posttoday

เครื่องมือวิธีคิดในการพิจารณายุทธศาสตร์

24 กุมภาพันธ์ 2565

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

**********

ในเวลานี้ทุกประเทศกำลังติดตามปัญหายูเครนอย่างใกล้ชิด หลังจากรัสเซียส่งกองกำลังเข้าไปในพื้นที่ดอนบาสของยูเครน และประกาศสนับสนุนการแยกตัว-รับรองการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ในขณะที่สหรัฐอเมริกากับประเทศพันธมิตรประกาศมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจตอบโต้รัสเซียเกือบจะในทันที

เหตุการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร คนเขียนบทความรายเดือนตามความพลิกผันของสถานการณ์และปฏิกิริยาตอบโต้ต่อกันมารายงานท่านผู้อ่านไม่ทันแน่นอน และการจะคาดการณ์อะไรในม่านหมอกความขัดแย้งที่กำลังยกระดับขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ คนเขียนก็ไม่มีข้อมูลจากพื้นที่พอให้ทำได้ดี อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนขณะนี้เป็นโอกาสนำเสนอตัวอย่างเครื่องมือสำหรับติดตามอ่านสถานการณ์ระหว่างประเทศ ที่ช่วยคนทำงานด้านยุทธศาสตร์ในการพิจารณาเหตุปัจจัยสำคัญ ประเมินน้ำหนักประสิทธิผลของมาตรการที่แต่ละฝ่ายใช้ตอบสนอง/ตอบโต้ต่อกัน ก่อนที่จะเสนอทางเลือกด้วยการกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์พร้อมกับแนวทางและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการบรรลุเป้าหมาย

หรืออย่างน้อยที่สุด เป็นเครื่องมือที่ช่วยนักวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศเสนอลาดเลาของแนวโน้มสถานการณ์ที่จะเป็นไป จากลวดลายลีลาการเดินหมากของแต่ละฝ่ายในสนามความขัดแย้ง

เครื่องมือที่จะนำมาเสนอคราวนี้ เป็นชุดคำถามสำหรับประกอบการอ่านประเมินสถานการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ผมได้รับทราบมาจากท่านทูตกิตติพงษ์ ณ ระนอง ท่านทูตให้ข้อคิดแก่ผมว่า ในบริบทของสถานการณ์หรือวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ คำถามที่คนกระทรวงการต่างประเทศจะตั้งขึ้นพิจารณา ได้แก่

? สถานการณ์ X เกี่ยวกับผลประโยชน์ของไทย หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อไทยอย่างไรหรือไม่ ในแง่ใดบ้าง?

? ทำไมจึงเกิดสถานการณ์ X และทำไมประเทศที่เกี่ยวข้องจึงมีท่าที A, B, หรือ C ต่อสถานการณ์มากน้อยหนักเบาต่างกัน?

? ไทยควรมีท่าทีอย่างไร เพราะเหตุใด?

ชุดคำถามนี้ มีอุปเท่ห์หรือแนวทางกำกับการใช้มาด้วยว่า คำถามแต่ละข้อมิได้ตั้งอยู่อย่างโดด ๆ แต่ให้พิจารณาหาคำตอบต่อคำถามแต่ละข้ออย่างเห็นความสัมพันธ์ส่งผลถึงกันหมด กล่าวคือ คำถามข้อแรกสัมพันธ์กับข้อที่ 2 และต้องนำคำตอบจากข้อที่ 2 มาพิจารณาร่วมกับข้อแรกให้เห็นภูมิทัศน์ของความขัดแย้งและท่าทีของนานาประเทศต่อปัญหาความขัดแย้งอย่างรอบด้าน จึงจะคิดข้อเสนอสำหรับคำตอบในข้อที่ 3 ออกมาเป็นทางเลือกได้อย่างเหมาะสม

