posttoday

การพัฒนาสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ (ตอนที่สี่สิบสาม): ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลง

13 มกราคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***********

สมัยรัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นตามแบบสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ด้วยทรงเห็นว่า ประชาชนเริ่มขาดความเชื่อมั่นไว้วางใจในองค์พระประมุขของประเทศแล้ว เพราะปัญหาความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดี และระหว่างเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ โดยทรงคาดหวังว่า การตั้งองคมนตรีสภาจะช่วยทำให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวในกลุ่มพระราชวงศ์ชั้นสูง และสร้างความศรัทธาในพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยเร็ว เพื่อที่จะอาศัยประชาชนเป็นฐานอำนาจในการรักษาราชบัลลังก์และกลุ่มพระราชวงศ์ชั้นสูง โดยอภิรัฐมนตรีสภาจะต้องเป็นองคมนตรีมาก่อน

ซึ่งตำแหน่งองคมนตรีนี้เกิดขึ้นหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาเรื่ององคมนตรีสภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์ พ.ศ. 2435 ที่มาแทนสภาที่ปรึกษาในพระองค์ พ.ศ. 2417 อภิรัฐมนตรีสภามีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการการเมืองการปกครองและนโยบายของประเทศ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอภิรัฐมนตรีสภามีทั้งสิ้น 5 พระองค์ และหนึ่งในนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีควบคู่ไปด้วย

แม้ว่า ในแง่หนึ่ง การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาจะตามแบบสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เป็นการเลียนแบบในแง่ของการจัดตั้งองค์กรสถาบันทางการเมือง แต่ในการคัดเลือกแต่งตั้งบุคคลเป็นอภิรัฐมนตรีกลับแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

การคัดเลือกแต่งตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์จัดตั้งองค์กรสถาบันที่เป็นทางการที่เปิดพื้นที่ให้มีคณะบุคคลได้มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจทางการเมือง หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือเป็นการสร้างฐานอำนาจทางการเมืองแบบ “การเมืองที่ดึงคนเข้า” ทั้งที่ระเบียบในการแต่งตั้งกำหนดให้เลือกได้ทั้งจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กลับทรงเลือกแต่ข้าราชการในระดับพระยาเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการดึงคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะทางสังคมและการเมืองชั้นสูง ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการระดับเจ้าพระยาขึ้นไป การเลือกแต่เฉพาะข้าราชการระดับพระยาทำให้พระมหากษัตริย์สามารได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการระดับรองที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นฐานกำลังของพระองค์ได้

นอกจากจะเป็น “การเมืองแบบดึงเข้าแล้ว” ยังถือได้ว่าเป็นการขยายสิทธิ์อำนาจทางการเมืองให้กว้างขึ้นด้วย แม้จะยังไม่ลงไปถึงราษฎรสามัญที่มีความรู้ความสามารถก็ตาม แต่การแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีสภาที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ไม่รักษาเจตนารมณ์เดิมที่แต่งตั้งข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถให้เข้ามาเป็นฐานกำลังของพระมหากษัตริย์ และยังไปแต่งตั้งในแบบ “การเมืองที่กีดกันคนออก” คือแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีสภาจากพระพรมวงศานุวงศ์และข้าราชการระดับสูง

ข้อดีคืออาจจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการกระชับอำนาจ แต่ข้อเสียคือทำให้เกิดการรวบอำนาจที่จำกัดให้อยู่แต่ในวงแคบและสร้างความแปลกแยกให้เกิดขึ้นกับข้าราชการทหารและพลเรือนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมา ทั้งๆ ที่จัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินผ่านมาแล้วถึง 51 ปีนั้น ควรจะใช้โอกาสนี้สร้างรากฐานและขยายอำนาจเพื่อให้ข้าราชการรุ่นใหม่ดังกล่าวมาเป็นฐานกำลังของพระมหากษัตริย์ เพราะเมื่อเทียบข้าราชการในสองรัชกาลนี้จะพบว่า สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ข้าราชการมีความรู้ความสามารถมากกว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ อันเป็นผลพวงของการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย

ตามบันทึกของยาสุกิจิ ยาตาเบ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า “การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภานี้ในระยะแรก ประชาชนทุกคนมีความปลาบปลื้มปิติ แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. 1932 ตำแหน่งเสนาบดีรวม 9 ตำแหน่งนั้น ปรากฏว่า 6 ตำแหน่งเป็นของเจ้านาย

เพราะฉะนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ บรรดาพวกข้าราชการที่จะประจบสอพลอประมาณ 2-3 คนจะมีอำนาจและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการเล่นพวกพ้องและการประจบสอพลอ อย่างไรก็ดี ข้อบกพร่องของการเมืองมิได้มีสาเหตุมาจากระบบ แต่อยู่ที่ตัวบุคคล ดังจะเห็นได้ว่า ภายหลังจากการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นแล้ว ฐานะและอำนาจทางการเมืองของเจ้านายทวีเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก

นอกจากนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่าตำแหน่งเฉพาะของอภิรัฐมนตรีสภาและตำแหน่งเสนาบดีต่างๆ ต้องเป็นของพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น และครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีตำแหน่งต่างๆ ยิ่งใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตำแหน่งสำคัญๆ ของรัฐบาลมีลักษณะผูกขาด การเมืองสยามในสมัยนั้นจึงไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่โดยแท้จริงแล้วเป็นระบอบคณาธิปไตยของพวกเจ้านายเสียมากกว่า และเมื่อจำต้องมีการเลื่อนชั้นข้าราชการตำแหน่งสำคัญๆ ปรากฏว่ามีการใช้เส้นสายเป็นอันมาก ความไม่พอใจของบรรดาข้าราชการพลเรือนและทหารจึงทวีเพิ่มมากขึ้น”

จากที่กล่าวมานี้ หากพิจารณาการเมืองต้นรัชกาลที่ 5 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 จะพบว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จนถึง พ.ศ. 2417 การเมืองการปกครองเป็นแบบผสมที่อภิชนาธิปไตย (กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค) มีอำนาจนำเหนือราชาธิปไตย และมาสู่การปกครองแบบผสมที่ราชาธิปไตยมีอำนาจนำเหนืออภิชนาธิปไตยในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 โดยการสถาปนาตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารและยกเลิกตำแหน่งวังหน้า การสืบสันตติวงศ์ไม่ต้องผ่าน “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความสับสนวุ่นวายทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลได้

แต่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเป็นปัญหาดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่การเมืองสมัยอยุธยา นั่นคือ ผู้ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ตามสายโลหิต ถ้าไม่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนอย่างแท้จริงจากที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดี จะอยู่ในสถานะที่ไร้เสถียรภาพความมั่นคง ประกอบกับพระบุคลิกภาพของพระมหากษัตริย์ที่ไม่เข้มแข็งหรือไม่สามารถสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นได้หลังขึ้นครองราชย์ ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ อันนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาต่อภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์โดยรวมในสายตาของข้าราชการและประชาชน เพราะข้อดีของการสืบราชสันตติวงศ์โดยตำแหน่งมกุฎราชกุมารคือความชัดเจนแน่นอน

แต่ข้อเสียคือ การขัดกับหลักหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านการปกครองโดยชนชั้นนำของปาเรโต (Pareto’s circulation of power) ที่ชนชั้นนำที่จะขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครอง (governing elite) ควรมีความถนัดตามเงื่อนไขความต้องการของบริบทขณะนั้น แต่ข้อเสียของหลักนี้คือไม่สามารถกำหนดตัวไว้ได้ล่วงหน้าเป็นเวลานาน ย่อมสร้างเงื่อนไขให้เกิดการแข่งขันกัน และเมื่อถึงช่วงสิ้นรัชกาลก็จะเกิดความสับสนอลหม่านขึ้น

แต่ถ้าวางหลักการไว้แน่นอนว่า การขึ้นครองราชย์จะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะบุคคลที่ประกอบไปด้วยพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ ก็อาจจะแก้ปัญหาความสับสนวุ่นวายไปได้ ดังที่ผู้เขียนได้ตีความว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ “เอนกนิกรสโมสรสมมุติ” เป็นประเพณีการปกครองสำหรับการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์สืบเนื่องต่อไป กระนั้น ปัญหาก็จะกลับมาสู่วังวนที่ทำให้กลุ่มขุนนางมีอำนาจอิทธิพลเหนือพระมหากษัตริย์อย่างที่เคยเกิดขึ้นอยู่ดี

แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดในการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและไม่ได้ใช้พระราชอำนาจทางการเมืองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั่นคือเป็นการปกครองในระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือการปกครองแบบผสมที่อภิชนาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนครองอำนาจนำเหนือราชาธิปไตย แต่ถ้าให้ราชาธิปไตยมีอำนาจนำเหนืออภิชนาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง การสืบราชสันตติวงศ์ก็จะกลับมาเป็นปัญหาทางสองแพร่งระหว่างการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลหรือการสืบราชสันตติวงศ์ตามมติของที่ประชุมสภา

และหากการสืบสานสถาบันพระมหากษัตริย์กลับกลายเป็นปัญหามากกว่าจะเป็นข้อได้เปรียบเหนือรูปแบบการปกครองอื่น การมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมือง

ดังนั้น จึงน่ากลับไปพิจารณาให้ความสำคัญกับเงื่อนไขในการธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์หรือราชาธิปไตยที่อริสโตเติลได้กล่าวไว้ว่า “โดยทั่วไป วิธีการธำรงรักษาราชาธิปไตยก็คือวิธีการที่ตรงกันข้ามกับวิธีการที่ทำลาย สถาบันกษัตริย์จะยั่งยืนนานได้ก็โดยการจำกัดอำนาจ ยิ่งมีอำนาจน้อยเท่าไร ก็จะยั่งยืนโดยไม่เสียหายยาวนานมากขึ้นเท่านั้น เมื่อกษัตริย์ทรงกระทำการด้วยการไตร่ตรองอย่างระมัดระวัง ไม่พยายามใช้อำนาจตามอำเภอใจ พระองค์ก็ไม่ต่างจากพลเมืองของพระองค์ และพลเมืองก็จะอิจฉาพระองค์น้อยลง”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล (พ.ศ. 2467) แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า รัชทายาทในรัชกาลที่ 6 ที่ประสูติตอนใกล้สวรรคตนั้นจะเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา และกฎมณเฑียรบาลก็เพิ่งประกาศขึ้นเพียงหนึ่งปีก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะเสด็จขึ้นครองราชย์

และด้วยปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นทำให้พระองค์ตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นซึ่งนำไปสู่การปกครองแบบผสมที่อภิชนาธิปไตยมีอำนาจนำเหนือราชาธิปไตย ในขณะที่ข้าราชการทหารและพลเรือนสามัญชนชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นมาภายใต้ระบบราชการสมัยใหม่ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และได้กลายเป็นกลุ่มคณะบุคคลกลุ่มใหม่ที่ขึ้นมาท้าทายสมการแห่งอำนาจการปกครองแบบผสมที่อภิชนาธิปไตยครองอำนาจนำเหนือราชาธิปไตย

โดยอำนาจทางการเมืองเหล่านี้ล้วนถูกผูกขาดแต่บุคคลที่เป็นเจ้าโดยส่วนใหญ่เท่านั้น (ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างๆตั้งแต่ พ.ศ. 2435-2475 เป็นเชื้อพระวงศ์ถึง 46 พระองค์และเป็นสามัญชนเพียง 8 คน) แม้ว่าจะมีหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเตรียมที่จะให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่การปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันจะมีสภาที่ตัวแทนมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ดังที่ปรากฏพระราชทานสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์เมื่อครั้งเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2474 ว่า ประเทศสยามจะมีรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญในอีกไม่นานนี้

และพระองค์ได้ทรงให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นโดยกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ที่ไม่ได้อยู่ในคณะอภิรัฐมนตรีสภาเป็นผู้ยกร่างโดยปรึกษาร่วมกับพระยาศรีวิศาลวาจา และที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ นายเรมอนด์ บี สตีเวนส์ แต่การยกร่างดังกล่าวถือเป็นความลับชั้นสูงสุด จึงไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จเรียบร้อยและอยู่ในพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสาเหตุที่พระองค์ต้องปิดเป็นความลับอย่างยิ่งน่าจะเป็นเพราะคณะอภิรัฐมนตรีสภาที่พระองค์ตั้งขึ้นมานั้นไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญในช่วงเวลานั้น (อภิรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)

สังเกตได้ว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7 ยังเป็นปัจจัยเดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามกรอบแนวคิดของลินซ์ สเตพานและมินอเวฟ-ไทรเควล (Linz, Stepan, and Minoves-Triquell) หากพิจารณาจากทฤษฎีการปกครองแบบผสม จะพบว่า คณะบุคคลมีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์ และพยายามที่จะรักษาสมการทางการเมืองในสัมพันธภาพทางอำนาจที่ฝ่ายตนครองอำนาจนำ

หากเปรียบเทียบกับกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของเดนมาร์กจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2392 จะพบว่า เมื่อมีกระแสรณรงค์เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญระหว่าง พ.ศ. 2385-2391 พระมหากษัตริย์เดนมาร์ก พระเจ้าคริสเตียนที่ 8 ได้ทรงประกาศว่าพระองค์ได้โปรดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นและทรงมีปณิธานที่จะจัดให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2391 แต่ในวันที่ 20 มกราคม พระองค์ทรงพระประชวรและสวรรคตเสียก่อน จากนั้นพระเจ้าฟรีดริคที่ 2 พระราชโอรสได้เสด็จขึ้นครองราชย์และประกาศที่จะสานต่อพระราชปณิธานที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ และได้ทรงประกาศอย่างชัดเจนเป็นทางการถึงเจตนารมณ์ที่จะยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปกครองไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

