posttoday

นวนิยายปรัชญาการเมืองของรัสเซลล์และขันติธรรม

14 พฤษภาคม 2565

โดย...โคทม อารียา

************

เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษที่มีงานเขียนทางคณิตศาสตร์และปรัชญามากมาย เขาได้รับรางวัลโนเบิลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. 1950 โดยอ้างถึงหนังสือชื่อ “ประวัติปรัชญาตะวันตก” ของเขา นอกจากนี้ เขายังมีงานเขียนเกี่ยวกับสังคม ค่านิยมทางเพศ การศึกษา ฯลฯ หนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยเท่าที่ทราบมีสองเล่ม คือ “ซาฮาโตโพลค์” แปลโดยภัควดี วีระภาสพงษ์ (พิมพ์ครั้งที่สองปี 2565) และ “เส้นทางสู่ความสุข” แปลโดยวิภาดา กิตติโกวิท (อยู่ระหว่างจัดพิมพ์) นักปรัชญาหลายคน เช่น ฌอง-ปอล ซาร์ตร และอัลแบรต์ กามูส์ ก็ชอบเขียนนวนิยาย แต่ผลงานส่วนใหญ่ของรัสเซลล์อยู่ในโลกแห่งเหตุผลมากกว่าโลกสมมุติแห่งจินตนาการ กระนั้น เขาก็สามารถเขียนนวนิยายได้ แม้จะมีกลิ่นอายแห่งปรัชญาการเมืองเจืออยู่บ้าง

นวนิยายเรื่องซาฮาโตโพลค์เริ่มต้นที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเพื่อการเผยแพร่ศาสนา ที่เมืองกุสโกที่เคยเป็นเมืองหลวงของชาวอินคา ระหว่างปี ค.ศ. 1433 ถึง 1533 ก่อนที่จะถูกนักล่าอาณานิคมชาวสเปนทำลาย แต่เหตุการณ์ที่หอประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ. 5000 ชาวอินเดียนแดงได้กลายมาเป็นมหาอำนาจปกครองโลกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ นับเป็นเวลา “สามสิบศตวรรษ” แล้ว พวกเขาใช้เมืองกุสโกเป็นเมืองหลวงอีกครั้ง และได้ตั้งศักราชใหม่เรียกว่ายุคซาฮาโตโพลค์ ตามชื่อเทพเจ้าของพวกเขา

ชาวอินเดียนแดงที่นับถือเทพซาฮาโตโพลค์ได้ชัยชนะเมื่อสามสิบศตวรรษก่อน โดยอาศัย “เชื้อรามรณะ” ที่ได้มาจากยอดเขาโกโตปักชี ที่เป็นพิษต่อมนุษย์ยกเว้นต่อชาวอินเดียนแดงที่มีภูมิคุ้มกัน เทพซาฮาโตโพลค์ได้เสด็จลงมาจากยอดเขาโกโตปักชีตามคำพยากรณ์ มายังหมู่ผู้ภักดีซึ่งมองเห็นทันทีว่าพระวรลักษณ์ของพระองค์คล้ายคลึงกับเทพเจ้าผู้ได้รับการสักการะบูชาก่อนที่หายนะจากชาวสเปนจะมาเยือน พระองค์ได้สร้างความศรัทธาและความสามัคคีอย่างน่ามหัศจรรย์ เป็นเวลาสามสิบปีที่ทรงตรากตรำพระวรกายทำสงคราม ต่อเมื่อได้ชัยชนะไปทั่วโลกแล้ว จึงทรงสร้างสันติภาพที่ยากลำบากกว่าการสงครามเสียอีก ภายใต้ขนบธรรมเนียม ประเพณี และคัมภีร์กฎหมายศักดิ์สิทธิ์

