posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (31)

07 พฤษภาคม 2565

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***********

“ตราบใดที่นักการเมืองยังทำตัวไม่น่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งไม่ได้ โดยที่ประชาชนยังอ่อนแอและไม่คิดพึ่งตนเอง ทหารก็ยังจะครองประเทศไทยนี้เรื่อยไป”

ผมคิดว่าประโยคข้างต้นนี้คือความจริงที่ใกล้เคียงที่สุดในเรื่องทหารกับการเมืองไทย โดยผมตีความหมายเอาจากที่ผมได้เคยสัมภาษณ์ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ส่วนหนึ่ง และที่ได้สังเกตพฤติกรรมของทหารกับการเมืองไทยในบทบาททางการเมืองการปกครองมาหลายสิบปีอีกส่วนหนึ่ง ร่วมกับความรู้เกี่ยวกับทหารกับการเมืองไทยจากตำราและงานเขียนต่าง ๆ ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์นั้นด้วยอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะข้อความที่ออกจากปากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งผมคิดว่า “ใกล้ความจริงที่สุด” ในข้อสรุปเรื่องนี้

ตอนนั้นเป็น พ.ศ. 2526 - 2527ผมกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจะต้องทำวิทยานิพนธ์ประกอบการจบการศึกษาในช่วงนั้น ซึ่งผมได้เลือกทำในเรื่อง “การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองไทย : ศึกษากรณีพรรคกิจสังคม” เพราะผมทำงานอยู่ในพรรคในฐานะเลขานุการของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคมนั้นอยู่แล้ว โดยมีกรอบแนวคิดในการศึกษาว่า “ความสำเร็จและความล้มเหลวในการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคกิจสังคม เป็นผลจากบารมีและความสามารถของผู้นำพรรค ร่วมกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกื้อหนุน และพลังร่วมในการต่อสู้ของสมาชิกสภาราษฎรของพรรค” และหาข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ผู้นำของพรรคหลายคน คำถามส่วนหนึ่งได้ถามถึงปัญหาของการเมืองไทย ซึ่งผมได้สัมภาษณ์ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนแรก ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ “มากบารมี” ด้วยคนหนึ่งของการเมืองไทยยุคนั้น

แน่นอนว่าปัญหาหนึ่งของการเมืองไทยก็คือ “ทหาร” โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ดังนี้

“เขาว่าเป็นประชาธิปไตยได้ ทหารต้องเป็นกลาง นั่นเป็นหลักการที่เขายึดถือกันมานาน ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วยว่าจะต้องยึดถือหลักนั้น ประเทศใดจะยึดถือหลักใดมันแล้วแต่ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของไทยทหารเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมาตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นก็รักษากันไว้ด้วยกำลังทหาร เพราะฉะนั้นถ้าทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ ไม่ให้ลัทธิอื่นเข้ามาแย่งชิงได้ นั่นก็เป็นการกระทำที่ถูก หรือในบางครั้งที่ทหารต้องเข้ามารักษาอำนาจด้วยตนเอง เพื่อรักษาสถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้ยุ่ง วุ่นวายจลาจล อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้

สถานการณ์ที่จะให้ทหารเข้ายึด ให้เข้ามามีอำนาจได้หรือไม่ มันไม่ได้อยู่ที่ทหาร มันอยู่ที่พลเรือน นักการเมือง ประชาชน มันอยู่ที่กลุ่มกำลังต่าง ๆ ที่คิดจะมีอำนาจวาสนากัน ว่าจะก่อให้เกิดการจลาจลหรือไม่ จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายขนาดไหน ถ้าทุกฝ่ายเป็นประชาธิปไตยแล้ว ผมว่าทหารเขาก็ไม่เข้ามาเกี่ยว แต่ว่าหลายฝ่ายก็ว่าจะทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างนักศึกษาเองก็คิดที่จะใช้พลังนักศึกษา ก่อความไม่สงบต่าง ๆ ทำความรุนแรง อย่างนี้ก็เท่ากับเชื้อเชิญให้เขาเข้ามา บ้านเมืองไม่เรียบร้อย ทหารที่ไหนเขาจะทนอยู่ได้

ถ้าเราจะทำอย่างประชาธิปไตย พูดกันด้วยเหตุด้วยผล พูดกันอย่างคนไทยด้วยกัน มันก็พอจะพูดกันได้ ผมว่าสถานการณ์ที่จะทำให้ทหารเข้ามายุ่ง ไม่ได้อยู่ที่ทหารเลย อยู่ที่คนอื่นทั้งนั้น คนอื่นทำขึ้นเอง ถ้าบ้านเมืองจลาจล ทหารเขาจำเป็นต้องเข้ามา เขาปล่อยไม่ได้ และทหารเขาก็มีหน้าที่ต้องรักษาความสงบของบ้านเมือง และอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่สุด ทหารมีหน้าที่ต้องรักษาราชบัลลังก์ ทหารไทยต้องรักษาพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าอยู่หัว ใครมาทำอะไรเขาสู้ อันนี้ขอให้เข้าใจเถอะ

