posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สี่สิบเอ็ด): รัฐสมัยใหม่: แผนที่และรัฐธรรมนูญ

30 ธันวาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************

สิ่งสำคัญประการถัดมาที่สะท้อนความพยายามในการสถาปนารัฐสมัยใหม่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ----อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Councilor) จนส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทั้งในรัชสมัยของพระองค์เองและรัชสมัยต่อๆ มา-----ก็คือ การจัดทำแผนที่ประเทศและรัฐธรรมนูญสมัยใหม่

เพราะอย่างที่ทราบกันว่า องค์ประกอบพื้นฐานของ “รัฐสมัยใหม่” ตามหลักรัฐศาสตร์ คือ ประชากร (Population) ดินแดน (Territory) รัฐบาล (Government) และอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ซึ่งจะต้องมีความแน่นอนชัดเจนในองค์ประกอบทั้งสี่นี้

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สี่สิบเอ็ด): รัฐสมัยใหม่: แผนที่และรัฐธรรมนูญ

ในกรณีของดินแดนที่จะต้องสามารถบ่งบอกอาณาเขตที่ชัดเจนแน่นอนได้ ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการทำแผนที่สมัยใหม่ และการจัดทำแผนที่สมัยใหม่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถกำหนดอาณาเขตดินแดนที่ชัดเจนแน่นอน และเมื่อกำหนดอาณาเขตชัดเจนแล้ว จึงสามารถปฏิรูปการปกครองและร่างรัฐธรรมนูญสมัยใหม่เพื่อการยืนยันอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศได้ ดังนั้น จึงมีการริเริ่มการจัดทำแผนที่ประเทศและร่างรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ขึ้นนั่นคือ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สี่สิบเอ็ด): รัฐสมัยใหม่: แผนที่และรัฐธรรมนูญ

ในเวลานั้น สยามมีปัญหาเรื่องอาณาเขตดินแดนของประเทศไม่ต่างจากที่พม่าและประเทศใกล้เคียงนั่นคือ ไม่สามารถบ่งบอกเขตแดนที่ชัดเจนแน่นอนได้ การบ่งบอกถึงดินแดนของราชอาณาจักรก็ยังกล่าวถึงเมืองต่างๆ ที่เป็นประเทศราชมากกว่าจะกล่าวถึงอาณาเขตดินแดนที่เป็นเอกภาพและมีพรมแดนที่เส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์สมัยใหม่หรือเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ

ในยุคสำรวจและยุคล่าอาณานิคมของพวกตะวันตก ชาติมหาอำนาจตะวันตกได้เดินทางเข้ามาในแถบเอเชียอาคเนย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชาติต่างๆ เหล่านั้นได้ทำการสำรวจพื้นที่เพื่อทราบเขตแดนที่แน่นอนของรัฐต่างๆ ภายใต้โลกทัศน์สมัยใหม่ที่มีวิทยาการการทำแผนที่เป็นเครื่องมือ เพราะลักษณะสำคัญประการหนึ่งของศิลปะวิทยาการสมัยใหม่ (modern science) คือ ความแน่นอนชัดเจนและแม่นยำ การประเมินตัดสินอะไรต่างๆ ต้องมีความแม่นยำชัดเจนแน่นอนในกระบวนการชั่ง ตวง วัด เวลา เส้นแบ่ง การคำนวณ และการคาดการณ์

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สี่สิบเอ็ด): รัฐสมัยใหม่: แผนที่และรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่วิถีแบบโบราณที่ผู้คนอาศัยอยู่กันแบบหลวมๆ อาณาจักรต่างๆในบริเวณแถบนี้ดำรงอยู่ภายใต้โลกทัศน์แบบเดิมที่ไม่ได้มีเขตแดนแน่นอนตายตัวประเภทเส้นรุ้งเส้นแวง ดังจะเห็นได้จากบันทึกของร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีย์ เกี่ยวกับการเจรจาเรื่องเขตแดนกับสยามที่มีความตอนหนึ่งว่า “เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวกันถึงเขตแดนของมะริด ทวาย และตะนาวศรีนั้นไม่เคยมีเขตแดนใดสามารถกำหนดกันได้ระหว่างสยามกับพม่า

