posttoday

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสี่)

12 พฤษภาคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*****************

หลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้าหรือตำแหน่งพระมหาอุปราช ที่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย ถือว่าเป็นการเลิกประเพณีการปกครองที่มีมาแต่โบราณครั้งสำคัญของไทยเลยทีเดียว และในปี พ.ศ. 2430 ทรงเริ่มต้นประเพณีการปกครองใหม่ นั่นคือ การสถาปนาตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (crown prince) ขึ้นเป็นครั้งแรกตามธรรมเนียมตะวันตก โดยทรงสถานปนาพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ นั่นคือ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศให้เป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งหมายถึงเป็นองค์รัชทายาทที่จะขึ้นครองราชย์สมบัติต่อจากพระองค์

การที่ในสมัยรัชกาลที่ห้า พระมหากษัตริย์สถาปนาพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารถือเป็นการยกเลิกประเพณีการสืบราชสันตติวงศ์ที่เรียกว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” ที่เริ่มมาตั้งแต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เหล่าขุนนางเสนาบดี พระมหาเถระผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์มีบทบาทสำคัญในการยอมรับให้ผู้ใดขึ้นครองราชย์ โดยเปลี่ยนมาใช้ธรรมเนียมที่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์คือผู้ที่ว่าที่พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2417 ในพิธีถือน้ำพิพิฒน์หรือการสาบานตนของผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (ปรีวีเคาน์ซิล) โดยจะต้องสาบานว่า

“จะรักษาความสามัคคีรศพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันคิดราชการทำนุบำรุงแผ่นดินสยาม ให้มีความเจริญเหมือนคำในเอดเรดส์ (address/ผู้เขียน) กล่าวไว้ว่า ปรีวีเคาน์ซิลทั้งหลายจะตั้งความสุจริตกตัญญูกะตะเวทีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตลอดพระบรมราโชรศที่จะสืบราชอิศริยยศต่อไปให้ต่อติดเนื่องไปดั่งเช่นพระราชทานพรแก่พวกปรีวีเคาน์ซิลทุกประการนั้น ก็เปนที่หมายอีกอย่างหนึ่ง ด้วยว่ากรุงสยามคงจะมีความเจริญต่อไปได้ เพราะการที่จะสืบราชอิศริยยศต่อติดเนื่องกัน (เน้นโดยผู้เขียน)”

ข้อความดังกล่าวนี้สื่อความหมายชัดเจนว่า จะให้ “พระบรมราโชรศ” เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์นี้ ย่อมหมายถึงการตัดสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ของพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทั้งหมดไปด้วย รวมถึงพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและพระเจ้าน้องยาเธอของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ ไปด้วย เพราะการใช้คำว่า “พระบรมราโชรศ” นี้ สื่อถึง “โอรสองค์สำคัญที่ประสูติจากพระมเหสี ไม่ใช่เกิดจากเจ้าจอมมารดา และจากรากศัพท์ในคำ “พระบรมราโชรศ (พระ+บรม+ราช+โอรส)” มีความหมายใกล้เคียงกับศัพท์ “พระบรมโอรสาธิราช (พระ+บรม+โอรส+อธิราช)”

เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศได้รับการสถานปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารในขณะที่มีพระชันษาได้ 9 ปี ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าวชิราลงกรณขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (พระองค์ที่สามของไทย) ในขณะที่มีพระชันษาได้ 20 ปีในปี พ.ศ. 2515

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสี่)

พระบรมโอรสาธิราช พระองค์แรก (เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ)   พระบรมโอรสาธิราช พระองค์ที่สอง (เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ)

แต่หลังจากที่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงดำรงตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชได้เพียงเกือบ 8 ปี ก็ทรงสวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2438 พระชนมายุได้เพียง 16 ปี ซึ่งหากไม่สวรรคต ผู้เขียนไม่แน่ว่า พระองค์น่าจะได้รับโปรดเกล้าฯให้เสด็จไปศึกษาต่างประเทศหรือไม่ เพราะพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาต่างประเทศตั้งแต่พระชันษา 11 ปี

ถ้าจะทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศ ก็น่าจะส่งไปก่อนหน้าแล้ว

เหตุผลที่ไม่ทรงโปรดฯให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ก็อาจจะเกี่ยวเนื่องจากการดำรงตำแหน่งที่สำคัญอย่างยิ่งในขณะนั้น อีกทั้งพระบรมโอรสาธิราชน่าจะทรงประทับอยู่ในประเทศ เพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องราวการบริหารราชการแผ่นดิน ดังที่

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เสด็จออกรับแขกเมืองและรับฎีกาของราษฎรแทนพระองค์ รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ในงานต่าง ๆ อยู่เสมอและในส่วนของราชการทหารนั้น พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหาร แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งผู้ว่าการแทนผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหารจนกว่าพระองค์จะว่าการได้ด้วยพระองค์เองเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรทหารโดยให้ดำรงพระยศที่นายร้อยโท”

เพราะในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศ พระองค์ก็ยังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นพระบรมโอรสาธิราช แต่ทรงเสด็จไปในพระอิสริยยศ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และทรงเสด็จไปศึกษาต่อในขณะที่พระชันษาได้ 12 ปี ใกล้เคียงกับพระเจ้าลูกยาเธอรุ่นแรกที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ

หลังจากที่พระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรกแห่งสยามสวรรคตในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธขึ้นเป็นพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่สองเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2438 ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

ซึ่งในช่วงเวลานั้น พระเจ้าลูกยาเธอรุ่นแรกที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศก็เริ่มทยอยสำเร็จการศึกษาเสด็จกลับมา ได้แก่ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 243 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2437 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ประสูติ พ.ศ. 2419 สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2439

สองพระองค์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจะทรงเข้าศึกษาเป็นเวลา 4 ปีคือ กรมหลวงราชบุรีฯและกรมพระจันทบุรีฯ

ตัวผู้เขียนเองเข้าใจว่า ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะไม่ทรงโปรดฯให้พระราชโอรสที่ดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยเหตุผลของความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าอย่างอื่น และการที่มีพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ) ทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ จึงเป็นเหตุบังเอิญมากกว่าจะตั้งใจ หากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศไม่สวรรคต เจ้าฟ้ามหาวิชราวุธก็คงจะไม่ได้รับสถาปนาเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ และเมื่อกำลังศึกษาอยู่ที่อังกฤษอยู่แล้ว ก็คงจะต้องให้ศึกษาต่อไปจนสำเร็จปริญญาตรีเหมือนดังพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าลูกยาเธอที่สำเร็จการศึกษากลับมาในช่วง พ.ศ. 2438-2439 ล้วนมีศักดิ์เป็น “พี่” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯประมาณ 7-8 ปี

ในปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สังกัดคณะไครสต์เชิร์ช (Christ Church College) คณะเดียวกับที่กรมหลวงราชบุรีฯจบปริญญาตรีกฎหมายในระดับเกียรตินิยม

และอย่างที่ทราบกันในพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงใช้เวลาศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดระหว่าง พ.ศ. 2442-2444 (ปริญญาตรีที่อังกฤษโดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ใช้เวลาเรียนเพียงสามปี) แต่ “ทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ มีพระอาการมากต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ทรงพลาดโอกาสที่ได้รับปริญญา” โดย “.....ในระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระประชวร พระอันตะติ่งอักเสบ (ไส้ติ่ง = Vermiform appendix –) และทรงได้รับการถวายการผ่าตัดและพบว่ามีหนองที่พระยอดตรงพระอันตะติ่ง (ฝีกลัดหนองที่ไส้ติ่ง) เข้าขั้นอันตราย” (ผศ.นพ. เอกชัย โควาวิสารัช, ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคต ร.6 เสียโอกาสทรงหายประชวรเพราะอะไร ? https://www.silpa-mag.com/history/article_25072 )

ข้อความที่ว่า “ทำให้ทรงพลาดโอกาสที่ได้รับปริญญา” นี้ น่าจะหมายความว่า พระองค์ทรงขาดสอบ ซึ่งประเพณีของระบบการเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษอีกหลายแห่ง การสอบผ่านและจบปริญญาตรีจะวัดกันที่ผลการสอบในปีสุดท้ายเท่านั้น ดังข้อความที่ว่า “At Oxford, your results in your Finals determine your class of degree.” (https://www.ox.ac.uk/admissions/undergraduate/student-life/exceptional-education/course-structure)

ส่วนการสอบระหว่างชั้นปีที่หนึ่งจนถึงก่อนสอบในปีสุดท้าย ถือเป็นการวัดความก้าวหน้าในการเรียนวิชาต่างๆเท่านั้น ไม่มีผลต่อการจบหรือไม่จบ เพราะการจบวัดกันที่สอบไล่ (final exams) ในปีสุดท้ายเท่านั้น ดังข้อความที่ว่า “Colleges may also set their own examinations, known as ‘collections’, at the start of each term. These exams are to check that you are progressing satisfactorily through the course. They do not count towards your final degree. (https://www.ox.ac.uk/admissions/undergraduate/student-life/exceptional-education/course-structure)

ขณะเดียวกัน สมมุติว่า พระองค์ “ทรงเป็นอะไรไป” จนต้องมีการสถาปนาพระบรมโอรสาธิราชพระองค์ใหม่ขึ้น คำถามคือ ใครคือผู้ที่อยู่ใน “สายเดียว” กับพระองค์ที่มีสถานะที่จะได้รับการสถาปนาพระองค์ต่อไปคือ พระอนุชารองจากพระองค์ นั่นคือ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถที่มีพระชันษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเพียง 1 ปี ขณะนั้น

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสี่)

                                                       สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ

ในปี พ.ศ. 2443 อันเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับการศึกษาปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯและเป็นปีเดียวกับที่ทรงพระประชวร เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ประเทศรัสเซีย และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงมีพระราชประสงค์ให้พระองค์เรียนรู้วิชาการฝ่ายพลเรือนควบคู่ไปด้วยกัน เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯจึงต้องทรงศึกษาวิชานอกหลักสูตรของนักเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ปราฎว่า ทรงสามารถผ่านการสอบไล่เป็นลำดับที่สองด้วยคะแนน 163 คะแนนจากคะแนนเต็ม 168 จากทั้งหมด 14 วิชา คะแนนเต็มวิชาละ 12 คะแนน โดยพระองค์ได้คะแนนแต่ละวิชาดังต่อไปนี้

1. ประวัติศาสตร์ 12 คะแนน

2. ระเบียบข้อบังคับกลาโหม (Military-Regulation) 12 คะแนน

3. ภูมิศาสตร์ 12 คะแนน

4. ยุทธวิธี (Tactics) 11 คะแนน

5. ภาษารัสเซียน 12 คะแนน

6. กลศาสตร์ 11 คะแนน

7. การใช้ปืนใหญ่ 12 คะแนน

8. ป้อมค่าย (Fortification) 12 คะแนน

9. เคมี 12 คะแนน

10. ภาษาเยอรมัน 10 คะแนน

11. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ 12 คะแนน

12. ภาษาฝรั่งเศส 12 คะแนน

13. ภูมินาปนวิทยา (Topography) 11 คะแนน

14. ธรรมศาสตร์ (Jurisprudence) 12 คะแนน

ในขณะที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯทรงมีผลการศึกษาอย่างยอดเยี่ยมในขณะนั้น แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯไม่ทรงสำเร็จการศึกษา อันมีสาเหตุจากการประชวร

คำถามที่ผู้อ่านน่าจะสงสัยก็คือ เมื่อนักศึกษาเจ็บป่วย ไม่สามารถเข้าสอบไล่ได้ ไม่สามารถทำเรื่องต่อมหาวิทยาลัยเพื่อขอสอบทีหลัง หรือเข้าสอบไล่ครั้งต่อไปในปีหน้าหรือ ?

การที่ทรงไม่สำเร็จการศึกษา ในขณะที่พระเชษฐาและพระอนุชาหลายพระองค์ต่างประสบความสำเร็จในการศึกษา จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ยุโรปเรื่อง “The War of the Polish Succession” (สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2445 โดยสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ

พระราชนิพนธ์ “The War of the Polish Succession” มีความสำคัญอย่างไรต่อสถานะทางการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ? โปรดติดตามตอนต่อไป

(แหล่งอ้างอิง: "ประกาศจัดการทหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งตำแหน่ง ผู้บัญชาการทั่วไป (คอมมานเดออินชิฟ) โดยให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช รับตำแหน่ง" ราชกิจจานุเบกษา; "พระราชทานสัญญาบัตรทหาร". ราชกิจจานุเบกษา; ศิรินันท์ บุญศิริ, บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, วิทยานิพนธ์ ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย