posttoday

ประเด็นท้าทายต่อความมั่นคงของชาติในปี 2565

13 มกราคม 2565

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

****************

ความจริง ควรเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เพราะเป็นเรื่องมองไปข้างหน้าในปี 2565 ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรบ้างที่จะเป็น ปัญหา สิ่งท้าทาย ภัยคุกคาม ต่อความมั่นคงของชาติ เพื่อรัฐบาลจะเตรียมตัวรับมือปัญหาดังกล่าว ก่อนอื่นเมื่อรู้แล้วก็หาทางป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้น ถ้าป้องกันไม่ได้ ก็หาทางควบคุมปัญหา หากป้องกัน ควบคุมปัญหาไม่ได้ ทำอย่างไรจะให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชนน้อยที่สุด และหาทางทำให้ฟื้นตัวเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้มาเขียนวันนี้ก็คงไม่ช้าเกินไป เพราะนี่เพิ่งครึ่งเดือนแรกของปี 2565 บทความนี้อาจเป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่น หรืออาจมีบางส่วนที่แตกต่างกันไป

ก่อนอื่น ก็ต้องเอาปัญหาความมั่นคงของชาติ ซึ่งประกอบด้วยด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การทหาร สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาดร้ายแรง การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ มาพิจารณา ตรวจสอบ โดยเฉพาะการตรวจสอบสถานการณ์ในปี 2564 เพื่อหา “ แนวโน้ม “ ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในปี 2565 ซึ่งอาจรุนแรงขึ้น หรือลดน้อยลง หรือจะมีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกหรือไม่

ภัยคุกคามในปี 2565 นั้น ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น แต่มักจะมีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าเสมอ แม้แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มนุษย์สามารถสร้างเครื่องมือที่จะเตือนภัยล่วงหน้าได้เป็นเวลานาน ยกเว้นภัยธรรมชาติบางอย่าง เช่น แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ที่อาจให้เวลาเราเตรียมตัวน้อยไปหน่อยเป็นวันหรือชั่วโมงเท่านั้น และหาทางป้องกันยาก เช่นเดียวกับพายุใต้ฝุ่น นอกจากอพยพประชาชนเพื่อลดการสูญเสียชีวิต

ภัยคุกคามอีกอย่างหนึ่งที่ไม่บอกล่วงหน้า ก็คือ การก่อการร้ายสากล ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่หากสังเกตให้ดี จะมีสิ่งบอกเหตุที่พอจะทำให้เราตื่นตัว ป้องกัน ได้บ้างไม่มากก็น้อย

แต่ภัยคุกคามทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การทหาร มักมี “ สิ่งบอกเหตุล่วงหน้า “ มาก่อนทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสังเกตหรือไม่เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากนอกประเทศ หรือในประเทศ

ขณะเดียวกัน ก็ต้องประเมินว่า ภัยคุกคามที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น มี “ ความรุนแรงระดับไหน “ เป็นเพียง “ ปัญหา “ หรือ “สิ่งท้าทาย “ หรือร้ายแรงจนถึงขั้นเป็น “ ภัยคุกคาม “ ไม่ใช่ว่าอะไร ๆ ก็บอกว่าเป็นภัยคุกคามทั้งหมด การจัดระดับความรุนแรงที่ถูกต้องจะช่วยให้คนที่รับผิดชอบ หรือ รัฐบาล จะได้เตรียมงบประมาณ บุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ฯลฯ รับมือได้อย่างถูกต้องตามสัดส่วนความจำเป็นเร่งด่วน ต้องจัด “ ลำดับความสำคัญเร่งด่วน “ ให้ได้ว่า อะไรมาก่อนมาหลัง อะไรรุนแรงมากกว่ากัน รัฐบาลซึ่งจะได้เตรียมรับมือ บริหารจัดการปัญหาได้ตามลำดับความรุนแรง และความสำคัญเร่งด่วน

ไม่ใช่ว่าอะไรก็เป็นภัยคุกคามเสียหมด เราคงเคยอ่านการทำนายของนักพยากรณ์การเมืองบางคนที่มองว่า อะไร ๆ ในบ้านเมืองก็เลวไปหมด ไม่มีอะไรดีสักอย่าง หากใครได้อ่านแล้วก็เท่ากับหมดอาลัยตายอยากทันที และมองว่าประเทศไทยคงล่มจมแน่คราวนี้ แต่ประเทศไทยก็ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ทุกครั้ง เพราะสิ่งที่เขาพูดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการมองปัญหาแบบการเมือง หรือมีอคติ ทำให้คนใจฝ่อไปหมด