ศาสตราจารย์ที่บรรยายให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อการเผยแพร่ศาสนาฟัง ได้เน้นย้ำว่า “เคราะห์กรรมจงบังเกิดแก่ไอ้คนที่กล่าวคำพูดแตกต่างไปจากคัมภีร์ของสวรรค์แม้เพียงน้อยนิด!” รัสเซลล์ประพันธ์คำบรรยายของศาสตราจารย์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ เขาเรียกความเชื่อเหล่านั้นว่าบทสังเคราะห์ เริ่มจากยุคแห่งศรัทธาและบทสังเคราะห์เกรโก-ยูดาย (น่าจะหมายถึงปรัชญากรีกและศาสนายูดาห์ของยิว ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแห่งศาสนาคริสต์นั่นเอง) ที่ได้รับการยอมรับโดยไม่มีข้อสงสัย ยกเว้นชนกลุ่มน้อยที่ถูกปิดปากด้วยการทรมานหรือถูกเผาทั้งเป็น บทสังเคราะห์นี้มาถึงจุดจบด้วยลัทธิอันร้ายกาจที่มีชื่อว่าลัทธิขันติธรรม (น่าจะหมายถึงประชาธิปไตยเสรีนิยม) ที่เชื่อว่ารัฐมีเสถียรภาพได้ แม้พลเมืองจะมีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันในขั้นพื้นฐาน

ลัทธิขันติธรรมนี้เองเป็นเหตุให้บทสังเคราะห์เกรโก-ยูดายเป็นอันต้องพ่ายแพ้แก่บทสังเคราะห์ปรัสโซ-สลาวิค (น่าจะหมายถึงปรัชญาของปรัสเซียหรือเยอรมันและของชนชาติสลาฟที่รวมรัสเซีย อันเป็นที่มาของการปกครองแบบคอมมิวนิสต์) ซึ่งรัสเซลล์ล้อเลียนว่าระบบนี้มีเทพเจ้าชื่อไดอัลเมท (น่าจะหมายถึง สสารนิยมวิภาษวิธี หรือ dialectical materialism) มีผู้เผยแพร่ลัทธินี้สองคนคือ มารกุซ และเลนินิอุส ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเทพเครายาวและเทพเคราสั้นตามลำดับ สตาลินุสผู้สืบทอดมีอิทธิฤทธิ์เป็นนักรบมากกว่าผู้เชี่ยวชาญคำสอน จึงมีเกียรติคุณน้อยกว่าผู้เผยแพร่ทั้งสอง โดยมีแค่หนวดแทนที่จะเป็นเครา แม้บทสังเคราะห์ปรัสโซ-สลาวิคจะสร้างความศรัทธาที่พอจะยึดเหนี่ยวสังคมเข้าด้วยกันได้ แต่ก็ไม่ใช่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับระบบที่เทพซาฮาโตโพล์คประทานให้เรา

ระบบที่ครองความยิ่งใหญ่ถัดมาคือระบบซีโน-ชวา (น่าจะหมายถึงปรัชญาของจีนและของชวา) เริ่มจากนักปราชญ์ชาวจีนแห่งลัทธิกังขานิยม (skepticism) ซึ่งไม่เห็นเหตุผลใดที่คนผิวขาวจะผูกขาดคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ไว้ พูดเป็นนัยว่ามีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เก่าแก่กว่าและทำให้คนเกิดความหวาดเกรงได้มากยิ่งกว่า พวกเขาทำงานอย่างอดทนเพื่อบ่อนทำลายโครงสร้างการบริหารของรัฐปรัสโซ-สลาวิค แล้วชาวจีนพวกนี้ก็ลุกฮือขึ้นทำลายล้างผู้ปกครองโดยใช้ยาพิษที่กลั่นจากพืชจากภูเขาไฟกรากะตัวของอินโดนีเซีย

