้ที่ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมขึ้นเสวยราชย์ ดังนั้น การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์จึงไม่ได้ผ่านหลักการความเห็นชอบแบบเดิม

ประการที่สาม ก่อนหน้านี้ สังคมไทยยังไม่ได้มีระบบการศึกษาที่เป็นทางการ เริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ห้า และภายใต้ความเป็นสมัยใหม่และอิทธิพลตะวันตก ทำให้การศึกษาเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น แม้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะไม่ได้โปรดฯให้เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศไปศึกษาต่อประเทศ แต่ให้ทรงหัดเรียนรู้งานราชการและกิจการต่างๆเพื่อเตรียมตัวเป็นพระมหากษัตริย์

แต่พระองค์ทรงโปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ต่างๆเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อหวังให้กลับมาช่วยว่าราชการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น ปัญหาคือ ในขณะที่พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ บางพระองค์สำเร็จด้วยผลการศึกษาระดับดีเลิศหรือระดับเกียรตินิยม แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯไม่ทรงสำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่เป็นสถาบันเดียวกันกับที่พระเจ้าลูกยาเธอบางพระองค์ (กรมหลวงราชบุรีฯ) ทรงสามารถสำเร็จการศึกษาระดับเกียรตินิยมมาได้ นั่นคือ ไครสต์เชิร์ช (Christ Church College) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า เหตุผลสำคัญที่พระองค์ไม่สำเร็จการศึกษาคือ “ทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ มีพระอาการมากต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ทรงพลาดโอกาสที่ได้รับปริญญา” โดย “.....ในระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระประชวร พระอันตะติ่งอักเสบ...และทรงได้รับการถวายการผ่าตัดและพบว่ามีหนองที่พระยอดตรงพระอันตะติ่ง (ฝีกลัดหนองที่ไส้ติ่ง) เข้าขั้นอันตราย” (ผศ.นพ. เอกชัย โควาวิสารัช, ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคต ร.6 เสียโอกาสทรงหายประชวรเพราะอะไร ? https://www.silpa-mag.com/history/article_25072 )

ข้อความที่ว่า “ทำให้ทรงพลาดโอกาสที่ได้รับปริญญา” นี้ น่าจะหมายความว่า พระองค์ทรงขาดสอบ ซึ่งประเพณีของระบบการเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษอีกหลายแห่ง การสอบผ่านและจบปริญญาตรีจะวัดกันที่ผลการสอบในปีสุดท้ายเท่านั้น

การที่ทรงไม่สำเร็จการศึกษา ในขณะที่พระเชษฐาและพระอนุชาหลายพระองค์ต่างประสบความสำเร็จในการศึกษา จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ยุโรปเรื่อง “The War of the Polish Succession” (สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2445 โดยสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ

ผู้เขียนมีสมมุติฐานว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประวัติศาสตร์เรื่อง “The War of the Polish Succession” เพื่อพิสูจน์พระปรีชาสามารถในความรู้ที่ทรงได้รับจากการศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเป็นเวลาสามปี และพระราชนิพนธ์ดังกล่าวนี้มีคุณภาพในระดับที่ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ T. Fisher Unwin ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์คุณภาพของอังกฤษ

ผู้เขียนมีข้อชวนสังเกตเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ “The War of the Polish Succession” ดังนี้คือตำราหลักที่พระองค์ใช้ประกอบการเขียนเรื่อง “สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์” มีทั้งหมด 7 เล่ม หนังสือของพระองค์มีทั้งหมด 96 หน้า หน้าละ 16 บรรทัด ถ้าคิดเป็นคำ ก็ตกทั้งสิ้นราว 12,288 คำ ซึ่งกติกาการเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทในสาขาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 15,000 คำ หากคิดเป็นจำนวนหน้าแบบสมัยใหม่คือหน้าขนาด A4 และในหนึ่งหน้าจะมีประมาณ 34 บรรทัด คิดเป็นคำตกหน้าละไม่เกิน 300 คำ

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสี่)

ดังนั้น ถ้าเขียนวิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์ไม่เกิน 15,000 คำ ก็จะต้องไม่เกิน 50 หน้า ดังนั้น เมื่อเทียบพระราชนิพนธ์ “สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์” ที่พระราชนิพนธ์ไว้ในราว 12,288-15,000 คำ จึงสันนิษฐานได้ว่า ในขณะที่พระองค์กำลังทรงพระราชนิพนธ์อยู่นั้น พระองค์อาจจะกำลังทรง “คิด” ถึงการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์และกฎหมายอยู่ก็เป็นได้ !!

