posttoday

ความเป็นมาของคนไตและผู้คนในภูมิภาคนี้

14 มกราคม 2565

โดย...โคทม อารียา

*************

ผมสนใจความเป็นมาของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิ ส่วนหนึ่งเป็นความอยากรู้ (เพราะไม่รู้) อีกส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากอยู่ในความไม่รู้ที่นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมชอบปั้นแต่งให้หลง จึงหาหนังสือมาอ่านบ้าง อ่านวิกิพีเดียบ้าง ยอมรับว่ายังสับสนอยู่มาก กระนั้น ขอสรุปความเข้าใจเบื้องต้น เผื่อผู้อ่านคนใดใจเมตตา จะได้ช่วยแก้ไขความไม่รู้ของผม

หนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้ข้อมูลที่ได้ศึกษาค้นคว้าไว้อย่างน่าเชื่อถือ กระนั้นผู้เขียนได้ออกตัวว่า “ยังไม่ได้พบร่องรอยความหมายของคำ สยาม ในด้านดูถูกเหยียดหยาม ... หากมีหลักฐานชัดเจนว่า เป็นคำเรียกอย่างดูถูกซึ่งเกิดเรียกในภาษาหนึ่งใดก่อน เช่นนี้แล้วก็โปรดอย่าได้ตกใจหรือปฏิเสธผลงานค้นคว้านี้เสีย เพราะมันอยู่ในข่ายความเป็นไปได้ และอาจจะถูกต้องแท้จริงยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าได้สมมุติชั่วคราวไว้” หมายความว่า การศึกษาค้นคว้าพึงดำเนินต่อไป โดยไม่ปักธงไว้ล่วงหน้า แล้วเรียงความให้เข้ากับธงที่ปักไว้

จิตรได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของอินเดียไว้ด้วย โดยกล่าวถึงชนต่าง ๆ ที่ได้อพยพเข้าสู่อินเดียเป็นยุค ๆ ดังนี้

ชนพวกแรกคือชนเผ่าเนกริโต เป็นคนรูปร่างเล็กจากแอฟริกา ปัจจุบันมีร่องรอยเหลืออยู่ในรัฐอัสสัมตะวันออกและรัฐนาคาของอินเดีย และเป็นพวกเดียวกับ ซาไก เซมังในมลายูและเงาะในไทย

ชนพวกที่สองที่เข้าสู่อินเดียคือชนเผ่าออสตริกจากภูมิภาคเมดิเตอเรเนียนตะวันออก รูปร่างขนาดกลาง พัฒนาภาษาของตนเป็นสองภาษา คือตระกูลออสโตร-เอเชียติก (ตระกูลมอญ-เขมร) และตระกูลออสโตรเนเซียน (ตระกูลชวา-มลายู)

ชนพวกที่สามคือชนเผ่าทราวิฑจากอิหร่าน พูดภาษาตระกูลทราวิฑ (ทมิฬ) สร้างอารยธรรมโบราณที่ลุ่มน้ำสินธุ (โมเหนโช-ธาโร และหรัปปา) เคารพเทวดาผู้หญิงหรือเทพี (เพิ่งผ่านยุคที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ในสังคมมาไม่นาน)

ชนพวกที่สี่คือชนเผ่าอารยัน มาจากที่ราบสูงระหว่างยุโรปกับเอเชีย รูปร่างสูง ชำนาญการขี่ม้าและยิงธนู จึงปราบพวกทราวิฑได้สำเร็จ (ดังความในมหากาพย์รามเกียรติ์) นับถือเทวะผู้ชาย มีบทสวดสรรเสริญพระเจ้า มีความก้าวหน้าทางสังคมการเมืองมากกว่าใคร ถืออำนาจการปกครองเหนือชนเผ่าอื่น ๆ ที่ถูกเหยียดหยามและเอารัดเอาเปรียบ

ชนพวกที่ห้าคือชนเผ่ามงโกล เริ่มเข้าสู่อินเดียทางตะวันออกเฉียงเหนือในระยะเวลาใกล้เคียงกับชาวอารยัน โดยอพยพมาจากลุ่มน้ำฮวงโห และแยงซีเกียง พูดภาษาตระกูลทิเบต-จีน แต่ส่วนใหญ่ถูกภาษาและวัฒนธรรมอารยันกลืนหายไป กลุ่มสุดท้ายที่เข้าสู่อินเดียทางด้านนี้คือ ไทอาหม เมื่อราว พ.ศ. 1750-1800 นี้เอง

คำถามที่พึงหาคำตอบคือ “คนไทยมาจากไหน” คำตอบแบบชาตินิยมที่ว่ามาจากเทือกเขาอัลไตนั้น ขอตัดทิ้งไป เพราะไม่มีหลักฐานรองรับ เอาแต่คำพ้องในคำว่าอัลไต กับคำว่า ไต ที่ใช้เรียกภาษาตระกูล ไต-ไท คงไม่พอ เหมือนกับที่จิตรล้อเลียนไว้ว่า เราพลิกพจนานุกรมภาษาสันสกฤต ค้นหาคำแปลของชื่อชนชาติ “ส่วย” หรือพลิกพจนานุกรมพม่า แล้วร้องด้วยความตื่นเต้นว่า “ค้นพบแล้ว ส่วย เป็นภาษาพม่าแปลว่า ทองคำ!” ฉะนั้น

สุจิตต์ วงศ์เทศ ให้คำตอบทำนองว่า คนไทยไม่ได้มาจากไหน อยู่ในพื้นที่นี้มาแต่โบร่ำโบราณ ประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ แบบ “ร้อยพ่อพันแม่” คำตอบนี้น่ารับฟัง แต่ยังทิ้งคำถามอยู่ว่า ทำไมชนที่พูดภาษาตระกูล ไต-ไท และมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน จึงกระจายอยู่ในภูมิภาคนี้ ในทิศตะวันตกตั้งแต่รัฐอัสสัมของอินเดีย ไปทางทิศตะวันออกถึงชาวไทดำ เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) ในเวียดนาม

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ว่า ข้อมูลเดิมสิ่งที่เคยเข้าใจกันมาคือ คนไทก่อตั้งหรือมีส่วนร่วมในแกนกลางอาณาจักรใหญ่ในจีน 2-3 แห่งจากเสฉวนถึงยูนนาน ทำให้เราเห็นว่าการเคลื่อนย้ายต้องมาจากเหนือลงใต้ แต่การศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์จีน ซึ่งใช้เอกสารกว้างขวางกว่าที่ฝรั่งเคยใช้มา พบว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะจากหลักฐานเอกสารสะท้อนว่าไม่มีตรงไหนเลยที่แสดงว่าคนไทมีส่วนร่วมในนั้น

นักประวัติศาสตร์จีนพบว่า ที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า คือ คนไทน่าจะอยู่ปนกับกลุ่มที่จีนเรียกว่า ‘เยว่’ ทางตอนล่างของลุ่มน้ำแยงซีในเขตซึ่งเป็นที่ราบไปจนถึงบริเวณที่ติดฝั่งทะเล เดิมพวกเยว่นี้คงมีหลายเผ่าพันธุ์มาก เพราะบางครั้งจีนเรียกว่า พวกร้อยเยว่ ซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นมาสร้างรัฐหลายแห่ง แต่ไม่ใช่รัฐใหญ่ในบริเวณที่ปัจจุบันอาจเป็นมณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางสี และอื่น ๆ ในแถบนั้น

ปรากฏว่า ราว พ.ศ. 200 จีน ภายใต้ราชวงศ์ฮั่นยกทัพมาปราบปราม เยว่ ส่วนหนึ่งหนีจีนขึ้นเขา บนพื้นที่ซึ่ง ศ.เจมส์ สก็อตต์ เรียกว่าโซเมีย (Zomia) ซึ่งมาจากคำว่า ‘โซมี’ ในภาษาตระกูลทิเบต-พม่า แปลว่า ‘คนที่อยู่บนที่สูง’ ครอบคลุมพื้นที่ในอุษาคเนย์ จีน อินเดีย และบังกลาเทศ ราว 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร เมื่อกลุ่มเยว่หนีขึ้นเขาแล้ว ที่เหลือไม่ได้ขึ้นเขาซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่ายอมอยู่ภายใต้อำนาจจีน และถูกจีนกลืนไป เพราะฉะนั้นจะพบว่าจีนทางตอนล่าง ไม่ได้พูดภาษาจีนกลาง แต่พูดภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในอีกราว 1,000 ปีต่อมา คือช่วง พ.ศ.1200-1300 (ตรงกับสมัยทวารวดี) จีนพัฒนาที่ราบบริเวณนี้หลายอย่าง เพราะต้องการได้สินค้า แถบนี้เป็นพื้นที่ซึ่งเรืออาหรับขึ้นมาถึง จึงมีการพัฒนาเมืองท่าขึ้นมา ยิ่งพัฒนามากขึ้น มีคนอพยพขึ้นโซเมียและอพยพลงมากขึ้น โดยเฉพาะลงไปปล้น เมื่อพื้นที่ราบเจริญมั่งคั่งก็ถูกปล้น จีนเลยต้องส่งกองทัพมาปราบอยู่เสมอ

ตลอดช่วงเวลา 1,000 ปีนี้ ถามว่า คนไทอยู่ไหน มีคนไทหรือยัง ไม่มีหลักฐาน แต่ราว พ.ศ.1200-1300 คนจีนพูดถึงกลุ่มคนป่าเถื่อนที่มีอัตลักษณ์ เช่น กลุ่มที่ย้ายไปยังลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งก็คือพวก ‘ชาน’ ตรงไหนมีหุบเขา เป็นพื้นที่ไม่ใหญ่ จะเป็นที่อยู่ของพวกไต-ไท ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตามประเพณี เช่น เมื่อพ่อเสียชีวิตที่ดินจะถูกยกให้ลูกคนเล็ก แล้วลูกคนโตต้องย้ายออกไป ทำให้กลุ่มพวกนี้เคลื่อนย้ายเยอะมาก ตั้งแต่ ราว พ.ศ.1,300 ลงมา (สมัยทวารวดี)

คนจีนเริ่มพูดถึงคนป่าเถื่อนเป็นกลุ่มเฉพาะกว่าพวกเยว่ โดยกลุ่มเฉพาะมีอัตลักษณ์ชัดเจน เอกสารจีนบันทึกว่า คนป่าเถื่อนแถวต้นแม่น้ำโขง เคลื่อนย้ายไปอยู่แถวต้นแม่น้ำสาละวิน คือ พวกชานโดยอาศัยพื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์ จิตรได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า คำว่า ชาน ชาม สาม สฺยามฺ สฺยํ สฺยํกุกฺ ชาวเสียมแห่งลุ่มน้ำกก (เสียมกุก) ล้วนเป็นคำที่ชนชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ (ในพม่า ในจามปา ในนครหลวง ในจีน ฯลฯ) ใช้เรียกคนในเมิงไต เช่นในรัฐชาน สรุปก็คือ ชาน คือ สยาม และเป็นคำที่ใช้เรียก คน ถ้าจะใช้เรียกดินแดนอาจใช้คำว่า สยามเทสะ หรือสยามประเทศ (ชื่อที่เป็นทางการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนเปลี่ยนเป็นประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482) หรือ Siam (ตามฝรั่ง) หรือ เมืองไทย

แล้วคำว่า ไต หรือ ไท มีวิวัฒนาการและความหมายอะไร ในเรื่องนี้ จิตรสรุปว่า

1.เป็นชื่อชนชาติตระกูลภาษา ไท-ไต มีความหมายดั้งเดิมว่า คนสังคม (ไม่ใช่คนในความหมายของคนธรรมดาที่แตกต่างจากสัตว์) หรือคนเมือง

2.เป็นชื่อวรรณะหรือฐานันดรทางสังคม ซึ่งแปลว่าเสรีชน

3.เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า อิสระ เอกราช

4.เป็นคำวิเศษณ์และคำนาม แปลว่าผู้เป็นใหญ่คือ ไท มีความหมายที่ดี ใช้สำหรับปฏิเสธในกรณีที่ชนชาติอื่นจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นที่มีความหมายเชิงลบ เช่น เย่ว์ ฮวน ฯลฯ จิตรยังพยายามตอบคำถามอีกว่า ทำไมจึงมี ย พ่วงท้ายคำว่า ไท ด้วย เขามีคำตอบในเรื่องนี้ว่า ไทยยุคพระยาลิไทนั้น กำลังเฟื่องภาษาบาลี ภาษาบาลีนั้นไม่มีสระ ไอ เมื่อจะเขียน ไท ด้วยภาษาบาลี ก็ต้องแผลงเป็น เทยฺย ความคลั่งในภาษาบาลีจึงทำให้ ไทย เขียนมี ย ติดมาจนถึงทุกวันนี้

ปราชญ์ทางวิทยาศาสตร์หลายคนมักพูดเสมอว่า ที่เขามีข้อค้นพบที่สำคัญได้นั้น เป็นเพราะ “เขายืนบนไหล่ของยักษ์” ถ้าไม่มี “ยักษ์ (giant)” ที่ได้ช่วยบุกเบิกเส้นทางเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เขาจะไม่มีทางผลิตผลงานได้อย่างที่เห็น แต่ประวัติศาสตร์สังคมมักถูกจารึกโดยผู้ชนะสงคราม ซึ่งมีแต่จะกดผู้แพ้ลงเป็นเชลย เป็นนางกลางเมือง เป็นทาส ฯลฯ มีการปล้นสะดม การดูถูกเหยียดหยามต่าง ๆ นานา บ่อยครั้ง ผู้ชนะคือผู้มีอาวุธที่เหนือกว่า มีเล่ห์กลที่โหดเหี้ยมกว่า หาใช่ผู้ที่มีศิลปะวัฒนธรรมที่เหนือกว่าไม่บ่อยครั้งที่ผู้ชนะดูดซับวัฒนธรรมของผู้แพ้มาเป็นของตน

ชาวไตในอดีตเคยปล้นผู้ที่อยู่ในพื้นราบทางใต้ของจีน เคยจัดขบวนเรือไปปล้นในที่ไกลถึงแหลมมลายู แม้เมื่อได้สร้างบ้านแปงเมือง ก็ยังติดนิสัยเดิม ๆ คือ มีความโลภในทรัพย์สินของผู้อื่น ยังโชคดีที่ภูมิภาคแห่งนี้มีวัฒนธรรมมาก่อนที่จะมี “เมืองไต” นับพันปี มีการรับพุทธศาสนามาก่อนที่ชาวไตจะประกาศว่า “รักสงบ” อย่างที่โฆษณาอยู่นี้นับพันปี อันที่จริง เราควรรู้คุณ มิใช่ดูถูกผู้ที่เราพิชิตให้พ่ายแพ้

