posttoday

คำสอนของทิเบตเพื่อการอยู่และการตาย

12 กุมภาพันธ์ 2565

โดย...โคทม อารียา

*********************

ระหว่างวันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2565 ผมเข้ารับการอบรมเรื่อง “การอยู่และตายอย่างมีเกียรติ” โดยมี วิกตอเรีย สุบีรานา เป็นวิทยากร เธอเป็นชาวสเปนและเคยเป็นครูอยู่ที่เนปาลเป็นเวลานาน ชีวประวัติการเป็นครูสอนเด็กข้างถนนของเธอถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ชื่อ “Kathmandu: a Mirror in the Sky” เธอมีอาจารย์ชาวเนปาลหลายคนรวมทั้ง พระอาจารย์ดุดจ็อม รินโปเช ผมจึงมีโอกาสที่จะนำเกร็ดความรู้บางประการเกี่ยวกับความตายมาเขียนเป็นบทความนี้

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 พระไพศาล วิสาโล ได้มอบหนังสือที่ท่านแปลให้ผมเล่มหนึ่ง ชื่อ “เหนือห้วงมหรรณพ: คำสอนธิเบตเพื่อการอยู่และตายอย่างไร้ทุกข์” พร้อมทั้งเขียนคำอุทิศให้ผมว่า “เป็นสุขกับชีวิต เป็นมิตรกับความตาย ได้ด้วยธรรม” ผมได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว พอจะเข้าอบรมเลยนำมาพลิกอ่านอีกที

พระไพศาลเขียนในคำปรารภของผู้แปลว่า “ชีวิตกับความตายเป็นเรื่องเดียวกันก็เพราะว่า ... ในยามที่มีชีวิตนั้น สภาวะที่จะเกิดแก่เราทั้งขณะตายและหลังตายนั้น จะมาเยี่ยมเยือนให้เราได้ประสบสัมผัสเสมอ และในทางกลับกัน เมื่อเราตายไปแล้วความสามารถในการรับรู้ขณะที่เรามีชีวิตอยู่นั้น ก็มิได้สูญสิ้นไปเสียหมด ... ความรับรู้ที่ยังหลงเหลืออยู่นี้เอง ที่ทำให้ภาวะหลังตายอาจเป็นภาวะที่ทุกข์ทรมานได้ หากไม่รู้จักเตรียมตัวตายอย่างถูกต้อง”

เหตุที่หนังสือเล่มที่ท่านแปลนี้เป็นคำสอนตามพุทธศาสนามหายาน ย่อมมีหลายส่วนที่แตกต่างจากพุทธศาสนาเถรวาทที่คนไทยคุ้นเคย ยิ่งไปกว่านั้น โชเกียล รินโปเช ผู้เขียนสังกัดอยู่ในนิกายนิงปะที่เก่าแก่ที่สุดในทิเบต ผู้ให้กำเนิดคือท่านปัทมสัมภวะ คุรุชาวอินเดียซึ่งได้รับเชิญจากกษัตริย์ทิเบตราวปี พ.ศ. 1350 ให้มากำราบการถือภูติผีตามศาสนาบอน นิกายนิงปะจึงรับเอาความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาไม่น้อย ผิดกับนิกายเกลุกที่ก่อตั้งหลังสุดเมื่อหกร้อยปีที่แล้ว โดยเป็นนิกายที่ท่านประมุขคือองค์ดาไลลามะเคยปกครองทิเบตมาก่อนการยึดครองของจีน

ส่วนเชอเกียม ตรุงปะ ผู้เผยแพร่ศาสนาพุทธวัชรยานคนสำคัญในสหรัฐอเมริกา มาจากนิกายกาจู องค์ทะไลลามะเขียนคำนำไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งนอกจากจะชมเชยผู้เขียนแล้ว ยังชักชวนให้อ่านโดยกล่าวว่า “ขณะสิ้นชีวิตนั้น เป็นช่วงเวลาของประสบการณ์ทางจิตอันลึกซึ้งที่สุด ... ด้วยการทำความคุ้นเคยซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับกระบวนการแห่งความตายในระหว่างทำสมาธิภาวนา นักปฏิบัติธรรมผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้ความตายที่บังเกิดแก่ตนให้นำพาไปสู่ความรู้แจ้งได้ ...สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเตรียมตัวตายก็คือ การช่วยให้ผู้อื่นเตรียมตัวตายด้วยดี ... โดยเหตุที่ผู้ใกล้ตายไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เราควรปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากความกระสับกระส่ายและวิตกกังวล และช่วยเขาเท่าที่จะทำได้ ให้ตายด้วยความสงบ ... หลีกเลี่ยงทุกอย่างที่ทำให้จิตใจของเขาขุ่นมัวยิ่งขึ้นกว่าเดิม ... ช่วยให้ผู้ใกล้ตายวางใจผ่อนคลาย”

ชเกียล รินโปเช เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า คำสอนเรื่องความตายมีเขียนไว้ในหนังสือชื่อภาษาทิเบตว่า “บาร์โด ทุโทร์ เชนโม” แปลว่า “อภิวิมุติโดยการสดับในบาร์โด” และมีการแปลหนังสือเล่มนี้โดยตั้งชื่อใหม่ให้เข้ากับผู้อ่านคนไทยว่า “คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนของท่านปัทมสัมภวะ ที่ได้รับการเปิดเผยในคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยท่านคารมา ลิงปะ

บาร์โดเป็นคำทิเบตหมายความว่า “การเปลี่ยนผ่าน” หรือช่องว่างระหว่างสถานการณ์หนึ่งที่สิ้นสุด ลงกับอีกสถานการณ์หนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น คนทิเบตใช้คำคำนี้ทั้งในความหมายทั่วไป และในความหมายเฉพาะ เมื่อพูดถึงภาวะที่อยู่ระหว่างความตายกับการเกิดใหม่ แต่ในความหมายที่ลึกซึ่งกว่านั้น คนทิเบตใช้คำคำนี้กับชีวิตและความตายที่ไม่อาจแยกจากกันได้ โดยแบ่งความเป็นไปของคนเราออกเป็นสี่ช่วงเวลา เป็นบาร์โดทั้งสี่คือ

•บาร์โดตามธรรมชาติ คือบาร์โดแห่งชีวิต

•บาร์โดอันทุกข์ทรมาน คือบาร์โดแห่งความตาย

•บาร์โดอันแจ่มกระจ่าง คือบาร์โดแห่งธรรมดา

•บาร์โดแห่งกรรม คือบาร์โดแห่งการถือกำเนิด

บาร์โดตามธรรมชาติหรือบาร์โดแห่งชีวิตนั้น ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเตรียมตัวตาย

บาร์โดอันทุกข์ทรมานหรือบาร์โดแห่งความตายกินเวลาตั้งแต่การเริ่มขึ้นของการตาย ไปจนถึงเวลาที่เรียกว่า “การสิ้นสุดของลมหายใจภายใน” หรือมาสิ้นสุดตรงการปรากฏแห่งธรรมขาติของจิตเดิมแท้

บาร์โดอันแจ่มกระจ่างหรือบาร์โดแห่งธรรมดาครอบคลุมประสบการหลังความตาย อันเป็นภาวะที่ธรรมชาติแห่งจิต ได้แผ่รัศมีเป็น “แสงกระจ่าง” ซึ่งปรากฏเป็นเสียง สี และแสง

บาร์โดแห่งกรรมหรือบาร์โดแห่งการถือกำเนิด คือสิ่งที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า “อันตรภพ” ซึ่งไปสิ้นสุดเมื่อเราไปเกิดใหม่

ชีวิตคือการผันแปรไปมาระหว่างการเกิด การตาย กับการเปลี่ยนผ่าน ประสบการณ์บาร์โดจึงเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา แต่เรามักไม่ตระหนักถึงภาวะบาร์โดหรือช่องว่าง เนื่องจากจิตของเราเปลี่ยนจากสภาวะ “เป็นตัวเป็นตน” สภาวะหนึ่งสู่อีกสภาวะหนึ่ง ไม่สนใจช่องว่างที่เกิดขึ้น คำสอนเกี่ยวกับบาร์โดช่วยให้เราเข้าใจประเด็นนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชีวิต การตายและการเกิดใหม่