ทำไมถึงสันนิษฐานเช่นนั้น ? เพราะโดยปกติ นักศึกษาที่จบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดหรือเคมบริดจ์หรือดับบลิน (Dublin, ไอร์แลนด์) จะได้รับปริญญาโทอีกใบโดยอัตโนมัติ นั่นคือ ไม่ต้องเรียนปริญญาโท แต่ได้ปริญญาโทเลย โดยมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น หลังจากจบปริญญาตรีแล้ว ยังอยู่ในมหาวิทยาลัยต่ออีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทางมหาวิทยาลัยก็จะให้ใบปริญญาโทมาเลย

งานชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) หนึ่งปีหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับสยาม ดังนั้น พระองค์น่าจะทรงพระราชนิพนธ์เสร็จก่อนที่จะเสด็จกลับ

จากเงื่อนไขการสอบของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และการทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบที่รุนแรงมาก ทำให้ผู้เขียนตั้งสมมุติฐาน 2 ข้ออันเชื่อมโยงกับการทรงพระราชนิพนธ์ “สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์” ดังนี้คือ สมมุติฐานที่ 1. ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ก่อนจะทรงพระประชวรแล้ว ด้วยเหตุผลที่อาจเป็นไปได้สองประการ นั่นคือ

1.1 พระองค์ทรงวางแผนว่า หลังจากจบปริญญาตรีที่ออกซฟอร์ดแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยว่าจะเรียนในระดับปริญญาโทและได้รับปริญญาโทที่ไม่ใช่ปริญญาโทอัตโนมัติ จึงเตรียมเขียนวิทยานิพนธ์ไว้ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระราชนิพนธ์ “สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์” ในจำนวนคำที่ตรงกับเกณฑ์การเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

1.2 พระองค์ทรงตระหนักว่า หลังจากจบปริญญาตรีที่ออกซฟอร์ดแล้ว พระองค์จะต้องทรงเสด็จกลับ ไม่สามารถอยู่จนได้รับปริญญาโทอัตโนมัติได้ แต่พระองค์ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า พระองค์มีความสามารถที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทได้ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระราชนิพนธ์ “สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์” ในจำนวนคำที่ตรงกับเกณฑ์การเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และการพิสูจน์ที่ว่านี้คือ ไม่ได้พิสูจน์กับใครอื่นนอกจากพิสูจน์กับบุคคลที่ชื่อ อาร์เธอร์ แฮสซอล (Mr. Arthur Hassall)

ในคำนำของพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ พระองค์ทรงกล่าวขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในการหาข้อมูลต่างๆ โดยทรงกล่าวว่า “สำหรับวงศาวิทยาต่างๆ (พระองค์ทรงใช้คำว่า genealogies ซึ่งในทีนี้ น่าจะหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการลำดับของบุคคลในราชวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์ในโปแลนด์ ) ข้าพเจ้าขอขอบคุณ คุณอาร์เธอร์ แฮสซอล อย่างยิ่งสำหรับความช่วยเหลืออันมีค่ายิ่งในการเตรียมการเขียนงานชิ้นนี้….”

อาร์เธอร์ แฮสซอล เป็นบุคคลที่มีคุณุปการอย่างยิ่งต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพระราชนิพนธ์เรื่อง The War of the Polish Succession เพราะนอกจากพระองค์จะทรงขอบคุณเขาเป็นคนแรกแล้ว พระองค์ยังกล่าวไว้ชัดเจนว่าเขามีส่วนช่วยเหลืออย่างยิ่งต่อการเตรียมการเขียนเรื่องดังกล่าว

อาร์เธอร์ แฮสซอล เป็นใคร ? มีความสำคัญในทางวิชาการประวัติศาสตร์ยุโรปอย่างไร ?