นั่นคือการเปิดฉากของยุคซีโน-ชวา ศาสตราจารย์จบการบรรยายโดยกล่าวถึงยุคถัดมา ซึ่งได้แก่ยุคสันติสุขของเทพซาฮาโตโพลค์ของพวกเรารัสเซลล์พรรณนาว่ายุคสันติสุขดังกล่าวเป็นการปกครองอย่างโหดร้ายต่อคนผิวขาว ผิวเหลือง ผิวน้ำตาล มีแต่ชาวเปรูที่เป็นคนผิวแดงเท่านั้นที่มีอภิสิทธิ์ ซึ่งต้องแลกมาด้วยการปฏิบัติตามประเพณีอย่างเข้มงวด แม้จะเป็นเรื่องไร้สติ เช่น การห้ามกินถั่ว ห้ามลักลอบรักกัน พ่อแม่จะจัดการแต่งงานให้ลูก ผู้ใดมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสจะถูกเนรเทศไปอยู่กับอนารยชนที่ไม่ใช่ชาวเปรู นอกจากนี้ยังห้ามการคุมกำเนิด แต่ถ้ามีลูกครบสามคนก็ให้กินทารกคนที่สี่เสียเพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนอาหาร เป็นต้น

ตัวเอกของเรื่องมีสามคนที่เป็นนักศึกษาชั้นหัวกะทิที่ศาสตราจารย์พร่ำสอน พวกเขาเป็นเพื่อนกัน โธมัสเป็นลูกของศาสตราจารย์ และหวังจะสืบทอดตำแหน่งจากบิดา ดิโอติมามาจากครอบครัวชนชั้นสูง และเฟรยาเป็นผู้อ่อนหวาน แม้ไม่ฉลาดปราดเปรื่องเหมือนโธมัสหรือดิโอติมาแต่ก็ช่วยกลบเกลื่อนร่องรอยแห่งความขัดแย้งให้เพื่อนเสมอ ความขัดแย้งมาจากนิสัยเสียของดิโอติมาที่มักปล่อยให้การถกเถียงด้วยเหตุผลเป็นตัวกำหนดข้อสรุป แทนที่จะสร้างข้อสรุปไว้ก่อน แล้วหาเหตุผลที่เหมาะสมมาสนับสนุนข้อสรุปนั้น

ดิโอติมาเริ่มมีข้อสงสัยในคำสอนและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม เธอเริ่มกังขาว่าคนที่ไม่ใช่อินเดียนแดงมีความต่ำต้อยโดยกำเนิด หรือเป็นเพราะสถาบันที่รัฐบาลเปรูสร้างขึ้นเพื่อมอมเมา เมื่อเธอแพร่งพรายความคิดเชิงลบหลู่สถาบันของรัฐบาลออกไปโดยไม่ตั้งใจ เฟรดาจะยิ้มอย่างอ่อนโยน และพูดว่า “ที่รัก เธอไม่ได้หมายความอย่างที่พูดจริง ๆ ดอก”

ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ดิโอติมาพบหนังสือเล่มหนึ่งที่เก่ามากที่พูดถึงลัทธิเก่า ๆ ที่ว่า เราไม่ควรจำกัดความเมตตาไว้แต่คนเชื้อชาติเดียวกัน หากควรขยายออกสู่มนุษยชาติทั้งหมด หลังจากนั้น เธอก็ค้นคว้าจากหนังสือเก่า ๆ ในห้องสมุดอย่างจริงจัง และเริ่มปฏิเสธความเชื่อที่ขาดเหตุผลของสังคมความเชื่อที่ขาดเหตุผลความเชื่อหนึ่งคือ เทพซาฮาโตโพสต์หรือเทพอาทิตย์จุติลงมาเป็นกษัตริย์อินคา ในช่วงเวลานั้น เทพธิดาดวงจันทร์จะจุติลงมาเป็นสาวพรหมจารี ทุกปีขันทีจะเลือกสาวพรหมจารีไปถวายเพื่อหลอมรวมพระอาทิตย์กับพระจันทร์ พร้อมทั้งจัดพิธีสมรสขึ้น และเพื่อให้การหลอมรวมนั้นสมบูรณ์ที่สุด กษัตริย์อินคาต้องทำพิธีเสวยสตรีผู้นั้นในวันรุ่งขึ้น สตรีที่ถูกเลือกถือเป็นเกียรติสูงสุดทั้งแก่เธอและครอบครัว ซึ่งจัดการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เพื่อให้ชนชั้นนำในสังคมมาแสดงความยินดีก่อนพิธีสมรสดังกล่าว

