posttoday

บุหรี่ไฟฟ้า : ภัยคุกคามเยาวชนทำลายสุขภาพ ทำร้ายคนรอบข้าง

15 พฤษภาคม 2565

โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ผ่องศรี ศรีมรกต

*****************************

ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2564 โดยร่วมกับ สสส. ทำการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของคนในประเทศทั้งในเรื่องการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ การขับรถเร็ว ฯลฯ ซึ่งในที่นี้เราจะพูดถึงในเรื่องของการสูบบุหรี่ทั้งบุหรี่ทั่วไป และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม โดยกลุ่มตัวอย่าง 73,654 ครัวเรือนครอบคลุม 164,406 คน พบว่า คนไทยสูบบุหรี่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2552 - 2553 มีคนสูบบุหรี่ประมาณ 20.7% แต่ในปี 2560 พบว่า ปริมาณการสูบลดลงเหลือ 19.6% จนปี 2564

ด้วยสถานการณ์โควิดและสภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 19% โดยผู้ชายจะมีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง กลุ่มที่สูบเยอะจะเป็นกลุ่มวัยทำงาน (อายุ 25-44 ปี) มีปริมาณคนสูบประมาณ 3,800,000 คน ในวัยรุ่น (อายุ 20-24 ปี) 837,646 คน และวัยเด็ก (อายุ 15-19 ปี) กลุ่มนี้ถือเป็นนักสูบหน้าใหม่ 328,579 คน ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นและวัยเด็ก จะเป็นกลุ่มลูกค้าประจำของธุรกิจยาสูบในอนาคต และจำนวนบุหรี่ที่สูบกันเฉลี่ยอยู่ที่ 8-11 มวนต่อวัน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีการสูบเยอะสุด ประมาณ 2,700,000 คน รองมาเป็นภาคกลาง (ไม่รวม กทม.) 2,500,000 คน และพื้นที่ กทม. 1,300,000 คน จากสถิติตัวเลขก็จะพบว่าแนวโน้มของการสูบบุหรี่ทั่วไปมีแนวโน้มลดลง

บุหรี่ไฟฟ้า : ภัยคุกคามเยาวชนทำลายสุขภาพ ทำร้ายคนรอบข้าง

สำหรับ บุหรี่ไฟฟ้า เริ่มมีการสำรวจล่าสุดปี 2564 จากกลุ่มตัวอย่าง 57 ล้านคน (กลุ่มคนที่อายุ 15 ปี ขึ้นไป) พบว่ามีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 78,742 คนคิดเป็น 0.14% ของกลุ่มตัวอย่าง และเกินครึ่งของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพและภาคกลาง อาจเป็นเพราะพื้นที่นี้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เข้มแข็ง ทำให้การลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย เมื่อถามทัศนคติผู้สูบบุหรี่และรู้จักบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความอันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดา ทั้งที่บุหรี่ไฟฟ้าพยายามที่จะโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นช่องทางที่ปลอดภัยในการเลิกบุหรี่

จากการวิเคราะห์รายละเอียดพบว่า 62% ของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า รู้ว่าบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้านำมาซึ่งอันตรายและนำไปสู่การเสพติดไม่สามารถทำให้เลิกบุหรี่ได้เพียงแต่ย้ายจากการติดนิโคตินในบุหรี่ทั่วไปมาติดในบุหรี่ไฟฟ้าแทน สิ่งที่พบและน่าเป็นห่วงที่สุดคือ "บุหรี่ไฟฟ้าทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยคิดจะสูบบุหรี่เลย เริ่มต้นอยากสูบบุหรี่เร็วขึ้น" เมื่อสูบเร็วขึ้นเท่าไร โอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสมองและสติปัญญาของผู้สูบเอง

ส่วนแนวโน้มในอนาคตนั้น จะเห็นได้ว่าบุหรี่ทั่วไปเป็นสิ่งที่สามารถซื้อขายได้ในคนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ซึ่งมีกฎหมายกำหนดแนวทางชัดเจน แต่บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งของที่ถูกห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ด้วยการกำกับควบคุมของประเทศเรายังไม่แข็งแรง บวกกับมีกระแสที่พยายามทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพื่อลดความรับผิดชอบในการกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายขึ้นมา ก็เชื่อว่าเราจะไม่สามารถควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าได้เลย เด็กและเยาวชนก็จะใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างเปิดเผย ส่งผลร้ายทำลายสุขภาพของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศในอนาคต แต่ถ้าหากเราสามารถพยายามต้านทานกระแสการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายได้สำเร็จ ก็เชื่อว่าประเทศจะสามารถกำกับดูแลไม่ให้คนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ แนวโน้มการสูบบุหรี่ก็จะลดน้อยลง เพราะหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง มีความพยายามที่จะให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า "บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ช่องทางที่จะช่วยให้เลิกบุหรี่อย่างปลอดภัยและไม่ได้ช่วยให้เลิกได้จริง"