ตามเอกสารที่แจกในการอบรมของวิกตอเรีย มีข้อความที่กล่าวถึงบาร์โดอันทุกข์ทรมานหรือบาร์โดแห่งความตายไว้ค่อนข้างละเอียด แต่จะขอนำมาเล่าต่อเพียงสังเขปดังนี้ ดังที่กล่าวมาแล้ว บาร์โดนี้อยู่ระหว่างความเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายถึงชีวิตกับการหมด “ลมหายใจภายใน” ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังการหยุดของชีพจรและการสูญเสียสัญญาณชีวิตประมาณ 20 นาที บาร์โดแห่งความตายประกอบด้วยการแตกสลายภายนอกและการแตกสลายภายใน

การแตกสลายภายนอกเกิดขึ้นเมื่ออายตนะและธาตุต่าง ๆ แตกสลาย อายตนะจะเริ่มหยุดทำงานก่อน หากคนรอบข้างพูดคุยกัน เราอาจได้ยินเสียงแต่แยกเป็นคำ ๆ ไม่ได้ เมื่อมองวัตถุที่อยู่ข้างหน้า อาจเห็นแต่เค้าโครงแต่ไม่เห็นรายละเอียด สภาพเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นกับอายตนะที่รับกลิ่น รส และสัมผัส เมื่ออายตนะเหล่านี้ไม่ทำงานแล้ว การแตกสลายของธาตุทั้งสี่ก็ตามมา

การแตกสลายของธาตุดินทำให้หมดเรี่ยวแรง รู้สึกว่าเรากำลังตกลงมาจมดิน แล้วถูกกดทับด้วยภูเขามหึมา สีผิวจะจางลงจนซีดเผือด แก้มตอบ ฟันมีรอยด่างคล้ำ การเปิด-ปิดตาทำได้ยาก รูปขันธ์กำลังแตกสลาย รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หงุดหงิด มึนงง ง่วงเหงาหาวนอน แสดงว่าธาตุดินกำลังคืนสู่ธาตุน้ำ นิมิตที่เกิดขึ้นในจิตใจคือภาพไอแดดระยิบระยับ

การแตกสลายของธาตุน้ำทำให้เราสูญเสียการควบคุมของเหลวในร่างกาย มีน้ำมูกไหล มีขี้ตา ลิ้นขยับไม่ได้ ตาแห้ง ริมฝีปากแห้งแตก ปากและลำคอรู้สึกเหนียว กระหายน้ำ ขณะที่เวทนาขันธ์เริ่มแตกสลาย จิตจะเริ่มเลอะเลือน คับข้องใจหงุดหงิด ตื่นตระหนก รู้สึกเจ็บปวดและสบายสลับกันไป อาจรู้สึกเหมือนถูกแม่น้ำใหญ่พัดพา ธาตุน้ำกำลังสลายเป็นธาตุไฟ นิมิตที่เกิดขึ้นเป็นภาพเมฆหมอกและควันพวยพุ่ง

การแตกสลายของธาตุไฟทำให้ปากและจมูกแห้งผาก ความอบอุ่นจางหายไปเริ่มตั้งแต่เท้า แขนแล้วลามสู่หัวใจ ลมหายใจจะเย็นลง สัญญาขันธ์กำลังแตกสลาย จิตใจสับสนและชัดเจนสลับกันไป จำชื่อคนในครอบครัวและเพื่อน ๆ ไม่ได้ เสียงและภาพสับสนปนเป จิตใจคล้ายถูกไฟแผดเผา ราวกับอยู่ท่ามกลางกองไฟ ธาตุไฟแตกสลายเป็นอากาศ มีสมรรถนะน้อยลงการเป็นฐานแก่วิญญาณ นิมิตคือประกายไฟเต้นอยู่เหนือไฟในที่โล่ง

การแตกสลายของธาตุอากาศทำให้หายใจได้ยากขึ้น ลำคอเริ่มระคายเคือง หอบ ลมหายใจเข้าสั้นลงและติดขัด ลมหายใจออกยาวขึ้น ตาเกลือกขึ้น สังขารขันธ์กำลังแตกสลาย จิตใจงุนงง ทุกอย่างพร่าเลือน หากทำอกุศลกรรมไว้มากอาจเห็นภาพน่ากลัว ปรากฏการณ์น่ากลัวกลับมาหลอกหลอน หากทำกุศลกรรมยามมีชีวิตอาจประสบนิมิตที่สุขสงบแทนที่จะน่าหวาดกลัว