และเมื่อมีกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2392 พระองค์ก็ทรงยอมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศเดียวในโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างสงบราบรื่น ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะพระมหากษัตริย์เดนมาร์กไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องเผชิญ นั่นคือ กระแสคัดค้านจากคณะบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภาที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่

ในขณะที่ พระมหากษัตริย์เดนมาร์กทรงพระราชอำนาจนำและทรงมีปฏิสัมพันธ์ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของผู้นำประชาชน ทำให้ต้องย้อนกลับไปพิจารณาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังเซอร์โทมัส คลาร์ก กงสุลของประเทศอังกฤษ หลังเหตุการณ์วิกฤตการณ์วังหน้า พ.ศ. 2417 ที่ว่า “เลื่อนการดำเนินการตามแผนปฏิรูปไปจนกว่าข้าพจ้าจะเห็นว่ามีข้อเรียกร้องจากบรรดาผู้นำราษฎรของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิได้ละทิ้งการเปลี่ยนแปลง แต่กระทำตามที่โอกาสจะอำนวย”

และแม้ว่าพระราชดำริดังกล่าวจะปรากฏในเห็นในความพยายามของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่การปกครองตามแบบอังกฤษที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ในฐานะที่เป็นเอกบุคคล (The One) ไม่ทรงมีพระราชอำนาจมากพอที่จะผลักดันให้สำเร็จได้

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ได้สำเร็จลุล่วงไปโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด แต่ตลอดช่วงเวลา 90 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์การทำรัฐประหารถึง 13 ครั้ง ฝักฝ่ายการเมือง (political factions) แต่ละฝ่ายต่างเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งครอบครองหรือพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่เกินขอบเขตของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตามความเข้าใจของแต่ละฝ่าย จนก่อให้เกิดวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญและรุนแรงในแต่ละช่วง วิกฤตสำคัญแต่ละครั้งอุบัติขึ้นและลงเอยในลักษณะของแรงเหวี่ยงอย่างสุดโต่ง (extreme momentum) ไปสู่ขั้วอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนๆ เดียว กลุ่มคน หรือมหาชน ซึ่งเห็นได้จากวาทกรรมในการต่อสู้ทางการเมืองที่สะท้อนวนเวียนอยู่ท่ามกลางวาทกรรมดังต่อไปนี้ นั่นคือ ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ ความเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เผด็จการรัฐสภา ประชาธิปไตยที่เกินขอบเขต ประชาธิปไตยแบบไทยๆ การคืนพระราชอำนาจ ความไม่เป็นประชาธิปไตยของตุลาการภิวัฒน์ อำมาตยาธิปไตย ประชาธิปไตยปวงประชามหาชน และมวลประชามหาชน ฯลฯ

สิ่งที่ต้องศึกษาต่อไปคือ ในสัมพันธภาพอำนาจทางการเมืองระหว่างตัวแสดงหลักอันได้แก่ พระมหากษัตริย์ กองทัพ พรรคการเมือง และประชาชนที่เป็นตัวแสดงทางการเมืองใหม่ที่เกิดขี้นตามรัฐธรรมนูญ เราจะสามารถหาดุลยภาพที่เหมาะสมในสมการแห่งอำนาจที่ผสมผสานลงตัวตามทฤษฎีการปกครองแบบผสมได้หรือไม่ ? [แหล่งอ้างอิง: กองจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 6-7 เอกสารส่วนพระองค์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บ. 1.3/32 No. 47 เล่ม 3 บันทึกการปกครอง อ้างใน ชาญชัย รัตนวิบูลย์, “บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว; ยาสุกิจิ ยาตาเบ, บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม, แปลโดยเออิจิ มูราชิมา และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2550); “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอาจเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดที่มีอยู่”

ข้อความตอนหนึ่งในปาฐกถานำหัวข้อ “บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย” ของศาสตราจารย์ทอม กินส์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบและเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา, ในการสัมมนาเรื่อง บทบาทตุลาการกับการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน. จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 15 พ.ค.2564 แหล่งที่มา: https://prachatai.com/journal/2021/05/93178 [10 มิถุนายน 2564]; Aristotle, Politics, translated by H. Rackham, (Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press: 1932); นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, พิมพ์ครั้งที่สาม, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553); Miller, Kenneth E. Government and Politics in Denmark, (Boston: Houghton Mifflin, 1968);ไชยันต์ ไชยพร, ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก 1849, (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2561)]