posttoday

กองทุนเพื่อการแทรกแซง

30 ธันวาคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*********

การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยที่ประธานาธิบดีโจ ใบเดน ผ่านไปเกือบเดือนแล้ว ยังมีควันหลงที่ขอเขียนถึงบ้างเล็กน้อย ไทยไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดนี้ ซึ่งเราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ถ้าเชิญมาก็รับ โดยผู้นำไทยไม่ต้องเดินทางไปสหรัฐเพราะเป็นการประชุมผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์

การที่ไทยไม่ได้รับเชิญ คนที่ไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ถือโอกาสออกมากล่าวโจมตีรัฐบาลว่า เพราะรัฐบาลไทยชุดนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่ได้รับเชิญ

การเชิญหรือไม่เชิญเป็นเรื่องของเจ้าภาพ แต่การไม่เชิญบางประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะประเทศไทย ถือว่า อาจพลาดไป เราไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่สหรัฐเสียอีกที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ รับผิดชอบด้านเอเชียแปซิฟิก รีบออกมาอ้างว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นการเชิญพันธมิตร “บางส่วน” นัยหนึ่ง ถ้ามีการประชุมครั้งต่อไป ก็จะมีการเชิญพันธมิตรส่วนที่ไม่ได้รับเชิญครั้งนี้

มีหรือไม่มีการประชุมครั้งต่อไป เป็นเรื่องของสหรัฐ ย้ำอีกทีว่า เชิญหรือไม่เชิญ เป็นสิทธิของเจ้าภาพ

เป็นที่รู้กันดีว่า การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยครั้งนี้เป็นเรื่องการเมือง เพื่อรวมพันธมิตรประชาธิปไตยต่อต้านจีนเป็นสำคัญ เมื่อสหรัฐจัดให้ประชาธิปไตยไทยอยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยอำนาจนิยมแบบจีน ก็เท่ากับผลักพันธมิตรเช่น ไทย ที่สหรัฐต้องการอย่างมากจะดึงเข้าพวก ไปอยู่ห่างจากตัวเอง

ไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สหรัฐพยายามดึงไทยเป็นพวกในทุกครั้งที่มีนโยบายต่อต้านจีน ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น และสงครามเวียดนามมาแล้ว ซึ่งคนไทยรุ่นอายุ 60 บวกลบ ยังจำได้ดีในเรื่องที่สหรัฐหักหลังมิตรประเทศ เช่น ไทย แต่กลายเป็นว่า ฝ่ายตรงข้ามเช่นจีน กลับมาช่วยไทยให้รอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาได้อย่างหวุดหวิด

วัตถุประสงค์ในบทความวันนี้ ต้องการจะบอกว่า ผลการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยครั้งนี้ก็เหมือนกัน ที่ประชุมได้จัด “กองทุนช่วยเหลือ” ประเทศประชาธิปไตยในการ “ฟื้นฟูประชาธิปไตย สร้างความเป็นหุ้นส่วนประชาธิปไตย ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อต้านการคอรัปชั่น สนับสนุนนักปฏิรูประชาธิปไตย สื่อเสรี ส่งเสริมเทคโนโลยีพัฒนาประชาธิปไตย ฯลฯ ” โดยเน้นว่า เป็นกองทุนสนับสนุนแก่ “ ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย “ ทั่วโลก

ดูแล้วเป็นเรื่องที่ดี เหมือนกับ กองทุน “ เอ็น.อี.ดี.” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ทำนองเดียวกัน อ่านแล้วไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ที่ผ่านมา กองทุนนี้ถูกมองว่า สนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่วอชิงตันมองว่า ไม่ตอบสนองต่อนโยบายและผลประโยชน์ของอเมริกัน ให้มีทุนในการเคลื่อนไหวต่อต้าน กดดันรัฐบาลท้องถิ่นให้ปรับเปลี่ยนนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์อเมริกัน

โดยใช้ประเด็นข้ออ้างละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เป็นประชาธิปไตย คอรัปชั่น ฯลฯ ซึ่งดูแล้วดี ไม่มีข้อคัดค้านแต่อย่างใด แต่ในทางปฏิบัติ กองทุนเหล่านี้อาจถูกใช้เกินวัตถุประสงค์เดิมโดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลนั้น ๆ และผู้ให้สามารถนำไปกดดันรัฐบาลให้กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของวอชิงตันได้

