posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบแปด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

02 พฤษภาคม 2565

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

*********************

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามกรณี “อู นุ-เนวิน 2501” ผู้เขียนขออธิบายไว้อีกครั้งหนึ่งว่า กรณี “อู นุ-เนวิน 2501” คือ การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการของ อู นุ หัวหน้าพรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ของพม่าในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2501  ได้กลายเป็นเงื่อนไขให้ เนวิน เสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ”

อัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกไกลชาวอเมริกัน ได้รายงานสถานการณ์ทางการเมืองพม่าใน พ.ศ. 2501 ไว้ในข้อเขียนเรื่อง “ข้อตกลงต่อรองจากกองทัพในการเมืองพม่า: เป็นแบบแผนสำหรับเอเชียหรือไม่ ?” (Burma’s New Deal from the Army---Is It a Pattern for Asia ?) ที่เขียนขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2502  (9 เดือนหลังเหตุการณ์ “อู นุ-เน วิน 2501” ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบแปด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบแปด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบแปด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

เมื่อพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPL) เกิดความขัดแย้งและแตกออกเป็นสองพรรค นั่นคือ พรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ “บริสุทธิ์”  (Clean AFPL) และพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ “มั่นคง”  (Stable AFPL) อู นุ ในฐานะผู้นำพรรค Clean AFPL ได้ตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2501  แม้ว่าจะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาได้แบบเฉียดฉิว โดยต้องอาศัยเสียงจากพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติ (the National United Front) โดยเฉพาะปีกซ้ายของพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติ

ตามรัฐธรรมนูญพม่า พ.ศ. 2490 มาตรา 84 กำหนดไว้ว่า จะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใน 60 วันหลังการยุบสภา นั่นคือ จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501

ในรายงานของราเวนโฮลท์ได้กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้าที่ อู นุจะยุบสภา  รัฐบาล ของอู นุ พยายามที่จะวางเงื่อนไขเพื่อขยายการควบคุมความมั่นคงภายในประเทศไว้ในมือของพวกตน โดยการโยกย้ายข้าราชการที่ต้องสงสัยว่าจะเข้ากับฝ่ายตรงข้าม---พรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์มั่นคง (Stable AFPL) ที่มี จ่อ เญง (Kyaw Nyein) และบะซเว (Ba Swe) เป็นแกนนำ และมีการโยกย้ายสลับตำแหน่งข้าราชการกระทรวงมหาดไทย อันได้แก่ ตำรวจ สารวัตรทหารและกองกำลังปกป้องหมู่บ้าน (Village Guards) มีการตั้งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมใหม่ที่เป็นพวกของ อู นุ เข้าดำรงตำแหน่งแทน  ขณะเดียวกัน เมื่อมีนายทหารระดับผู้บังคับกองพันในต่างจังหวัดปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลนาย อู นุ  ก็เกิดกระแสที่รวมตัวกันประณามโจมตีและด้อยค่านายทหารเหล่านั้นและกองทัพในสาธารณะ 

อีกทั้งผู้นำฝ่ายรัฐบาลยังเริ่มสั่งการแบบลับๆให้กองกำลังติดอาวุธที่เป็นพวกรัฐบาลเคลื่อนตัวสู่กรุงย่างกุ้ง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น   รวมทั้งมีการสั่งให้หน่วยสารวัตรทหารเดินทางโดยรถไฟเข้ามายังกรุงย่างกุ้งอย่างเงียบๆในชุดนอกเครื่องแบบ และมีการแจกจ่ายอาวุธหลังจากที่เดินทางมาถึง  นอกจากนี้ ยังมีการระดมพวกป่าไม้ที่สังกัดกระทรวงเกษตรให้เดินทางปะปนมากับกองกำลังปกป้องหมู่บ้านเข้ามาด้วย