หากมองในเรื่องของผลกระทบด้านสุขภาพ การสูบบุหรี่ทั่วไปมีการศึกษาติดตามผลกระทบกันมาอย่างยาวนานพอสมควร ในระบบสุขภาพเราพบว่าบุหรี่ทั่วไปทำให้เกิดการเสพติดนิโคติน ส่งผลกระทบต่ออวัยวะโดยเฉพาะปอด และระบบทางเดินหายใจ ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ฯลฯ นอกจากนี้ ในควันบุหรี่ยังมีสารพิษที่เมื่อสูดเข้าไปแล้วสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และส่งต่อไปยังสมองได้ภายใน 7 วินาที ช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายขึ้น ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นข้อดีเพียงข้อเดียวของการสูบบุหรี่ แต่หลังจากนั้น จะฝากผลเสียไว้มากมายไม่ว่าจะเป็น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งต่ออวัยวะต่างๆ เปลี่ยนแปลงเซลล์ปกติในร่างกายให้เป็นเซลล์ร้ายขึ้นมา

ควันบุหรี่นอกจากจะส่งผลเสียต่อตนเองแล้วยังส่งผลเสียต่อคนรอบข้างได้อีกด้วย สำหรับกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ พบว่ามีผลกระทบกับสมองค่อนข้างมาก ในส่วนที่ใช้ความคิดสติปัญญา พัฒนาการทางสมองจะด้อยกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ส่งผลระยะยาวต่ออนาคตของชาติเป็นอย่างมาก หากเด็กและเยาวชนไม่ได้รับการศึกษาที่ดี ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ไม่เคยคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสูบบุหรี่ของตนเอง ถ้าหากลองคำนวณออกมาแล้วจะเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่ท่านเสียไปกับการสูบบุหรี่นั้นมากแค่ไหน สามารถเก็บสะสมและนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมด้านอื่นๆ ได้มากมาย

สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยได้ประมาณ 10 ปี ผู้ขายมีการปรับปรุงให้รู้สึกว่ามีอันตรายน้อย บวกกับการพัฒนารูปลักษณ์ที่ทันสมัย เพื่อที่เจาะกลุ่มตลาดคนรุ่นใหม่ ให้รู้สึกทันสมัยดูดี และปลอดภัยเวลาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผลสำรวจชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถแชร์แบ่งส่วนการตลาดจากบุหรี่ทั่วไปได้ถึง 20% ถือว่าเติบโตเร็วมาก การสูบจึงแพร่หลายอย่างรวดเร็วในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีรายงานว่าบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อันดับแรกเริ่มจากการระเบิดของแบตเตอรี่ ต่อมาเริ่มมีปัญหาในเรื่องของปอดอักเสบ เป็นผลจากการสะสมของสารละลายที่เป็นส่วนผสมของน้ำนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า และมีรายงานผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีสารพิษและสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกันกับบุหรี่ทั่วไป

เพราะฉะนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถก่อให้เกิดโรคร้ายได้เช่นเดียวกับบุหรี่ทั่วไปสำหรับแนวทางการป้องกันในส่วนของบุหรี่ทั่วไปซึ่งเป็นสิ่งถูกกฎหมายนั้น ก็คงจะห้ามอะไรไม่ได้ แต่สิ่งที่พวกเราควรกระทำคือให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ไม่ให้เข้าไปริลอง ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ถูกต้องให้แก่เด็กและเยาวชน ในฐานะที่เราเป็นภาคการศึกษาเราจึงมีความเข้มแข็งในการที่จะช่วยสอน บอกต่อ แนะนำให้กับเด็กและเยาวชนในทุกช่องทาง เพื่อให้ได้รู้ข้อมูลที่ถูกต้อง การให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์ การรณรงค์ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้คนทั่วไปรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง เอาชนะ Fake News เอาชนะการโฆษณาทางการตลาดที่ถูกบิดเบือนได้ หากพวกเราร่วมด้วยช่วยกันชักชวนผู้ช่วยให้เลิกและป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2565 ที่องค์การอนามัยโรคให้ไว้คือ " บุหรี่ ทำลายสิ่งแวดล้อม

เรียบเรียงข้อมูล : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล