posttoday

เลิกเกณฑ์ทหารกันดีไหม

09 เมษายน 2565

โดย...โคทม อารียา

***************************

มนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา วจนา วรรลยางกูร ลูกสาวของวัฒน์โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ว่า “คุณพ่อวัฒน์จากไปแล้วราวช่วงสามทุ่มครึ่งตามเวลาในฝรั่งเศส หลังจากป่วยหนัก” หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 วัฒน์ที่ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องลี้ภัยเข้าป่า ช่วงนั้นเขามีโอกาสเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายหลายเรื่อง ในช่วงปลายของชีวิต วัฒน์ต้องลี้ภัยอีกครั้งหนึ่งจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 คราวนี้เขาไปอยู่ฝรั่งเศสและให้สัมภาษณ์ว่า เขามีความสุขที่ได้มาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยและมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ภาพยนตร์มนต์รักทรานซิสเตอร์เป็นเรื่องราวชีวิตของหนุ่มบ้านนอกชื่อแผน เขาชอบร้องเพลงตาม งานวัดอยู่เสมอ จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาคือการไปเป็นทหารเกณฑ์ และไปประกวดร้องเพลง ได้รองอันดับหนึ่ง จึงตัดสินใจหนีทหารเข้ากรุง ไปฝึกเป็นนักร้องอย่างที่ฝันใฝ่ ภาพยนตร์เรื่องนี้มี เพลงประกอบ 14 เพลง เพลงหนึ่งที่ตรงหับหัวข้อบทความนี้ชื่อ “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ซึ่งมีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า “ฝึกอีกแล้วหรือเรา ตั้งแต่เช้ายันค่ำ ครูเขาสั่งให้ทำ จำต้องก้มหน้าทน เรา เป็นเพียงทหารเกณฑ์คนจน ใช่ลูกนายพันใช่หลานนายพล โถเราแค่พลทหาร เกียรติต้อยต่ำ หน้าดำก็เพราะทำงาน”

ช่วงเวลานี้ คือระหว่างวันที่ 1 ถึง 20 เมษายน เป็นช่วงเวลาการเกณฑ์ทหาร มีคนที่ผมรู้จักสองคนที่ได้รับหมายเกณฑ์ คนหนึ่งตัวเล็ก เรียนดุริยางคศิลป์อยู่ดี ๆ อยากออกมาหาประสบการณ์เอง แต่รู้ตัวว่าจะต้องถูกเกณฑ์ทหาร จึงเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ ด้วยการอดข้าวอดปลา ที่ผอมอยู่แล้วเลยยิ่งผอมใหญ่ แต่เป็นไปตามแผน คือรอบอกไม่ถึงเกณฑ์เลยรอดตัวไป ได้ข่าวว่าตอนนี้กินอาหารเต็มอิ่มแล้ว อีกคนหนึ่งตัดสินใจสมัครใจเป็นทหาร ถามว่าทำไม คำตอบคือไม่อยากเสี่ยง เพราะถ้าจับได้ใบแดงจะต้องเป็นทหาร 2 ปี แต่ในกรณีของเขาที่เพิ่งจบปริญญาตรีจะได้รับลดหย่อนให้เหลือ 1 ปี คิดไปคิดมา เขาสมัครใจเป็นทหารเพื่อให้พ้นออกมาภายใน  6 เดือนจะดีกว่า

