posttoday

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โจทย์ท้าทายของทุกภาคส่วน

23 มีนาคม 2565

โดย...ธันยพร กริชติทายาวุธ

*******************

ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่ Net Zero Emission Greenhouse Gas 2050 Carbon Neutrality โดยใช้ BCG (Bio Circular Green Economy)  และให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ซี่งหมายความว่า การผลิตสินค้าขึ้นอย่างหนึ่ง ต้องอธิบายให้ได้ว่ามาจากไหน ตั้งแต่การออกแบบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงการจัดการหลังการใช้งาน ที่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 10 ให้ความสำคัญกับสังคมคาร์บอนต่ำ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องไปต่อ เพราะทำแล้วตอบหลายโจทย์ ทั้งการลดใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดปัญหามลพิษ ซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่เรามีอยู่

รายงานของมูลนิธิ Ellen MacArthur ในปี 2021 พบว่า ถ้าสามารถนำแนวเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมหลัก 4 ประเภท คือ เหล็ก อลูมีเนียม พลาสติก ซีเมนส์ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 40% โครงการต่างๆ ของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนในช่วงแรก ทั้งเรื่องการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร ขยะอาหาร และวัสดุก่อสร้าง จึงสอดคล้องกับแนวทางของกระแสโลก

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โจทย์ท้าทายของทุกภาคส่วน

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. ร่วมกับ เครือข่ายการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SCP Network) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน และสร้างโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในรูปแบบต่างๆ ได้ร่วมมือกันสร้างความรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมุ่งสู่ถนนธุรกิจที่เป็น Net Zero Green House Gas Emission หรือ Carbon Neutrality โดย “เศรษฐกิจหมุนเวียน” จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ไปถึงจุดนั้นได้ หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

กรอบนโยบายนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Innovation Ecosystem: vision 2030)

ภาครัฐให้ความสำคัญกับ BCG model เป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ยังคงติดข้อจำกัดในเชิงระบบโครงสร้างและปัจจัยเอื้อสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักในการสร้างอุปสงค์และตลาดสินค้า Circular Economy  ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสอดรับกัน

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โจทย์ท้าทายของทุกภาคส่วน

จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบ Best practice กับกรณีศึกษาต่างประเทศ จะเห็นว่าแต่ละประเทศมี CE journey หรือจุดเริ่ม การดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียน เครื่องมือ และภาคส่วนในการขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่มีคล้ายกัน ก็คือ โครงสร้างปัจจัยเอื้อการจัดการขยะที่เข้มแข็ง ส่งผลให้ง่ายต่อการพัฒนาเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม ความตระหนักความรู้ความเข้าใจของทุกภาคส่วน โครงสร้างระบบเก็บวัสดุกลับคืน รวมทั้งกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะค่อนข้างให้ความสำคัญเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่ระดับนโยบายระดับชาติ แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีอุปสรรคเชิงระบบอยู่ อาทิ ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่เท่ากัน ส่งผลกระทบต่อการบูรณาการการทำงานขององคาพยพ Feed stock loop ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของผู้ประกอบการในปัจจุบัน

จากประเด็นดังกล่าว สอวช. จึงได้พัฒนา กรอบนโยบายนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน CE Innovation Ecosystem: vision 2030 เพื่อออกแบบระบบนิเวศนวัตกรรมสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมของประเทศไทย ซึ่งจะเห็นกลไกการทำงานของโครงสร้างปัจจัยเอื้อต่อภาคส่วนต่างๆ และกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ออกแบบเป้าหมายการพัฒนาระบบนิเวศ และเป้าหมายยุทธศาสตร์เชิงปริมาณ รวมทั้ง guideline บทบาทหน้าที่แต่ละ action agenda ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรดำเนินการอย่างไรจึงจะสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมฯ ได้ตามที่ออกแบบ เพื่อให้มีทิศทางและสร้างความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งองคาพยพ และเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในระยะยาว (long-term)

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โจทย์ท้าทายของทุกภาคส่วน

ผู้ประกอบการธุรกิจไทยปรับตัว รับ BCG Model

ภาคธุรกิจในไทยส่วนใหญ่มุ่งเน้นการยกระดับความยั่งยืนบนรากฐานเดิมของตัวเอง ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้ และอาศัย ‘การออกแบบ’ เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาที่จะช่วยให้สามารถคิดนอกกรอบ หรือหลุดจากกับดักทางความคิดแบบเดิม เห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนการมองปัญหาให้เป็นคำถาม ที่นำไปสู่คำตอบใหม่ได้เสมอ และเมื่อนำเอาหลักการออกแบบมาประยุกต์ใช้กับวิธีคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเกิดคำว่า Circular Design ที่ชวนให้ธุรกิจ คิดใหม่ว่าจะสามารถทำให้ทรัพยากรที่นำมาใช้ให้เกิดเป็นวงจรคุณค่าในระบบได้ยาวนานขึ้น โดยไม่เกิดเป็นของเสียได้อย่างไร

ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของธุรกิจ  ETRAN จักรยานยนต์ไฟฟ้าบนโมเดลธุรกิจแบบให้เช่า โดยผู้ออกแบบและผู้ผลิตสัญชาติไทย ที่เล็งเห็นโอกาสจากการเติบโตของกลุ่ม Rider ที่เพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะออกแบบจักรยานยนต์ให้ตอบโจทย์ผู้ขับขี่ และโมเดลการบริการแบบให้เช่า ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถประกอบอาชีพได้ โดยไม่ซื้อจักรยานยนต์ใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูง เกิดเป็น Sharing Economy ที่จักรยานยนต์ 1 คัน ถูกนำไปใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพฃ

ในอนาคต Etran ตั้งใจจะต่อยอดธุรกิจด้วย Refurbish Model โดยนำอะไหล่เหลือใช้และอะไหล่ใช้แล้วจากรถจักรยานยนต์ ของ Etran เอง หรือรับซื้อจากแบรนด์อื่นมาพัฒนา เพื่อนำมาประกอบเป็นจักรยานยนตร์คันใหม่ โดยมองว่าบทบาทของ Etran ในวงการอุตสาหกรรม คือลมใต้ปีกที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจรายอื่นๆ ได้เริ่มเข้าสู่เส้นทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยความเชื่อว่า ในภาพรวมของตลาดจักรยานยนต์หรือรถยนต์นั้น ต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะการเปลี่ยนแปลงขั้นตอน การผลิต แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นต้นทุนที่สูงมาก ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่ได้เห็นโอกาสหรือผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม Etran จึงต้องการเข้าไปสนับสนุน ด้วยการนำทรัพยากรเหลือใช้จากเพื่อนธุรกิจอื่นๆในระบบอุตสาหกรรม กลับมาหมุนเวียนสร้างโอกาสธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้ธุรกิจอื่นๆ มองเห็นความเป็นไปได้ และอยาก ร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โจทย์ท้าทายของทุกภาคส่วน

ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็ก หรือผู้ประกอบการ SME ที่อาจมีความคิดว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการใช้นโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรและทำให้ผลกำไรลดลง หากมอง เห็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกำลังทำให้ระบบนิเวศทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเชื่อใจในแบรนด์ที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงมากขึ้น เทคโนโลยีการสื่อสารที่เชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าด้วยกันจนเป็นสังคมไร้พรมแดน  เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพสูงขึ้น ย่อมพบคำตอบว่าการทำธุรกิจวิถีเดิมไม่อาจนำพาให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้อีกต่อไป

การปรับตัวเข้าสู่บริบทใหม่เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของทุกภาคส่วนในวันนี้