ปรากฏว่าเฟรดาถูกเลือกก่อน เธอและครอบครัวน้อมรับเกียรตินั้นด้วยความเชื่อมั่นและความปรีดา พอถึงคราวที่ดิโอติมาถูกเลือก เธอปฏิเสธ ยังความตื่นตระหนกไปทั่ว พวกขันทีจึงจัดให้มีการเจรจาเกลี้ยกล่อม คนแรกที่เกลี้ยกล่อมคือแม่ คนที่สองคือพ่อ ดิโอติมาอธิบายเหตุผลให้พ่อฟังว่า “ลูกเห็นโลกที่ดีกว่าโลกที่เชื้อชาติของเราสร้างขึ้น โลกที่มีความยุติธรรม ความเมตตา ความรัก และเหนือสิ่งอื่นใดคือมีความจริงมากกว่านี้ อาจจะมีกลียุคและความวุ่นวายบนหนทางสู่โลกใหม่ แต่มันก็ยังน่านิยมมากกว่าความแข็งกระด้างตายตัวของสิ่งเลวทรามในชีวิตสังคมและชีวิตส่วนตัวของเรา” พ่อสะบัดหน้า กระทืบเท้าออกไปด้วยความโกรธ

พอถึงคราวที่ศาสตราจารย์จะมาหว่านล้อมลูกศิษย์ เธอก็บอกว่า “เราถูกสอนว่าเทพซาฮาโตโพลค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ แต่ดิฉันเชื่อว่า เขาลงมาด้วยเฮลิคอปเตอร์ ที่ว่าเสด็จกลับสู่สวรรค์นั้น ยามป่วยหนัก พวกแม่ทัพคนสนิทจะเก็บตัวเขาไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก แล้วโยนศพของเขาลงในปล่องภูเขาไฟ บรรพบุรุษของดิฉันเป็นต้นคิดการนี้ และเก็บเป็นความลับที่ถ่ายทอดให้ทายาทฝ่ายชายรู้เท่านั้น แต่บางคนเวลาเป็นไข้ก็รู้จักเพ้อ และหลุดปากความลับที่สำคัญออกมา”

กับโธมัสที่เธอรัก ดิโอตอมากล่าวว่า “ไม่ว่าจะเลือกอะไร ชีวิตของฉันต้องจบสิ้นอยู่ดี จะตายอย่างเจ้าสาวของเทพซาฮาโตโพลค์โดยมีเกียรติในสังคม และความละอายในใจ หรือตายอย่างอาชญากรที่สังคมดูหมิ่นเกลียดชัง เหลือเพียงแต่ความรู้สึกผิดชอบของตัวเอง” จากนั้น เธอก็ถูกนำตัวมาในสภาพเปลือยเปล่าต่อหน้าชนชั้นสูงที่มาสาปแช่ง เธอถูกมัดไว้กับเสา แล้วคบเพลิงก็จ่อจุดไฟขึ้น เธอมองมาที่โธมัส สายตาที่วิงวอนของเธอได้จุดประกายไฟในจิตใจของโธมัสให้ลุกโชติช่วงขึ้น ไม่ด้อยไปกว่าไฟที่เผาผลาญร่างของเธออยู่

โธมัสใช้เวลาตระเตรียมการอย่างรอบคอบเป็นเวลา 20 ปี โดยมีพอลเป็นผู้ช่วย ระหว่างนั้นพอลได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการในเขตคิลิมันจาโร ประเทศทานซาเนีย นักวิทยาศาสตร์ของโธมัสค้นพบยารักษารามรณะ พร้อมทั้งผลิตอาวุธรังสีจากภูเขาไฟศักดิ์สิทธิ์ ชนชั้นปกครองของเปรู เมื่อถูกปิดล้อมและถูกขู่ด้วยอาวุธและผงพิษ ก็ยอมจำนน คีลีมันจาโรกลายเป็นศูนย์กลางการปกครอง ยุคสมัยซาฮาโตโพลค์สิ้นสุดลง