โดยเฉพาะสนับสนุนผลประโยชน์สำคัญยิ่งของชาติอเมริกัน คือ การต่อต้านอิทธิพลของจีน ซึ่งจะมาแบ่งผลประโยชน์ของอเมริกันในภูมิภาคและในโลก และกำลังจะแซงหน้าอเมริกาในหลายด้าน

อ้างว่า เป็นความช่วยเหลือจากประชาชนอเมริกันสู่ประชาชนในประเทศอื่น ผ่าน “ยูเสด” หรือ ยู.เอส.เอด อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่า งบเหล่านี้ซึ่งเสนอโดยฝ่ายบริหารก็ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภาอเมริกัน เหมือนกับกองทุน เอ็น.อี.ดี. ซึ่งซ่อนไว้ในงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน

เงินที่สหรัฐจัดให้อันเป็นผลจากการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยครั้งนี้ ( เพิ่มเติมจาก เอ็น.อี.ดี. ) ประกอบด้วย (1) กองทุนฟื้นฟูประชาธิปไตยและโครงการหุ้นส่วนประชาธิปไตย เพื่อสนับสนุน “นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั่วโลก” (2) กองทุนต่อต้านคอรัปชั่น (3) กองทุนสนับสนุนกลุ่ม แอลจีบีที ให้การมีบทบาทมากขึ้นในประชาสังคมการเมือง

ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับนักเคลื่อนไหวทั้งหลาย นอกจากกองทุน เอ็น.อี.ดี. แล้ว เวลานี้มีกองทุนเพิ่มเติมอีกสามกองทุน กลุ่มใดต้องการขอเงินจากกองทุนเหล่านี้ก็หาทางเขียนวัตถุประสงค์ให้เข้าเกณฑ์ที่สหรัฐกำหนด แล้วรีบส่งผ่านสื่อออนไลน์ไปยังสถานทูตอเมริกันโดยเร็ว ทางสถานทูตเขาจะประสานกับยูเสดเอง ประชาชนอเมริกันจะได้ดีใจที่ภาษีของพวกเขาได้มาช่วยคนชาติอื่นในการฟื้นฟูประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ประธานาธิบดีโจ ใบเดน ก็ดีใจที่การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยครั้งนี้ไม่เสียเปล่า แต่ “คนให้” ก็ต้องเลือกให้เหมือนกัน โดยเฉพาะให้กับภาคประชาสังคมที่จะใช้เงินจากกองทุนเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ

การที่รัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จัดขึ้นเพื่อรวมประเทศประชาธิปไตยในสายตาสหรัฐสู้กับจีน แสดงว่า รัฐบาลประยุทธ์ในสายตาอเมริกันไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น สหรัฐคิดว่า ตนเองมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะสนับสนุนภาคประชาสังคมในการเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลประยุทธ์เป็นประชาธิปไตย ด้วยการจัดเงินผ่านภาคยูเสด โดยอ้างว่าเป็นเงินจากประชาชนอเมริกัน ให้กับภาคประชาสังคมไทยในการทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะรัฐบาลประยุทธ์ เป็นประชาธิปไตย

นั่นคือ “วิธีคิด” แบบรัฐบาลอเมริกัน (ที่ใช้กับประเทศที่ไม่อยู่ในโอวาท) เพื่อให้ไทยร่วมวงไพบูลย์ในการต่อต้านอิทธิพลของจีนเหมือนกับยุคสงครามเย็น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปแทบจะสิ้นเชิง แต่ผลประโยชน์แห่งชาติสำคัญยิ่งของสหรัฐไม่เคยเปลี่ยน

เรื่องนี้ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนแต่อย่างใด ถ้าจะเปรียบกับนิทานอีสปก็เหมือน “หมาป่ากับลูกแกะ” นั่นเอง แต่คงไม่ง่ายนักที่หมาป่าจะขย้ำลูกแกะตัวนี้

รัฐบาลประยุทธ์ซึ่งถูกทางการสหรัฐมองว่า เป็นรัฐบาลอำนาจนิยม ต้องเตรียมรับมือกับ “การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย” จากภาคประชาสังคมที่เห็นสอดคล้องกับวิธีคิดของอเมริกัน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลประยุทธ์จึงมีภารกิจเพิ่มเติมสำหรับปี 2565 ในการต้านทานแรงกดดันจากนอกและในประเทศให้ร่วมวงไพบูลย์อเมริกันในการต่อต้านจีน นอกเหนือจากต้องบริหารจัดการกับภารกิจเร่งด่วนควบคุมการแพร่ระบาดรอบห้าของโควิด 19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