เมื่อกองทัพรับรู้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ โดยส่วนหนึ่งได้รับรายงานจากผู้บังคับกองพันในพื้นที่ต่างๆ  ทางทหารได้เตรียมมาตรการระวังด้านความมั่นคง และได้ออกคำสั่งในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2501 ให้หยุดกองกำลังติดอาวุธต่างๆที่ฝักฝ่ายในรัฐบาลได้ระดมเข้ามา  มีการปลดอาวุธและออกคำสั่งให้กลุ่มคนเหล่านั้นกลับไปยังฐานที่ตั้ง มีการตรวจสอบอาวุธต่างๆของตำรวจและสารวัตรทหาร หน่วยสืบราชการลับของทหารได้คอยตรวจสอบเครือข่ายความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ มีการส่งกองกำลังทหารชุดพิเศษไปประจำตามสี่แยกถนน สนามบินและบริเวณชายฝั่ง สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดที่ไม่มีใครรู้ว่าใครกำลังจะทำอะไร 

และภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้เอง ในตอนบ่ายของวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2501 หลังจากที่ อู นุเดินทางกลับจากการสัญจรหาเสียงในต่างจังหวัด เขาได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะร่วมกันถือศีลแปดในพุทธศาสนาและเข้าสู่ช่วงของการทำสมาธิ  ซึ่งเป็นกิจกรรมปกติของคณะรัฐมนตรีภายใต้อู นุ ในระหว่างการประชุม อู นุ ได้รับรายงานจากรัฐมนตรีสองคนว่า ทหารกำลังจะทำรัฐประหารในตอนเย็นวันนั้น  เมื่อทราบดังนั้น อู นุได้เรียกให้ นายพล เนวิน เสนาธิการทหารบกมาเข้าพบ แต่ไม่สามารถติดต่อเขาได้จนวันรุ่งขึ้น นายพลเนวินได้ปฏิเสธว่า ไม่เคยได้ยินว่าจะมีการรัฐประหารแต่อย่างใด  และในค่ำวันนั้น (วันที่ 23 กันยายน) เนวินได้ส่งพันเอกหม่อง หม่อง (Maung Muang) ผู้เป็นหนึ่งในนายทหารที่ได้รับการยอมรับว่าเก่งและฉลาดที่สุดของพม่าไปเข้าพบ อู นุ เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจากจุดยืนของกองทัพ  และวันต่อมา (วันที่ 24 กันยายน) พันเอกอ่อง ยี (Aung Gyi)  ได้เข้าร่วมการหารือด้วย

ส่วนประชาชนในย่างกุ้งและทั่วทั้งประเทศต่างไม่รู้เรื่องความเป็นไปที่เกิดขึ้น สิ่งที่คนพม่าจะทำได้ในขณะนั้นก็คือ การคาดเดาถึงเหตุการณ์ต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา

ราเวนโฮลท์ เห็นว่า จริงๆแล้ว นายพันทหารทั้งสองควรได้รับเครดิตที่สามารถโน้มน้าวให้อู นุ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ประเทศพม่ากำลังอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ต่อหายนะ  นายพันทั้งสองยืนยันว่า กองทัพไม่ได้ต้องการจะทำรัฐประหาร และก็ไม่ต้องการประกาศกฎอัยการศึก และจะไม่เป็นผู้เริ่มลงมือก่อน  แต่ทหารจะไม่ยอมรับการกระทำใดๆที่จะทำให้กองทัพเสียหาย อีกทั้งกองทัพก็ไม่ยอมให้มีการใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญที่พวกนักการเมืองในรัฐบาลพยายามจะใช้ รวมทั้งการไปดึงพวกคอมมิวนิสต์เข้ามา

แม้ว่าจะมีคนในฝ่ายอู นุ ไม่เห็นด้วย แต่ อู นุ ก็ตัดสินใจทำหนังสือประกาศต่อสาธารณะในวันที่ 26 กันยายน โดยเสนอว่า จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยเสนอให้นายพลเนวินขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นหลักประกันที่จะให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในพม่าให้ได้ และนายพลเนวินจะเป็นนายกรัฐมนตรีปกครองประเทศไปจนเกิดการเลือกตั้งทั่วไป

จากการลาออกและเสนอชื่อนายพลเนวินให้รักษาการนายกรัฐมนตรี ความตึงเครียดในประเทศเริ่มผ่อนคลายโดยทั่วไป และในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2501 สภาได้ลงคะแนนเสียงเลือกนายพลเนวินเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