จากตัวเลขของปีที่แล้ว ทหารกองประจำการที่ต้องการในปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 97,558 คน แบ่งเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 783 คน กองบัญชาการกองทัพไทย 1,121 คน กองทัพบก 70,808 คน กองทัพเรือ 14,804 คน กองทัพอากาศ 10,042 คน คิดเป็นราว ๆ 22% ของประชากรชายไทยอายุ 21 ปี จึงขอเดาว่าผู้ได้รับหมายเกณฑ์ให้มาจับใบดำใบแดงมีประมาณ 3 เท่าของจำนวนทหารกองประจำการที่ต้องการ ตีเสียว่าประมาณ 3 แสนคน แม้จะหักคนที่สมัครใจเป็นทหารซึ่งมีโควตาอยู่ 1 หมื่นคนออกไป ก็ไม่เปลี่ยนอะไรอย่างมีนัยสำคัญนัก หมายความว่าสลากทุก 4 ใบที่ให้จับ จะมีเพียงใบเดียวที่เป็นใบแดง อีก 3 ใบเป็นใบดำ ถ้าไม่อยากเป็นทหาร เสี่ยงจับใบแดงใบดำน่าจะมีโอกาสดีพอสมควร ถ้าอยากเป็นทหารให้สมัครเลย จะได้เป็นทหารที่มีคุณภาพด้วยใจสมัครอย่างไรละครับ

กองทัพบอกว่า การที่มีทางเลือกให้มีการสมัคร และมีแรงจูงใจด้วยการลดเวลาการประจำการลงนั้น เท่ากับเป็นการเตรียมการไปสู่การยกเลิกการเกณฑ์ทหารในอนาคต ปัจจุบันมีโควตาที่จะรับผู้ที่สมัครใจเพียง 1 ใน 10 ของจำนวนทหารกองประจำการที่ต้องการ ถ้าเพิ่มโควตาขึ้นจะติดขัดในด้านใด ถ้าติดขัดเพราะไม่ค่อยมีคนสมัครใจ จะแก้ไขอย่างไร

ปัจจุบันมีผู้คนที่จบการศึกษาในระบบมากขึ้น ประกอบกับการสู้รบสมัยใหม่ต้องใช้ความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะจัดอบรมทหารเกณฑ์รวมทั้งทหารที่สมัครใจอย่างไรดี จึงจะสอดคล้องกับวุฒิภาวะและความต้องการของพวกเขา และกับความต้องการด้านคุณภาพของกองทัพ อนึ่ง กองทัพบกจัดสรรโควตาให้ทหารกองประจำการในการสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบกสูงถึงร้อยละ 80 ถ้าผู้จบการศึกษาจากโรงเรียนนายสิบมีโอกาสเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพการทหาร ไม่ไปติดคอขวดในการเลื่อนชั้นเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร จะเป็นแรงจูงใจที่เพียงพอไหม อย่างไรก็ดี ถ้าการฝึกทหารเกณฑ์มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ทั้งแก่ทหารเกณฑ์และกองทัพ โดยระยะเวลาการฝึกลดลง เช่น เหลือ 6 -12 เดือน ถ้าทหารกองประจำการมีอะไรทำที่ไม่ใช่แค่การฝึกความอดทน หรือรับใช้นายพันนายพล คือเปลี่ยนมาทำอะไรที่เจ้าตัวเข้าใจและเห็นผลดี ความเต็มใจควรจะมีมากขึ้นเป็นธรรดา

มีเพื่อนนายทหารคนหนึ่งบอกผมว่า ที่โรงเรียนนายร้อย เขาสอนให้รู้จักวิธีฆ่านั่นเอง ที่หน้าหน่วยทหารที่ขับผ่าน บางแห่งเขียนคำขวัญว่า “รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด” ฟังว่าเป็นคำขวัญของทหารม้าที่แต่เดิมใช้คำขวัญว่า “รบจนสุดใจขาดดิ้น” อาจจะดีขึ้นเพราะไม่พูดถึงตัวตาย แต่ก็เน้นความรุนแรงต่อศัตรูอยู่ดี จะทำอย่างไรถ้าใครคนหนึ่งไม่ต้องการรับคำสั่งให้ไปฆ่า ให้เข้าสู้รบในสงคราม การปฏิเสธเช่นนี้อาจมีพื้นฐานมาจากความเชื่อทางปรัชญาหรือทางศาสนา ซึ่งทุกศาสนาสั่งห้ามการฆ่าคนอยู่แล้ว บุคคลเช่นนี้ปฏิเสธการเป็นทหารด้วยมโนสำนึก หรือเป็น “ผู้คัดค้านด้วยมโนธรรม” (conscientious objector)

