posttoday

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสอง)

28 เมษายน 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*****************

ในการพิจารณาว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจในทางปฏิบัติแค่ไหนนั้น ในตอนที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีกระทรวงต่างๆในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เปลี่ยนรัชกาลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453) จะพบความแตกต่างในความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีกระทรวงต่างๆ

ด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์ทรงมีความ “อาวุโส” และ “ความเป็นผู้นำ” เพราะส่วนใหญ่ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็น “พระอนุชา” หรือไม่ก็เป็นเสนาบดีที่เคยเป็นผู้อยู่ภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์มาก่อน

อีกทั้งพระมหากษัตริย์เป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน จัดตั้งกระทรวงทบวงกรมขึ้นและเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลที่พระองค์ทรงเห็นสมควรลงในตำแหน่งต่างๆ ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในช่วงต้นรัชกาล บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งสืบเนื่องมาแต่รัชกาลก่อน และมีความ “อาวุโส” กว่าพระองค์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางสามัญชน

ข้อความข้างต้นของผู้เขียนได้รับการยืนยันจากคำบรรยายในช่วงเปลี่ยนรัชกาล จากรัชกาลที่ห้าสู่รัชกาลที่หก โดยมีความดังต่อไปนี้

“….ในรัชกาลที่ ๖ ชั้นต้น เสนาบดีแทบทุกท่านมีพระชัณษาและอายุมากกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงคนละรุ่นทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ/ผู้เขียน) เป็นผู้มีพระอัธยาศัยสุภาพเป็นอย่างอุกฤษณ์ดั่งที่รู้กั้นอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้ทรงเกรงใจท่านเสนาบดีเหล่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเสนาบดีเหล่านั้นจึงต่างกันกับในรัชกาลที่ ๕ ด้วยเหตุนี้เป็นข้อใหญ่ จึงเป็นผลให้ทรงปล่อยการงานไว้ในมือเจ้ากระทรวงยิ่งขึ้นกว่าในรัชกาลก่อน โดยมากทรงวางรัฐประศาสโนบายไว้ แต่ไม่สู้จะได้ทรงควบคุมกวดขันเหมือนอย่างในรัชกาลที่แล้วมา”

และเจ้าของข้อความนี้เป็น “ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์” ดังที่ผู้เขียนได้เกริ่นถึงไปในตอนที่แล้ว และสัญญาว่า จะเปิดเผยว่าเป็นใครในตอนนี้ เพราะหลังจากคุณ Kittiphong Jongsukkitpanich ได้อ่านบทความตอนที่แล้ว ก็สนใจใคร่รู้ว่าตัว “ผู้อยู่ในเหตุการณ์” และได้กรุณาโพสต์ถามใน facebook ด้วยว่า “ผู้อยู่ในเหตุการณ์คือใคร ทำไมเปิดเผยไม่ได้ครับ” ......รับรองเปิดเผยในตอนนี้ แน่นอนครับ ไม่มีกั๊ก !

ก่อนจะเปิดเผย ขออธิบายความต่อจากที่ค้างไว้ในตอนที่แล้ว ที่ “ผู้อยู่ในเหตุการณ์” ได้กล่าวถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ขุนนางสามัญชนที่รับราชการต่อเนื่องถึงสามแผ่นดิน (รัชกาลที่ห้า รัชกาลที่หกและรัชกาลที่เจ็ด) และเป็นเสนาบดีต่อเนื่องสองรัชกาล (รัชกาลที่ห้าและรัชกาลที่หก) และไม่ได้มีปัญหาในความสัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้จะเข้าสู่รัชกาลใหม่แล้ว

“ผู้อยู่ในเหตุการณ์” ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าพระยายมราชกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่าพอจะแยกออกกล่าวได้เป็น 3 สถาน คือ 1. ทรงชุบเลี้ยงเป็นฉันสหายและฉันข้าในราชสกุล 2. ทรงยกย่องฉันปราชญ์และอาจารย์ และ 3. ทรงใช้สอยและยกย่องฉันเสนาบดีและมุขมนตรี

คราวที่แล้ว ได้ยกข้อความที่ “ผู้อยู่ในเหตุการณ์” อธิบายขยายความข้อ 1 ไปแล้ว คราวนี้จะยกข้อความที่แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ถึง ข้อ 2 และ ข้อ 3

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ฉันปราชญ์และอาจารย์อย่างไร ?

“ผู้อยู่ในเหตุการณ์” เล่าว่า “ในฉันครู นอกจากที่ทรงยกย่องอยู่บ่อยๆโดยทรงเรียกเจ้าพระยายมราชว่า ‘ครู’ แล้ว ควรจะสังเกตด้วยว่าในประกาศพระราชทานตราวัลภาภรณ์ (2462 )....ยังมีความอีกข้อหนึ่งซึ่งว่า ‘เจ้าพระยายมราชได้รับราชการถวายพระอักษรเมื่อประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ’ อีกแห่งหนึ่งได้ทรงไว้ในคำนำพระราชนิพนธ์ ‘ตามใจท่าน’ ซึ่งโปรดเกล้าฯให้พิมพ์ช่วยงานทำบุญอายุ 60 ปีของเจ้าพระยายมราช เมื่อ พ.ศ. 2465 นั้นว่า ‘…..เรื่องลคอนนี้……ได้สำเร็จเป็นภาษาไทย ขึ้นได้โดยอาศัยความพยายามของผู้เป็นศิษย์ของเจ้าพระยายมราชถึง 2 คน คือ ข้าพเจ้าผู้แปลและประพันธ์เรื่องคนหนึ่ง กับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ผู้ทรงช่วยประทานความเห็นในทางแปลศัพท์ และโวหารของ เชกส์เปียร์อีกองค์หนึ่ง

ส่วนข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณที่เจ้าพระยายมราชได้มีมาแก่ข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้ายังเยาว์วัยและอยู่ในประเทศห่างไกลจากเมืองบิดร’ ในสร้อยชื่อซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ พระราชทานด้วยพระองค์เอง เมื่อตอนพระราชทานสุพรรณบัฏนั้น ก็มีอยู่วรรคหนึ่งซึ่งว่า ‘ฉัฏฐมราชคุรุฐานะวโรปการี’

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสอง)

ถ่ายที่กรุงลอนดอน เมื่อครั้งยังเป็นขุนวิจิตรวรสาส์น ร่วมกับเจ้านาย 4 พระองค์และท่านผู้หญิง (พ.ศ. 2432)

พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงประจิณกิติบดี), นายเจริญ ณ ป้อมเพ็ชร์, พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์), พระยาชนินทร์ภักดี, ตลับ วิจิตรวรสาส์น (ท่านผู้หญิงยมราช), ขุนวิจิตรวารสาส์น (เจ้าพระยายมราช), พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช), พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ)

ในส่วนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องเจ้าพระยายมราชในฐานะปราชญ์ “ผู้อยู่ในเหตุการณ์” เล่าว่า

“ได้ทรงยกย่องสืบมาแต่ข้อที่เจ้าพระยายมราชเคยเป็นเปรียญเมื่อครั้งอุปสมบท จึงได้โปรดเกล้าฯให้แต่งขาวเป็นอุบาสกเฝ้าทูลลออกธุลีพระบาทในเวลาเสด็จลงบูชาพระในงานวิสาขะบูชาที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้เป็นราชบัณฑิตถวายน้ำที่พระที่นั่งอัฐทิศในเบื้องต้นแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งสองคราว นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพัดเปรียญจำลองยกย่องความรู้ในทางธรรมวินัยอีกด้วย

ในหมวดนี้บางทีจะควรกล่าวถึงการที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาแรกนาระหว่างที่เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเป็นพระราชวงศ์ จะมาทรงทำหน้าที่พระยาแรกนาไม่ได้นั้น เพราะได้ทราบจากตัวท่านเองว่า ผู้เป็นพระยาแรกนานั้น ต้องรักษาศีลและทำการบูชาพระโดยละเอียดลออเป็นพิเศษ ได้โปรดเกล้าฯให้ (เจ้าพระยายมราช/ผู้เขียน) ทำหน้าที่นี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ถึง พ.ศ. 2464”

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสอง)

และก่อนที่ผู้เขียนจะนำข้อความของ “ผู้อยู่ในเหตุการณ์” ที่ขยายความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯกับเจ้าพระยายมราชในฐานะพระมหากษัตริย์กับ “เสนาบดีและมุขมนตรี” ผู้เขียนขอเฉลยเกี่ยวกับ “ผู้อยู่ในเหตุการณ์” เสียก่อน

“ผู้อยู่ในเหตุการณ์” คือพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าธานีนิวัต เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ผู้ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (มีศักดิ์เป็น “น้อง” รัชกาลที่ห้า อายุอ่อนกว่า 10 ปี ดังนั้น “หม่อมเจ้าธานี” จึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของรัชกาลที่หก โดยอายุอ่อนกว่ารัชกาลที่หก 4 ปี)

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสอง)

                                                        พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนรอตติงดีน และโรงเรียนรักบี้ ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (B.A.) สาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) จากวิทยาลัยเมอร์ตันคอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อปี พ.ศ. 2451 หลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ 7 ปี

เมื่อสด็จกลับมา ทรงรับราชการในปีถัดมา ทรงดำรงตำแหน่งปลัดกรมพลำภัง (กรมการปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน), ข้าหลวงมหาดไทย มณฑลกรุงเก่า, ราชเลขานุการในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ช่วยราชเลขานุการ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465

พระนิพนธ์ที่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงกล่าวถึงปัญหาในช่วงเปลี่ยนรัชกาล และความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าพระยายมราชตีพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2482

(แหล่งอ้างอิง: สำเนาพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กับประวัติเจ้าพระยายมราช, พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2482)