posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (15)

15 มกราคม 2565

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

ในปี 2521ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยปรารภว่า “อยากจะวางมือจากการเมือง”

ตอนนั้นท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีอายุได้ 66 ปี นับว่ายังไม่ได้สูงอายุมากนักสำหรับอาชีพทางการเมือง และท่านก็เพิ่งพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาได้เพียงปีเศษ ๆ รวมทั้งที่ได้แพ้การเลือกตั้งแก่นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่4 เมษายน 2519 แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าท่านจะเบื่อการเมือง เพราะยังเขียนคอลัมน์ข้าวนอกนามาจนถึงที่เปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็น “ซอยสวนพลู” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐอย่างสนุกสนาน รวมถึงที่ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างดุเดือดอยู่เป็นระยะ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นตอนใกล้จะสิ้นปี 2521 เพราะได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2521ในวันที่ 22ธันวาคมปีนั้น หลายท่านอาจจะแปลกใจว่า มันเกี่ยวอะไรกันกับช่วงเวลานั้น ซึ่งคำตอบก็ไม่ได้เกี่ยวกับช่วงเวลา แต่เป็นเรื่องของ “ตัวรัฐธรรมนูญ” ที่มันเป็น “ตัวปัญหา” ซึ่งคนที่ติดตามการเมืองอยู่ในยุคนั้นน่าจะพอจำเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้บ้าง

ประการแรก มันเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในยุคเผด็จการ โดยการกำกับของคณะทหารที่เรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” แม้ว่าคณะทหารนั้นจะบอกว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยว (เช่นเดียวกันกับรัฐธรมนูญที่ร่างในยุคเผด็จการทุกฉบับ ทหารที่ปกครองอยู่ก็จะพูดแบบนี้ทั้งสิ้น) แต่ก็ออกมาในแนวที่ทหารกำหนดหรือต้องการ หลัก ๆ ก็คือ คงอำนาจไว้ที่กองทัพหรือคณะทหารให้มาก เช่น ให้มีวุฒิสภาที่มาจากข้าราชการที่ประกอบด้วยทหารเป็นส่วนใหญ่นั้น เพื่อค้ำจุนรัฐบาลและถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎร ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ให้มีอำนาจมากนัก หรือสร้างสภาวะความยุ่งยากให้เกิดขึ้นกับเหล่าผู้แทนราษฎร อย่างที่รัฐธรรมนูญ 2521สร้างขึ้นก็คือ ไม่ให้มีระบบพรรค ส.ส.สมัครในนามอิสระ และให้อำนาจ ส.ว.เท่าเทียมกับ ส.ส. เช่น ร่วมตั้งนายกรัฐมนตรี และร่วมลงคะแนนในกฎหมายสำคัญ ๆ ได้ ส.ส.จึงทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ (ดู ๆ ไปก็น่าจะเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือฉบับ คสช.นี้ ที่แม้ว่าจะมีพรรคการเมือง แต่ก็ออกกฎหมายลูกให้พรรคการเมืองอ่อนแอ รวมถึงที่ทำให้ ส.ส.มีแต่ความวุ่นวาย เพื่อให้ประชาชนเบื่อหน่ายนักการเมือง)

อีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญ2521เป็นรัฐธรรมนูญที่ส่อให้เห็นถึงความพยายามของทหารที่จะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด จนทำให้นักการเมืองหลาย ๆ คนในยุคนั้นออกมาก่นด่าและตั้งฉายาให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างเสีย ๆ หาย ๆ เช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน ตั้งฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับหมาเมิน” นายวีระ (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า วีระกานต์) มุสิกพงศ์ ตั้งฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับฟันเน่า” เป็นต้น อันเนื่องมาจากความไม่ชอบมาพากลของรัฐธรรมนูญบับดังกล่าว ที่สื่อมวลขนในสมัยเรียกว่า “หมกเม็ด” คือซ่อนกับดักเกี่ยวกับการให้ทหารเข้าแทรกแซงกลไกในระบบรัฐสภาและในรัฐบาลได้ง่าย รวมถึงที่ชะลอไม่ให้ประชาธิปไตยได้พัฒนาไปได้ง่าย ๆ โดยวางขั้นตอนการพัฒนาประชาธิปไตยไว้ 3 ขั้นตอน ๆ ละ 4 ปี รวม 12ปี (คุ้น ๆ ไหมว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็วางหมาก “หมกเม็ด” เรื่องนี้ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดการสืบทอดอำนาจของทหารให้อยู่ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 20 ปี)

สำหรับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านก็ได้เขียนบทความรวมถึงให้สัมภาษณ์ติติงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้พอสมควร แต่ออกจะเป็นแนวที่มองโลกในแง่ดี คือให้รอดูเหตุการณ์ข้างหน้าไปก่อน แต่สำหรับตัวท่านเองนั้นก็รู้สึกเหมือนกับนักการเมืองอีกหลาย ๆ คน ที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ส่งเสริมระบอบรัฐสภา แต่ส่งเสริมระบอบทหาร รวมถึงที่ไม่ได้มองเห็นอนาคตที่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตย ด้วยมองเห็นว่าทหารจะยังคงควบคุมระบบการเมืองของประเทศนี้ไปอีกนาน และไม่คิดว่าจะเล่นการเมืองต่อไปดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2522 ท่านก็ทนการรบเร้าของบรรดาเพื่อนฝูงและลูกศิษย์ลูกหาในพรรคกิจสังคมไม่ไหว ก็นำอดีตสมาชิกพรรคกิจสังคมลงเลือกตั้งอีกครั้ง และได้เป็น ส.ส.กรุงเทพฯด้วยคนหนึ่ง แต่ก็ด้วยกลไกที่ทหารวางหมากหมกเม็ดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2521ดังที่กล่าวมานั้น ทำให้ ส.ส.มีสภาพเป็นเบี้ยหัวแหลกหัวแตก หลายพรรคใหญ่ ๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย รวมถึงพรรคกิจสังคม ก็มี ส.ส.ถูกดึง(ส่วนใหญ่ถูกซื้อ)ให้ไปหนุนพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป

และด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ไม่ได้ให้มีพรรคการเมือง สภาจึงระส่ำระสายมาก เพราะผู้แทนราษฎรสามารถเล่นตัวกับรัฐบาลได้ตลอดเวลา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้หวาดหวั่น เพราะมี ส.ว.หนุนอยู่อีกทั้งสภา ซึ่งจุดนี้ที่รัฐบาลไว้ใจวุฒิสภานี่เอง ได้นำมาซึ่งหายนะของรัฐบาลในอีกเวลาไม่ถึงปี

นั่นก็คือ พอขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2523มีกระแสข่าวกระจายไปในวงกว้างว่า จะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หลายคนรวมทั้ง ส.ส.จำนวนมากไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นจริงได้อย่างไร เพราะเสียง ส.ส.เมื่อรวมกับ ส.ว.แล้วยังแข็งปั๋งแน่นปึ้ก รวมถึงคำถามกันให้แซดไปทั้งสภาว่า “ใครนะที่จะมาแทนเกรียงศักดิ์” ซึ่ง “ซือแป๋สวนพลู” คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เป็นผู้หนึ่งที่พอจะตอบคำถามนี้ได้ แต่ท่านก็เก็บเสียงเงียบไว้

จนกระทั่งมีการยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาลเกี่ยวกับราคานำมันแพงในตอนต้นเดือนมีนาคม2523ท่านก็เริ่มบอกกับคนในพรรคให้เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนนั้นผมจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเรียบร้อยแล้ว และได้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการตัวจริงอย่างเต็มตัว ก็ได้ติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปร่วมประชุมพรรคกิจสังคม(แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายรับรองให้มีพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ก็ยังเกาะกลุ่มกันอยู่ตามปกติ)ทุกครั้ง จึงได้เห็นปรากฏการณ์นี้อย่างชัดเจน

ตอนนั้นสื่อมวลชนเรียกปรากฏการณ์ที่กำลังจะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีว่า “ข้อมูลใหม่” อันเป็นที่เข้าใจกันในหมู่ผู้ทำงานสื่อสารมวลชนในแนวการเมืองนั้นว่า หมายถึงการที่ผู้มีอำนาจที่แท้จริงในบ้านเมืองได้พิจารณาเลือกสรรนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมาแทนพลเอกเกรียงศักดิ์นั้นแล้ว “ข้อมูลเก่า” ที่ว่ารัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์จะอยู่คงทนไปอีกหลายปีนั้น ได้ “เปี๊ยนไป” แล้ว โดยมี “ข้อมูลใหม่” ที่ว่าพลเอกเปรมกำลังมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่นั้นเป็นเรื่องที่กำลังจะเป็นไปได้จริง ๆ

ว่ากันว่า พลเอกเปรมนั้นคือ “ตาอยู่” ที่เข้ามาหยิบชิ้นปลามัน เอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญ2521ตั้งใจให้อยู่ไปให้นานที่สุดนั้นเอาไปกิน ทั้งที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินวางแผนเรื่องนี้ไว้ให้กับพลเอกเกรียงศักดิ์ และนี่ถ้าพลเอกเปรมท่านไม่เบื่อตัวเอง และพูดกับสื่อหลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ที่สื่อถามว่า “ป๋าจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปไปไหม” แล้วท่านก็ตอบว่า “ป๋าพอแล้ว” พลเอกเปรมก็น่าจะยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกนาน

ตอนนี้น่าจะมีใครไปถามพลเอกประยุทธ์บ้างนะว่า “ลุงจะเป็นนายกฯต่อไปอีกไหม”

******************************