posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบห้า): หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 เขาจะครองอำนาจได้ยาวนานเหมือนผู้นำอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ?

31 มกราคม 2565

.

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***********************

ตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึง ในช่วงปลายปี 2500-ต้นปี พ.ศ. 2501 นายบิชอพ (Max Waldo Bishop) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทั้งๆที่จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆในคณะรัฐมนตรี นอกจากการเป็นหัวหน้าพรรคชาติสังคมและเป็นผู้บัญชาการทหารบก  แต่นายบิชอพก็กระตือรือร้นที่จะช่วยดูแลเตรียมการสำหรับการเดินทางไปรับการรักษาตัวของจอมพลสฤษดิ์พร้อมคณะติดตาม ที่โรงพยาบาลวอลเตอร์ รีด ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในตอนกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2501

สาเหตุที่นายบิชอพให้ความสำคัญจอมพลสฤษดิ์ เพราะเขาทราบดีว่า ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี (ตั้งแต่หลังกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2500) เช่น นายพจน์ สารสิน (ระหว่างกันยายนถึงธันวาคม พ.ศ. 2500) และพลโทถนอม กิตติขจร (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501) ผู้มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติสังคม แต่ผู้ที่มีอำนาจตัวจริงคือ จอมพลสฤษดิ์  ซึ่งความเข้าใจของนายบิชอพได้รับการยืนยันหลังจากที่เขาพ้นวาระการเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยไปแล้วเป็นเวลา 10 เดือน (นายบิชอพหมดวาระวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2501)  ด้วยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจร โดยในการทำรัฐประหารครั้งนี้ เขาได้รับความร่วมมือจากพลเอกถนอมเองด้วย และหลังจากนั้น จอมพลสฤษดิ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง และอยู่ในอำนาจถึง พ.ศ. 2506 โดยไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งเพราะอ้างว่ายังร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จ  และการที่เขาอยู่ในอำนาจถึงแค่ พ.ศ. 2506 ก็ไม่มีเหตุผลอะไรอื่นนอกจากเขาล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรมไปเท่านั้น

หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ชิงอสัญกรรมไปเสียก่อน เป็นไปได้ว่า เขาน่าจะต้องอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน อย่างต่ำก็ต้องถึง พ.ศ. 2516  ถ้าจะสมมุติว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครอยู่ในอำนาจสืบต่อยาวนานมาแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2516 ก็จะต้องเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาอยู่ดี  ที่นิสิตนักศึกษา นักเรียนและประชาชนได้ออกมาขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร ที่รับช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2506 ต่อจากจอมพลสฤษดิ์

ที่จริงการสมมุติแบบนั้น ก็ไม่ค่อยจะมีเหตุมีผลสักเท่าไรนัก เพราะมันไม่จำเป็นว่า หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 และอยู่ในอำนาจยาวถึง พ.ศ. 2516 จะต้องเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการที่นิสิตนักศึกษาออกมาขับไล่จอมพลถนอมและคณะ อันได้แก่ จอมพลประภาส จารุเสถียรและพันเอกณรงค์ กิตติขจร มีสาเหตุมาจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องรัฐธรรมนูญเกิดจากการที่จอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเองในปี พ.ศ. 2514 หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และจัดให้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 แต่พอถึงปี พ.ศ. 2514 จอมพลถนอมมีปัญหากับสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สามารถคุมเสียงในสภาได้ จึงตัดสินใจทำรัฐประหาร และหลังจากนั้น 2 ปี ก็เกิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพราะจอมพลถนอมถ่วงเวลาให้การร่างรัฐธรรมนูญล่าช้าเป็นเวลา 2 ปี

แต่ถ้าไม่มีกรณีทุ่งใหญ่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2516 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา ก็อาจจะไม่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาก็ได้ กรณีทุ่งใหญ่คือ “เหตุการณ์ที่มีเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐมวันที่ 29 เม.ย.2516 มีผู้เสียชีวิต 6 คน และพบซากสัตว์ป่าขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ต่อมาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติจาก 5 มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้มีการเข้าไปสังเกตการณ์และพบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักธุรกิจ จำนวน 50-60 คน ตั้งแคมป์ล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่นเรศวร”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบห้า): หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 เขาจะครองอำนาจได้ยาวนานเหมือนผู้นำอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ?