โธมัสลงมือทำงานเพื่อปลดปล่อยประชากรที่ไม่ใช่อินเดียนแดงจากความเป็นทาส กระจายอำนาจทางการเมือง และให้ทุกคนมีการศึกษาเพียงพอ กระตุ้นให้มีการถกเถียงเรื่องลัทธิศาสนาตามโรงเรียน ภายใต้ระบอบการปกครองนี้ ไม่มีพระ ไม่มีชนชั้นสูง ไม่มีเชื้อชาติผู้นำ พอลเป็นผู้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ หลังจากโธมัสสิ้นชีวิตลง คำสอนของเขากลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของยุคคีลีมันจาโร

แต่พอเวลาผ่านไป ก็เกิดความเชื่อว่าการอ่านคัมภีร์ของพอลตามตัวอักษรเป็นเรื่องอันตราย แท้จริงแล้วโธมัสคือเทพเจ้า และดิโอติมาคือเทพธิดา จึงมีการเขียนอรรถกถาอันยิ่งใหญ่ของเกรโกเรียส (น่าจะยืมชื่อมาจากพระสันตะปาปาเกรโกรี ซึ่งมีทั้งหมด 16 องค์ โดยองค์ที่สิบสามประกาศใช้ปฏิทินเกรโกเรียนที่ใช้กันเป็นสากลจนทุกวันนี้) มาแก้ความตามตัวอักษรของคัมภีร์ของพอล มีการพิมพ์อรรถกถาพร้อมคัมภีร์ ที่สุดก็ไม่อนุญาตให้ใครอ่านคัมภีร์อีกต่อไป เวลาผ่านไปประมาณห้าร้อยปี มีบันทึกประหลาดส่งมาที่มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ความว่า “ข้าพเจ้าทูเปีย แห่งเผ่างาปูฮิ อาศัยอยู่ ณ ขุนเขารัวเปฮูของนิวซีแลนด์ เชื่อมั่นในโธมัสและไม่เห็นด้วยกับอรรถกถาของเกรโกเรียส ข้าพเจ้าถือเป็นหน้าที่ที่จะนำโลกกลับสู่สมัยที่ไร้ความงมงาย” ข้อความนี้เป็นลางบอกเหตุ และผลลัพธ์ของมันไม่มีอะไรแน่นอน

จบนวนิยายซาฮาโตโพลค์เพียงเท่านี้

ผมอ่านแล้วติดใจที่รัสเซลล์กล่าวถึงยุคสมัย “ขันติธรรม” ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เราอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีความเห็น/ความเชื่อที่แตกต่าง ในเรื่องขันติธรรม ขอยกคำสอนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่อธิบายว่าความอดทนของคนนี้แสดงในลักษณะ 3 อย่าง ดังนี้

1. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เช่น ในการงาน เมื่อทำการงาน ก็ต้องมีความลำบากตรากตรำบ้าง บางทีจะต้องทนแดด ทนฝน ทนต่องานหนัก หรือในเวลาที่งานยังไม่เสร็จจะต้องทำให้เสร็จ ก็ต้องอดทนพยายามสู้ทำต่อไป เป็นความเข้มแข็งที่จะทำให้งานลุล่วงไปได้

2. อดทนต่อทุกขเวทนา คือ ทนต่อความเจ็บปวดเมื่อยล้าทางร่างกาย เช่น ยามเจ็บไข้ ก็อดทนไปตามเหตุผล หมายความว่า ไม่วู่วาม ไม่โวยวาย พยายามรักษาแก้ไขปัญหาไปตามเหตุผล แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้ ถ้าทิ้งไว้ท่านเรียกว่า “ประมาท” ต้องทำแต่ไม่ใช่วู่วามโวยวาย ซึ่งจะกลายเป็นว่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่โดยไม่สมควร

3. ทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ เช่น ทนต่อถ้อยคำ อาการกิริยาของผู้อื่นที่ล่วงเกิน ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นไกล คนอยู่ใกล้ชิดกันที่สุด คือคู่ครองกัน ก็มีเรื่องกระทบกระทั่งกันได้ คนหนึ่งพูดมา อาจจะไม่ได้ตั้งใจเลย นึกไม่ถึงว่าไปกระทบใจอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการเคลื่อนไหว กิริยาอาการก็กระทบได้

“ในกรณีอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีความอดทน ก็จะเกิดเรื่อง เรียกว่า วู่วามไปตามอารมณ์ ฉะนั้น จึงต้องแก้ไขโดยมีความอดทน เข้มแข็ง ตั้งรับไว้ได้ก่อน ไม่เอาอารมณ์ขึ้นมาเป็นใหญ่ เสร็จแล้วก็ใช้ปัญญา เอาข้อที่ 2 มาใช้ในการแก้ไขปรับปรุง เพื่อจะให้เรื่องสงบเรียบร้อยลงไปด้วยดี นี้เป็นเรื่องของขันติความอดทน ซึ่งต้องใช้มากอยู่เสมอ”

ขณะนี้ สังคมกำลังว้าวุ่นใจ มีการกล่าวโทษผู้ผลิตคลิปโฆษณาลาซาด้าว่าล้อเลียนคนพิการและก้าวล่วงเบื้องสูง สำหรับบางคนถือว่ารับไม่ได้ ทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่อจิตใจเช่นนี้ไม่ได้ จึงมีปฏิกิริยาที่อาจใช้คำกล่าวของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ว่าเป็นการวู่วาม มีการกล่าวโทษว่าการผลิตคลิปโฆษณามีเจตนาล้อเลียนและก้าวล่วงดังกล่าว จึงสมควรแก่การลงโทษผู้เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยอ้อมหมายถึงลงโทษบุคคลอื่นเพียงเพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจของลาซาด้า (ถือว่า guilty by association)

อย่างไรก็ดี เป็นการยากที่จะรู้เจตนามิใช่หรือ จึงดูเหมือนว่าการตัดสินเจตนาอาจเป็นเรื่องที่อารมณ์โกรธพาไปให้วู่วามมิใช่หรือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แนะให้พยายาม “แก้ไขโดยมีความอดทน เข้มแข็ง ตั้งรับไว้ได้ก่อน ไม่เอาอารมณ์ขึ้นมาเป็นใหญ่”

ถ้าบุคคลผู้ใดจะคว่ำบาตรลาซาด้าเพราะโกรธก็ถือเป็นเรื่องของบุคคลผู้นั้น แต่ถ้ากองทัพมีคำสั่งทางราชการให้ทุกคนในสังกัดร่วมคว่ำบาตร น่าจะเป็นการกระทำที่เกินเลยไป “ซึ่งจะกลายเป็นว่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่โดยไม่สมควร” โดยไม่ใคร่ครวญด้วยปัญญา เพื่อ “แก้ไขปรับปรุง เพื่อจะให้เรื่องสงบเรียบร้อยลงไปด้วยดี นี้เป็นเรื่องของขันติความอดทน ซึ่งต้องใช้มากอยู่เสมอ”

นวนิยายของรัสเซลล์กล่าวถึงสังคมที่เขาจินตนาการขึ้น ซึ่งเตือนใจให้เรารักความยุติธรรมและความจริง และมีความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์สอนเราว่า ท่ามกลางความแตกแยกแบ่งฝ่ายในขณะนี้ เราควรใช้ความอดทนต่อกันให้มากขึ้น จึงขอขอบคุณรัสเซลล์และพระคุณเจ้า ที่เตือนให้เราใช้เหตุผล มากกว่าการเชื่อตาม ๆ กันไป จนจะทำร้ายผู้อื่นได้

*************************************