ชนชาติที่คลุกคลีกับพม่าในยุคโบราณ ที่มีอักษรศาสตร์เจริญรุ่งเรืองมีสองชาติคือ ผิ่ว และมอญ ผิ่วเป็นการออกเสียงตามพม่าปัจจุบัน แต่เรามักออกเสียงว่า ปฺยู ตามภาษาอังกฤษ Pyu จิตรอธิบายว่า พม่าโบราณพอแบ่งได้เป็น 4 ภาคใหญ่ ๆ คือ ภาคเหนือเป็นถิ่นของชาวพม่า ภาคเหนือสุดและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นถิ่นของชาวไต ภาคกลางเป็นถิ่นของชาวผิ่ว ภาคใต้เป็นถิ่นของชาวมอญและกะเหรี่ยง วิกิพีเดียให้ข้อมูลว่า นครรัฐปยู เป็นกลุ่มนครรัฐที่มีอยู่ประมาณระหว่าง พ.ศ. 350 ถึง 1600 ระยะเวลากว่าหนึ่งพันปีนี้มักเรียกกันว่า สหัสวรรษของปยู ซึ่งเชื่อมโยงกับยุคสัมฤทธิ์ ชาวปยูพูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่า เมื่อ พ.ศ. 651 มอญที่อยู่ทางใต้ยกทัพไปรุกราน ทำให้ชาวปยูต้องหนีไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เมืองพุกามเก่า

หลังจากนั้น มอญบ้างพม่าบ้างผลัดกันมีอำนาจปกครองปยู เมื่อ พ.ศ. 1379 อาณาจักรน่านเจ้ายกทัพมารุกรานและทำลายอาณาจักรปยูย่อยยับ มอญได้ต้านทัพน่านเจ้าและเข้าครอบครองภาคกลางและภาคใต้ได้ระยะหนึ่ง ในที่สุดอาณาจักรมอญถูกพระเจ้าอโนรทาของพม่าทำลายเมื่อ พ.ศ. 1593 ชาวปยูก็ถูกกลืนสูญหายไป อันที่จริง ชาวปยูเป็นชนชาติแรกที่รับพุทธศาสนา ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 800 และเป็นผู้เผยแผ่พุทธศาสนาให้แก่ชาวมอญและชาวพม่าในลำดับต่อมา

วิกิพีเดียบอกว่า มอญ เป็นชนชาติเจ้าของอารยธรรมอันเก่าแก่ในแผ่นดินพม่า ปัจจุบันอาศัยอยู่บริเวณพม่าตอนล่างในรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา เขตตะนาวศรี เขตพะโค ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี และหลายพื้นที่ของประเทศไทย ภาษามอญ มีการใช้มานานประมาณ 3,000-4,000 ปี จารึกภาษามอญที่เก่าแก่เป็นจารึกที่เขียนด้วยตัวอักษรปัลลวะ ที่ยังไม่ได้ดัดแปลงให้เป็นอักษรมอญ ประมาณ พ.ศ. 1600 เป็นต้นมา มีบันทึกทั้งภาษามอญและอักษรมอญ ซึ่งพม่าก็รับอักษรมอญมาใช้เขียนภาษาพม่าเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลปะวัฒนธรรมมอญนั้นได้กลายเป็นศิลปะวัฒนธรรมของพม่าไปหมด กล่าวอีกนัยหนึ่ง ศิลปะวัฒนธรรมส่วนใหญ่นั้นพม่าได้รับไปจากมอญ

ไทยก็เช่นกัน ได้รับอิทธิพลด้านดนตรีจากมอญมามาก เช่น รับวงปี่พาทย์มอญ ดนตรีไทยที่มีชื่อเพลงว่ามอญนั้น นับได้ 17 เพลง เช่น มอญดูดาว มอญชมจันทร์ มอญนกขมิ้น ฯลฯ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะที่เรียกว่าเปิงมางนั้นเป็นเครื่องดนตรีของมอญ ซึ่งไทยเรานำมาทำคอกล้อมเป็นวงกลมหลายวงเรียกว่า เปิงมางคอก และเครื่องดนตรีเช่น ปี่มอญ ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ จะเข้ ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากมอญ

อันที่จริง ชาวไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชาวเขมรมากเช่นกัน แต่ที่เน้นถึงชาวปยูและชาวมอญในที่นี้ เพราะเรายังเราระลึกถึงบุญคุณทางวัฒนธรรมของพวกเขาน้อยไปบ้าง

คำถามสุดท้ายที่น่าจะหาคำตอบก็คือ ชาติพันธุ์ หมายถึงอะไร สุจิตต์เสนอว่าชาติพันธุ์ไทยไม่มีอยู่ เพราะ ไทย เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องของสายพันธุ์ คือคนไทยมี “ร้อยพ่อพันแม่” หมายความว่าคนที่อาศัยในแผ่นดินไทยมีพันธุ์กรรมที่หลากหลายมาก ผมเลยอยากรู้ว่า “พันธุกรรม” นั้น มีทางสืบสาวให้ถึงสายพันธุ์ได้ไหม พอดีได้อ่านบทความของวิภู กุตะนันท์ ผู้พบคำตอบ ‘คนไทยมาจากไหน’ บนเกลียวดีเอ็นเอ

หลังจากศึกษาดีเอ็นเอทุกรูปแบบ วิภูสรุปว่าคนไทยภาคกลางเป็นคนมอญ ซึ่งคำตอบนี้แตกต่างจากดีเอ็นเอคนภาคเหนือและดีเอ็นเอคนภาคอีสาน

การศึกษาดีเอ็นเอของวิภูแบ่งเป็นสองส่วน คือการศึกษาดีเอ็นเอของคนในปัจจุบัน ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และเปรียบเทียบกับประชากรอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าประชากรหลักในภาคเหนือของไทย (คนเมือง) มีดีเอ็นเอคล้ายกับชาวไตจากสิบสองปันนา (ประเทศจีนตอนใต้) ส่วนคนอีสานมีดีเอ็นเอที่มีการผสมผสานระหว่างกลุ่มประชากรที่พูดมอญ-เขมรกับดีเอ็นเอของคนไทยในสิบสองปันนา ซึ่งดีเอ็นเอของคนอีสานมีความต่างระหว่างชายกับหญิง ผู้หญิงอีสานมีดีเอ็นเอเหมือนคนไทยสิบสองปันนา

ในขณะที่ผู้ชายอีสานมีดีเอ็นเอเหมือนคนมอญ-เขมร เรื่องนี้น่าจะบ่งบอกเหตุการณ์ในอดีตและรูปแบบของการอพยพ เมื่อทั้งชายและหญิงกลุ่มใหญ่ที่อพยพมาพบกับประชากรดั้งเดิมที่เป็นคนมอญ-เขมร ได้มีการแต่งงานกัน ทำให้ดีเอ็นเอของคนอีสานในปัจจุบันเป็นแบบนี้

ส่วนคนไทยภาคกลางและภาคใต้มีดีเอ็นเอที่เหมือนดีเอ็นเอของชาวมอญ และยังพบว่าดีเอ็นเอของคนภาคกลางและภาคใต้ยังมีบางส่วนเหมือนกับชาวอินเดียตอนใต้ ซึ่งแสดงถึงการผสมผสานทางพันธุกรรมจากเอเชียใต้สู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งสามารถประมาณอายุได้ 600-700 ปี ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาของไทย

ดูเหมือนว่าสุจิตต์ถูกเพียงครึ่งเดียว คือถ้ามองในระดับปัจเจก อาจไม่สามารถระบุว่าคนไทยเป็นอนุชนของใคร แต่ถ้ามองในระดับมหภาค พอบอกได้ว่าบรรพชนคนภาคกลางและภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นมอญ คนภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นชาวไต ผู้หญิงอีสานส่วนใหญ่เป็นชาวไต และผู้ชายอีสานส่วนใหญ่เป็นมอญ-เขมร แต่เรื่องนี้คงไม่สำคัญเท่าไร ถ้าถือว่าทุกคนมีสัญชาติไทย มีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน