posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสอง): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

21 มีนาคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**********************

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่า พ.ศ. 2490 ได้กำหนดให้มีรัฐบาลชั่วคราว และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวนี้มาจากการเลือกของเสียงข้างมากของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ อู นุ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลชั่วคราวมีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 180 วัน  เพราะรัฐบาลชั่วคราวจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 180 วันหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

แต่ อู นุ จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาถึง 4 ปี กว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เหตุผลเป็นเพราะว่าหลังจากที่ อู นุ จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในพม่า  ทำให้ต้องมีการประกาศกฎอัยการศึกและภาวะฉุกเฉิน และสภาพบ้านเมืองอยู่ในวิกฤตที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฎต่างสลับกันยึดครองพื้นที่ต่างๆในพม่ส

อย่างที่ผู้เขียนเคยกล่าวไปครั้งหนึ่งว่า เป็นเรื่องน่าแปลกที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา อันได้แก่ พม่าลาว กัมพูชา เวียดนาม ต่างเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมืองหลังประกาศเอกราชได้ไม่นาน หากค้นคำว่า civil war ในประเทศต่างๆเหล่านี้ จะพบว่า เกิดสงครามกลางเมืองในลาวระหว่าง พ.ศ. 2502-2518, ในกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2510-2518,  และในเวียดนาม ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกภายใต้ชื่อ “สงครามเวียดนาม” ระหว่าง พ.ศ. 2498-2518

แต่ถ้าค้นคำว่า civil war ในประเทศไทย จะไม่พบ  จะมีแค่การตั้งคำถามว่าเงื่อนไขวิกฤตการเมืองในบางช่วงจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองหรือไม่ ?

ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นคือ เพราะอะไรประเทศไทยเป็นประเทศเดียวท่ามกลาง เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า ที่ไม่เกิดสงครามกลางเมือง ?

กลับมาที่ อู นุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า  ที่จริง อู นุ จะครองอำนาจต่อไปโดยไม่จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก็ย่อมได้  แต่เขาก็ตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2494-2495 และผลการเลือกตั้งก็คือ กลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ที่ อู นุ เป็นผู้นำได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยได้ที่นั่งเสียงข้างมากในสภาเป็นจำนวน 199 จากทั้งหมด 250 ที่นั่ง ส่งผลให้ อู นุ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง และรัฐสภาได้ลงคะแนนเลือก บะอู ประธานศาลฎีกาให้เป็นประธานาธิบดีต่อจากเจ้าส่วยแต้ก หลังจากที่เจ้าส่วยแต้กดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพม่าคนแรกมาเป็นเวลา 4 ปี 72 วัน

อู นุเป็นนายกรัฐมนตรีพม่าสมัยที่สองตั้งแต่ พ.ศ. 2495 และอีกสี่ปีต่อมา พม่าได้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นอีกครั้งในต้นปี พ.ศ. 2499 และกลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ก็ยังชนะการเลือกตั้งได้ที่นั่งข้างมาในสภา

แต่ในการเลือกตั้งเดือนเมษายน พ.ศ. 2499 มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจคือ กลุ่มการเมืองที่เกิดจากการรวมตัวของพรรคการเมืองต่างๆภายใต้ชื่อ แนวร่วมสหภาพแห่งชาติ (National United Front) ได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 37ของคะแนนเสียงของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติประกอบไปด้วยพรรคการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา โดยพรรคฝ่ายซ้ายได้แก่  พรรคแนวร่วมสันติภาพประชาชน พรรคแรงงานและชาวนาพม่า พรรคเอกภาพแห่งชาติพม่า  ส่วนพรรคฝ่ายขวาได้แก่ พรรคยุติธรรม พรรครัฐมอญใหม่และกลุ่มอื่นๆ

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสอง): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

ปรากฎการณ์การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกันระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในการเมืองพม่าถือเป็นปรากฎการณ์ที่แตกต่างไปจากปรากฎการณ์การเมืองของลาว ที่ในการเลือกตั้งวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 พรรคลาวรักชาติซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายของลาวได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในสภา อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของอิทธิพลทางการเมืองของพรรคแนวร่วมคอมมิวนิสต์ลาวในระบบรัฐสภา ส่งผลให้กลุ่มการเมืองฝ่ายขวารับไม่ได้  อีกทั้งยังส่งผลให้สหรัฐอเมริกาต้องทำการเข้าแทรกแซงโดยการสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาขึ้นเพื่อทัดทานพรรคแนวร่วมคอมมิวนิสต์ที่กำลังเติบโตทางการเมืองภายใต้นโยบายปรองดองและเป็นกลางของเจ้าสุวรรณภูมาและพรรคชาติก้าวหน้า  แต่ของพม่า ซ้ายและขวากลับรวมตัวกันได้ !!

แม้ว่า พรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติจะได้คะแนนเสียงร้อยละ 37 แต่ภายใต้ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า “ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดหรือ “first-past-the-post” ทำให้พรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติไม่ได้ที่นั่งในสภาเป็นจำนวนร้อยละ 37 ของที่นั่งทั้งหมด  แม้ว่าคะแนนนิยมของประชาชนที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะมีถึงร้อยละ 37 ก็ตาม

ระบบเลือกตั้งที่ว่านี้ก็คือ ระบบเลือกตั้งที่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนมีเสียงหนึ่งเสียงเพื่อเลือก ส.ส. หนึ่งคนในเขตเลือกตั้งของตน โดยประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะกาเลือกผู้สมัครที่ตนต้องการเลือกในบัตรเลือกตั้ง และผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในเขตก็จะเป็นผู้ชนะ และ"ชนะแบบกินรวบ" (winner takes all)  ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆที่ได้คะแนนเสียงลดหลั่นลงมา ก็ถือว่าแพ้ไป และคะแนนเสียงเหล่านั้นก็ไม่มีผลต่อเก้าอี้ในสภา  หรือที่เราเรียกว่า “คะแนนทิ้งน้ำ”

แต่ระบบการเลือกตั้งทั่วไปที่ไทยเราใช้ในปี พ.ศ. 2562 ก็เป็นระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว และกาได้ช่องเดียว เป็นการกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกเสียงเลือกตั้งได้เสียงเดียว แต่คะแนนไม่ทิ้งน้ำโดยเสียงเดียวนั้นมีผลในการเลือกทั้งผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ พรรค และผู้ที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน   นั่นคือ โฟร์ อิน วัน (Four in One)  คือ จรดปากกกา กากบาท ช่องเดียว ได้ทั้ง 1.ส.ส. เขต  2.ส.ส. บัญชีรายชื่อ 3.พรรค และ 4.ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค และเป็นระบบเลือกตั้งที่ “คะแนนไม่ทิ้งน้ำ”  เพราะคะแนนเสียงที่ผู้สมัครได้ แต่ไม่ชนะในเขตเลือกตั้ง จะถูกนำมานับและคิดคำนวณสำหรับจำนวนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคจะได้เป็น ส.ส.

ระบบเลือกตั้ง โฟร์ อิน วัน มีข้อเสียคือ ถ้าประชาชนเกิดชอบพรรค แต่ไม่ชอบผู้ที่พรรคส่งมาลงสมัครในเขต ก็จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ความชอบพรรค กับ ความไม่ชอบผู้สมัครคนนั้น ว่าอันไหนมันมีน้ำหนักมากกว่ากัน  ถ้าคิดว่า รักพรรคมากจนสามารถกล้ำกลืนเลือกผู้สมัครที่ไม่ชอบได้ เพื่อให้พรรคได้มีเสียงในสภา ก็ว่าไป หรือถ้าทนผู้สมัครคนนั้นไม่ได้จริงๆ จนต้องจำใจไปเลือกผู้สมัครของพรรคอื่น หรือกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน พรรคที่รักของตนก็จะอดได้คะแนนของเราไปด้วย

ซึ่งความ จำเป็นและจำใจต้องชั่งน้ำหนักนี้ ไม่ได้มีแต่เฉพาะการชั่งระหว่าง การรังเกียจผู้สมัครเขต กับ ความชื่นชอบพรรค แต่รวมถึงการชั่งน้ำหนักกับผู้สมัครบัญชีรายชื่อโดยรวม และตัวคนที่พรรคส่งชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

อาการจำใจกากากบาทเลือกภายใต้ระบบ โฟร์ อิน วัน นี้น่าจะเกิดขึ้นกับประชาชนชาวไทยไม่น้อยในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562   หลายคนชอบลุงตู่ แต่ไม่ชอบพรรคที่เสนอชื่อลุงตู่เลย ในที่สุดคนจำนวนหนึ่งก็ต้องกล้ำกลืนเลือกผู้สมัครเพื่อให้คะแนนตกไปถึงท้องลุงตู่ด้วย แต่มีหลายๆคนที่ได้อานิสงส์จากคะแนนนิยมลุงตู่เข้าไปนั่งเป็น ส.ส. ในสภา

