posttoday

ละเมิดอธิปไตย?

11 มีนาคม 2565

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

***************

ถ้าคนไทยไปประท้วงหน้าสถานทูต  เรียกร้องให้ยุติการทำสงครามกับยูเครน  หรือเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน   เราเห็นเป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่ยังเป็นการประท้วงโดยสันติและไม่ทำผิดกฎหมาย 

ถ้าคนไทยประท้วงหน้าสถานทูตอเมริกัน  เรียกร้องให้ถอนทหารออกจากซีเรีย  อิรัก  อัฟกานิสถาน เราก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ  ตราบใดที่ผู้ประท้วงไม่ใช้ความรุนแรง

ถ้าเราเห็นคนไทยประท้วงสถานทูตจีนไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาฮ่องกง  ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ  ตราบใดที่ผู้ประท้วงไม่ใช้ความรุนแรง

หรือจะมีกลุ่มสิทธิมนุษยชนในไทยไปประท้วงหน้าสถานทูตพม่า  ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในการปราบปรามผู้ประท้วง  เราก็เห็นเป็นเรื่องปกติ  ตราบใดที่ผู้ประท้วงไม่ใช้ความรุนแรง

แต่เราเริ่มรู้สึกแปลก ๆ เมื่อเห็นคนไทยกลุ่มหนึ่งไปหน้าสถานทูตเยอรมนี  อังกฤษ สถานทูตฝรั่งในไทย หรือองค์การสหประชาชาติ   เรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติหรือสถานทูตเหล่านี้กดดันประเทศไทยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 

สถานทูตหรือองค์การระหว่างประเทศจะส่งเจ้าหน้าที่ออกมารับหนังสือของผู้ประท้วง จากนั้นผู้ประท้วงก็เดินทางกลับ  โดยทั่วไปสถานทูตต่างประเทศในไทยจะส่งเจ้าหน้าที่ระดับกลางมารับหนังสือ  และปฏิบัติเท่าเทียมกันกับทุกกลุ่มที่มายื่นหนังสือ

โดยทั่วไป  สถานทูตมักจะส่งเลขานุการตรี หรือผู้ช่วยเลขานุการมารับหนังสือจากผู้ประท้วงคนไทยทั่วไป  แต่ระยะหลังพบว่า  มีบางสถานทูตที่พอผู้ประท้วงเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลไทยมายื่นหนังสือ  สถานทูตนั้นกลับส่งเลขานุการเอก  หรือที่ปรึกษา ลงมารับหนังสือ  ซึ่งสื่อความหมายว่า  สถานทูตนั้นสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล  แบบนี้ถือว่าเสียมรรยาท

แต่วันนี้  คนไทยรู้สึกแปลก ๆ เมื่อเห็นนักการทูตต่างประเทศกว่า 20 คนจากสถานทูตสหรัฐและสถานทูตสหภาพยุโรปตะวันตก  หรือ อี.ยู. นัดกันไปที่กระทรวงต่างประเทศไทย  เข้าพบกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย  เพื่อถามจุดยืนของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน  ซ้ำยังมีการถ่ายรูปร่วมกันเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ ด้วย  พฤติกรรมดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นและเป็นที่เข้าใจได้ว่า  เป็นการกดดันรัฐบาลไทยให้ช่วยประณามรัสเซีย  หลังจากนั้น ทูตเหล่านี้เดินทางไปยังสถานทูตยูเครนเพื่อให้กำลังใจและประกาศยืนเคียงข้างประชาชนและประเทศยูเครน 

การที่บรรดาทูตสหภาพยุโรปเดินทางไปให้กำลังใจทูตยูเครน   ไม่มีใครว่าอะไร  แต่หลายคนสงสัยว่าการที่ทูตสหภาพยุโรปในไทยรวมหัวกันไปกดดันกระทรวงต่างประเทศไทยก่อนช่วงเวลาที่มีการลงมติของสหประชาชาติประณามรัสเซีย   

พฤติกรรมดังนี้  เหมาะสมหรือไม่อย่างไร   นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ทูตสหรัฐและสหภาพยุโรปแสดงพฤติกรรมอย่างเปิดเผยในการกดดันไทยให้ดำเนินนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐและสหภาพยุโรปในการประณามรัสเซีย  จะถือว่าเป็นการแทรกแซงการตัดสินใจของรัฐบาลไทยได้หรือไม่อย่างไร

รัฐบาลไทยโดยกระทรวงต่างประเทศผ่านเอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติได้แสดงท่าทีชัดเจนถึงท่าทีของประเทศไทยต่อวิกฤติยูเครน โดยสนับสนุนมติของสหประชาชาติ  การเคารพต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้ความรุนแรงต่อรัฐอื่น  ยึดมั่นในกติการะหว่างประเทศ การเจรจา เพื่อนำไปสู่สันติภาพ  ปฏิบัติตามพันธะสัญญาภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนอย่างถึงที่สุด

