posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสี่): เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กับการเดินทางไปรักษาตัวที่อเมริกาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

24 มกราคม 2565

.

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

******************

ภายใต้บริบทสงครามเย็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2501 เพื่อเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารวอลเตอร์ รีด ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์กองทัพบกสหรัฐฯที่ผู้นำทั้งของสหรัฐฯและต่างแดนมักจะเข้ารับการรักษาตัวที่นี่ และในช่วงที่ผู้นำต่างประเทศเข้ารักษาตัว ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสายงานที่เกี่ยวข้องก็มักจะใช้โอกาสที่ผู้นำต่างชาติเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งนี้เข้าพบปะหารือ ซึ่งเข้าใจว่า น่าจะเป็นการหารือแบบไม่เป็นทางการหรือแบบลับ

อย่างเช่น ในกรณีของนายผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีลาว ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2502 เขาได้เดินทางไปสหรัฐฯโดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะรายงานสถานการณ์ทางการเมืองในลาวต่อองค์การสหประชาชาติด้วยตัวของเขาเอง และได้ถือโอกาสนั้น เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเดียวกันนี้ และอีกสองเดือนต่อมาได้เกิดรัฐประหารในลาวขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2502 โดยนายพลภูมี หน่อสวรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตามนายผุยไปสหรัฐฯในเดือนตุลาคมด้วย และการทำรัฐประหารครั้งนั้น มีข้อมูลว่า ทางการสหรัฐฯได้มีส่วนสนับสนุน

ขณะเดียวกัน หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์รับการรักษาตัวและเดินทางกลับประเทศไทย อีกเก้าเดือนต่อมา จอมพลสฤษดิ์ได้ทำรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501  โดยก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 หลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้หนีออกนอกประเทศไปจากการประท้วงและความไม่สงบที่มีสาเหตุมาจากการทุจริตการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 และจอมพลสฤษดิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งในสถานการณ์ขณะนั้น หากเขาจะยืนยันตัวเองให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ย่อมจะกระทำได้ แต่กระนั้น จอมมพลสฤษดิ์ก็ยังไม่ตัดสินใจเป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่ได้เสนอชื่อนายพจน์ สารสิน ให้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม พ.ศ.2500  พลโทถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าพรรคชาติสังคมได้เป็นนายกรัฐมนตรี และเช่นกัน ณ เวลานั้น หากจอมพลสฤษดิ์ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ก็ย่อมได้ เพราะขณะนั้น เขาเป็นหัวหน้าพรรคชาติสังคม และในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี คนที่มีสิทธิ์ขาดในการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคชาติสังคมและเป็นผู้บัญชาการทหารบกด้วย

แต่หลังจากที่เขาเดินทางกลับจากสหรัฐฯ และทำการรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ.2501 คราวนี้ จอมพลสฤษดิ์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง

ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์จะเดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐฯในเดือนมกราคม พ.ศ.2501  นายบิชอพบ (Max Waldo Bishop) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยได้โทรเลขรายงานไปยังกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯในวันที่  26 ธันวาคม พ.ศ. 2500 โดยในประเทศไทยขณะที่ส่งโทรเลขนั้นคือ ตอนห้าโมงเย็น

ข้อความในโทรเลขกล่าวว่า พันเอกเฉลิมชัย (จารุวัสตร์ ยศขณะนั้น ต่อมาเป็นพลเอก ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เป็นผู้วางแผนการพัฒนาและดำเนินการจัดตั้งโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนเตลอัน ต่อมาได้สร้างศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ที่เปิดกิจการในปี พ.ศ 2516 โดยเป็นศูนย์การค้าระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย/ผู้เขียน) นายทหารคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ได้ขอนัดพบตนอย่างฉุกเฉิน และได้เปิดเผยว่า จอมพลสฤษดิ์ได้มีอาการป่วยอย่างรุนแรงในวันอังคารตอนเช้าเวลาตีหนึ่ง (วันอังคารที่ 24 ธันวาคม/ผู้เขียน) มีเลือดออกภายในใกล้บริเวณตับ  แพทย์เกรงว่าน่าจะเป็นผลจากการเคยเป็นไข้มาลาเรียสมัยที่จอมพลสฤษด์ยังหนุ่มๆ และน่าจะส่งผลต่อม้ามด้วย แพทย์ทุกคนลงความเห็นว่า จอมพลสฤษดิ์จะต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ และที่ๆดีที่สุดสำหรับการผ่าตัดคือ สหรัฐอเมริกา

ซึ่งนายบิชอพได้กล่าวในโทรเลขว่า ก่อนหน้านี้ เขาได้เคยบอกจอมพลสฤษดิ์ไปว่า หากตัดสินใจจะไปรับการรักษาตัวในต่างประเทศ เขาจะยินดีอย่างยิ่งที่จะทำทุกอย่างที่จะช่วยในการจัดการเรื่องนี้ในสหรัฐฯ และการที่พันเอกเฉลิมชัยมาหาตนเพื่อให้ช่วยติดต่อโรงพยาบาลวอลเตอร์ รีด ก็น่าจะสืบจากการที่เขาได้เคยเอ่ยปากเสนอความช่วยเหลือจอมพลสฤษดิ์ไว้ เพราะจอมพลสฤษดิ์เองก็ทราบมาว่า โรงพยาบาลนี้น่าจะเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุด

นายบิชอพยังรายงานให้ทางกระทรวงต่างประเทศทราบว่า ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลวอลเตอร์ รีด ทางรัฐบาลไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วย พันเอกเฉลิมชัยได้บอกอีกว่า ตัวเขาและนายแพทย์ท่านหนึ่งจะเดินทางล่วงหน้าไปก่อนโดยต้องการไปเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ น่าจะราวระหว่างวันที่ 5-10 มกราคม ส่วนจอมพลสฤษดิ์และภริยาและนายแพทย์อีกสามคนและคณะผู้ติดตามจำนวนไม่มากนักจะเดินทางไปในราวๆกลางเดือนมกราคม และจะพักที่ลอนดอนสัก 3 หรือ 4 วัน แล้วค่อยเดินทางต่อไปยังกรุงวอชิงตัน  และคณะที่ล่วงหน้าไปก่อนจะพยายามเช่าบ้านใกล้โรงพยาบาล ถ้าสามารถนัดหมายให้จอมพลสฤษดิ์เข้ารับการรักษาได้

ซึ่งนายบิชอพได้ย้ำขอ (โดยใช้คำว่า “urge”) ไปยังกระทรวงต่างประเทศว่า ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรจะจัดตามที่จอมพลสฤษดิ์ขอ  เพราะนายบิชอพให้เหตุผลว่า ไม่ว่าจอมพลสฤษดิ์จะคงมีอำนาจในประเทศไทยหรือไม่ ท่าทีของสหรัฐฯในการช่วยเหลือจอมพลสฤษดิ์ น่าจะทำให้ทางกองทัพและประชาชนไทยทั่วไปมีความรู้สึกที่ดีต่อสหรัฐฯนั่นหมายความว่า นายบิชอพต้องการให้ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯช่วยจัดแจงดูแลเตรียมการต่างๆเกี่ยวกับการหาบ้านเช่าของคณะที่ล่วงหน้าไป รวมทั้งคณะผู้ติดตามจอมพลสฤษดิ์ และจัดการนัดหมายการเข้ารับการรักษาพยาบาลของจอมพลสฤษดิ์ที่โรงพยาบาลวอลเตอร์ รีดให้ได้ เพราะในความเข้าใจของนายบิชอพ  แม้ว่าจอมพลสฤษดิ์จะไม่มีได้มีตำแหน่งใดๆในคณะรัฐมนตรี แต่เป็นข้าราชการทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก แต่จริงๆแล้ว จอมพลสฤษดิ์คือผู้มีอำนาจทางการเมืองตัวจริง

ดูเหมือนว่า นายบิชอพจะต้องการสร้างความประทับใจหรือผูกใจกับจอมพลสฤษดิ์ไว้ โดยการแสดงให้เห็นว่า เขาสามารถดูแลจอมพลสฤษดิ์ได้จริงๆ ตามที่เขาได้เคยเอ่ยปากไว้ก่อนหน้าที่จอมพลสฤษดิ์จะล้มป่วย  ด้วยเหตุนี้ เขาจึงกำชับในตอนท้ายโทรเลขว่า “ไม่ว่าจอมพลสฤษดิ์จะคงมีอำนาจในประเทศไทยหรือไม่ ท่าทีของสหรัฐฯในการช่วยเหลือจอมพลสฤษดิ์ น่าจะทำให้ทางกองทัพและประชาชนไทยทั่วไปมีความรู้สึกที่ดีต่อสหรัฐฯ”

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถือว่า นายบิชอพมอง “จอมพลสฤษดิ์” ได้ “ขาด” และถูกต้อง เพราะจอมพลสฤษดิ์ถือว่าเป็นบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองมากที่สุดในขณะนั้น และต่อมา ก็มีอำนาจยืนยาวต่อไปอีก 5 ปีจนถึง พ.ศ. 2506  หากไม่ถึงแก่อสัญกรรมไปเสียก่อน จอมพลสฤษดิ์ก็น่าจะเป็นผู้นำทางการเมืองไทยที่อยู่ในอำนาจต่อเนื่องอีกยาวนาน คู่ขนานไปกับ “เทรนด์” ของการอยู่ในอำนาจยาวนานของผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสามทศวรรษของสงครามเย็น ได้แก่

นาย ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ อยู่ในอำนาจต่อเนื่องกันเป็นเวลา 31 ปี (พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2533)

ประธานาธิบดีมาร์กอสของฟิลิปปินส์ อยู่ในอำนาจเกือบ 21 ปี (พ.ศ. 2508-2529)

ประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย อยู่ในอำนาจเป็นเวลา 32 ปี (พ.ศ. 2510-2541)

มาฮาดีร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อยู่ในอำนาจนาน 22 ปี (พ.ศ. 2524-พ.ศ. 2546)

ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐพม่า คือ พลเอกอาวุโส ซอมองและพลเอกอาวุโส ต้านชเว ที่อยู่ในอำนาจนานถึง 23 ปี (พ.ศ. 2531-2554)

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อยู่ในอำนาจจนปัจจุบันเป็นเวลา  24 (พ.ศ. 2541-  )

ไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีลาว อยู่ในอำนาจเกือบ 16 ปี (พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2534)

และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า นายบิชอพได้ส่งโทรเลขฉบับนี้ไปยังสหรัฐฯในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2500  สามวันหลังจากที่ส่งฉบับแรกไปวันที่ 23 ธันวาคมที่แจ้งให้ทางสหรัฐฯชะลอและทบทวนการให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณแก่รัฐบาลไทย หลังจากต้องมีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ธันวาคม  และโทรเลขเรื่องการขอให้กระทรวงต่างประเทศช่วยจัดแจงเตรียมการดูแลจอมพลสฤษดิ์และคณะผู้ติดตามในกรณีการเข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลวอลเตอร์ รีดก็ส่งไปก่อนโทรเลขฉบับวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2500 ที่นายบิชอพเปลี่ยนความเห็นเรื่องการงดการช่วยเหลือมาเป็นการยืนยันให้ทางสหรัฐฯต้องช่วยเหลืองบประมาณแก่รัฐบาลไทยเป็นจำนวนเงิน 25 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (ถ้าเทียบค่าเงินในปัจจุบันคือ 250 ล้านเหรียญ)  ซึ่งทำให้ทางกระทรวงต่างประเทศสงสัย และต้องโทรเลขกลับมาถามเหตุผลจากนายบิชอพในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2500

กล่าวได้ว่า โทรเลขเรื่องขอให้ดูแลเรื่องการเข้ารับการรักษาตัวของจอมพลสฤษดิ์ เกิดขึ้นระหว่างโทรเลขที่เสนอให้ชะลอและทบทวนการให้เงินช่วยเหลือรัฐบาลไทยกับโทรเลขที่นายบิชอพเปลี่ยนใจยืนยันว่าต้องให้ความช่วยเหลือ

ถ้าตีความโทรเลขทั้งสามฉบับนี้  ทำให้ได้ข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนท่าทีและความเห็นต่อรัฐบาลไทยของนายบิชอพน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่พันเอกเฉลิมชัยมาขอเข้าพบนายบิชอพอย่างฉุกเฉินนี้เอง  และเชื่อว่า นอกจาก พันเอกเฉลิมชัยจะมาขอให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯช่วยติดต่อเรื่องโรงพยาบาลแล้ว น่าจะมีบทสนทนาอื่นๆอีกที่เราไม่ทราบ แต่มีความสำคัญยิ่ง อันส่งผลให้นายบิชอพประมวลสถานการณ์ทางการเมืองไทยใหม่ อันนำไปสู่การส่งโทรเลขยืนยันให้ทางสหรัฐฯช่วยเหลือด้านงบประมาณในอีกสี่วันต่อมา

อย่างไรก็ตาม นายบิชอพได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยมาตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2499  และหลังจากที่เขาได้ส่งโทรเลขตอบทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯในวันที่ 4 มกราคม  พ.ศ.2501 ถึงเหตุผลที่เขาเปลี่ยนท่าทีมาแนะนำให้สหรัฐฯคงความช่วยเหลือด้านงบประมาณแก่รัฐบาลไทย ต่อมาอีกสองวัน คือ วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2501 วาระการเป็นเอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยของเขาก็ได้สิ้นสุดลง ซึ่งก็ต้องหาข้อมูลกันต่อไปว่า การหมดวาระนี้เป็นกระบวนการปกติ ที่นายบิชอพทราบล่วงหน้าอยู่แล้ว หรือเขายังไม่แน่ใจว่า จะหมดหรือจะได้อยู่ต่อ เพราะการทราบล่วงหน้าหรือไม่ทราบนั้น น่าจะมีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจการตัดสินใจและท่าทีที่เขามีต่อจอมพลสฤษดิ์และรัฐบาลไทยภายใต้จอมพลสฤษดิ์                                                                                                          

(แหล่งอ้างอิง: http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ผู้รักษาพระนคร;   457. Telegram From the Embassy in Thailand to the Department of State, Bangkok, December 26, 1957—5 p.m.; FOREIGN RELATIONS OF THE UNITED STATES, 1958–1960, SOUTH AND SOUTHEAST ASIA, VOLUME XV459. Telegram From the Embassy in Thailand to the Department of State https://history.state.gov/historicaldocuments/frus1958-60v15/d459 )