แฮสซอลเข้าศึกษาที่คณะทรินีตี้ (Trinity College) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเมื่ออายุได้ 20 ปี และจบปริญญาตรีเมื่ออายุ 24 และปริญญาโทอายุ 27 ปีและได้เป็นอาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ (historical lecturer) ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดทันทีหลังจากจบปริญญาโท และได้เป็น “ติวเตอร์” (Tutor) ระหว่าง พ.ศ. 2424-2426 ตำแหน่ง “ติวเตอร์” หมายถึงอาจารย์ผู้มีความชำนาญพิเศษมากกว่าจะเพียงบรรยายอย่างทั่วๆไปในสาขานั้นๆ

สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด นอกจากจะฟังบรรยายแบบทั่วๆไปกับอาจารย์แล้ว ยังสามารถเข้าไปเรียนแบบเข้มข้นผ่านการพูดคุย ถกเถียงกับ “ติวเตอร์” ในประเด็นเฉพาะที่นักศึกษาและติวเตอร์มีความสนใจร่วมกัน การถกเถียงที่ว่านี้จะจำกัดอยู่แค่นักศึกษาไม่กี่คน โดยมากก็แค่สองหรือสามคนเท่านั้นต่อ “ติวเตอร์” หนึ่งคน พูดง่ายๆก็คือ มีชั้นเรียนใหญ่แล้วก็ให้มีชั้นเล็กจิ๋วเพื่อสนองความสนใจใคร่รู้อย่างส่วนตัวจริงๆ

ซึ่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเรียกการเรียนรู้ในระบบติวเตอร์ของเขาว่า “personalized learning” (การเรียนรู้ตามความสนใจของแต่ละบุคคล) อันจะสามารถตอบสนองความสนใจส่วนตัวของนักศึกษาและของผู้สอนได้ นักศึกษาก็จะสามารถศึกษาในหัวข้อเฉพาะที่ตนสนใจและลงลึกจนกลายเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นหรือการค้นพบสาขาวิชาการใหม่ๆ ซึ่งระบบการศึกษาของอังกฤษ จะเน้นเรียนกว้างตอนปริญญาตรี และหลังจากนั้นจะเจาะลงลึกในระดับปริญญาโทและเอก และโดยเฉพาะในระดับปริญญาเอก จะไม่มีการเรียนอะไรอีกแล้ว นั่นคือ นักศึกษาปริญญาเอกไม่ต้องลงทะเบียนเรียนวิชาต่างๆอีกต่อไป แต่การทำปริญญาเอกของอังกฤษ คือ การศึกษาวิจัยในหัวข้อเฉพาะที่นักศึกษาต้องส่งมาให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณาตอนสมัครเข้าเรียน ซึ่งต่างจากระบบการทำปริญญาของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ที่นักศึกษาปริญญาเอกยังจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชาต่างๆเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาราวสองปีถึงจะเรียนจบครบตามหน่วยกิตที่กำหนดไว้

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์อได้เริ่มให้มีระบบ “ติวเตอร์” นี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในราวทศวรรษ พ.ศ. 2434 และยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน ถือเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว เพราะการมีชั้นเรียนเล็กๆกับ “ติวเตอร์” ถือว่ามีค่าในทางการศึกษาอย่างยิ่ง เพราะเป็นเงื่อนไขที่ตอบสนองความอยากรู้ อีกทั้งในชั้นติวเตอร์ เราจะสามารถประเมินได้อย่างจริงจังว่า นักศึกษารู้จริงในเรื่องนั้นๆมากน้อยแค่ไหน เพราะเขาจะต้องอ่าน ค้น วิเคราะห์ ถกเถียงกันอย่างถึงลูกถึงคนกว่าแค่เขียนตอบข้อสอบในห้องสอบเท่านั้น เพราะติวเตอร์จะซักและสอบปากเปล่าจนถึงที่สุด ในบรรยากาศแบบนี้ คนที่ไม่รู้จริงหรือเป็น “พวกเฟก” (fake) จึงรอดยาก

ดังนั้น การได้เป็น “ติวเตอร์” ของแฮสซอล หลังจากที่เขาเป็นอาจารย์ได้เพียงปีเดียว นับว่าเขาได้พัฒนาความถนัดความเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาประวัติศาสตร์ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วทีเดียว และเขาได้เป็น “ติวเตอร์” ในสังกัดคณะไครสต์เชิร์ช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 จนถึง พ.ศ. 2467 และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีโอกาสเข้าชั้น “ติวเตอร์” กับพระอาจารย์แฮสซอล เพราะพระองค์ได้เข้าศึกษาวิชาการปกครองและวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและสังกัดคณะไคร้สต์ เชิร์ช ระหว่าง พ.ศ. 2442 – 2444

นั่นคือ ในขณะที่พระองค์มีชนมายุได้ 18 พรรษา พระองค์ทรงมีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์แฮสซอล ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 46 ปีและอาจารย์แฮสซอลยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการสอบ (examiner) ในสาขาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในช่วง ระหว่าง พ.ศ. 2433-2435 และ พ.ศ. 2444-2445 และ พ.ศ. 2451-2454 โดยเฉพาะช่วงระหว่าง พ.ศ. 2444-2445 อันเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจะต้องสำเร็จการศึกษาด้วย

แต่แผนการทั้ง 1.1 หรือ 1.2 ต้องล้มเหลว เพราะพระองค์ทรงพระประชวรและขาดสอบไล่ จึงไม่ได้แม้แต่ปริญญาตรี แต่ก็ทรงต้องการพิสูจน์ความสามารถว่าพระองค์สามารถพระราชนิพนธ์ผลงานในระดับวิทยานิพนธ์ปริญญาโท และมีคุณภาพถึงขั้นได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ T. Fisher Unwin

ส่วนสมมุติฐานที่ 2 ของผู้เขียนคือ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หลังการผ่าตัดและขาดสอบไล่ไปแล้ว ทำให้พระองค์ไม่สามารถได้รับปริญญาตรี แต่พระองค์ทรงต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า พระองค์มีความสามารถที่จะผ่านการสอบไล่ได้ และในการแสดงความสามารถนี้ พระองค์จึงทรงพระราชนิพนธ์ “สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์” ให้ได้คุณภาพในระดับเดียวกับการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และการพิสูจน์ที่ว่านี้คือ ก็ไม่ได้พิสูจน์กับใครอื่นนอกจากพิสูจน์กับพระอาจารย์แฮสซอล ผู้เป็น “examiner” สาขาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดนั่นเอง

ข้อสันนิษฐานใดจะถูกต้องนั้น เท่าที่มีหลักฐานอยู่ขณะนี้ ไม่มีทางที่จะพิสูจน์ได้ แต่ที่แน่ๆก็คือ พระราชนิพนธ์ฉบับนี้ผ่านความเห็นขอบของอาจารย์แฮสซอล และได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์อังกฤษที่มีชื่อเสียงอย่าง T. Fisher Unwin ในปี พ.ศ. 2405

และในช่วงเวลานั้น ถือได้ว่า พระองค์เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวที่มีพระราชนิพนธ์ที่เป็นเรื่องสำคัญทางประวัติศาสตร์ยุโรปที่ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ

และที่สำคัญคือ ถ้าพระราชนิพนธ์นี้ไม่ได้คุณภาพจริงๆ สำนักพิมพ์คงไม่พิมพ์ให้ เพราะก่อนหน้าที่พระองค์จะทรงพระราชนิพนธ์“The War of the Polish Succession” มีการตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวนี้มาก่อนโดยนักเขียนที่เป็นนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ยุโรปชั้นนำของโลก (ที่ใช้ภาษาอังกฤษ) นั่นคือ อาร์เธอร์ แฮสซอล พระอาจารย์ของพระองค์เอง

และโรเบิร์ต นิสเบท เบน (Robert Nisbet Bain) นักประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์แห่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกฤษ (British Museum) ดังนั้น ถ้าพระราชนิพนธ์ของพระองค์จะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ที่แตกต่างไปจากที่ แฮสซอล และ เบนได้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้