พฤติกรรมของทูตสหภาพยุโรปประจำไทยที่รวมหัวกันไปกดดันกระทรวงการต่างประเทศ  เป็นสิ่งที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อน  และตั้งข้อสงสัยว่า พฤติกรรมเช่นนี้  อย่างน้อยจะเข้าข่ายเป็น “การแทรกแซงกิจการภายในและอธิปไตยของประเทศไทย” ได้หรือไม่  

ประเทศอธิปไตยย่อมมีอิสระในการกำหนดนโยบายของตน  โดยเฉพาะนโยบายด้านการต่างประเทศ   ประเทศอาณานิคม หรือประเทศอารักขา ฯลฯ นั้นไม่มีอิสระดังกล่าว

แม้บางประเทศอาณานิคมได้รับอนุญาตให้มีอำนาจในการบริหารกิจการภายในประเทศ  แต่การกำหนดนโยบายต่างประเทศ  ต้องถามประเทศเจ้าอาณานิคมเสียก่อน  ซึ่งแสดงว่า  ประเทศนั้นไม่มีอธิปไตยที่สมบูรณ์

การกระทำของทูตสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปครั้งนี้ซึ่งแสดงออกอย่างไม่เกรงใจคนไทยเจ้าของประเทศ ถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในและอำนาจการตัดสินใจของประเทศไทยอย่างชัดเจน

ถ้าทูตสหภาพยุโรป  หรือทูตอเมริกัน อังกฤษ ฯลฯ แยกกันเข้าพบกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แบบเงียบ ๆ น่าจะสวยกว่า แต่สิ่งที่พวกนี้รวมหัวกระทำอย่างเปิดเผย  ไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้นอกจากต้องการแสดงพลังกดดันให้รัฐบาลไทยมีนโยบายและท่าทีที่สอดคล้องกับผลประโยชน์และความต้องการของฝรั่งอเมริกันและสหภาพยุโรป   เป็นการแทรกแซงการตัดสินใจของประเทศไทยโดยตรง

พฤติกรรมของฝรั่งกลุ่มนี้ในครั้งนี้  ทำให้นึกย้อนหลังไปถึงพฤติกรรมที่สถานทูตฝรั่งบางแห่งเคยส่งนักการทูตระดับกลางและล่างของตนไปให้กำลังใจแก่นักการเมืองฝ่ายค้าน    ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร  แต่คนไทยทั่วไปมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอย่างชัดเจน 

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน ปี 2562 เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา  สหราชอาณาจักร  ฝรั่งเศส เยอรมนี  แคนาดา เนเธอร์แลนด์  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ เบลเยียม  และสหภาพยุโรป เคยเดินทางไปสถานีตำรวจปทุมวัน โดยอ้างว่า เพื่อให้กำลังใจนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น ที่เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาของตำรวจ  โดยเข้าไปในห้องสอบสวนของพนักงานตำรวจด้วย  เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคมและสื่อมวลชนไทย

นักการทูตเหล่านี้อ้างว่า การกระทำของพวกเขาเป็นไปตามมาตรฐานหลักปฏิบัติทางการทูต   อุปทูตอเมริกันแถไปว่า  โดยปกติ สถานทูตสหรัฐมักเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีที่คนทั่วโลกให้ความสนใจว่าการพิจารณาคดีจะเป็นไปอย่างยุติธรรมและเคารพหลักนิติธรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีด้วยตนเอง 

ทูตบางคนที่มาอ้างว่ามาเพราะได้รับเชิญจากผู้ถูกกล่าวหา   แสดงว่า  ถ้าผู้ถูกกล่าวหาคนใดเชิญก็ต้องมาสถานทีตำรวจทุกครั้งอย่างนั้นหรือ  สรุปก็คือ แถไปอย่างนั้นเอง

กระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องเชิญเอกอัครราชทูตของประเทศที่ส่งตัวแทนไปรับทราบข้อกล่าวหามาพบหารือที่กระทรวงการต่างประเทศในเวลาต่อมา

โดยกระทรวงต่างประเทศได้ “ แสดงความผิดหวังและห่วงกังวลต่อการปรากฏตัวของผู้แทนสถานเอกอัคราชทูตต่างประเทศที่สถานีตำรวจปทุมวันดังกล่าว  เพราะอาจถูกตีความว่าเป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในบริบททางการเมืองไทย  การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกินเลยภารกิจทางการทูต  เข้าข่ายแทรกแซงกิจการภายในของไทย และละเมิดหลักปฏิบัติและพันธกรณีทางการทูต  ภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ.1961 มาตรา 41 และขอให้สถานเอกอัครราชทูตดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก “

นอกจากครั้งนี้  สถานทูตฝรั่งดังกล่าวยังส่งนักการทูตของตน (ส่วนใหญ่หน้าเดิมๆ) ยัง “สังเกตการณ์” ที่สถานีตำรวจแห่งนี้และแห่งอื่นอีกหลายครั้ง  ต่างเวลาและสถานที่  (เมื่อนักการเมืองฝ่ายค้านกลุ่มเดิม) ถูกแจ้งข้อหา)  โดยไม่คำนึงถึงมรรยาททางการทูตและความรู้สึกของคนไทยเลย

นักกฎหมายระหว่างประเทศและนักการทูตไทยท่านหนึ่งได้ให้ข้อสังเกตว่า  พฤติกรรมของทูตฝรั่งดังกล่าวถือว่า  นอกจากเป็น “การแทรกแซงกิจการภายในของไทย“ แล้ว ยังเป็น “ การละเมิดอธิปไตยทางศาลของไทย “ ด้วย  เพราะนักการทูตฝรั่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ในห้องสอบสวนของพนักงานตำรวจ  โดยอ้างว่า ได้รับเชิญจากตำรวจหรือผู้ถูกกล่าวหาให้เข้าไปเป็นพยาน  ซึ่งรับฟังไม่ได้  เพราะตนเองต้องรู้ขอบเขตการกระทำของตนว่าอยู่แค่ไหน  การสอบสวนของพนักงานตำรวจถือว่าเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติธรรม  ก่อนที่จะส่งอัยการ และส่งฟ้องศาลเพื่อตัดสินต่อไป  การเข้าไปนั่งฟังการสอบสวนของตำรวจถือว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยทางศาลของไทยอย่างชัดเจน

ร้ายยิ่งกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” เสียอีก  เพราะในกรณีนั้น  เมื่อคนสัญชาติของเขาหรือภายใต้อาณัติของเขา  เมื่อทำผิดก็ขึ้นศาลฝรั่ง  แต่ในกรณีนี้  คนไทยทำผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของไทย  แต่ฝรั่งเข้ามาแทรกแซงกดดันกระบวนการยุติธรรมไทย   และเข้าข้างนักการเมืองไทยที่พวกเขาหนุนอยู่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ฝรั่งซึ่งเป็นผู้แทนจากสถานทูตสหภาพยุโรป 23 ประเทศ นำโดยนายเดวิด เดลี เอกอัคราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ไปพบคณะกรรมาธิการการกฎหมาย  การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร  แสดงความไม่เห็นด้วยที่ไทยจะออกกฎหมายตรวจสอบที่มารายได้ของ เอ็น.จี.โอ.ในไทย และสถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน   ไทยจะออกกฎหมายอะไรเป็นอธิปไตยของไทยโดยตรง  การที่ฝรั่งรวมหัวกันทำอย่างนี้จะเป็นการตัดสินใจด้วยตนเองหรือโดยลูกยุของนักการเมืองไทยถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทยและละเมิดอธิปไตยของไทยโดยเปิดเผย 

การแทรกแซงกิจภายภายใน ถือว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต  แต่การละเมิดอธิปไตยของรัฐถือว่าเป็นพฤติกรรมทีร้ายแรงยิ่งกว่า

ประเทศไทยแม้เป็นประเทศเล็ก  แต่ไทยก็เป็น “รัฐอธิปไตย” ซึ่งมีเอกราช  อธิปไตย ของตนเอง  ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของประเทศหนึ่งใด 

เป็นที่น่าสังเกตว่า  การแทรกแซงกิจการภายในและการละเมิดอธิปไตยของชาติไทยโดยประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสามสี่ปีที่ผ่านมา  ในช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นบริหารประเทศ  ยิ่งไทยกับจีนใกล้ชิดกันมากเพียงใด  แรงกดดันจากสหรัฐและตะวันตกจะมีมากขึ้น  แต่ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับประชาชนไทยว่าจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างไร 

เราจะปล่อยให้ฝรั่งละเมิดอธิปไตยของชาติ และแทรกแซงกิจการภายในเช่นนี้ต่อไปอีกหรือไม่  ถ้าไม่  เราต้องแสดงออกให้ฝรั่งพวกนี้เห็นว่า  คนไทยคัดค้านกับพฤติกรรมที่ละเมิดอธิปไตยของชาติไทยและการแทรกแซงกิจการภายในของไทย  การกระทำของนักการทูตดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ  ซึ่งแสดงออกถึงจุดประสงค์ในการกดดันไทยในความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ  คนไทยต้องช่วยกันประณามพฤติกรรมที่น่ารังเกียจดังกล่าวที่ฝรั่งยังคิดว่าไทยเป็นลูกไล่ที่จะทำอะไรก็ได้ 

พอมีเรื่องรัสเซียบุกยูเครน  นักการทูตอเมริกันและสหภาพยุโรปรวมกลุ่มกันออกฤทธิ์กดดันไทยให้ออกนโยบายที่สอดคล้องกับตน  ยังไม่รู้ว่า ต่อไปทูตฝรั่งพวกนี้จะออกฤทธิ์อะไรอีก 

**************