การพิจารณาสถานการณ์ระหว่างประเทศอย่างส่งผลสัมพันธ์ถึงกันเช่นนี้จึงไม่อาจมองแบบเป็นภาพนิ่ง แต่ต้องติดตามให้เห็นอย่างเป็นพลวัตเสมอ ทั้งในส่วนที่เป็นผลกระทบต่อผลประโยชน์ของไทย และส่วนที่เป็นท่าทีการตอบสนองของประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีผลทำให้สภาวะของสถานการณ์หรือวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศพลิกเปลี่ยนไปเรื่อยไม่คงที่ ทั้งในส่วนที่เป็นการเพิ่มหรือการลดเงื่อนไขความขัดแย้งในสถานการณ์นั้น และในส่วนที่เปิดโอกาสให้แก่ประเทศอื่น ๆ หาช่องทางการดำเนินนโยบายจากเงื่อนไขในสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่สถานการณ์นั้นผูกขึ้นมา ในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ของตน

ในแง่นี้ นอกเหนือจากติดตามว่าสหรัฐอเมริกากับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ใน NATO หรือญี่ปุ่นมีท่าทีตอบสนองอย่างไรต่อรัสเซียและวิกฤตการณ์ในยูเครนแล้ว ส่วนสำคัญที่น่าติดตามไม่แพ้กันคือ การติดตามท่าทีการตอบสนองของจีน ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ หรือของซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน กับอิสราเอล หรือของอินเดียกับปากีสถาน ฯลฯ ว่าในบริบทที่สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในยุโรปกำลังมีความตึงเครียดพลิกผันขึ้นมาเช่นนี้ ประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคนั้นออกมา แต่มีความสัมพันธ์เป็นบวกเป็นลบกับมหาอำนาจตะวันตกและรัสเซีย จะใช้โอกาสจากเหตุปัจจัยที่ถูกสถานการณ์ยูเครนผูกขึ้นมานี้ เป็นช่องทางในการบรรลุเป้าหมายของตนต่อออกไปอีกอย่างไร หรือเก็บรับความหมายแบบไหนจากสัญญาณทางการทูตที่แต่ละฝ่ายส่งออกมาจากการแสดงท่าทีและตอบสนองต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น การพิจารณาเปรียบเทียบท่าทีการดำเนินนโยบายของประเทศต่าง ๆ อย่างสัมพันธ์กัน ยังต้องคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่าการดำเนินการทุกอย่างที่เป็นการตอบสนองหรือตอบโต้ต่อกันนั้นมีต้นทุนหรือมีราคาค่าใช้จ่ายตามมาเสมอ ยิ่งถ้าเป็นการทำสงครามด้วยแล้ว ต้นทุนยิ่งสูงลิ่ว และเมื่อความจริงเป็นเช่นนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถและความพร้อมของแต่ละประเทศที่จะแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่าย ความเสียหาย และความสูญเสีย และเรื่องนี้สัมพันธ์กับลักษณะของผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ในความขัดแย้งนั้นว่ามีน้ำหนักต่างกันอย่างไร ฝ่ายที่มีผลประโยชน์สำคัญที่ต้องป้องกันรักษาไว้ก็พร้อมจะยอมแลกและรับต้นทุนค่าใช้จ่ายมากกว่าประเทศที่ผลประโยชน์สำคัญมิได้ถูกกระทบจากปัญหาความขัดแย้ง

การคิดคำนวณต้นทุน และผลที่จะตามมาในทางการการเมือง เมื่อต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งเริ่มทวีสูงขึ้น ๆ เป็นสิ่งที่ผู้นำแต่ละประเทศต้องดีดลูกคิดอยู่เสมอ และเป็นธรรมดาอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่อยู่ในหมายเชิญการประชุมซัมมิตประชาธิปไตย ที่จะต้องดีดลูกคิดในเรื่องนี้ แต่ก็มิได้หมายความว่าประเทศที่อยู่นอกหมายเชิญจะไม่คิดถึงเรื่องนี้ หรือมองข้ามความสำคัญเรื่องนี้

ในแง่นี้ การอ่านสถานการณ์และท่าทีตอบสนองของประเทศต่างๆ อย่างสัมพันธ์ส่งผลถึงกัน นักการทูตจึงต้องคอยติดตามฐานสนับสนุนการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศจากความคิดเห็นของประชาชนในประเทศนั้นๆ ประกอบด้วยเสมอ และไม่เฉพาะแต่ติดตามผลสำรวจของโพล แต่เรียนรู้จากวิธีการของโพลด้วย ที่ใช้การเฟรมประเด็นขึ้นมาสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผลสำรวจที่ได้ออกมาสะท้อนถึงทัศนะของประชาชนต่อนโยบายที่ประเทศนั้นจะดำเนินหรือที่ดำเนินไปแล้วก็จริง แต่ส่วนสำคัญยังขึ้นกับตัวคำถามที่ถูกจัดขึ้นมาสำหรับสำรวจความเห็นด้วยว่า ได้เฟรมประเด็นให้คนตอบแบบสอบถามเข้าใจเรื่องนั้นแบบไหน

โดยทั่วไป ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศมักเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนสูง มีต้นเหตุความเป็นมาพัวพันกับหลายฝ่ายที่ย้อนกลับไปได้ไกลในเส้นเวลา แต่คนทั่วไปจะติดตามและสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการดำเนินนโยบายใด ๆ ต่อปัญหาเหล่านั้น จากความเข้าใจที่ง่ายกว่านั้นมาก และตรงจุดนี้เองที่การเฟรมประเด็นคำถามต้องลดทอนความซับซ้อนลงมา เพื่อจัดให้คนทั่วไปเข้าใจประเด็นที่ต้องแสดงทัศนะได้ง่าย และตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วแน่ชัดว่าจะสนับสนุนเรื่องไหน หรือไม่สนับสนุนเรื่องไหน

การเฟรมคำถามดังเช่น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ถ้าหากรัสเซียรุกรานยูเครน รัสเซียคือภัยคุกคามต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ กับการเฟรมว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ถ้าหากรัสเซียส่งกองกำลังเข้าไปในพื้นที่ดอนบาสเพื่อช่วยคนเชื้อสายรัสเซียและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยูเครนพร้อมกับสนับสนุนให้โดเนตสก์ และลูฮันสก์ เป็นรัฐเอกราช รัสเซียคือภัยคุกคามต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ การเฟรมคำถามแบบแรกเข้าใจได้ง่ายและตอบได้ง่ายกว่าแบบหลัง และคำถามแรกได้บรรจุคำบ่งนัยชัดเจนคือคำว่ารุกราน ที่สะท้อนความหมายการเป็นภัยคุกคามอยู่ในตัว

วิธีการของโพลที่ต้องเฟรมคำถามเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายตอบได้ง่ายฉันใด วิธีการของคนดำเนินนโยบายก็เป็นฉันนั้น เมื่อต้องการรักษาและขยายฐานการสนับสนุนนโยบายซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องระหว่างประเทศที่ห่างไกลจากปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชนพลเมืองทั่วไป เช่น การรักษาภูมิภาคดอนบาสให้คงอยู่กับยูเครน และช่วยรักษายูเครนรักษาเอกราช ผู้นำนโยบายก็ต้องเฟรมประเด็นให้ประชาชนเข้าใจง่ายในทางที่จะทำให้มาตรการนโยบายได้รับการยอมรับและได้เสียงสนับสนุนมากพอ และหาทางคงการยอมรับนั้นไว้ ไม่ให้กลายมาเป็นปัญหาจนเสียฐานสนับสนุนทางการเมืองไปให้ฝ่ายตรงข้าม

