posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

28 กุมภาพันธ์ 2565

.

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**********************

ตอนที่แล้วได้กล่าวในกรณีของผู้นำทางการเมืองของกัมพูชาที่ครองอำนาจทางการเมืองทั้งในแบบกระปริบกระปรอยและแบบยาวนาน คราวนี้จะกล่าวถึงกรณีของพม่า (เมียนมาร์) ผู้เขียนจะใช้คำว่า พม่า จนถึงเวลาที่พม่าเปลี่ยนชื่อเป็นเมียนมาร์

พม่าได้เอกราชเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษในวันที่ 4  มกราคม พ.ศ. 2491  เป็นสาธารณรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490  ที่เป็นสาธารณรัฐเพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ได้สิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428 (ตรงกับปีที่ 17 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) หลังจากพม่าพ่ายแพ้ในการทำสงครามครั้งที่สาม (ครั้งสุดท้าย) กับอังกฤษ

เมื่อพม่าได้ปกครองตัวเองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490  บุคคลที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีชุดแรก คือ บุคคลที่มาจากกลุ่ม “สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์”  ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ก่อตั้งโดยกลุ่มชาตินิยมในพม่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีนโยบายขับไล่ญี่ปุ่นและเรียกร้องเอกราชให้พม่า

ในการทำความเข้าใจผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของพม่าหลังได้เอกราช จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความเป็นมาของกลุ่ม “สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์”  ไม่ต่างจากในกรณีของลาว ที่ผู้นำทางการเมืองมาจากกลุ่ม “แนวร่วมลาวอิสระ” ที่ร่วมกันต่อสู้ขับไล่ฝรั่งเศสและเรียกร้องเอกราช แต่หลังจากได้เอกราชแล้ว ผู้นำทางการเมืองที่มีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน----เช่น ฝ่ายคอมมิวนิสต์ กับฝ่ายไม่ยอมรับคอมมิวนิสต์---ก็หันมาต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งกลุ่ม “สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์”  อาทิ ตะขิ่น ถั่น ทุน และ ออง ซาน  โดยตะขิ่น ถั่น ทุน มีอายุมากกว่าอองซาน 4 ปี

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

ตะขิ่น ถั่น ทุน จบการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครู และเริ่มทำงานสอนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมในกรุงร่างกุ้ง  จากอิทธิพลแนวคิดมาร์กซิสม์ ทำให้เขาเข้าร่วมกับกลุ่มชาตินิยมพม่าในขณะที่เขาอายุได้เพียง 25 ปีในปี พ.ศ. 2476 กลุ่มชาตินิยมดังกล่าวนี้มีชื่อว่า “สมาคมเราชาวพม่า” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2473

แม้ว่า จริงๆแล้ว แนวคิดมาร์กซิสม์กับชาตินิยมไปด้วยกันไม่ได้  แต่ในกรณีของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม จุดเริ่มต้นในการต่อสู้เพื่อปฏิวัติสังคมไปสู่สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องเริ่มที่การต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมก่อน และหลังจากเป็นอิสระแล้ว ค่อยปฏิวัติสังคมนิยมกันอีกที  ดังนั้น ในทางปฏิบัติ  นักเคลื่อนไหวแนวมาร์กซิสต์ในประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้นยากที่จะไม่เข้าร่วมกับกลุ่มชาตินิยม  แต่ก็มักจะมีปากมีเสียงกับพวกชาตินิยมอยู่เสมอ โดยหาว่าพวกชาตินิยมยังมีความคิดที่ล้าหลัง ไม่สามารถคิดได้อย่างสากลหรือ “ข้ามรัฐชาติ”

อย่างในกรณีของพม่า ตะขิ่น ถั่น ทุน ที่ฝักใฝ่มาร์กซิสม์ก็ต้องเข้าร่วมกับกลุ่มชาตินิยมพม่าอย่าง “สมาคมเราชาวพม่า”

