posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสาม): จาก สฤษดิ์-ถนอม ถึง ประวิทย์-ประยุทธ์ ?

17 มกราคม 2565

.

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**********************

ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐอเมริกามีความกังวลทุกครั้งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใกล้จีนและโซเวียต  เพราะสหรัฐฯมีความกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในสงครามเย็น

ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารครั้งแรกในลาวในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2502  ในไทยเรา มีการเปลี่ยนรัฐบาล อันเกิดจากการที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนไม่พอใจการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่า “สกปรกที่สุด” ในยุคนั้น ส่งผลให้เกิดความสับสนวุ่นวายทางการเมือง จนเป็นสาเหตุให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยในเดือนกันยายน  ส่วนจอมพล ป พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ได้หนีออกจากประเทศไป  มีการตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นโดยให้นายพจน์ สารสินเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดให้การเลือกตั้งขึ้นใหม่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500

หลังการเลือกตั้งใหม่ พลโทถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501

ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลนี้เองที่นายบิชอพ (Max Waldo Bishop) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยได้ส่งโทรเลขรายงานไปยังนายโรเบิร์ตสัน (Walter Spencer Robertson) ผู้ดำรงผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝ่ายกิจการตะวันออกไกลของสหรัฐฯ เขาได้ให้ความเห็นว่า ทางสหรัฐฯควรชะลอการให้งบประมาณความช่วยเหลือแก่ไทย แต่หลังจากส่งโทรเลขฉบับนั้นไปเพียงเจ็ดวัน นายบิชอพก็ส่งโทรเลขไปใหม่และยืนยันให้สหรัฐฯส่งเงินช่วยเหลือให้รัฐบาลไทยเป็นจำนวน 25 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (ถ้าเทียบค่าเงินในปัจจุบันคือ 250 ล้านเหรียญ)  การเปลี่ยนคำแนะนำอย่างหน้ามือเป็นหลังมือภายในเจ็ดวัน (ฉบับแรกส่งไปวันที่ 23 ธันวาคม อีกฉบับส่งไปวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2500) ทำให้นายโรเบิร์ตสันต้องโทรเลขกลับมาถามเหตุผลจากนายบิชอพในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2500                                                                                     

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสาม): จาก สฤษดิ์-ถนอม ถึง ประวิทย์-ประยุทธ์ ?

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสาม): จาก สฤษดิ์-ถนอม ถึง ประวิทย์-ประยุทธ์ ?

เหตุผลของนายบิชอพคือ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้พลโทถนอมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีหน้าเก่า ขณะเดียวกัน การตั้งตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หากพิจารณาบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว นั่นคือ พลโทประภาส จารุเสถียร เพราะขณะนั้น เขาเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก นั่นคือ ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 โดยได้รับพระราชทานยศเป็นพลโทในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่พลโทถนอมเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั่นคือ นายบิชอพกำลังแจ้งให้ทางสหรัฐฯทราบว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2500 จนถึงขณะนั้น ในส่วนของกองทัพ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจ

ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศก็ยิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะ “พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” (พระองค์วรรณฯ)  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เรื่อยมาจนถึงสมัยพลโทถนอม นายบิชอพได้ให้ความเห็นไปว่า “พระองค์วรรณฯ” น่าจะได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” โดยนายบิชอพใช้คำว่า “elder statesman” และถือเป็นหลักประกันสำคัญต่อฝ่ายตะวันตก ซึ่งก็น่าจะหมายถึงนโยบายและจุดยืนในการเมืองระหว่างประเทศของไทยนั่นเอง 

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสาม): จาก สฤษดิ์-ถนอม ถึง ประวิทย์-ประยุทธ์ ?

ส่วนการแต่งตั้งให้นายสุกิจ นิมมานเหมินท์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการนั้น นายบิชอพเห็นว่า น่าจะเป็นการยอมรับและให้รางวัลในฐานะที่นายสุกิจตัดสินใจยุบพรรคของตนเพื่อมาเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของจอมพลสฤษดิ์  สืบเนื่องมาจากที่นายสุกิจได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เชียงใหม่และเป็นหัวหน้าพรรคสหภูมิที่ได้ ส.ส. เข้าสภาถึง 44 คน แม้ว่าจะเป็นพรรคที่มี ส.ส. มากที่สุด แต่ไม่สามารถหา ส.ส. ได้ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร นายสุกิจจึงได้ยุบพรรคสหภูมิและไปเข้าพรรคชาติสังคมที่จอมพลสฤษดิ์ตั้งขึ้น

นายบิชอพยังรายงานต่อไปว่า พลโทถนอมยอมรับว่ามีปัญหาในการจัดรายชื่อคณะรัฐมนตรี เพราะรายชื่อที่ส่งไปก่อนหน้านี้ ถูกจอมพลสฤษดิ์ตีกลับมาให้ทบทวนอยู่หลายครั้ง ซึ่งในช่วงที่มีการตีกลับมาหลายครั้งนี่เองที่น่าจะส่งผลต่อโทรเลขฉบับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2500  ของนายบิชอพที่แนะนำในให้สหรัฐฯชะลอการให้งบประมาณความช่วยเหลือต่อรัฐบาลไทย  แต่ในโทรเลขฉบับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2500   นายบิชอบได้ตอบข้อสงสัยของนายโรเบิร์ตสันโดยอธิบายว่า ปัญหาความยุ่งยากในการตั้งคณะรัฐมนตรีในประเทศไทยขณะนั้น อาจจะเป็นกระบวนการปกติที่ตัวนายกรัฐมนตรีต้องขอความเห็นชอบจากหัวหน้าพรรคชาติสังคม

ผมเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีกลับไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค และหัวหน้าพรรคกลับไม่ได้เป็นนายกฯ นั่นคือ พลโทถนอม ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นรองหัวหน้าพรรค ส่วนหัวหน้าพรรคคือ จอมพลสฤษดิ์ ส่วนเลขาธิการพรรค คือ แม่ทัพภาคที่หนึ่ง พลโทประภาส จารุเสถียร  มันคงเป็นปรากฏการณ์ที่เข้าใจได้ยากสำหรับชาวตะวันตกที่อยู่ในประเทศที่การเมืองพัฒนามีความชัดเจนลงตัว ดังนั้น สภาพการณ์ที่แปลกๆคลุมเครือแบบนี้เองที่นายบิชอพรายงานไปว่า มันแสดงให้เห็นว่าอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงยังคงอยู่ที่จอมพลสฤษดิ์ผู้บัญชาการทหารบก

ฝรั่งคงงงกับการเมืองไทยขณะนั้นที่รองหัวหน้าพรรคได้เป็นนายกฯ แต่หัวหน้าพรรคไม่ได้เป็น แต่การตัดสินว่าใครควรจะได้เป็นรัฐมนตรีอยู่ที่จอมพลสฤษดิ์ หัวหน้าพรรคชาติสังคมและเป็นผู้บัญชาการทหารบก ต่อเมื่อนายบิชอพพอจะปะติดปะต่ออะไรได้ ก็เลยอธิบายไปว่า น่าจะเป็นสภาพการณ์ปกติของการเมืองไทยในขณะนั้น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสาม): จาก สฤษดิ์-ถนอม ถึง ประวิทย์-ประยุทธ์ ?

ดูๆไปแล้ว การเมืองไทยขณะนี้ ก็ไม่ต่างจากสมัยโน้นเท่าไรนัก นั่นคือ คนเป็นหัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นนายกฯ นั่นคือ พลเอกประวิทย์ เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ประหลาดมากเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์  เพราะอย่างน้อย พลเอกประวิทย์ก็เป็นรองนายกฯ

ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะประหลาดจากพลโทถนอม ตรงที่พลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในพรรคพลังประชารัฐเลย ในขณะที่พลโทถนอมเป็นรองหัวหน้าพรรค  และที่เหมือนกันกับสมัยโน้นอีกก็คือ สามตำแหน่งสำคัญเป็นทหารหมด นั่นคือ ในยุค พ.ศ. 2500  นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคและเลขาพรรคคือ พลโทถนอม จอมพลสฤษดิ์ และพลโทประภาส ส่วนในยุค พ.ศ. นี้ ก็มี พลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิทย์ และผู้กองธรรมมนัส

แต่ที่แตกต่างกันจนน่าจะ “ต้องคิดให้มากๆ”  ก็คือ สมัยโน้น พลโทถนอม จอมพลสฤษดิ์ และพลโทประภาสยังเป็นนายทหารในราชการ พูดง่ายๆก็คือ ยังมีอำนาจคุมกำลังอยู่  จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้บัญชาการทหารบก พลโทถนอมและพลโทประภาสยังมีตำแหน่งในกองทัพ  ขาไม่ลอย ส่วนพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิทย์ และผู้กองธรรมมนัส  ขาลอยหมด !  และจะเห็นได้ว่า สามทหารขาไม่ลอยอยู่ได้ยาวมากจากพ.ศ. ต้นปี พ.ศ. 2501 ยาวมาจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516  มีจอมพลสฤษดิ์ที่ถึงแก่อสัญกรรมไปเสียก่อนในปี พ.ศ. 2506

ส่วนสามทหารเสือยุคนี้ สองคนคือ พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงขณะนี้ มีผู้กองธรรมมนัสมาเสริมกำลังเมื่อจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562  หากคิดจะอยู่ยาว ก็นึกไม่ออกว่า จะมีฐานอะไรให้อยู่ได้ยาวถึง 16 ปีได้เหมือนยุคนั้น นี่ก็อยู่มาได้จะครบแปดปี  อยู่ในอำนาจจากรัฐประหารเสียห้าปี และกึ่งเลือกตั้งกึ่งสืบทอดอำนาจอีก 3 ปี

พูดไปพูดมา ลืม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ไปได้อย่างไร ? ท่านจะอยู่ตรงไหนในสมการการเมืองปัจจุบัน ?                                                                                                                                   

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสาม): จาก สฤษดิ์-ถนอม ถึง ประวิทย์-ประยุทธ์ ?

กลับมาที่รายงานของนายบิชอพเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีของไทยภายใต้พลโทถนอม นายบิชอพได้กล่าวไว้ในตอนท้ายของโทรเลขฉบับนั้นว่า  คุณพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและเลขาธิการเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ./SEATO) ได้โทรศัพท์มาหาเขา และกล่าวสั้นๆว่าพอใจกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้

แต่นายบิชอพได้ให้ความเห็นต่อท้ายเสริมไปว่า ตัวเขาไม่ได้มองในด้านบวกแบบนั้นเท่าไรนัก หากพิจารณาถึงสมาชิกทั้งสามที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งนายบิชอพหมายถึง พลโทถนอม พลโทประภาสและจอมพลสฤษดิ์ และเขาเรียกบุคคลทั้งสามนี้ว่า “dubious members”  !

แต่อย่างไรก็ตาม เขาบอกนายโรเบิร์ตสัน ในภาพรวม อย่าคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างประเทศหรือภายในประเทศ

และในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอีก 9 เดือนต่อมา ก็คือ จอมพลสฤษดิ์ชวนพลเอกถนอม (ได้เลื่อนจากพลโทเป็นพลเอกวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2501) ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกถนอม  และคราวนี้ จอมพลสฤษดิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเองในที่สุด !!! หลังจากที่ให้นายพจน์ สารสินและพลโทถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนหน้านี้ ส่วนพลเอกถนอมเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลโทประภาสยังคงดำรงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเหมือนครั้งที่อยู่ในรัฐบาลพลเอกถนอม

แต่ตัวรัฐมนตรีต่างประเทศเปลี่ยนจาก “พระองค์วรรณฯ” เป็นพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์

(แหล่งอ้างอิง: FOREIGN RELATIONS OF THE UNITED STATES, 1958–1960, SOUTH AND SOUTHEAST ASIA, VOLUME XV459. Telegram From the Embassy in Thailand to the Department of State https://history.state.gov/historicaldocuments/frus1958-60v15/d459