posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

10 มกราคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร  

**************************       

โรงพยาบาลทหารสหรัฐที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ชื่อ วอลเตอร์ รีด (Walter Reed) เป็นโรงพยาบาลที่ผู้นำต่างประเทศมักจะเดินทางไปเข้ารับการรักษาพยาบาล อันที่จริงโรงพยาบาลนี้เป็นสถานรักษาตัวผู้นำของสหรัฐฯเองด้วย ทั้งไบเดนและทรัมป์ก็มาเข้ารับการรักษาตัวด้วยเช่นกัน  ส่วนของบ้านเรา สมัยผมยังเด็กๆพอจะรู้ความ ก็ได้ยินผู้ใหญ่พูดถึงการที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เดินทางไปรักษาตัวที่นั่นด้วยเช่นกัน

ที่เขียนถึงโรงพยาบาลนี้ ก็เพราะเกี่ยวข้องกับหัวเรื่อง นั่นคือ สหรัฐฯกับการรัฐประหารในลาวปี พ.ศ. 2502  และในราวสองเดือนก่อนเกิดรัฐประหาร นายผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีลาวได้เดินทางไปเพื่อจะไปรายงานสถานการณ์ทางการเมืองในลาวให้แก่องค์การสหประชาชาติ เพราะนายผุยมีความกังวลใจที่คณะอนุกรรมาธิการหาข้อเท็จจริงในลาวได้รายงานสถานการณ์ที่ไม่ตรงตามที่นายผุยเข้าใจ ทำให้สหรัฐอเมริกาก็ดี หรือองค์การสหประชาชาติก็ดีไม่มีทีท่าที่จะสนใจช่วยเหลือลาวจากการแทรกแซงของจีนและเวียดนาม   ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2502 ก่อนจะถึงวันที่นายผุยจะไปองค์การสหประชาชาติ เขาได้แวะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวอลเตอร์ รีด และในช่วงเวลาที่เขาพักอยู่ที่โรงพยาบาล  ทางกระทรวงต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ซีไอเอได้ถือโอกาสเข้าหารือกับเขาเกี่ยวกับสถานการณ์ในลาว

บรรยากาศแบบนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นกับจอมพลสฤษดิ์ของไทยเช่นเดียวกัน โดยในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ได้เดินทางไปรักษาตัวที่วอลเตอร์ รีดหลังที่ไทยเพิ่งเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง จากนายพจน์ สารสินมาเป็นพลโทถนอม กิตติขจร (ตำแหน่งเวลานั้น) โดยพลโทถนอมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวันที่ 1 มกราคม ต่อมาในปลายเดือนเดียวกันนั้น จอมพลสฤษดิ์ก็ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้าที่เขาจะเดินทางไป ทางเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย นายบิชอพ (Max Waldo Bishop) ได้ส่งโทรเลขสองฉบับรายงานสถานการณ์ในไทยไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยฉบับแรกลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เป็นเวลา 8 วันหลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้งวันที่ 15 ธันวาคม และอีกฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ก่อนหน้าที่พลโทถนอมจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสองวัน

แม้ทั้งสองฉบับนี้จะห่างกันเพียงเจ็ดวันเท่านั้น แต่สาระกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ฉบับแรกรายงานให้ทางสหรัฐฯทบทวนโครงการให้งบประมาณช่วยเหลือ แต่ฉบับกลับยืนยันว่าจะต้องให้งบประมาณช่วยเหลือรัฐบาลไทยเป็นเงิน 25 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (ถ้าเทียบค่าเงินในปัจจุบันคือ 250 ล้านเหรียญ) ความแตกต่างที่เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือของนายบิชอพนี้ ทำให้นายโรเบิร์ตสัน (Walter Spencer Robertson) ผู้ดำรงผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝ่ายกิจการตะวันออกไกลต้องส่งโทรเลขถามกลับมายังนายบิชอพในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2501 เวลา 1: 16 pm ว่า จากความต่างที่ขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างโทรเลขสองฉบับ “เรา (“กองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”)  สงสัยว่า มีพัฒนาการอะไรเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง 23—30 ธันวาคมหรือ ที่ทำให้ท่านเปลี่ยนความเห็นได้ขนาดนี้ ?                                                  

  