ซึ่งกรณีได้กล่าวได้กลายเป็นชนวนสำคัญให้เกิดความไม่พอใจรัฐบาลที่อยู่ภายใต้อำนาจของจอมพลถนอม-จอมพลประภาสและพันเอกณรงค์ กิตติขจรที่ “ลุแก่อำนาจ ทำอะไรตามอำเภอใจ” ในกรณีทุ่งใหญ่อันนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังให้เกิดการเลือกตั้ง และนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลที่ครองอำนาจโดยจอมพลถนอมและคณะมาตั้งแต่ พ.ศ 2506 และแม้กระทั่งมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512  พรรคการเมืองของจอมพลถนอมก็ได้รับเลือกตั้งมีเสียงมากพอที่จะสืบทอดอำนาจจัดตั้งรัฐบาล และต่อมา แม้ว่าจะมีเสียงที่ควบคุมไม่ได้จาก ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและภายในพรรคของจอมพลถนอม  แต่จอมพลถนอมก็ทำรัฐประหารตัวเอง ทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเปิดอุปสรรคขวากหนามในการใช้อำนาจของตนได้ และทำท่าจะอยู่ยาว

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบห้า): หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 เขาจะครองอำนาจได้ยาวนานเหมือนผู้นำอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ?

การเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 โดยมีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น และรัฐบาลได้ตัดสินใจจับกุมบุคคลจำนวน 13 คน (13 ขบถรัฐธรรมนูญ) ที่เชื่อว่าเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญในสาธารณะ  การจับกุมดังกล่าวได้กลับทำให้เกิดกระแสต่อต้าน มีนิสิตนักศึกษา นักเรียนประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอมและเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลทั้ง 13 คน และแม้ว่าหลังจากนั้น จะมีการเจรจาตกลงกันได้ระหว่างแกนนำนิสิตนักศึกษากับฝ่ายรัฐบาล โดยฝ่ายรัฐบาลรับปากว่าจะให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว ทำให้ฝ่ายนิสิตนักศึกษายอมที่จะยุติการชุมนุม แต่ต่อมาได้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับนิสิตนักศึกษา ทำให้เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนิสิตนักศึกษาตัดสินใจพาผู้ชุมนุมไปพระบรมมหาราชวังเพื่อขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเหตุการณ์ได้บานปลายจนทำให้จอมพลถนอมและคณะต้องเดินทางออกนอกประเทศไป

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบห้า): หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 เขาจะครองอำนาจได้ยาวนานเหมือนผู้นำอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ?

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบห้า): หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 เขาจะครองอำนาจได้ยาวนานเหมือนผู้นำอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ?

ที่กล่าวมานี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า หากไม่เกิดกรณีทุ่งใหญ่ที่เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้สังคมเห็นว่ารัฐบาล “ลุแก่อำนาจ”  ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลจอมถนอมก็อาจจะไม่มีเหตุเพียงพอที่ทำให้ผู้คนมีความรู้สึกร่วมในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเลือกตั้งและนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาล หรืออย่างน้อยอำนาจรัฐบาลก็จะถสามารถถูกตรวจสอบซักฝอกโดยตัวแทนประชาขนที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกระบอกเสียงในสภา เพราะจะว่าไปแล้ว คนไทยสมัยนั้นยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าประชาธิปไตยมากพอที่จะออกมาเรียกร้องต่อต้านรัฐบาลที่ครองอำนาจนานโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง  แต่คนไทยให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจอย่างไรมากกว่าจะให้ความสำคัญกับที่มาของอำนาจ

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบห้า): หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 เขาจะครองอำนาจได้ยาวนานเหมือนผู้นำอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ?

อย่างในกรณีพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535  แม้ว่าจะมีคนออกมาชุมนุมต่อต้านพลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นจำนวนไม่น้อย---แต่ก็ถือว่าไม่มาก---จากการที่พลเอกสุจินดากลับคำพูดยอมรับคำเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา โดยที่ก่อนหน้านั้น เขายืนยันว่า จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี  และแม้ว่า การมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดาจะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ที่ยอมให้บุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ประชาชนที่ออกมาต่อต้านพลเอกสุจินดา ไม่ได้สนใจว่า รัฐธรรมนูญอนุญาตให้พลแอกสุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่สนใจต่อประเด็นการไม่รักษาคำพูดมากกว่า และต่อมาหลังจากที่ทางฝ่ายรัฐบาลพลเอกสุจินดาตัดสินใจจับแกนนำคนสำคัญของฝ่ายผู้ชุมนุม นั่นคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็กลับทำให้ผู้คนออกมาร่วมชุมนุมประท้วงมากขึ้น โดยก่อนหน้านั้น ยังมาร่วมชุมนุมไม่มากนัก

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบห้า): หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 เขาจะครองอำนาจได้ยาวนานเหมือนผู้นำอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ?

ในช่วงเวลานั้น ผู้เขียนอยู่ที่อังกฤษ และก่อนหน้าที่จะมีการจับกุมตัวพลตรีจำลอง ก็ได้ทำการชักชวนให้นักศึกษาไทยและประชาชนไทยในอังกฤษออกมาประท้วงต่อต้านการรับเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา (ที่จริง ผู้เขียนได้รณรงค์ต่อต้านการทำรัฐประหารของ รสช. มาตั้งแต่เกิดรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534  แต่มีคนเข้าร่วมน้อยมาก นับได้เป็นแค่หลักสิบเท่านั้น)   แต่ปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนน้อยมาก  แต่หลังจากที่มีข่าวการจับกุมตัวพลตรีจำลอง ก็มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการต่อต้านรัฐบาลพลเอกสุจินดาเป็นจำนวนมาก มีการรวมตัวกันไปประท้วงหน้าสถานทูตไทย และชุมนุมในสวนสาธารณะไฮด์ปาร์ค

เมื่อสอบถามเหตุผลของบรรดาผู้ที่ตัดสินใจมาร่วมไล่รัฐบาลพลเอกสุจินดา (ที่ก่อนหน้านั้น พวกเขาไม่มา)  คำตอบที่ได้รับตรงกัน คือ พวกเขาไม่พอใจที่รัฐบาลจับกุม “คนดี” อย่างพลตรีจำลอง ดังนั้น เหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่พอใจและตัดสินใจเข้าร่วมขับไล่รัฐบาล จึงไม่เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับคุณค่าประชาธิปไตยเท่ากับว่ารัฐบาล “ใช้อำนาจไปอย่างไร” และยิ่งรัฐบาลพลเอกสุจินดาตัดสินใจใช้อำนาจเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยแล้ว ก็ยิ่งขาดความชอบธรรมมากขึ้นเข้าไปอีก แต่พลเอกสุจินดาคิดว่า ตนเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างชอบธรรมตามครรลองของรัฐธรรมนูญ

อย่างในกรณีของจอมพลสฤษดิ์ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชมประทับใจ คือ “การใช้อำนาจ” ที่โดนใจคนส่วนใหญ่ในขณะนั้น (และอาจรวมถึงคนไทยจำนวนหนี่งในขณะนี้ด้วย)  แม้ว่าที่มาของอำนาจจะไม่ถูกต้องตามคุณค่าประชาธิปไตยก็ตาม  แต่คนไทยส่วนใหญ่ชื่นชมพอใจกับการใช้อำนาจไปอย่างเด็ดขาดในการจัดการกับคนที่พวกเขาประเมินแล้วว่าเป็น “คนไม่ดี” คนไทยส่วนใหญ่รับได้การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ว่าที่มาของอำนาจจะไม่เป็นประชาธิปไตย ตราบเท่าที่การใช้อำนาจนั้นถูกใจพวกเขา

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบห้า): หากจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 เขาจะครองอำนาจได้ยาวนานเหมือนผู้นำอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ?

