posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

09 พฤษภาคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*************************

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามกรณี “อู นุ-เนวิน 2501” ผู้เขียนขออธิบายไว้อีกครั้งหนึ่งว่า กรณี “อู นุ-เนวิน 2501” คือ การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการของ อู นุ หัวหน้าพรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ของพม่าในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2501  ได้กลายเป็นเงื่อนไขให้ เนวิน เสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ

อัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกไกลชาวอเมริกัน ได้รายงานสถานการณ์ทางการเมืองพม่าใน พ.ศ. 2501 ไว้ในข้อเขียนเรื่อง “ข้อตกลงต่อรองจากกองทัพในการเมืองพม่า: เป็นแบบแผนสำหรับเอเชียหรือไม่ ?” (Burma’s New Deal from the Army---Is It a Pattern for Asia ?) ที่เขียนขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2502  (9 เดือนหลังเหตุการณ์ “อู นุ-เน วิน 2501” ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

ราเวนโฮลท์รายงานถึงสถานการณ์ที่ส่งผลให้ อู นุ ตัดสินใจลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการ และสภาลงมตินายพลเนวินเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการแทนว่า จากความขัดแย้งแตกแยกของพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPL) ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่สองพรรค นั่นคือ พรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์บริสุทธิ์ (Clean AFPL) และพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์มั่นคง (Stable AFPL) และแกนนำของทั้งสองฝ่ายต่างขับเคลื่อนมวลชนของตนออกมาต่อสู้กันบนท้องถนน ต่อมาทาง Clean AFPL ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งของเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างฐานความมั่นคง อีกทั้งยังมีการระดมกองกำลัง ผู้คนจากพื้นที่ต่างๆเข้าเมืองหลวงเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป รวมทั้งยังดึงพวกคอมมิวนิสต์เข้ามาร่วมรัฐบาลอีกด้วย  กองทัพมีความกังวลกับสถานการณ์ที่ทางกองทัพเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สิ่งที่ราเวนโฮลท์ใช้คำว่า disaster หรือ ความหายนะของชาติ จนเกิดข่าวลือว่า ทหารจะทำรัฐประหาร แต่นายพลเนวินยืนยันว่า ทหารไม่เคยมีท่าทีดังกล่าว แต่ทหารได้แสดงจุดยืนต่อ อู นุ ดังนี้

หนึ่ง ประเทศกำลังอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ต่อหายนะ

สอง กองทัพไม่ได้ต้องการจะทำรัฐประหาร

สาม กองทัพไม่ต้องการประกาศกฎอัยการศึก และจะไม่เป็นผู้เริ่มลงมือก่อน

สี่ กองทัพจะไม่ยอมรับการกระทำใดๆที่จะทำให้กองทัพเสียหาย

ห้า กองทัพก็ไม่ยอมให้มีการใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญที่พวกนักการเมืองในรัฐบาลบางกลุ่มพยายามจะใช้

หก กองทัพรับไม่ได้ที่พรรคการเมืองของ อู นุจะไปดึงพวกคอมมิวนิสต์เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไป

จากเงื่อนไขทั้งหกข้อนี้เองที่ทำให้ อู นุตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ (เพราะอู นุได้ยุบสภามาก่อนหน้านั้น และกำลังรอจัดการเลือกตั้งทั่วไปอยู่)  และเสนอชื่อนายพลเนวินให้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการต่อสภา เพื่อให้สภาลงคะแนนเสียง

ปรากฎการณ์ทางการเมืองของพม่าที่เกิดขึ้นนี้ เราจะเรียกว่าอะไร ?  รัฐประหาร ? รัฐประหารเงียบ ? หรือรัฐประหารแบบไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ (constitutional coup) ? หรือ การกดดันต่อรองจากฝ่ายทหารที่จะเข้ามามีอำนาจ ?

ในฐานะผู้สื่อข่าว ราเวนโฮลท์เรียกว่า “การต่อรองหรือข้อตกลงใหม่จากกองทัพในการเมืองพม่า” และเขาตั้งคำถามตามมาด้วยว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้จะกลายเป็นแบบแผนทางการเมืองของเอเชียหรือไม่ ?

ต้องอย่าลืมว่า กองทัพพม่าไม่ได้จะพยายามเข้ามามีอำนาจโดยไม่มีเงื่อนไข นั่นคือ อยากจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ก็ไปกดดันนายกรัฐมนตรีรักษาการที่มาจากการเลือกตั้งให้ลาออก  แต่การเมืองพม่ามีความขัดแย้งและมีการใช้ความรุนแรงจากแต่ละฝ่ายจริงๆ  อีกทั้งยังมีปัญหากบฏของชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างๆมากมาย และมีปัญหาคอมมิวนิสต์อีกด้วย   เพราะมีกรณีอื่นๆในประเทศในเอเชียที่การเมืองไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งรุนแรง แต่ทหารก็ยึดอำนาจขึ้นมาเฉยๆ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ราเวนโฮลท์มีข้อสังเกตที่แหลมคมที่เขาเริ่มเห็นว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขี้นในการเมืองพม่าในในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆในหลายประเทศในเอเชีย จนกล่าวได้ว่าเป็นแบบแผนทางการเมืองอย่างหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา

ทีนี้ เราจะมาดูการวิเคราะห์ของนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาการเมืองพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานของแซมมวล ไฟน์เนอร์ (S.F. Finer) ที่ชื่อ “The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics” (บุรุษบนหลังม้า: บทบาทของทหารในการเมือง) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2505 (ตีพิมพ์เผยแพร่ 3 ปีหลังเหตุการณ์ “อู นุ-เน วิน 2501”  แต่ตัวต้นฉบับน่าจะต้องเขียนเสร็จก่อนปีพ.ศ. 2505)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

เนื่องจากไฟน์เนอร์เป็นนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ ดังนั้น ในการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ “อู นุ-เนวิน 2501” เขาจึงมีกรอบแนวคิดและทฤษฎีในการอธิบายการเข้าแทรกแซงการเมืองของทหาร  โดยกรอบทฤษฎีของเขาเริ่มต้นจากกรอบที่เขาเรียกว่า “Disposition and opportunity:' the calculus of intervention” นั่นคือ แนวโน้มทัศนคติที่มีผลต่อพฤติกรรมและโอกาส การคิดคำนวณชั่งน้ำหนักถึงความเป็นไปได้ข้อดีข้อเสียในการแทรกแซง

พูดง่ายๆก็คือ ไฟน์เนอร์เห็นว่า ปัจจัยที่ทหารไม่ว่าประเทศไหนจะแทรกแซงทางการเมือง โดยเฉพาะการทำรัฐประหารประกอบไปด้วยสองปัจจัยสำคัญ นั่นคือ

หนึ่ง ปัจจัยด้านวิธีคิดและความคิดของทหาร

สอง เงื่อนไขและโอกาส หรือสถานการณ์เปิดหรือเอื้อให้ปัจจัยด้านวิธีคิดและความคิดนี้ เป็นได้สองลักษณะ นั่นคือ ลักษณะแรกคือ  วิธีคิดและความคิดที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่ทั้งผู้นำระดับสูงและระดับรองลงมา จนกระทั่งถึงชั้นประทวนต่างคิดว่า ทหารแทรกแซงทางการเมืองได้เพราะสถาบันทหารมีความชอบธรรมที่จะปกครองดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ  หากวิธิคิดและความคิดดังกล่าวเป็นวัฒนธรรมองค์กร ก็คือว่าเป็นลักษณะที่ติดตัวกองทัพหรือทหาร หรือจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติของทหารก็ย่อมได้

ลักษณะที่สอง คือ วิธีคิดและความคิดไม่ได้เป็นวัฒนธรรมองค์กร และเป็นวิธีคิดและความคิดของผู้นำกองทัพบางคนเท่านั้น และเหตุผลที่ผู้นำที่มีวิธีคิดและความคิดจะนำกองทัพเข้าแทรกแซงทางการเมืองก็มีได้หลายเหตุผล เช่น ความทะเยอทะยานที่เป็นบุคลิกภาพส่วนตัว ความคิดว่าตนเป็นผู้นำกองทัพที่มีความสำคัญมากในการรับผิดชอบต่อความเป็นไปของบ้านเมือง

ส่วนปัจจัยด้านโอกาส เงื่อนไขและสถานการณ์นั้นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงจนนำไปสู่ความไม่สงบหรือสถานการณ์ที่เห็นแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายของผู้คนในเมืองหลวงหรือในเขตต่างๆของประเทศ

ปัจจัยด้านโอกาสนี้ ในบางประเทศที่กองทัพหรือผู้นำกองทัพไม่มีปัจจัยด้านวิธีคิดและความคิด ต่อให้เกิดสถานการณ์วิกฤตรุนแรง ก็ยากที่จะทหารจะเข้าแทรกแซงทางการเมือง ยกเว้นจะเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดจริงๆ ซึ่งการตัดสินว่าวิกฤตใดรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะทางจิตวิทยาของผู้คนในสังคมนั้นๆด้วย

และจากกรอบ Disposition and opportunity นี้ ไฟน์เนอร์เห็นว่า ผู้นำกองทัพจะต้องคิดคำนวณคาดคะเนบวกลบคูณหารถึงความเป็นไปได้ของความสำเร็จและความล้มเหลวในการเข้าแทรกแซงทางการเมือง (the calculus of intervention)  และจากปัจจัยทั้งสองที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ไฟน์เนอร์ได้ตั้งสมการขึ้นมา 3 สมการ นั่นคือ

1. ในกรณีที่กองทัพไม่มีวิธีคิดและความคิด และโอกาสหรือเงื่อนไขก็ไม่มี การแทรกแซงก็จะไม่เกิดขึ้น

2. ในกรณีที่มีทั้งสองปัจจัยนี้ การแทรกแซงจะเกิดขึ้น

3. ไม่มีปัจจัยด้านวิธีคิดและความิด แต่มีเงื่อนไขหรือโอกาสให้แทรกแซง  อะไรจะเกิดขึ้น ?

โปรดติดตามตอนต่อไปว่า ในสมการที่ 3 ไฟน์เนอร์จะอธิบายไว้อย่างไร ? และเขาเห็นว่า วปรากฎการณ์ “อู นุ-เนวิน 2501” จัดอยู่ในสมการอะไรในสามสมการนี้ ?