ความเป็นมาของ “สมาคมเราชาวพม่า” เริ่มก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ. 2470  จากการที่ชาวพม่าเริ่มเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา องค์กรที่สำคัญในช่วงแรกนี้คือกลุ่ม “ยุวพุทธิกสมาคม” และ “สภาร่วมของสมาคมชาวพม่า” ส่งผลให้ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่นักศึกษาได้เพิ่มขึ้นจนมีการนัดหยุดเรียนเพื่อต่อต้านพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2463 ซึ่งเป็นการเริ่มใช้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องเอกราช และในปี พ.ศ. พ.ศ. 2470 ได้มีการก่อตั้งสหภาพนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งกลายเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา และจากสหภาพนักศึกษานี้เอง ได้พัฒนาไปเป็นขบวนการนักศึกษาแห่งพม่า และสมาคมเราชาวพม่าใน พ.ศ. 2473 ต่อมากลุ่มได้ขยายตัวเป็นศูนย์รวมของนักชาตินิยมที่เรียกตัวเองว่าทะขิ่น

                                                                                 

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

                                                                                                          

                                        

ตะขิ่น ถั่น ทุน มีบทบาทในการช่วยประสานให้กลุ่มสองกลุ่มเป็นพันธมิตรกัน นั่นคือ ประสาน “กลุ่มคนจนกรรมกร” ที่มี บามอร์ นักกฎหมายเป็นแกนนำเข้ากับกลุ่มสมาคมเราชาวพม่า โดยรวมกันเป็นกลุ่มที่มีชื่อว่า “แกนร่วมเสรีภาพ” (Freedom Bloc) ในปี พ.ศ. 2483 แต่ในปีเดียวกันนั้น ตะขิ่น ถั่น ทุนถูกอังกฤษจับขังคุกในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ

ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองพม่าในปี พ.ศ.2485 (ญี่ปุ่นยึดครองพม่าระหว่าง พ.ศ. 2485-2488) บามอร์ได้จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดของญี่ปุ่นขึ้น และตะขิ่น ถั่น ทุน ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดินและการเกษตรในขณะที่เขามีอายุได้ 31 ปี ในช่วงแรก เขาและกลุ่มทะขิ่นได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อขับไล่อังกฤษ แต่ต่อมาเมื่อรู้ว่าญี่ปุ่นไม่ได้จริงใจกับพม่า  ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2486  เขาได้กลายเป็นผู้นำขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น และต่อมากลุ่มทะขิ่นจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ขึ้นเพื่อร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้บทบาทของสมาคมเราชาวพม่าสิ้นสุดลง

เหตุผลหนึ่งที่กลุ่มดังกล่าวตั้งชื่อกลุ่มชัดเจนว่าต่อต้านฟาสซิสต์ เพราะต้องการต่อต้านญี่ปุ่น เพราะในสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นอยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนีและอิตาลี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดระบอบฟาสซิสม์ในยุโรป

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ตะขิ่น ถั่น ทุน สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ในพม่า โดยเขามีกลุ่มย่อยชื่อว่า “พรรคคอมมิวนิสต์ธงแดง”  และในต้นปี พ.ศ. 2489 ก่อนหน้าพม่าได้เอกราชหนึ่งปี  เขาได้ตัดสินใจออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า แต่ตัวเขาและคนส่วนใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์ยังคงให้ความร่วมมือกับ กลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” อยู่จนกระทั่งพม่าได้อิสรภาพและการปกครองระบอบสาธารณรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490

สำหรับ ออง ซาน เขาเป็นชาวพม่าที่มีบทบาทนำในการต่อต้านอังกฤษ จากการที่เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีบทบาทโดดเด่นในการต่อต้านอังกฤษมาตั้งแต่อังกฤษเข้ายึดครองพม่าเต็มตัวในปี พ.ศ. 2429 ในขณะที่อายุ 21 ปี เขาได้เป็นเลขาธิการสหภาพนักษามหาวิทยาลัยร่างกุ้ง และได้ร่วมกับ อูนุ ขณะนั้นอายุ 29 ปี ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพนักศึกษา นำการประท้วงของนักศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 cและหลังจากเขาจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2481 เขาได้เข้าทำงานในกลุ่ม “สมาคมเราชาวพม่า” และเป็นเลขาธิการสมาคมในปี พ.ศ. 2482

