posttoday

"คนเดินเท้า-กลุ่มเปราะบาง"รอการแก้ไขปัญหาทางม้าลาย-ทางเท้า

08 พฤษภาคม 2565

โดย...รองศาสตราจารย์ นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

***************

ในชีวิตประจำวัน กลุ่ม "คนเดินเท้า" ที่ประกอบด้วยกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ส่วนใหญ่จะใช้การสัญจรบนทางเท้าไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อไปเรียน ไปทำงาน หรือไปทำธุระ และมีการใช้ทางข้ามแบบต่างๆเพื่อข้ามถนนไปยังสถานที่ปลายทาง แต่ทั้งทางเท้าและทางข้ามหลายจุด มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทางเท้าที่ถูกลดขนาดลงในบางพื้นที่ของเขตเมืองหรือเขตชุมชน เพื่อการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้มีความกว้างไม่เพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่มีพื้นที่สำหรับทางเดินเท้าเลย การออกแบบทางข้ามในบางจุดที่ไม่ได้เอื้อต่อการใช้งาน

สภาพแวดล้อมเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่ม "คนเดินเท้า" จะได้รับอุบัติเหตุจากผู้ขับขี่ยานพาหนะ จึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดที่ต้องการการคุ้มครอง ซึ่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้ระบุในหลายมาตราที่ยืนยันว่า ถนนไม่ใช่เป็นเอกสิทธิของคนใช้รถยนต์ แต่คนเดินเท้าก็คือผู้ที่มีสิทธิใช้ถนนด้วยความปลอดภัย (เช่น มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิของคนเดินเท้าไว้ว่าผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชน หรือโดนคนเดินเท้า) เมื่อดูสถิติ จำนวนผู้บาดเจ็บในทุกเพศทุกวัย ทั้งบาดเจ็บเล็กน้อย บาดเจ็บสาหัส กลายเป็นผู้พิการ หรือเสียชีวิต จากอุบัติเหตุบนทางเท้า และการข้ามถนน

"คนเดินเท้า-กลุ่มเปราะบาง"รอการแก้ไขปัญหาทางม้าลาย-ทางเท้า

โดยข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ThaiRSC ในปี 2564 พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 879,940 คน และเสียชีวิต 13,425 คนจากอุบัติเหตุทางถนน และจากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนของกรมทางหลวงในช่วงปี 2556-2560 พบว่า ลักษณะของการชนที่ทำให้เกิดความรุนแรงสูง ได้แก่ อุบัติเหตุรถชนคนเดินเท้า ที่จัดเป็นอุบัติเหตุที่มีดัชนีความรุนแรงสูงสุด โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 55 ราย ต่ออุบัติเหตุ 100 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 740 คนที่เสียชีวิต หากดูที่จำนวนคนเดินเท้าที่โดนรถชนจากสถิติบริการ "ผู้ป่วยใน" เรื่องจำนวนผู้ป่วยในทั่วประเทศ ระหว่างปี 2558-2561 ระบุว่า กลุ่มคนเดินเท้าส่วนใหญ่ (56.27%) บาดเจ็บเพราะถูกรถจักรยานยนต์ชน โดยมีกลุ่มเด็กวัย 0-9 ขวบบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มผู้ใหญ่วัย 45-59 ปี และเมื่อดูข้อมูลคดีอุบัติเหตุจราจรที่รับแจ้งปี 2558-2560 พบว่า คนเดินเท้าทั่วประเทศมีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุในเขตพื้นที่นครบาล ซึ่งก็คือ กรุงเทพมหานคร สูง 1 ใน 3 (34%) เมื่อเทียบกับจำนวนการรับแจ้งทั่วประเทศ กล่าวคือ ถนนในกรุงเทพฯ มีคนเดินเท้าเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 250 คน

เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับ "คนเดินเท้า" ที่ใช้ทางเท้า หรือทางม้าลายข้ามถนน เช่น ในกรณีที่มีการขับรถชนผู้ที่กำลังข้ามทางม้าลายเสียชีวิต จนเป็นข่าวโด่งดังอยู่หลายครั้ง ทำให้กระแสสังคมเรียกร้อง ผลักดันให้ทางม้าลายในประเทศไทย ต้องเป็นทางม้าลายจริงๆ ที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกชนิดต้องหยุดให้คนข้าม ซึ่งทุกเหตุ เราจะพบปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุที่สามารถนำไปสู่การป้องกันหรือลดความรุนแรงแรงของการบาดเจ็บได้เสมอ เราสามารถจำแนกความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ได้จากทั้ง โดยพฤติกรรมของผู้ข้าม เช่น ผู้ข้ามส่วนหนึ่งที่ไปข้ามถนนในสถานที่ที่ไม่ใช่ทางข้าม หรือไม่ค่อยระมัดระวังตัว เช่น เดินข้ามถนนไปด้วย เล่นโทรศัพท์ไปด้วย ส่วนใหญ่ก็จะมาข้ามถนนตรงทางข้ามที่ถูกออกแบบไว้แล้ว และมีความระมัดระวังตัวระดับหนึ่ง ดังนั้น พฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ผู้ขับขี่บางคนไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ขับขี่ด้วยความเร็วเกินกำหนดในเขตเมือง หรือเขตชุมชน เช่น หน้าสถานศึกษา หรือสถานพยาบาล ไม่มีความตระหนักในความปลอดภัยร่วมบนท้องถนน

จากการเกิดอุบัติเหตุในหลายครั้งที่เราจะพบว่าเกิดกับผู้ข้ามที่ข้ามถนนในจุดที่เป็นทางข้ามกลางถนน ทั้งที่มีรถคันหน้า หรือรถคันแรกจอดให้ข้ามถนนแล้ว แต่ผู้ขับขี่ที่ตามมา ขับขี่ด้วยความเร็วและประมาท ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ข้างหน้า แต่กลับเร่งความเร็วเพื่อที่จะให้พ้นจากบริเวณนี้ จึงทำเกิดการเฉี่ยวชนผู้ข้ามจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังขาดการออกแบบทางข้ามเพื่อให้กลุ่มคนเดินเท้า ใช้งานได้อย่างปลอดภัย เช่น การใช้ที่ชะลอความเร็ว การออกแบบสิ่งแวดล้อมเป็นตัวบ่งบอกชัดเจน ว่าผู้ขับขี่จะต้องลดความเร็วลง มีแสงไฟที่ชัดเจนและสว่างสำหรับการเดินข้าม มีสัญญาณไฟที่ผู้ขับขี่มองเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องออกแบบเพื่อให้ผู้พิการ สามารถใช้ทางข้ามได้อย่างปลอดภัยได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต้องมีการออกแบบที่แสดงจุดสิ้นสุดถนน จุดทางข้าม และมีระยะทางที่ชัดเจน สัญญาณไฟ รวมถึงสัญญาณเสียงที่เป็นมาตรฐานสำหรับผู้พิการ

การป้องกันอุบัติเหตุจากพฤติกรรมการขับขี่ยานพาหนะของผู้ขับขี่นี้ ผู้เกี่ยวข้องจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด จริงจัง และต้องนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อให้ตระหนักบทลงโทษที่จะได้รับ อันตรายที่เกิดจากความประมาท และเห็นตัวอย่างของสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ผู้เกี่ยวข้องควรนำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เหตุและปัจจัย เพื่อหาแนวทางในการป้องกันในระยะยาวได้ ประสานงานและส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง รวมถึงสร้างการรับรู้ และเปลี่ยนแปลงทัศนคติให้แก่ผู้คนในสังคม มุ่งหวังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการสิ่งเหล่านี้ได้ทันที ไม่ควรให้ถูกสนใจโดยกระแสสังคมเพียงชั่วคราวแล้วจางหายไปพร้อมกับเหตุการณ์ และถูกพูดถึงใหม่เมื่อมีเหตุการณ์คล้ายเดิมเกิดขึ้นอีกครั้ง

การผลักดันให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่ม “คนเดินเท้า” จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การออกมาตรการต่างๆ และการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กลุ่มคนเดินเท้า และผู้ขับขี่ยานพาหนะ สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของความปลอดภัย เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิต และทรัพย์สิน ทั้งของตนเอง และผู้อื่นได้ นอกจากนี้ การสร้างวินัยในเด็กและเยาวชนให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้ถนน สอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการข้ามถนนให้ถูกวิธี รู้จักสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัวให้แม่นยำ สอนให้รู้จักพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ถูกต้อง และผลที่เกิดจากการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมและสร้างทัศนคติที่ดีให้ตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เป็นผู้ข้ามถนนที่ระวัง และจะได้เติบโตเป็นผู้ขับขี่ที่ดีได้ ยังเป็นสร้างเสริมทักษะการเอาตัวรอดก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อความปลอดภัยของเด็กได้อีกทางหนึ่งด้วย

เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการทั่วไป ม.มหิดล