หรือบางคนชอบลุงตู่มาก แต่ก็เป็นแฟนประชาธิปัตย์มายาวนาน พอคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคตอนนั้นประกาศชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรี แฟนคลับจำนวนหนึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง  กากากบาทให้ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ (คะแนนส่งอานิสงส์ไปยังผู้สมัครบัญชีรายชื่อด้วย) เพื่อจะได้ให้คะแนนไปถึงลุงตู่ กับ การยังเหนียวแน่นกับประชาธิปัตย์ ผลปรากฏว่า ผู้สมัคร ส.ส.เขตพรรคประชาธิปัตย์หลายคนต้องสอบตกไป

ว่าไปแล้ว ระบบ โฟร์ อิน วัน เป็นระบบที่มีข้อเสียสำหรับคนที่ชอบปันใจ ยังไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนแน่วแน่ และก็อาจจะเป็นเพราะพรรคการเมืองบ้านเราก็ยังไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนแน่วแน่ด้วย

ดังนั้น ระบบ โฟร์ อิน วัน  จะดีสำหรับคนที่แน่วแน่กับพรรคการเมือง คือ ชอบพรรคจริง เพราะพรรคมีอุดมการณ์ มีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ  จะส่งใครลงสมัคร ส.ส.เขต หรือ ระบบบัญชีรายชื่อ หรือเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก็ยังมีการทำงานที่แน่วแน่ตามอุดมการณ์  คนที่แน่วแน่ก็จะแฮปปี้กับระบบ โฟร์ อิน วัน

กลับมาที่ผลการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าในปี พ.ศ. 2499  แม้ว่าระบบเลือกตั้งของพม่าตอนนั้นจะทำให้พรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติไม่ได้สัดส่วนเก้าอี้ในสภาตามผลคะแนนเลือกตั้งที่ถูกทิ้งน้ำไป  โดยในจำนวนที่นั่งทั้งสิ้นในสภาพม่ามี 250 ที่นั่ง

กลุ่ม  “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์”  ได้ 199 ที่นั่ง ส่วนพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติได้ 47 ที่นั่ง  แต่ก็สร้างความวิตกให้กับ อู นุและกลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์”  ส่งผลให้ อู นุ ตัดสินใจที่จะไม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้ใช้เวลาเต็มที่ไปกับการจัดการปฏิรูปกลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์”  ให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อรับมือการเติบโตของพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติที่มีทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาผนึกกำลังกัน ส่งผลให้รองหัวหน้ากลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” และเป็นผู้นำ ในขณะนั้น คือ บะซเว  ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก อู นุ ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2499

สาเหตุหนึ่งที่ บะซเว ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากที่เขาจะเป็นรองหัวหน้า กลุ่ม  “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์”  แล้ว บะซเวยังเป็นนักการเมืองหัวเอียงซ้ายที่เคยก่อตั้งพรรคสังคมนิยมพม่ามาก่อน ซึ่งน่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของ กลุ่ม  “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” มีส่วนผสมของฝ่ายซ้ายเพื่อดึงคะแนนเสียงของประชาชนที่นิยมฝ่ายซ้ายให้เลือก กลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสอง): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสอง): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ บะซเว เป็นข่าวใหญ่ถึงขนาดนิตยสารไทม์ (Time magazine) ของสหรัฐอเมริกาฉบับวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ต้องเขียนข่าวการขี้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพม่าของเขาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “วันของเสือ”  (The Day of the Tiger) เพราะบะเซวมีฉายาที่คนพม่าเรียกขานกันว่า “เสือใหญ่” หรือ “บิ๊กเสือ” ('Big Tiger' หรือในภาษาพม่าอ่านว่า Kyah gyi Ba Swe เสือใหญ่บะซเว) อันเป็นชื่อที่เขาได้มาในสมัยที่เป็นผู้นำนักศึกษาในทศวรรษ พ.ศ. 2473

ทำไมบะซเวถือได้ฉายาว่า “บิ๊กเสือ”  ?  และการปฏิรูปกลุ่ม  “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” เพื่อรับมือการรวมตัวกันของกลุ่มซ้ายและขวาภายใต้พรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติประสบความสำเร็จหรือไม่ ? และบะซเวเป็นนายกรัฐมนตรีนานเท่าไร ? โปรดติดตามต่อไป

(แหล่งอ้างอิง: https://www.ilo.org/dyn/natlex/docs/ELECTRONIC/79573/85699/F1436085708/MMR79573.pdf  ; https://en.wikipedia.org/wiki/U_Nu  ; https://en.wikipedia.org/wiki/Ba_Swe#Premiership  ; https://en.wikipedia.org/wiki/National_United_Front  ;  ลลิตา หาญวงษ์, ปฐมบทขบวนการฝ่ายซ้ายในพม่า, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_849982 )