และเมื่อเปรียบเทียบจอมพลสฤษดิ์กับจอมพลถนอม จะเห็นได้ชัดว่า จอมพลสฤษดิ์มีบุคลิกภาพที่เข้มแข็งและมีอำนาจบารมี มีการตัดสินใจที่เด็ดขาดและรู้จักใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อกรณีที่ประชาชนทั่วไปพอใจกับการใช้อำนาจเช่นนั้น  ในขณะที่ในสายตาของประชาชน จอมพลถนอมมีบุคลิกภาพที่อ่อนและไม่เด็ดขาด และไม่สามารถควบคุมจอมพลประภาสและพันเอกณรงค์ได้ (พันเอกณรงค์เป็นบุตรชายของจอมพลถนอมและเป็นบุตรเขยของจอมพลประภาส)

ดังนั้น หากสมมุติว่า จอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงแก่อสัญกรรมไปในปี พ.ศ. 2506  จึงเกิดคำถามว่า   เขาจะอยู่ในอำนาจได้ยาวนานเหมือนกับผู้นำอื่นๆในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หรือไม่ ?  ที่การอยู่ในอำนาจยาวนานดูจะเป็น “เทรนด์” (trend) หรือ “เส้นทางที่จะต้องเป็นเช่นนั้น” ของการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น นั่นคือ อย่างที่ได้นำแสนอไปในตอนที่แล้ว:

นาย ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ อยู่ในอำนาจต่อเนื่องกันเป็นเวลา 31 ปี (พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2533)

ประธานาธิบดีมาร์กอสของฟิลิปปินส์ อยู่ในอำนาจเกือบ 21 ปี (พ.ศ. 2508-2529)                    

ประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย อยู่ในอำนาจเป็นเวลา 32 ปี (พ.ศ. 2510-2541)                                    

มาฮาดีร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อยู่ในอำนาจนาน 22 ปี (พ.ศ. 2524-พ.ศ. 2546)                           

ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐพม่า คือ พลเอกอาวุโส ซอมองและพลเอกอาวุโส ต้านชเว ที่อยู่ในอำนาจนานถึง 23 ปี (พ.ศ. 2531-2554)                                                                                                 

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อยู่ในอำนาจจนปัจจุบันเป็นเวลา  24 (พ.ศ. 2541-  )                                           

ไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีลาว อยู่ในอำนาจเกือบ 16 ปี (พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2534)

ส่วนผู้นำไทยที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุด คือ จอมพล ป พิบูลสงคราม นั่นคือ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2481ถึง 2487 และ 2491 ถึง 2500 รวมระยะเวลา 14 ปี 11 เดือน นับเป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด   แต่ไม่ได้ต่อเนื่องเหมือนผู้นำอื่นๆในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กล่าวไปข้างต้นและระยะเวลาการครองอำนาจครั้งแรกของจอมพล ป. คือประมาณ 6 ปี (พ.ศ. 2481-2487)  ส่วนครั้งหลังเกือบ 9 ปี (พ.ศ. 2491-2500)  ขณะเดียวกัน การครองอำนาจครั้งหลังของจอมพล ปก็มีลักษณะที่แตกต่างไปจากครั้งแรก

จากการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองโดยรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ผู้อ่านท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตมาว่า “การอยู่ในอำนาจยาวนานของผู้นำในภูมิภาค SEA แต่ละประเทศ สุดท้าย ผลลัพธ์แตกต่างกันมาก เนื่องจากอะไร ?   คอรัปชั่น หรือ การบริหารที่ล้มเหลว ?”                                                                                                 

“บางคนเป็นกลายเป็นวีรบุรุษ บางคนกลายเป็นทรราช ไม่มีแผ่นดินอยู่” และ ตกลงแล้ว  “การอยู่นาน เป็นข้อดี หรือข้อเสีย ?”

ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวตอบคำถามดังกล่าว และกล่าวถึงลักษณะพิเศษของการครองอำนาจอันยาวนานในช่วงหลังของจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วย