หน้าที่พลเรือนก็ทำไปตามระบอบประชาธิปไตย มันก็ต้องพิสูจน์ว่า ประชาธิปไตยมันสามารถรักษาความสงบได้ สามารถระงับจลาจลได้ พิสูจน์ให้ผู้เลือกตั้งรู้ พิสูจน์ให้ทหารเข้าใจด้วย ว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เพราะระบอบประชาธิปไตยมันจะแก้ปัญหาของมันเองได้ในที่สุด

อย่าไปเห็นว่าใครเป็นศัตรูใคร ทุกคนหวังดีต่อชาติบ้านเมืองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผู้แทนก็อย่าวุ่นวาย อย่าแก่งแย่งกัน แย่งชิงอำนาจกัน ทำตัวให้คนเขานับถือ ถ้าเขาจะยึดก็แสดงว่า สภาผู้แทนมันใช้ไม่ได้แล้ว มันเละ ไม่มีใครนับถือ เขาก็ไม่ปล่อยให้มันอยู่”

ตรงที่ผมทำสีเข้มไฮไลท์ไว้นี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่ “น่าคิด” ซึ่งจะขอไล่เรียงไปทีละประเด็นดังนี้

ประเด็นแรก “ทหารเป็นสถาบันเก่าแก่ มีหน้าที่รักษาบ้านเมือง และถ้าประชาธิปไตยมันจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย ทหารก็ต้องเข้ามาป้องกันกันไว้” อันนี้อาจจะไม่ถูกใจนักประชาธิปไตย เพราะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ทหารก็ต้องมีหน้าที่รักษาประชาธิปไตยด้วย จะถือตัวเป็นใหญ่คับบ้านคับเมืองคิดแต่จะก่อรัฐประหารยึดอำนาจและทำลายประชาธิปไตยนั้นไม่ได้ (ที่จริงรัฐธรรมนูญของประเทศไทยก็มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ใดคิดทำลายประชาธิปไตยนั้นอยู่แล้วและมีโทษหนักถึงประหารชีวิต แต่พอทำรัฐประหารแล้วก็นิรโทษกรรมเสียในทุกครั้ง)

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ของไทยทหารเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมาตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ถ้าจะมองด้วยความเข้าใจหรือ “เข้าข้าง” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็จะเห็นว่าท่านพูดถึงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นก็อาจจะตีความต่อไปได้ว่า ในสมัยที่เป็นประชาธิปไตยนี้ ทหารควรที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนได้แล้ว แต่ก็ต้องเชื่อมโยงไปในประเด็นต่อไปว่า “บางครั้งที่ทหารต้องเข้ามารักษาอำนาจด้วยตนเอง เพื่อรักษาสถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้ยุ่ง วุ่นวายจลาจล อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้” ว่าพวกนักการเมืองและประชาชนนี้เป็นตัวปัญหาจริงหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องตอบว่า “จริง” และทหารก็ใช้เหตุผลนี้เป็นส่วนหนึ่งในการยึดอำนาจมาโดยตลอด

ดังนั้นประเด็นสุดท้ายที่ต้องนำมาคิดก็คือ “ผู้แทนก็อย่าวุ่นวาย อย่าแก่งแย่งกัน แย่งชิงอำนาจกัน ทำตัวให้คนเขานับถือ ถ้าเขาจะยึดก็แสดงว่า สภาผู้แทนมันใช้ไม่ได้แล้ว มันเละ ไม่มีใครนับถือ เขาก็ไม่ปล่อยให้มันอยู่” อันนี้ก็น่าจะเป็นความจริงเช่นกัน คือเป็นเพราะ ส.ส.นั่นแหละที่เป็นปัญหาใหญ่ และชักนำให้เกิดการรัฐประหารเรื่อยมา โดยที่เราก็ไม่อาจจะปฏิเสธที่จะไม่เชื่อได้ว่า ทหารเองก็ “จ้อง” ที่จะยึดอำนาจโดยอ้างเหตุเข้ามาปราบนักการเมืองเลว ๆ นั้นเช่นเดียวกัน

ทว่าที่แย่ไปกว่านั้นและทหารไม่น่าจะทำก็คือ เมื่อทหารยึดอำนาจนั้นแล้วและคิดที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป ทหารก็ยัง “เลี้ยงดู” นักการเมืองเลว ๆ เหล่านั้นไว้ค้ำจุนอำนาจตัวเองต่อไป

******************************