และไม่ใช่ว่า รายการปัญหาที่จดไว้จะเกิดขึ้นทั้งหมด ผู้พยากรณ์ความมั่นคงของชาติ มีเครื่องมือที่ช่วยในการประเมิน “ ดุลยภาพ “ ระหว่าง “ โอกาสที่จะเกิดขึ้น “ ว่ามีโอกาสเกิดมากน้อยแค่ไหน และถ้าเกิดแล้ว จะมี " ความรุนแรง “ หรือ “ ผลกระทบ “ ทำความเสียหายต่อประเทศรุนแรงเพียงไหน เหตุการณ์บางอย่างอาจมีโอกาสเกิดขึ้นมากแต่ความรุนแรงน้อย แต่บางอย่างโอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อย หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นสักที แต่ถ้าเกิดแล้วมีผลกระทบอย่างมาก เช่น แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ซึนามิ สงคราม โรคระบาดร้ายแรง ( เช่น โควิด 19) เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ฯลฯ ภัยคุกคามเหล่านี้ นาน ๆ เกิดขึ้นที แต่เกิดแต่ละทีทำความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน การดำเนินชีวิตปกติของประชาชน ฯลฯ อย่างรุนแรง

อารัมภบทวิธีการประเมินภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ เข้าประเด็นของเรื่องที่จะเขียนเสียที

ก่อนอื่น ขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ผู้เขียนไม่ได้เกี่ย1วข้องกับทางการในการรับรู้ข้อมูลทางราชการด้านความมั่นคง แต่เป็นเพียง “ ผู้สังเกตการณ์ “ วงนอกเท่านั้น ที่มองบนข้อมูลเปิดที่มีอยู่ว่า รัฐบาลจะเผชิญกับอะไรบ้างซึ่งเป็น ปัญหา สิ่งท้าทาย และ ภัยคุกคาม ต่อความมั่นคงของชาติ โดยแยกเป็นภัยคุกคามจากกายนอกประเทศ และภัยคุกคามจากภายในประเทศ

ผลประโยชน์สำคัญยิ่งของประเทศ คือ การรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การรักษาความเป็นเอกราช ความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศ การกินดีอยู่ดีของประชาชน ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความสมัครสมานสามัคคีของประชาชน

ภายนอกประเทศ

ในปี 2565 ไทยจะเผชิญกับการถูกกดดันมากขึ้นจากสหรัฐให้เข้าข้างตนในความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งนี้ ไทยมีผลประโยชน์ทั้งกับสหรัฐและจีน ซึ่งไทยไม่อาจเข้าข้างฝ่ายหนึ่งและปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่งได้ ไทยต้องเป็นมิตรกับทั้งสองและรักษาระยะห่างให้พอๆกันบนผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับสหรัฐและจีน ไทยจะโดนกดดันจากสหรัฐมากขึ้น แต่ไทยก็มีอาเซียนหนุนหลัง เพราะทั้งสหรัฐและจีนต่างให้ความสำคัญต่อบทบาทของอาเซียน

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่ง โดยเฉพาะด้านการส่งออก และการท่องเที่ยวไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากการอพยพลี้ภัยจากการสู้รบและสถานการณ์การเมืองในพม่า ขบวนการยาเสพติดพม่าซึ่งใช้ไทยเป็นตลาดและเป็นทางผ่านลักลอบส่งยาเสพติดไปยังประเทศที่สาม

ภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงของประเทศแม้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เราไม่รู้ว่านอกจากการแพร่ระบาดรอบ 5 โดยเชื้อโอมิครอนแล้ว จะมีเชื้ออะไรเข้ามาอีก

การฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังจากการแพร่ระบาดโควิด 19 เป็นความท้าทายเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่มีความสำคัญเร่งด่วนลำดับต้น ๆ ของรัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างรายได้เพิ่มจากการส่งออกและการท่องเที่ยว

ความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณะสุขเป็นความท้าทายที่มีสำคัญเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องต้องรักษาไว้อย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด

เสถียรภาพของรัฐบาลเป็นสิ่งท้าทายและมีความสำคัญเร่งด่วนลำดับต้น รัฐบาลจะตกเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นโดยฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เพื่อสร้างเงื่อนไขในการเร่งยุบสภา และเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

มีการแทรกแซงทางการเมืองจากต่างชาติมากขึ้น เพื่อกดดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจในการแข่งอิทธิพลในภูมิภาค แต่ความช่วยเหลือจากต่างประเทศจะถูกเปิดโปงและถูกตรวจสอบมากยิ่งขึ้น

การบ่อนทำลายสถาบันสูงสุดจะมีขึ้นต่อเนื่องแต่ความถี่น่าจะลดลง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย อีกทั้งแกนนำส่วนใหญ่ยังโดนอีกหลายคดี ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นสำคัญ โดยใช้สื่อสังคมเป็นเครื่องมือหลัก ผู้เคลื่อนไหวหลักในปี 2565 ยังคงเป็นคนไทยบางคนที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเป็นหลัก

ผู้เขียนคิดเป็นประเด็นหลักได้เพียงเท่านี้

อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับท่านผู้อ่านจะช่วยกันคิดและเสริมแต่งเพิ่มเติมบนหลักการและเงื่อนไขข้างต้น เพราะบ้านเมืองนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนไทยทุกคนซึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ ซึ่งจะช่วยกันตรวจสอบการทำงานของผู้แทนที่องค์อธิปัตย์เลือกเข้าไปทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน