posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็นกรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

25 เมษายน 2565

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

**************************

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็นกรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็นกรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามกรณี “อู นุ-เนวิน 2501” ผู้เขียนขออธิบายไว้อีกครั้งหนึ่งว่า กรณี “อู นุ-เนวิน 2501” คือ การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการของ อู นุ หัวหน้าพรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ของพม่าในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2501  ได้กลายเป็นเงื่อนไขให้ เนวิน เสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ”

อัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกไกลชาวอเมริกัน ได้รายงานสถานการณ์ทางการเมืองใน พ.ศ. 2501 ไว้ในข้อเขียนเรื่อง “ข้อตกลงต่อรองจากกองทัพในการเมืองพม่า: เป็นแบบแผนสำหรับเอเชียหรือไม่ ?” (Burma’s New Deal from the Army---Is It a Pattern for Asia ?) ที่เขียนขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 (9 เดือนหลังเหตุการณ์ “อู นุ-เน วิน 2501” ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็นกรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็นกรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็นกรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

ในรายงานของราเวนโฮลท์ พรรครัฐบาลของพม่า อันได้แก่ พรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ได้เกิดความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์และอำนาจจนทำให้พรรคแตก ผู้นำในพรรคออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ แยกออกเป็นสองพรรค นั่นคือ พรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์บริสุทธิ์ (The Clean  Anti-Fascist People's Freedom League) กับ พรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์มั่นคง (The Stable Anti-Fascist People's Freedom League)

อู นุได้ร่วมกับผู้นำพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์อีกคนหนึ่งที่ชื่อติน (Thakin Tin) ตั้งพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์บริสุทธิ์ (ต่อไปจะใช้ว่า Clean AFPL) ขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2501 โดยสามารถดึงสมาชิกข้างมากจากพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์มาอยู่ข้างตนได้  ซึ่งพรรค Clean AFPL นี้เป็นที่รู้จักในนามของ “ก๊วน นุ-ติน” (the Nu-Tin faction)

ส่วนพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์มั่นคง (ต่อไปจะใช้ว่า Stable AFPL) มีแกนนำสองคนเช่นกัน นั่นคือ จ่อ เญง (Kyaw Nyein) และบะซเว (Ba Swe/ เขาเคยเป็นนายกรัฐมนตรีพม่าอยู่ไม่กี่เดือน เพราะอู นุ ไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์บริสุทธิ์ในขณะนั้นจะชนะเลือกตั้ง แต่อู นุ ขอใช้เวลาไปในการปรับปรุงพรรค ผู้เขียนเคยกล่าวถึงบะซเวไว้ในตอนก่อนๆแล้ว)  และพรรค Stable AFPL ก็เป็นที่รู้จักกันในฐานะ “ก๊วนของ ซเว-เญง” (the Swe-Nyein faction)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็นกรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็นกรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

การสังเกตการณ์ของราเวนโฮลท์ พบว่า เมื่อพรรคแตก อะไรที่เคยประนีประนอมหลับตาข้างหนึ่งให้กันและกันก็เปลี่ยนมาเป็นเปิดโปงและโจมตีผู้นำของแต่ละฝ่ายอย่างไม่บันยะบันยัง แม้ว่าก่อนจะแตกออกเป็นสองพรรค  อู นุได้ตั้ง “สูตรสำเร็จเจ็ดประการ” เพื่อให้การแตกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่ราบรื่นและไม่ต้องขัดแย้งเป็นศัตรูกันมากนัก  โดยมีสัญญาสุภาพบุรุษกันและกันว่า “พูดน้อยลง ก็เกลียดกันน้อยลง” (“Fewer the words, lesser the enmity”)  แต่ก็ไม่เป็นผล

ก่อนที่พรรคจะแตก คนในพรรคต่างไม่พูดเรื่องไม่ดีของแกนนำ เพราะต้องการรักษาเอกภาพของพรรคเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่พอพรรคแตก การโกงการคอร์รัปชั่นและความชั่วร้ายต่างๆที่ผ่านมาเป็นทศวรรษ (พรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์เป็นรัฐบาลมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2491 จนถึง พ.ศ. 2501) ก็ถูกเปิดกันออกมา ยิ่งเปิดกันและกัน ก็ยิ่งขัดแย้งกันรุนแรงมากขึ้นระหว่าง Clean AFPL และ Stable AFPL  จนทำให้ผู้คนทั่วไปพม่าวิตกว่าความขัดแย้งแตกแยกขัดแย้งจะขยายตัวรุนแรงลุกลามไปทั่วทั้งประเทศ ถึงขนาดที่บรรดาพระสงฆ์มหาเถระชั้นผู้ใหญ่ (the Sayadaws) ได้ขอให้นักการเมืองคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมาลงนามทำสัญญาไม่ใช้ความรุนแรง (Nonviolence pact) โดยให้ต่อสู้กันภายในขอบเขตวิถีทางประชาธิปไตย

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการที่พรรครัฐบาลแตกออกเป็นสองพรรค คือ ก๊วน Stable AFPL สามารถคุมกลไกสภาส่วนใหญ่ไว้ได้ ในขณะที่ Clean AFPL ยังสามารถควบคุมกลไกฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต่อไปได้ สาเหตุที่ Clean AFPL ยังรักษาเสียงข้างมากในสภาไว้ได้ เพราะอู นุไปดึงเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน(พรรคฝ่ายค้านก่อนหน้าที่พรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์จะแตก) มาได้ นั่นคือ พรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติ (the National United Front) โดยเฉพาะปีกซ้ายของพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติ  ส่งผลให้พรรค Clean AFPL ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้แบบปริ่มน้ำ โดยพรรค Clean AFPL หรือ“ก๊วน นุ-ติน”   มีเสียงของตัวเองอยู่แล้ว 51 เสียง และได้เพิ่ม 44 เสียงจากพรรคแนวร่วมสหภาพฯ และจากสมาชิกสภาที่มาจากชนกลุ่มน้อยต่างๆอีก 32 เสียง รวมแล้ว 127 เสียง ในขณะที่พรรค Stable AFPL ซึ่งได้กลายเป็นฝ่ายค้านและรวมกับพรรคอื่นๆมีเสียงอยู่ถึง 119 เสียง จะเห็นได้ว่า รัฐบาลพรรค Clean AFPL และพรรคที่เข้าร่วมใหม่ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้เพียง 8 เสียงเท่านั้น

แต่ราคาที่ อู นุ ต้องจ่ายไปในการรักษาเสียงข้างมากในสภาเพื่อเป็นรัฐบาลต่อไปได้นั่นคือ การยอมอ่อนข้อและประนีประนอมยอมรับพวกกบฎในพื้นที่ชนบท  สาเหตุที่ อู นุต้องประนีประนอมกับพวกกบฏ เพราะเขาต้องขอเสียงจากนักการเมืองปีกซ้ายของพรรคแนวร่วมสหภาพฯ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพวกคอมมิวนิสต์ พวกทหารกบฏคอมมิวนิสต์ที่ต่อสู้กับกองทัพของรัฐบาลในลักษณะของกองโจรได้เรียกร้องต่อ อู นุ ให้ยอมรับกองกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแห่งชาติของพม่า

ภายใต้สถานการณ์กดดันดังกล่าว อู นุพยายามวางตัวในฐานะ “ผู้สร้างสันติภาพ” (peacemaker) เขาได้จัดให้มีการประชุมระดับชาติขึ้น โดยให้ทุกพรรคทุกกล่มรวมทั้งพวกคอมมิวนิสต์มาร่วมลงนามใน “ข้อตกลงประชาธิปไตย” (Charter of Democracy)  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะนำไปสู่การยอมรับกลุ่มการเมืองที่ผิดกฎหมายให้เป็นกลุ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลอู นุ ได้ประกาศคำสั่ง “ยกเว้นความรับผิด” ต่ออาชญากรรมความผิดทั้งหลายที่เกิดตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองและความไม่สงบในปี พ.ศ. 2491 จนถึงปัจจุบัน แม้ว่ารัฐบาลจะยื่นข้อเสนอดังกล่าว แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์กลับยังคงเล่นตัวไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวง่ายๆ เพราะฝ่ายคอมมิวนิสต์มีทีท่าที่จะยังคงควบคุมพื้นที่ในชนบทอยู่จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีนักการเมืองฝ่ายตนเพิ่มขึ้นและมีบทบาทมากขึ้นในสภา โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองปีกซ้ายในพรรคแนวร่วมสหภาพฯที่เป็นพันธมิตรกับพวกตน

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว อู นุจึงตกอยู่ในปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก นั่นคือ เรียกประชุมสภาเมื่อผ่านร่างกฎหมายงบประมาณแผ่นดิน โดยต้องยอมให้นักการเมืองฝ่ายซ้ายของพรรคแนวร่วมสหภาพฯที่เป็นพันธมิตรกับพวกคอมมิวนิสต์เข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งการผ่านร่างงบประมาณก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ขณะเดียวกันเขาก็ไม่พอใจที่พวกคอมมิวนิสต์เล่นตัว และพยายามผลักดันให้นักการเมืองพวกตนเข้าร่วมรัฐบาล

ในที่สุด อู นุ ตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2501 โดยสภาจะยุบภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภา  ขณะเดียวกัน อู นุ ผ่านร่างงบประมาณแผ่นดินโดยใช้วิธีประกาศกฎหมายกฤษฎีกาโดยฝ่ายบริหาร  และตามรัฐธรรมนูญพม่า พ.ศ. 2490 มาตรา 84 กำหนดไว้ว่า จะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใน 60 วันหลังการยุบสภา นั่นคือ จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501

จากที่กล่าวไปในตอนต้นว่า ราเวนโฮลท์ได้เขียนรายงานดังกล่าวนี้ขี้นเก้าเดือนหลังจากเหตุการณ์ “อู นุ-เน วิน 2501” ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 เมื่อเขาวิเคราะห์ย้อนหลัง เขาเห็นว่า สถานการณ์ในช่วงระหว่างการยุบสภาของอู นุ จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะต้องเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนั้น การเมืองพม่าตกอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง โดยเขาใช้คำว่า “constitutional government endangered” หรือ “รัฐบาลหรือการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญตกอยู่ในภาวะอันตราย” 

โดยเขาอธิบายว่า ภาวะดังกล่าวเป็นภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีกและทวีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา และใกล้ภาวะของการทำลายตัวเองที่เป็นไปได้ว่าจะส่งผลให้การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญของพม่าถึงจุดล่มสลายได้ หลังจากที่ประคับประคองกันมาเป็นเวลาได้หนึ่งทศวรรษ

แต่การเมืองพม่าในปลายปี พ.ศ. 2501 ก็มิได้ลงเอยเช่นนั้น  เพราะการเกิดกรณี “อู นุ-เน วิน 2501” ทำให้การเมืองพม่ายังรักษารัฐธรรมนูญไว้ได้ แต่ต้องแลกกับการเกิดปรากฎการณ์ทางการเมืองที่นักวิชาการเรียกว่า “constitutional coup” หรือ “การทำรัฐประหารโดยยังคงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญอยู่” !

ในตอนต่อไป เราจะมาดูว่า ราเวนโฮลท์รายงานกรณี “อู นุ-เน วิน 2501” ไว้อย่างไร ?

(แหล่งอ้างอิง: https://www.ilo.org/dyn/natlex/docs/ELECTRONIC/79573/85699/F1436085708/MMR79573.pdf  ;              The AUFS (American Universities Field Staff) Reports, Southeast Asia Series Volume VII (1959))