ผู้ใกล้ตายรู้สึกคล้ายลมพายุกำลังโหมกระหน่ำโลกทั้งโลก อากาศธาตุกำลังแตกสลายกลายเป็นวิญญาณ ภาพนิมิตคือคบเพลิงหรือตะเกียงที่มีไฟส่องแสงสีแดง ลมหายใจเข้าสั้นเข้า ลมหายใจออกยาวขึ้น เลือดกระจุกตัวเข้าสู่ “ช่องแห่งชีวิต” ตรงกลางหัวใจ มีลมหายใจออกสุดท้ายสามเฮือกยาว แล้วก็หมดลม สัญญาณชีวิตสูญหาย แพทย์สมัยใหม่วินิจฉัยว่าเราตายแล้ว

การแตกสลายภายในหมายถึงการแตกสลายของความรู้สึกนึกคิดทั้งหยาบและละเอียด เป็นการย้อนทวนขั้นตอนแห่งการปฏิสนธิ เชื้อของพ่อที่กล่าวกันว่ามีลักษณะสีขาวจะไหลลงมาจากจักระตรงกระหม่อม เชื้อของแม่ที่กล่าวกันว่ามีลักษณะสีแดงจะไหลขึ้นมาจากจักกระตรงท้องน้อย เชื้อทั้งสองมาพบกันที่จักระตรงหัวใจ โดยวิญญาณรับรู้ถูกประกบอยู่ตรงกลาง นิมิตภายนอกคือความดำมืด นิมิตภายในคือสภาพจิตที่ไร้ซึ่งความนึกคิดใด ๆ อวิชชาถึงแก่การยุติ กิเลสอันได้แก่โทสะ โลภะ โมหะดับสิ้น รากเหง้าแห่งสังสารวัฏหมดไป เกิดช่องว่าง ธรรมชาติเดิมแท้ก็เผยออกมา เป็นการเข้าสู่บาร์โดอันแจ่มกระจ่าง

การบรรยายเรื่องบาร์โดแห่งการตายมีเพียงเท่านี้ แต่ก่อนจะจบบทความ ขอกล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ใกล้จะตายโดยสังเขปดังนี้

1)นำทุกคนออกจากห้องผู้ใกล้จะตาย และบอกพวกเขาไม่ให้ร้องไห้ต่อหน้าผู้ใกล้จะตาย ไม่กรีดร้อง ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่คุยเสียงดัง ไม่ใช้โทรศัพท์ ไม่พูดตลกขบขัน

2)อธิบายว่าธาตุของผู้ใกล้จะตายจะแตกสลาย จิตจะอ่อนไหวมาก ถ้าเราโน้มน้าวในทางลบ เขาจะเจ็บปวด ถ้าเราโน้มน้าวในทางบวก เขาจะผ่อนคลายและสงบ

3)ควรเพ่งความสนใจและการตระหนักรู้ไปที่หัวใจของเรา สร้างมโนภาพที่เป็นแสงสว่างที่เปล่งประกายจากหัวใจ

4)บอกพวกเขาให้เข้าไปในห้องของผู้ใกล้จะตายและพูดกับเขาทีละคน บอกขอโทษ (ถ้าหากมีเรื่องที่ควรขอโทษเขา) บอกให้อภัย (ถ้ามีความผิดที่เขาได้กระทำ) บอกเขาให้ไปด้วยความสงบ และจะช่วยสะสางสิ่งคั่งค้างทั้งหลาย

5)บอกว่าคุณรักเขา และทุกอย่างจะโอเคหลังจากที่เขาออกเดินทางไปแล้ว

6)ทันทีที่ธาตุไฟจางหายไป ไม่อนุญาตให้ใครจับต้องร่างกายของเขา

7)คุณเองก็เจริญสติ หายใจเข้า เข้า เข้า หายใจออก ออก ออก นำความรับรู้มาสู่ช่องท้อง อย่าให้ความคิดอื่นมากวนสมาธิ

8)อ่านข้อความจากคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต หรืออ่านจากคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์เล่มอื่น หรือท่องบทสวดด้วยความศรัทธาเต็มเปี่ยม