posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสาม): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

28 มีนาคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************************

หลังพม่าได้เอกราชในปี พ.ศ.2491  มี อู นุ เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ที่กำหนดไว้ให้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 180 วันหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพราะนายกรัฐมนตรีชั่วคราวจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 180 วัน

แต่จากสถานการณ์ความจำเป็นที่เกิดสงครามกลางเมืองในพม่าขึ้นหลังจาก อู นุ จัดตั้งรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ตามกำหนด และจำเป็นจะต้องรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกและภาวะฉุกเฉิน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2495 อู นุ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และพรรคการเมืองของเขาก็ยังได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ทำให้ อู นุได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองจนครบวาระสี่ปีในปี พ.ศ. 2499 และหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2499 แม้ว่าพรรคการเมืองของเขา นั่นคือกลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์”  จะได้รับชัยชนะอีกครั้ง แต่คู่ต่อสู้ทางการเมืองก็ได้คะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นั่นคือ พรรแนวร่วมสหภาพแห่งชาติ (National United Front) ที่ได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 37  ของคะแนนเสียงของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง  พรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาตินี้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและขวาในพม่าเพื่อแข่งขันกับกลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์”  ที่มี อู นุ เป็นผู้นำ

ปรากฎการณ์การท้าทายจากพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติทำให้ อู นุ ตัดสินใจไม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพรรคของตนจะชนะ เพราะเขาต้องการจะให้เวลาทุ่มเทไปกับการปฏิรูปและการจัดองค์กรของพรรคให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อสามารถรับมือกับคู่แข่งทางการเมือง

นับได้ว่า อู นุ เป็นนายกรัฐมนตรีพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2491-2499 เป็นเวลา 8 ปี และในช่วงเวลา 8 ปีนี้ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้สถานการณ์พิเศษอยู่ 4 ปี

ต่อจาก อู นุ รองหัวหน้ากลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” คือ บะซเว ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก อู นุ ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2499

สาเหตุหนึ่งที่ บะซเว ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากที่เขาจะเป็นรองหัวหน้า กลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์”  แล้ว บะซเวยังเป็นนักการเมืองหัวเอียงซ้ายที่เคยก่อตั้งพรรคสังคมนิยมพม่ามาก่อน ซึ่งน่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของ กลุ่ม  “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” มีส่วนผสมของฝ่ายซ้ายเพื่อดึงคะแนนเสียงของประชาชนที่นิยมฝ่ายซ้ายให้เลือก กลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” 

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสาม): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ บะซเว เป็นข่าวใหญ่ถึงขนาดนิตยสารไทม์ (Time magazine) ของสหรัฐอเมริกาฉบับวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ต้องเขียนข่าวการขี้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพม่าของเขาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “วันของเสือ”  (The Day of the Tiger) เพราะบะเซวมีฉายาที่คนพม่าเรียกขานกันว่า “เสือใหญ่” หรือ “บิ๊กเสือ” ('Big Tiger' หรือในภาษาพม่าอ่านว่า Kyah gyi Ba Swe เสือใหญ่บะซเว) อันเป็นชื่อที่เขาได้มาในสมัยที่เป็นผู้นำนักศึกษาในทศวรรษ พ.ศ. 2473

ที่มาของฉายา “เสือใหญ่”  มาจากสองเหตุผล เหตุผลแรกคือ บะซเว เกิดวันจันทร์ ซึ่งตามคติพม่าถือว่าวันจันทร์เป็น “วันของเสือ”  (the day of the tiger) ส่วนเหตุผลประการที่สองคือลักษณะนิสัยและอารมณ์ของเขาที่เป็นคนออกเปรี้ยงปร้าง

บะซเวเป็นเพื่อนร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับ อู นุ สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยร่างในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2473 โดยทั้งสองต่างเป็นผู้นำนักศึกษาต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ต่อมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นเคลื่อนพลเข้าพม่า บะซเว ก็นำขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นด้วยจนเขาถูกญี่ปุ่นจับเข้าคุก  แต่ถูกปล่อยตัวออกมา หลังจากที่ อู นุได้เข้าเจรจาขอร้องต่อญี่ปุ่น  หลังจากนั้น บะซเวได้ก่อตั้งกลุ่มสังคมนิยมในพม่าขึ้น และเขาได้กลายเป็นผู้หนึ่งที่มีอำนาจทางการเมืองมากที่สุดในพม่า

บะซเวเป็นคนสูบบุหรี่จัดแบบมวนต่อมวน ชอบเล่นบิลเลียดเป็นชีวิตจิตใจ เป็นคนที่วางตัวมีระยะห่างกับผู้คน ถ้าเทียบกับ อู นุ  บะซเวจะเป็นคนที่แกร่งกว่าและไม่ค่อยจะน่ารักนัก  เขาหลีกเลี่ยงที่จะคบค้ากับชาวตะวันตก  เขามักจะกล่าวว่า “การเป็นมาร์กซิสต์กับการเป็นคอมมิวนิสต์นั้นแตกต่างกันอย่างยิ่ง”  และสำหรับตัวเขา เขาประกาศว่าเขาไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่เป็นมาร์กซิสต์

เมื่อเขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เขาประกาศชัดเจนว่า เขาไม่ได้มีแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรมากนัก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภายในประเทศหรือนโยบายความเป็นกลางในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ อู นุ ได้วางไว้ บะซเวกล่าวว่า การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งเดือนมิถุนายน พ.ศ.2499 ไม่ได้เปลี่ยนนโยบาย แต่เปลี่ยนแค่บุคลิกภาพของผู้เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

บะซเวเป็นายกรัฐมนตรีได้ไม่ถึงเก้าเดือนดี อู นุก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.2500 บะซเวจึงเป็นแค่นายกรัฐมนตรีขัดตาทัพเพื่อให้ อู นุ ได้มีเวลาปรับปรุงพรรคให้เข้มแข็งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ปี พ.ศ. 2500 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปของพม่าก็กำลังเริ่มฟื้นตัว อีกทั้งนโยบายนิรโทษกรรม (นโยบาย “arms for democracy”)  ที่ อู นุ ประกาศออกมาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มกบฏต่างๆ (ยกเว้นกลุ่มกะเหรี่ยง)  แต่พรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” กลับมีปัญหาแตกแยกกันเสียเอง

พรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” แตกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกนำโดย ทะขิ่น นุ และ ติน  อีกกลุ่มมีผู้นำคือ บะซเว และ จ่อ เญง ส่งผลให้เสียงในสภามีปัญหา ถ้าเปรียบกับการแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐในการเมืองไทยขณะนี้ก็น่าจะได้  ที่ผู้กองธรรมมนัส พรหมเผ่ายกพลบางส่วนของพรรคพลังประชารัฐออกไปตั้งพรรคใหม่

ความแตกแยกในพรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ส่งผลให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลอาจจะไม่พอที่จะปลอดภัยจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หนทางหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อไปได้ ก็คือ ก็ต้องหาเสียงสนับสนุนมาแทนเสียงที่แตกออกไป

ในเมื่อพรรคเสียงแตก และมีกลุ่มในพรรคที่จะไม่ยกมือสนับสนุนหัวหน้าพรรค (อู นุ) ที่กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่  ก็แปลว่า เสียงส่วนหนึ่งในพรรครัฐบาลกำลังทำตัวเป็นฝ่ายค้านเสียเอง ดังนั้น อู นุ จึงหันไปติดต่อประสานกับพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติที่เป็นฝ่ายค้านเพื่อหวังเสียงสนับสนุน

การต่อรองกับพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติก็ไม่มีอะไรอื่นนอกจากจะปล่อยกลุ่มที่แตกแถวไป และรับพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติมาร่วมรัฐบาลนั่นเอง

แต่นอกจากจะให้เข้ามาร่วมรัฐบาลแล้ว  ก็ยังมีวิธีอื่น นั่นคือ “แจกกล้วยให้งูเห่า”  โดยไม่จำเป็นต้องให้งูเห่าในพรรคฝ่ายค้านมาเข้าร่วมรัฐบาล  ซึ่งกรณีแบบนี้ใช้กันอยู่ในบางประเทศ

การที่นายกรัฐมนตรี (อู นุ) ไปหาเสียงสนับสนุนจากพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติที่เป็นพรรคคู่แข่งให้ยกมือสนับสนุนเขาให้รอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ   โดยยอมให้เข้าร่วมรัฐบาลแทนกลุ่มในพรรคของตัวเองที่แตกแถว น่าจะเป็นเรื่องดี  เพราะพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติเป็นพรรคที่เกิดจากการรวมตัวกันของพรรคฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ถ้า อู นุได้พรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติมาร่วมรัฐบาลก็น่าจะเสริมความเข้มแข็งมั่นคงให้กับรัฐบาล เพราะก่อนหน้านี้ อู นุเองก็กังวลกับผลการเลือกตั้งที่เสียงของพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติกำลังมาแรง

แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างแรงคือ ทหารสายเหยี่ยวในกองทัพพม่ากลับไม่รู้สึกดีด้วย

เพราะในพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติที่จะมาร่วมรัฐบาลนั้นมีกลุ่มคอมมิวนิสต์แฝงเข้ามาในกลุ่มฝ่ายซ้ายด้วย  แปลว่า พวกทหารสายเหยี่ยวพอรับฝ่ายซ้ายที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ได้ แต่รับพวกคอมมิวนิสต์ที่แฝงเข้ามาในฝ่ายซ้ายไม่ได้ อย่างที่ยอมรับบะซเว หนึ่งในแกนนำพรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ที่ประกาศตัวเป็นมาร์กซิสต์ แต่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ และกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่แฝงอยู่ในพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาตินี้คือเครือข่ายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศพม่า (Communist Party of Burma/ CPB)  ที่โยงใยสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคคอมมิวนิสต์อินเดียที่สนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์ยึดแนวทางการต่อสู้โดยใช้กำลังความรุนแรง  ดังนั้น พวกทหารสายเหยี่ยวจึงถือว่า การปล่อยให้พรรคแนวร่วมสหภาพแห่งพม่าที่มีคนของพรรคคอมมิวนิสต์แฝงเข้ามาร่วมรัฐบาลเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสาม): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสาม): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสาม): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสาม): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

จากท่าทีของทหารกลุ่มนี้ ทำให้ อู นุ ไม่สามารถรับการสนับสนุนจากพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติได้ แล้ว อู นุ ทำอย่างไรเมื่อเสียงรัฐบาลในสภาไม่พอที่จะเป็นรัฐบาลและตัวเขาก็หมดความชอบธรรมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป  ?

(แหล่งอ้างอิง: ลลิตา หาญวงษ์, กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (6)  https://www.matichon.co.th/article/news_1556211  ; Gehan Wijeyewardene,  Review of “Martin Smith Burma: Insurgency and the Politics of Ethnicity London and New Jersey”  ใน   NEWSLETTER,  the Department of Anthropology, Research School of Pacific Studies, The Australian National University;

https://www.nectec.or.th/thai-yunnan/17.html  )