ในปี พ.ศ. 2483 ออง ซานพยายามหาการสนับสนุนจากต่างชาติในการประกาศอิสรภาพของพม่า เขาได้รับการติดต่อจากญี่ปุ่นในขณะที่เขาอยู่ที่จีน ญี่ปุ่นได้ช่วยออง ซานในการระดมกองกำลังทหารพม่าเพื่อช่วยญี่ปุ่นในการเข้ายึดพม่าจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2484  โดยกองกำลังทหารพม่าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นที่รู้จักกันในนามของ “กองทัพเอกราชพม่า”  หลังจากญี่ปุ่นยึดครองพม่าได้ ออง ซานได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของบามอร์เช่นเดียวกันกับตะขิ่น ถั่น ทุน โดยออง ซานได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ต่อมาก็เช่นเดียวกันกับตะขิ่น ถั่น ทุน  ออง ซานมีความไม่ไว้วางใจในความจริงใจของญี่ปุ่นที่จะให้พม่าเป็นเอกราช รวมทั้งความไม่พอใจที่ญี่ปุ่นปฏิบัติไม่ดีต่อทหารพม่า ดังนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 ออง ซานได้หันไปอยู่กับฝ่ายพันธมิตรในการต่อสู้กับญี่ปุ่นและมุ่งให้พม่าได้รับเอกราชในที่สุด

หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488  อังกฤษได้พยายามที่จะรวมกองกำลังทหารพม่าที่อยู่ภายใต้ ออง ซาน (ที่ตอนนั้นมียศ พลตรี) เข้ากับกองกำลังทหารปกติที่อยู่ภายใต้การนำของอังกฤษ แต่ออง ซานสามารถดึงบุคคลสำคัญในกองทัพให้เป็นแนวร่วมกับเขาได้ และได้ก่อตั้งกลุ่มที่มีชื่อว่า “องค์กรอาสาสมัครประชาชน” โดยหน้าฉากเป็นสมาคมทหารผ่านศึกที่ต้องการทำงานบริการสังคม แต่จริงๆเป็นกองกำลังพิเศษที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นกองกำลังแห่งชาติของพม่า และใช้เป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้เพื่อเอกราช

ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2487 จากการได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” (ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2486)  และขบวนการชาตินิยมใต้ดินที่นำโดย ตะขิ่น ถั่น ทุน และ ออง ซานได้ใช้สองกลุ่มนี้เป็นแนวร่วม และเขาได้ขึ้นเป็นรองประธานสภาบริหารของแนวร่วมดังกล่าวในปลายปี พ.ศ. 2489  ซึ่งจริงๆแล้ว การที่ ออง ซาน ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ เขาก็คือนายกรัฐมนตรีของพม่านั่นเอง เพียงยังติดอยู่ที่การยอมรับของผู้สำเร็จราชการอังกฤษ แต่หลังจากได้มีการประชุมกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นคือ นายเคลเมนต์ แอทลี ในกรุงลอนดอน และในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2490  ออง ซานได้ประกาศข้อตกลงที่จะให้พม่าได้เอกราชภายในหนึ่งปี

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการประกาศเอกราช ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2490 โดยสมาชิกในกลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” ของออง ซาน ได้ที่นั่ง 196 จากทั้งหมด 202 ที่นั่งในสภาร่างฯ และจากการที่เขามีความสนิทสนมกับผู้สำเร็จราชการอังกฤษในพม่าคือ นายจินัลด์ ดอร์มัน-สมิธ ทำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์ของตะขิ่น ถั่น ทุน  ได้ประกาศไม่ยอมรับ ออง ซาน โดยกล่าวหาว่าขาเป็น “เครื่องมือของจักรวรรดินิยมอังกฤษ”  ทั้งๆที่ ออง ซาน สนันสนุนมาตรการที่จะให้พม่าเป็นเอกราชและไม่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษอีกต่อไป

ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490  ออง ซานได้ถูกลอบสังหาร---ซึ่งก่อนหน้านั้นในราวหนึ่งปี เขาเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเขาเป็นเป้าในการถูกลอบสังหาร--- ในเหตุการณ์การลอบสังหารออง ซาน มีรายงานว่าในเวลาราว 10:30 นาฬิกาของวันที่ 19 กรกฎาคม มีรถจีปของกองทัพคันหนึ่งพร้อมกลุ่มชายติดอาวุธขับเข้ามาในสวนของอาคารเลขาธิการของรัฐ ขณะที่อองซานกำลังประชุมกับสมาชิกรัฐบาลชุดใหม่ อาคารนี้ไม่มีกำแพงหรือรั้วงล้อมในเวลานั้น และถึงแม้จะมีคนเตือนแล้วว่าอองซานกำลังถูกวางแผนลอบสังหาร ยามรักษาประตูเข้าออกของอาคารก็ไม่มีทีท่าที่จะตรวจสอบชายติดอาวุธกลุ่มนี้ที่เข้ามาในอาคาร ชายสี่คนลงจากรถพร้อมปืนกลมือและอาวุธต่างๆรวมทั้งระเบิด และได้วิ่งขึ้นบนบันไดตรงไปยังโถงห้องประชุม และยิงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าห้อง และบุกเข้าไปในห้องประชุม และยิงออง ซานเสียชีวิตทันที และยังมีสมาชิกสภาอีกสี่คนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ถูกยิงเสียชีวิตไปด้วย

ส่วน นาย ยู ซอ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าคนสุดท้ายก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง  ผู้เป็นคู่แข่งทางการเมืองของ ออง ซาน ถูกจับกุมฐานก่อการฆาตกรรมในวันเดียวกันนั้น  ต่อมา ยู ซอถูกตัดสินว่ามีความผิดและต้องโทษประหารชีวิตโดยการแขวนคอ อย่างไรก็ตามมีการถกเถียงถึงกลุ่มหรือพรรคอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมในการก่อการลอบสังหารอองซานในครั้งนี้ บางส่วนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของอังกฤษเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2490 สภาได้มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่า (the Constitution of Union of Burma)  โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้เลย ซึ่งก็คือกลุ่ม “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” นั่นเอง  

                                 

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบเก้า): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

และด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ของรัฐธรรมนูญก็คือ นาย อู นุ  ส่วนผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกคือ เจ้าส่วยแต้ก ผู้มีฐานะเป็นเจ้าฟ้าไทใหญ่แห่งเมืองยองห้วย และเป็นที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงทางการเมืองในหมู่ประชาชนชาวไทใหญ่  และทั้ง อู นุ และเจ้าส่วยแต้กคือ บุคคลสำคัญในกลุ่ม  “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” และแน่นอนว่า หาก ออง ซานไม่ถูกลอบสังหาร เขาก็จะต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีคนแรกของพม่าในฐานะผู้นำ “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์”  ส่วน ตะขิ่น ถั่น ทุนและพรรคคอมมิวนิสต์ได้เสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพียง 7 เสียงเท่านั้น

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่า พ.ศ. 2490 จึงไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั่วไป แต่มาจากการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปนั้น มาตรา 233 ของรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่าได้กำหนดไว้ว่า “ให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ภายใน 18 เดือนหลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้”

แต่การเลือกตั้งทั่วไปกลับไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้ 18 เดือนหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นั่นคือ พม่าจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกไม่เกินเดือนมีนาคม พ.ศ. 2492 เพราะได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเสียก่อนในช่วงเวลาเดียวกันกับที่พม่าประกาศเอกราชในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491

จากที่กล่าวมาในกรณีของลาว เวียดนาม กัมพูชาและพม่า จะพบว่าหลังจากที่เป็นเอกราชและมีรัฐธรรมนูญของตัวเองแล้ว ประเทศเหล่านี้ต่างเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คล้ายจะเป็นเส้นทางที่ประวัติศาสตร์บังคับไว้สำหรับประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมและเป็นเอกราชภายใต้ยุคสงครามเย็น

คงมีแต่ประเทศไทยเราเท่านั้นที่ไม่ตกอยู่ในเส้นทางบังคับทางประวัติศาสตร์เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน   แม้ว่าเราจะเลี่ยงที่จะตกอยู่ในสงครามเย็นไม่ได้  แต่เราก็ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม

(แหล่งอ้างอิง: รัฐธรรมนูญเมียนมาร์ (พม่า) พ.ศ. 2490 https://www.ilo.org/dyn/natlex/docs/ELECTRONIC/79573/85699/F1436085708/MMR79573.pdf  ;   https://th.wikipedia.org/wiki/สมาคมเราชาวพม่า#การก่อตัว  ; https://www.britannica.com/biography/Aung-San#ref86515 ; https://th.wikipedia.org/wiki/อองซาน#การลอบสังหาร  ; https://en.wikipedia.org/wiki/1947_Burmese_general_election#Results ; https://myanmar.anfrel.org/en/media-toolkit/history-of-elections-in-myanmar  )