posttoday

การคัดเลือก “บุคคลในตระกูลบุนนาค” เข้าดำรงตำแหน่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่สอง)

27 มกราคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************

การคัดเลือก “บุคคลในตระกูลบุนนาค” เข้าดำรงตำแหน่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่สอง) ในการคัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าพระราชบัญญัติฯจะกำหนดให้พระมหากษัตริย์สามารถคัดเลือกจากบุคคลที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มีคุณสมบัติโดดเด่น แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกพระบรมวงศานุวงศ์เลย แต่เลือกจากข้าราชการเท่านั้น และเลือกแต่เฉพาะระดับพระยาเท่านั้นด้วย ไม่มีชั้นเจ้าพระยา

ขณะเดียวกัน ในบรรดาสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจำนวนทั้งสิ้น 12 คนนี้ มีข้าราชการตระกูลบุนนาคอยู่ 2 คน นั่นคือ พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) และพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) แต่แม้ว่าจะเป็นคนในตระกูลเดียวกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ และน่าจะเป็นคนในฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ นั่นคือ เป็นคนละฝ่ายกับฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่จริงๆแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ !

การคัดเลือก “บุคคลในตระกูลบุนนาค” เข้าดำรงตำแหน่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่สอง)

           สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)          สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)

พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) หนึ่งในขุนนางตระกูลบุนนาคที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน แม้ว่าจะเป็นคนในตระกูลเดียวกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ และน่าจะเป็นคนในฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะพระยาศรีพิพัฒน์เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้เป็นน้องร่วมอุทรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) แต่สองพี่น้องตระกูลบุนนาคนี้ได้เกิดความขัดแย้งบาดหมางรุนแรงสืบมาตั้งแต่ พ.ศ. 2373 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความขัดแย้งในพี่น้องตระกูลบุนนาคระหว่างดิศกับทัต เกิดขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ไม่อาจปล่อยให้ขุนนางผู้ใหญ่ไม่ว่าผู้ใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จได้ พระองค์จึงสกัดกั้นไม่ไห้อำนาจของขุนนางผู้ใหญ่กระจุกตัว ด้วยการกำหนดให้ภาษีที่ตั้งขึ้นใหม่ทั้งหมดขึ้นกับจางวางพระคลังสินค้า ในขณะที่อากรซึ่งเป็นรายได้รูปแบบเดิมยังคงขึ้นกับพระคลังมหาสมบัติ พระองค์รับสั่งว่า การแยกแหล่งรายได้ใหม่นี้ออกจากพระคลังก็เพื่อจะช่วยให้ทราบว่าเงินรายได้แผ่นดินส่วนนี้มีมากน้อยประการใด จางวางพระคลังสินค้าคือ พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) นั้นเป็นน้องชายของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงอาศัยความอิจฉาหวาดระแวงกันในตระกูลบุนนาค ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดี มาช่วยป้องกันไม่ให้ขุนนางผู้ใหญ่มีโอกาสท้าทายพระราชอำนาจได้

และความหวาดระแวงในตระกูลที่เป็นที่รับรู้ชัดเจนมากขึ้นจากสาเหตุในปี พ.ศ. 2373-2374 เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ได้กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน นั่นคือ ปฏิเสธข้อเสนอที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเสนอให้เขาดำรงตำแหน่งพระยากลาโหม โดยเขาจะต้องทิ้งตำแหน่งกรมท่า (Minister of Trade) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็ทรงสนองตอบอย่างประนีประนอมอย่างน่าแปลกใจมากด้วยเช่นกัน

นั่นคือ พระองค์ทรงยอมให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ดำรงตำแหน่งกรมท่าต่อไปและขณะเดียวกันก็ให้รักษาการตำแหน่งพระยากลาโหมในเวลาเดียวกันด้วย สร้างความผิดหวังให้ พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) เพราะเขาคาดว่าจะได้รับการเสนอให้ขึ้นเป็นกรมท่าแทน แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเยียวยาความผิดหวังของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์โดยแต่งตั้งให้เขาเป็นเจ้าพระยายมราชดูแลกรมเวียง แต่เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจน้อยกว่ามาก และด้วยความหาญกล้าที่จะเทียบกับดิศ บุนนาคผู้พี่ ทัต บุนนาค จึงได้ตอบปฏิเสธเพื่อจะรักษาตำแหน่งที่มีเกียรติศักดิ์ศรีน้อยกว่า แต่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าในตำแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า

ความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างสองพี่น้องได้เพิ่มมากขึ้นเมื่อในปี พ.ศ. 2381 จากการที่มีการตัดสินโทษประหารชีวิตพระสุริยอภัย (สนิท) บุตรชายคนโตที่ทัต บุนนาคให้ความสำคัญมากและหวังจะให้เป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขา ในเหตุการณ์นี้ มีข่าวลือว่า ดิศ บุนนาคเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในข้อกล่าวหาอันร้ายแรงที่ว่า พระสุริยอภัยลักลอบติดต่อสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเจ้าจอมอิ่ม ทำให้ความบาดหมายระหว่างสองครอบครัวแห่งตระกูลบุนนาคทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดความเหินห่างทั้งทางกายภาพและความสัมพันธภาพ

ทางกายภาพคือ คลองที่แบ่งระหว่างที่อยู่อาศัยของทั้งสองครอบครัว ส่วนทางความสัมพันธ์คือ แต่ละครอบครัวไปวัดคนละวัดกัน นั่นคือ วัดประยูรวงศาวาทกับวัดพิชัยญาติการาม และมีการขุดคลองให้กว้างขึ้น (ปากคลองสาน ต่อมา เป็นคลองตลาดบ้านสมเด็จ)

การคัดเลือก “บุคคลในตระกูลบุนนาค” เข้าดำรงตำแหน่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่สอง)

                        วัดประยูรวงศาวาท                                                 วัดพิชัยญาติการาม

ความขัดแย้งในสายเลือดของสองพี่น้องได้นำไปสู่ความเหินห่างระหว่างสายประยูรวงศ์และสายพิชัยญาติในตระกูลบุนนาค สายประยูรวงศ์มุ่งมั่นที่จะรักษาตำแหน่งสำคัญในพระราชวังและการทหาร ส่วนสายพิชัยญาติเข้ากับฝ่ายวังหน้าและชุมชนพ่อค้าชาวจีน

ดิศ บุนนาคและทัต บุนนาคจะไม่ร่วมมือทำโครงการสำคัญอะไรด้วยกัน ยกเว้นการร่วมกันยกให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

แม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวศ์ (ช่วง บุนนาค บุตรของ ดิศ) จะครองอำนาจและความรุ่งเรืองอันยิ่งใหญ่จนไม่มีผู้ใดทัดเทียมได้ แต่เขาก็กลับไม่ได้พยายามที่จะริเริ่มการประสานความขัดแย้งระหว่างสายเลือด ซึ่งถ้าทำ อาจจะทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยงศ์และเครือญาติสามารถปกป้อง-----อำนาจอันยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีใครทัดเทียมได้-----จากปฏิกิริยาตอบโต้จากฝ่ายพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น

การคัดเลือก “บุคคลในตระกูลบุนนาค” เข้าดำรงตำแหน่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่สอง)

                พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)                                      สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ดังนั้น ความแตกแยกระหว่างคนในตระกูลบุนนาคที่เป็นผลจากนโยบายของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะใช้ไปเพื่อนำไปสู่การปรับสมการสัมพันธภาพของอำนาจทางการเมืองได้ นั่นคือ แต่งตั้งพระยาศรีพิพัฒน์ บุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน จากการที่พระยาศรีพิพัฒน์เป็นสายบุนนาคที่มีความบาดหมางอย่างรุนแรงกับบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ผู้เป็นบิดาของ ช่วง บุนนาค (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)

ส่วนเหตุผลในการแต่งตั้งพระภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ผู้เป็นน้องต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้เขียนได้เคยกล่าวไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ขอสรุปคร่าวๆอีกครั้งได้ว่า พระยาภาสกรวงศ์ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับสมเด็จเจ้าพระยา ฯ แม้จะเป็นพี่น้องกันก็ตาม

ด้วยเหตุผลห้าประการ คือ

ประการแรก พระยาภาสกรวงศ์เป็นน้องคนเล็กสุดของสมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอายุห่างกันถึง 41 ปี จึงมีช่องว่างระหว่างวัยกันมาก

ประการที่สอง แม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ เองจะสนใจและเปิดรับความรู้ตะวันตก แต่ไม่เคยไปศึกษาต่างประเทศ ดังนั้น ความสามารถในภาษาอังกฤษ ความรู้และการรับวัฒนธรรมตะวันตกจึงไม่เข้มข้นเท่าพระยาภาสกรวงศ์ที่ได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาถึงสามปีและไปในช่วงสำคัญของวัยด้วย นั่นคือ ในช่วงอายุ 15 ปี จึงมีช่องว่างระหว่างกันในส่วนนี้ด้วย

การคัดเลือก “บุคคลในตระกูลบุนนาค” เข้าดำรงตำแหน่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่สอง)

                       พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว                      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประการที่สาม ความเป็นตัวของตัวเอง หลังจากเปลี่ยนรัชกาล เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษายังเยาว์วัย และสมเด็จเจ้าพระยาฯ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คนที่จะไปเข้าเฝ้าใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะเป็นที่ตั้งข้อสงสัยระแวงของสมเด็จเจ้าพระยาฯ

แต่พระยาภาสกรวงศ์กลับไม่เกรงกลัวและกล้าที่จะไปเข้าเฝ้าใกล้ชิดและกราบบังคมทูลความต่างๆ อย่างไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด และให้ทรงใช้สอยโดยความสามิภักดิ์มิได้ครั่นคร้าม จึงได้สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัย และได้ทรงใช้สอยเป็นประโยชน์มากแต่นั้นมา และในขณะนั้นมีพระยาภาสกรวงศ์คนเดียวที่เป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษพอที่จะให้ค้นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแบบแผนต่างประเทศได้ และความเป็นตัวของตัวเองและความมั่นใจในตัวเองของพระยาภาสกรณ์นี้เป็นคุณสมบัติที่มีผู้สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เขาวัยเด็ก และดูเหมือนว่าเขาจะไม่สนใจที่ตนจะแปลกแยกกับญาติพี่น้อง

ประการที่สี่ เชื่อมโยงกับประการที่สาม ด้วยความเป็นคนรุ่น (generation) เดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่มีวัยใกล้เคียงกัน อายุห่างกันเพียง 3 ปีเท่านั้น ทำให้พระยาภาสกรวงศ์มีความสนิทสนมและเข้าใจกันได้มากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่มีวัยห่างกันถึง 41 ปี

ประการที่ห้า แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะมิได้ไปศึกษาในต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงได้รับการศึกษาจากครูชาวต่างชาติและเรียนรู้วิชาการตะวันตกพอสมควร และเมื่อเชื่อมกับประการต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว พระองค์จึงเป็นบุคคลที่พระยาภาสกรวงศ์ปรารถนาที่จะทำงานรับใช้สนองพระราชประสงค์ด้วยความกระตือรือร้นได้มากกว่า และด้วยอุปนิสัยมั่นใจตนเองอาจทำให้พระยาภาสกรวงศ์ไม่คิดว่าจะต้องอาศัยญาติพี่น้องในการขึ้นสู่อำนาจ แต่จะใช้วิธีการและช่องทางของตัวเอง โดยบทบาทและการกระทำของพระยาภาสกรวงศ์จะปรากฏให้เห็นชัดเจนในการต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่มสยามหนุ่ม (Young Siam) และกิจกรรมของสมาคมสยามหนุ่ม (Young Siam Society)และจากที่กล่าวไป ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่า ทำไมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงแต่งตั้งขุนนางจากตระกูลบุนนาค 2 คนเข้าไปเป็นกำลังสำคัญในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

(แหล่งอ้างอิง: กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน: 2562); Edward Van Roy, “Bangkok’s Bunnag Lineage from Feudalism to Constitutionalism: Unraveling a Genealogical Gordian Knot,” Journal of Siam Society, Vol. 108, Part. 2, 2020; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 1, (กรุงเทพฯ: บัณฑิตการพิมพ์, 2527))