คนกำหนดนโยบายยังเรียนรู้จากวิธีเฟรมประเด็นคำถามของโพลในการตะล่อมความเข้าใจของผู้ตอบด้วยว่า ทิศทางของคำตอบจะมีความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคำถามเริ่มลงไปสู่รายละเอียด เช่นตัวอย่างจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์วันก่อน (23 กุมภาพันธ์ 2022) ที่รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันเมื่อต้นปีใหม่ พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและเป็นภัยต่อสหรัฐอเมริกา แต่พอถามลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางของประธานาธิบดีไบเดนในการสนับสนุนประเทศพันธมิตร NATO ในยุโรปตะวันออกด้วยส่งกำลังทหารอเมริกันเข้าไปเพิ่ม ความเห็นของคนอเมริกันต่อเรื่องนี้เริ่มสะท้อนเสียงแตกต่างกันไปตามฐานการเมือง คนลงคะแนนให้เดโมแครตสนับสนุน 70% คนลงคะแนนให้รีพับลิกันสนับสนุน 43% คนกำหนดนโยบายที่ชำนาญการย่อมรู้ว่ามีปีศาจรออยู่ในขั้นที่เป็นรายละเอียดเสมอ

การรักษาฐานสนับสนุนนโยบายและฐานสนับสนุนทางการเมืองในการดำเนินนโยบายต่างประเทศจึงเป็นประเด็นเปิดปลายจากความเป็นไปได้หลายแบบในรายละเอียดของการปฏิบัติ ซึ่งจะมีพลิกเปลี่ยนไปในพลวัตความขัดแย้ง ที่เรียกร้องต้นทุนค่าใช้จ่ายของแต่ละฝ่ายออกมาในการต่อสู้ในสนาม ฝ่ายที่ยืนระยะได้นานกว่าต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และโดยเหตุนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ต้องรักษาว่าคุ้มค่ากับการสูญเสียที่แลกมา จึงเป็นเงื่อนไขความสำเร็จ (หรือล้มเหลว) ที่สำคัญของนโยบาย

ในระหว่างนี้ ลองทำแบบสำรวจนี้ก่อน ดีไหมครับ

1.ท่านเห็นว่าการเคลื่อนกำลังของรัสเซียเข้าไปในเขตดอนบาสของยูเครน เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพระหว่างประเทศหรือไม่?

2.ท่านคิดว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรตะวันตกควรตอบโต้รัสเซียด้วยมาตรการทางทหารในเวลานี้หรือไม่?

3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียเป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ ที่ประเทศทั้ง 2 ควรหาทางแก้ไขด้วยการเจรจากันอย่างสันติวิธี มิใช่เรื่องที่ประเทศอื่นพึงเข้าไปแทรกแซง?

4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าการรับยูเครนเป็นสมาชิก NATO จะช่วยให้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น

5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าการรับยูเครนเป็นสมาชิก NATO กระทบต่อความมั่นคงของรัสเซีย

6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร NATO มีพันธกรณีต่อการปกป้องความมั่นคงของยูเครนจากการถูกรัสเซียคุกคาม

7.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าสหประชาชาติเป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

8.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรตะวันตกในการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย เมื่อรัสเซียเคลื่อนกำลังเข้าไปโดยอ้างว่าเพื่อรักษาสันติภาพในยูเครน

9.ท่านเห็นว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ที่อาจขยายเพิ่มขึ้น โดยไม่ใช้กำลังทหารและการสงครามเป็นเครื่องมือ ก็เพียงพอแล้วในการกดดันรัสเซียให้ถอนกำลังออกจากยูเครน

10.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าในการป้องกันยูเครนจากการถูกรัสเซียผนวกดินแดน สหรัฐอเมริกาต้องการรักษาความน่าเชื่อถือ เพื่อแสดงให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน เห็นว่าสหรัฐฯ พร้อมจะขวางการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมอย่างเต็มที่

11.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่ายูเครนไม่ใช่ผลประโยชน์สำคัญโดยตรงของสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคง

12.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่ายูเครนเป็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่มีความสำคัญสูงต่อรัสเซีย