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

นายบิชอพก็โทรเลขตอบกลับไปภายในวันเดียวกันห่างกันไม่ถึงสามชั่วโมงดี ณ เวลา 4 pm อธิบายเหตุผลที่เขาเปลี่ยนแปลงคำแนะนำเรื่องงบประมาณช่วยเหลือว่า เนื่องจากคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพลโทถนอม นายกรัฐมนตรี นอกจากมีรัฐมนตรีใหม่เข้ามาร่วมรัฐบาลห้าคน นอกนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากไปจากคณะรัฐมนตรีของนายพจน์ สารสิน นั่นคือ รัฐมนตรีชุดเก่าที่อยู่ต่อชุดใหม่มีเก้าคน และแม้ว่าจะมีรัฐมนตรีใหม่ที่เป็น “พี่น้องตระกูลปุณณกันต์”  นั่นคือ พลตรี กฤช ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และพลตรี พงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ทั้งสองต่างก็เลื่อนขึ้นมาจากรัฐมนตรีช่วยสมัยรัฐบาลนายพจน์ สารสิน 

ขณะเดียวกัน ที่ว่ามีรัฐมนตรีใหม่ห้าคนที่ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน นั่นคือ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเฉยๆ หรือที่เรียกว่ารัฐมนตรีลอย ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 คือ นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์, นายชื่น ระวิวรรณ, พลตรี เนตร เขมะโยธิน, นายทิม ภูริพัฒน์,  และนายอารีย์ ตันติเวชกุล

และในรัฐมนตรีทั้งห้าคน นายบิชอพได้กล่าวว่า มีสามคนที่อาจมีข้อสงสัย นั่นคือ พลตรี เนตร เขมะโยธิน, นายทิม ภูริพัฒน์,  และนายอารีย์ ตันติเวชกุล   เขากล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯน่าจะตระหนักดีว่า พลตรีเนตรเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “คนสำคัญของปรีดี” และเคยเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “สารเสรี” และ “ไทยรายวัน” ที่จอมพลสฤษดิ์เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ทั้งสองหัวนี้  (โดยนายบิชอพเขียนรายงานในภาษาอังกฤษว่า “Sarn Seri and Thai Raiwan  ผมหาอย่างเร็วๆ เจอแต่ “สารเสรี” แต่ยังไม่พบหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ ไทย/ไท รายวัน)                                                                                                                                     

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

ซึ่งการที่นายบิชอพมีความกังวลสงสัยต่อพลตรีเนตรนั้น เพราะนอกจากพลตรีเนตรจะเป็นคนของปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ทั้งสองหัวที่มีจุดยืนต่อต้านสหรัฐอเมริกาและองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ./SEATO) อีกด้วย

ส่วนนายทิม ภูริพัฒน์, และนายอารีย์ ตันติเวชกุลได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2500 สังกัดพรรคสหชีพ เช่นเดียวกับพลตรีเนตร  พรรคสหชีพเป็นพรรคที่มีแนวทางและอุดมการณ์คล้ายคลึงกับ “พรรคแนวรัฐธรรมนูญ” คือ เป็นสังคมนิยม สมาชิกและผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอีสาน ที่ให้การสนับสนุน นายปรีดี พนมยงค์ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนย้ายจากพรรคที่มีแนวเศรษฐกิจแบบซ้ายมาเป็นแนวเสรีประชาธิปไตย ซึ่งในช่วงเวลาไม่กี่เดือนมานี้  นายทิมและนายอารีย์ได้รับการยอมรับว่ามีทัศนคติทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นหากมองจากมุมมองของทางสหรัฐฯ

หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วนายบิชอพรู้ได้อย่างไร ? คำตอบที่ปรากฏในรายงานโทรเลขก็คือ นายบิชอบพได้อ้างคำสัมภาษณ์ต่อสื่อของนายเทพ โชตินุชิตที่กล่าวถึงนายทิมและนายอารีย์ และนายเทพได้กล่าวสำทับว่าเป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของเขาเท่านั้น ไม่ได้พูดในนามของหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะในการเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ. 2500 นายเทพเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกรที่มีอุดมการณ์แนวสังคมนิยม              

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

และจากการที่นายบิชอพได้เก็บข้อมูลดังกล่าว ยามเมื่อเขารายงานกลับไป เขาจึงต้องย้ำว่า การกล่าวว่าทัศนคติทางการเมืองของนายทิมและนายอารีย์เป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นสำหรับสหรัฐฯนั้น เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของนายเทพเท่านั้น และนายบิชอพได้เตือนว่า ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯจะต้องอย่าเพิ่งด่วนตัดสินอะไรไปในเรื่องนี้ จนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมืองของคนทั้งสองต่อสหรัฐฯ และรวมทั้งการจะมีอิทธิพลใดๆภายในรัฐบาลของพลโทถนอมด้วย

ส่วนรัฐมนตรีลอยอีกสองคน นอกจากพลตรี เนตร เขมะโยธิน, นายทิม ภูริพัฒน์,  และนายอารีย์ ตันติเวชกุล  คือ นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์และนายชื่น ระวิวรรณ ทั้งสองเป็นอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาที่มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นหัวหน้าพรรค และเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาลของจอมพล ป.

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

แต่หลังจากที่จอมพล ป. ลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 และเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ทั้งสองได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรค และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกครั้งหนึ่ง  มีรายงานว่า มีการคัดค้านการแต่งตั้งนายเสวตรและนายทิมเป็นรัฐมนตรีอย่างรุนแรง  เพราะทั้งสองเคยเป็นสมาชิกพรรคมนังคศิลามาก่อน แต่นายบิชอพเชื่อว่า การแต่งตั้งรัฐมนตรีลอยทั้งๆห้าคนนี้เป็นเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งมา ส่วนรัฐมนตรีที่เหลือล้วนแต่เป็นสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการแต่งตั้งหรือไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาเลย ยกเว้นนายสุกิจ นิมมานเหมินท์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เชียงใหม่  และนายสงวน จันทรสาขา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นครพนม และนายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สตูล

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

                                                            

           

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สิบสอง): “สหรัฐอเมริกากับการรัฐประหารในลาว พ.ศ. 2502”

สำหรับนายสงวน จันทรสาขา ส.ส. นครพนม  นายบิชอพได้ใส่เชิงอรรถกำกับในรายงานโทรเลขของเขาว่า นายสงวน เป็น “half-brother” กับจอมพลสฤษดิ์    ซึ่งถ้าเขียนไปแบบนี้ ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯคงต้องเดาต่อไปว่า ตกลงแล้ว นายสงวนเป็นพี่น้องร่วมบิดา แต่ต่างมารดา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดา แต่ต่างมารดา  ซึ่งโดยปกติ ก็น่าจะเดาว่า เป็นพี่น้องร่วมบิดา แต่ต่างมารดา เพราะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นมากกว่า แต่เมื่อผมได้ลองตรวจสอบดูพบว่า  นายสงวนเป็นพี่น้องต่างบิดาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

รายงานของนายบิชอพที่เป็นโทรเลขตอบข้อสงสัยที่นายโรเบิร์ตสัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝ่ายกิจการตะวันออกไกล ยังมีอีกสาระสำคัญอีกพอสมควร  ซึ่งผมจะขอกล่าวต่อไปในคราวหน้า

แต่จากที่ผมได้นำความในรายงานของนายบิชอพมาเผยแพร่ ท่านผู้อ่านคงประจักษ์ได้ว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในไทยและรวมถึงในประเทศอื่นๆ ทำงานสืบค้น-ล้วง-ควักข้อมูลเรื่องราวทางการเมืองในประเทศนั้นๆอย่างจริงจังละเอียดยิบ ไม่ต่างจากงานสายลับสายสืบ และน่าจะยิ่งต้องสืบล้วงควักมากเป็นพิเศษสำหรับประเทศอย่างไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามที่มีที่ตั้งภูมิศาสตร์ใกล้จีนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของสงครามเย็น

นี่ขนาดแค่สถานทูตฯ แล้วพวกซีไอเอจะขนาดไหน ?  และแน่นอนว่า ประเทศไทยในปัจจุบันก็คงตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากประเทศไทยในปี พ.ศ. 2500  จะต่างกันตรงที่ฝ่ายที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯเป็นจำนวนมากไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาล !      

(แหล่งอ้างอิงหลัก: 458. Telegram From the Department of State to the Embassy in Thailand; 459. Telegram From the Embassy in Thailand to the Department of State).