ประวัติศาสตร์บันทึกว่า ในปี ค.ศ. 295 Maximilianus ถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพโรมันแต่เขาปฏิเสธด้วยมโนสำนึกทางศาสนาคริสต์ของเขา ผลคือการถูกประหาร แต่ต่อมาศาสนจักรก็ยกย่องเขาเป็นนักบุญมักซีมีเลียน ในยุโรปหลังการปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่ มีนิกายโปรเตสแตนต์อย่างน้อยสองนิกายที่เน้นบทบัญญัติทางศาสนาเรื่องการไม่ฆ่าฟัน คือนิกายเมนโนไนต์และนิกายเควกเกอร์ ในปี ค.ศ.1575 กษัตริย์ฮอลแลนด์ทรงอนุญาตให้ชาวเมนโนไนต์ไม่รับราชการทหารแลกกับการจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง ในประเทศอังกฤษปี ค.ศ.1757 มีการออกกฎหมายที่ให้การยอมรับผู้คัดค้านด้วยมโนธรรมเป็นครั้งแรก โดยยกเว้นชาวเควกเกอร์จากการถูกเกณฑ์ทหาร

โบริส วีอัง (2463-2502) พหูสูตชาวฝรั่งเศสผู้เป็นทั้งนักเขียน กวี นักดนตรี นักร้อง นักแปล นักวิจารณ์ นักแสดง นักประดิษฐ์ และวิศวกร เขาประพันธ์เพลงเพลงหนึ่งชื่อ “ผู้หนีทหาร” ซึ่งได้นำเสนอสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 พฤษภาคม 2497 ตรงกับวันที่กองทัพฝรั่งเศสปราชัยแก่กองทัพเวียดนามเหนือที่เดียนเบียนฟูพอดี เนื้อเพลงเป็นจดหมายที่เขียนถึงประธานาธิบดีมีความตอนหนึ่งว่า “ผมจะไปตามทางต่าง ๆ ขอทานเพื่อปะทังชีวิต ไปตามถนนของฝรั่งเศส จากแคว้นเบรอตานญ์ถึงแคว้นโปรวังซ์ และผมจะบอกผู้คนว่า อย่าเชื่อฟัง อย่ายอมทำ อย่าไปทำสงคราม อย่ายอมไป ถ้าต้องสละเลือด ขอท่านประธานาธิบดีจงสละเลือดของท่าน ท่านเองเป็นสาวกที่ดี ถ้าท่านจะสั่งให้จับผม ช่วยแจ้งเตือนตำรวจด้วยว่า ผมไม่มีอาวุธ และให้พวกเขายิงได้เลย”

เมื่อสหรัฐอเมริกาทำสงครามในเวียดนาม โมฮัมหมัด อาลีกล่าวปฏิเสธการเข้าร่วมสงครามในปี 2509 ด้วยวาทะว่า “ผมไม่มีอะไรต้องทะเลาะด้วยกับพวกเวียดกง ... พวกเขาไม่เคยเรียกผมว่าไอ้มืด” ในกรณีของชาวเมนโนไนต์ที่คัดค้านด้วยมโนธรรมต่อการเป็นทหารแม้จะไม่อยู่ในกองกำลังสู้รบก็ตาม แต่พวกเขาไม่คัดค้านการรับใช้ประเทศในทางเลือกที่สันติ เช่น การทำงานในโรงพยาบาล งานเกษตร งานป่าไม้ การสร้างถนน ฯลฯ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม พวกเขาก็เข้ารับหน้าที่ในทางเลือกต่าง ๆ ดังกล่าว สำหรับประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารแต่ยอมรับหลักการการคัดค้านด้วยมโนธรรม จะมีการตรวจสอบแรงจูงใจของผู้คัดค้าน และถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องมโนธรรม ผู้คัดค้านต้องเข้าทำงานที่เป็นทางเลือกที่สันติในระยะเวลาที่ยาวกว่าเวลาการเป็นทหารเกณฑ์ปกติ   

ในปัจจุบัน มีการยอมรับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ประชาชนสามารถปฏิเสธการรับราชการทหารได้ด้วยมโนธรรมสำนึก ฌอน แม็กไบรด กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสรับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพในปี 2517 ความตอนหนึ่งว่า “ในบรรดาสิทธิมีบัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น น่าจะมีข้อบัญญัติเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งคือ “สิทธิที่จะปฏิเสธการฆ่า” แม้องค์การสหประชาชาติและสภายุโรปจะส่งเสริมการคัดค้านด้วยมโนธรรมในฐานะที่เป็นสิทธิมนุษยชน แต่เรื่องนี้ยังไม่มีการบัญญัติเป็นกฎหมายในประเทศส่วนใหญ่ ในบรรดา 100 ประเทศโดยประมาณที่มีการเกณฑ์ทหาร มี 30 ประเทศเท่านั้นที่มีบทบัญญัติเป็นกฎหมายในเรื่องนี้ ได้แก่ 25 ประเทศในยุโรป (ยกเว้นกรีก ไซปรัส ตุรกี ฟินแลนด์ และรัสเซีย) อีก  5 ประเทศอยู่นอกยุโรป

คราวนี้ลองพิจารณาประเทศที่มีการเกณฑ์และไม่มีการเกณฑ์ทหารดูบ้าง ระบบการขึ้นบัญชีประชาชนในชาติเป็นทหารนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคการปฏิวัติฝรั่งเศส เพื่อให้สาธารณรัฐมีกำลังป้องกันตัวเองจากการรุกรานของราชอาณาจักรอื่น ๆ ของยุโรป พระราชบัญญัติที่ออกเมื่อ 5 กันยายน ค.ศ.1798 มีมาตราหนึ่งกล่าวว่า “ชายฝรั่งเศสทุกคนเป็นทหารและมีหน้าที่ในการปกป้องประเทศชาติ” ในสหรัฐอเมริกา การเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา แต่กฎหมายปี ค.ศ.1863 นั้นอนุญาตให้มีการจ้างบุคคลอื่นเข้ารับราชการทหารแทนได้ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สาธารณชน

จากข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ค้นได้ทางอินเทอร์เน็ต มี 45 ประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเพียงบางประเทศที่พอรู้จักกัน และไม่ใช่ประเทศยุโรปดังนี้ 1.อาร์เจนตินา 2. ออสเตรเลีย 3.บังกลาเทศ 4. ภูฏาน 5. เมียนมา 6. จีน 7. อินเดีย 8. ญี่ปุ่น 9.มาเลเซีย 10. นิวซีแลนด์ 11. กาตาร์ 12. ซาอุดีอาระเบีย 13. แอฟริกาใต้ 14. สหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีทหารเลย ก็มีทหาร แต่เป็นทหารอาชีพที่มีสวัสดิการดีมากจนหลาย ๆ คนเลือกที่จะมาเป็นทหารโดยสมัครใจ

ผู้อ่านอาจมีคำถามว่า มีประเทศใดบ้างไหมที่ไม่มีทหารเลย มีแต่ตำรวจสำหรับรักษาความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย คำตอบจากอินเตอร์เน็ตอีกนั่นแหละบอกว่ามีอยู่ 21 ประเทศในโลกที่ไม่มีกองกำลังทหารประจำการ ประเทศเหล่านี้มักมีขนาดเล็ก มีประวัติศาสตร์และเหตุผลที่แตกต่างกันไปในการเลือกที่จะไม่มีกองทัพประจำการ ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีข้อตกลงที่มีมายาวนานกับประเทศที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก่อน ว่าจะช่วยป้องกันประเทศยามถูกรุกราน ขอยกตัวย่างบางประเทศที่ไม่ใช่เป็นเกาะขนาดเล็ก หรือดินแดนขนาดจิ๋ว เช่น โมนาโค หรือ อันดอรา มาเล่าสู่กันฟังโดยสังเขป

1.คอสตาริกา มาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญของคอสตาริกาห้ามมีทหารประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 โดยมีกองทัพสาธารณะที่มีขีดความสามารถทางทหารที่จำกัด ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างอเมริกา และมหาวิทยาลัยเพื่อสันติภาพแห่งองค์การสหประชาชาติมีสำนักงานใหญ่ในคอสตาริกา

2.ไอซ์แลนด์ ไม่มีกองทัพมาตั้งแต่ ค.ศ. 1869 แต่เป็นสมาชิกของนาโต้ สหรัฐฯให้การป้องกันประเทศไอซ์แลนด์ แต่ไม่มีฐานทัพถาวรในประเทศ และไอซ์แลนด์ยังมีข้อตกลงเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารและความมั่นคงอื่น ๆ กับนอร์เวย์และเดนมาร์ก

3.ปานามา ยกเลิกกองทัพในปี ค.ศ. 1990 ซึ่งได้รับการยืนยันโดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1994 กองกำลังสาธารณะของปานามารวมถึงตำรวจแห่งชาติ และกองบริการชายแดนแห่งชาติ

4.นครวาติกัน มีกองกำลังสำหรับการรักษาความสงบภายในนคร มีหน้าที่หลักในการปกป้องพระสันตะปาปา ไม่มีสนธิสัญญาป้องกันกับอิตาลี เพราะวาติกันต้องการรักษาความเป็นกลาง แต่กองทัพอิตาลีปกป้องนครวาติกันอย่างไม่เป็นทางการ

แน่นอนว่าประเทศไทยยังคงมีกองทัพอยู่ต่อไป แต่ข้อเสนอให้พิจารณาคือ จะปรับปรุงระบบการเกณฑ์ทหารได้ไหม เช่น จะเพิ่มจำนวนโควตาสำหรับผู้สมัครใจเป็นทหาร (ไม่จับใบดำใบแดง) ได้อย่างไร ระหว่างที่มีการเกณฑ์ทหาร จะยอมรับหลักการและการปฏิบัติเกี่ยวกับผู้คัดค้านด้วยมโนธรรมได้ไหม ในที่สุดการเกณฑ์จะหมดไปเหลือเพียงผู้สมัครใจเป็นทหารได้อย่างไร ในระหว่างการประจำการ การฝึกทหารควรจะลดการฝึกวินัยและความอดทนและเพิ่มความรู้และทักษะการทหารได้ไหม ควรมีการฝึกจิตใจให้มีความรัก ความกรุณาที่มาเสริมการปฏิบัติหน้าที่ทางการทหารด้วยหรือไม่

ในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลพยายามผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร” ซึ่งมีสาระสำคัญว่า กองทัพจะต้องยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารและหันมาใช้ระบบสมัครใจ รวมถึงยกระดับชีวิตของทหารเกณฑ์ด้วยการให้สวัสดิการและความก้าวหน้าในชีวิต ควบคู่ไปกับการปกป้องคุ้มครองทหารจากการฝึกที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์รวมถึงการหาประโยชน์ส่วนตนของนายทหารระดับสูง ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เสนอเมื่อปี 2563 แต่ถูกตีตกไปเนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการเงิน ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายกันต์ วัฒนสุภางค์ นายอธิเดช หิรัญญการ อดีตทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) และคณะ ยื่นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการรับราชการทหาร 5 ฉบับ แก่นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

ถึงฤดูกาลเกณฑ์ทหาร เราจึงควรถกแถลงกันในเรื่องนี้ รวมทั้งหาทางขับเคลื่อนกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของกองทัพและผู้ที่จะเป็นทหารโดยสมัครใจหรือโดยบังคับของใบแดงต่อไปในอนาคต