แต่ในเมื่ออังกฤษปรารถนาจะให้กำหนดเขตแดนเหล่านี้แน่นอนลงไป ก็ให้ไปถามเอาจากผู้เฒ่าที่อาศัยตามชายแดนมะริด ทวาย ตะนาวศรี ว่าพวกเขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับดินแดนที่เชื่อมกัน และให้ถือเอาตามที่คนเหล่านั้นชี้นั่นแหละเป็นเขตแดนระหว่างส่วนของอังกฤษกับสยาม”

ในขณะที่คำตอบดังกล่าวของสยามถือเป็นเรื่อง “ไร้เดียงสา ไร้สาระจนน่าขัน” ของชาวตะวันตกแต่สำหรับขุนนางสยามที่อยู่ในคณะเจรจานั้น ไม่มีอะไรน่าประหลาดแม้แต่น้อย เพราะว่าเส้นเขตแดนระหว่างสยามและพม่าเต็มไปด้วยเทือกเขาและป่ากว้างหลายไมล์ และไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นของชาติใด ต่างฝ่ายต่างมีกองทหารของตนคอยเฝ้าอยู่เพื่อจับคนของอีกฝ่ายหนึ่งที่เดินพลัดหลงเข้าไปในบริเวณดังกล่าว”

นั่นคือ ยังไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนที่แน่ชัด แต่อาศัยกองทหารในการป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงล้ำ ทั้งๆ ที่ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนแน่นอนว่าแค่ไหนถึงจะถือว่าเป็นการล่วงล้ำ และการผูกเขตแดนอยู่กับกองกำลังทหารทำให้เมื่อเกิดปะทะกันขึ้น และฝ่ายไหนล่าถอยก็หมายความว่า เขตแดนของแต่ละฝ่ายก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามกำลังความสามารถทางการทหาร

ก่อนหน้านี้ พม่าก็มีประสบปัญหาเรื่องเขตแดนของตนเองกับเขตแดนของอินเดียที่อยู่ภายใต้อังกฤษ ต่างฝ่ายต่างมีความเข้าใจในเรื่องเขตแดนไม่เหมือนกัน เมื่อเกิดข้อพิพาท ในที่สุดก็ต้องลงเอยด้วยการใช้กำลัง สุดท้ายพม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องสูญเสียดินแดน รวมทั้งเงินชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำสงคราม และพระมหากษัตริย์พม่าก็พยายามที่จะหาทางเจรจากับอังกฤษเพื่อให้ได้ดินแดนคืนมา แต่ก็ล้มเหลว

ขณะเดียวกัน ในการกำหนดเขตแดน นอกจากพื้นที่แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องคนด้วย อย่างเช่นในสมัยพระเจ้าปะดุงของพม่าได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์แรงงานคนจากแคว้นฉาน มอญ และยะไข่มาทำงานโยธาการพระราชกุศลในการสร้างเจดีย์ใหญ่ที่เมืองมิงกุน แต่การเกณฑ์แรงงานดังกล่าวนี้ได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ผู้คนที่ถูกบังคับ โดยเฉพาะชาวยะไข่ที่ไม่พอใจที่ถูกพม่าตีดินแดนของตน ชาวยะไข่จึงก่อการกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2327

แต่ไม่สามารถสู้กองทัพพม่าได้ ชาวกบฏยะไข่จึงอพยพหนีตายเข้าไปในแคว้นจิตตะกองของอังกฤษ ก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาทตามพรมแดนระหว่างพม่ากับอังกฤษขึ้นมา ฝ่ายอังกฤษเองก็ให้เหตุผลว่า ไม่สามารถป้องกันมิให้ชาวยะไข่ลี้ภัยเข้ามาในแคว้นจิตตะกองได้เพราะบริเวณพรมแดนเป็นป่าทึบ มีแม่น้ำเล็กๆ หลายสายเชื่อมต่อกัน ทำให้ยากต่อการควบคุมพรมแดน เมื่อชาวยะไข่หนีเข้ามาในเขตของอังกฤษ อังกฤษก็ทำได้แต่เพียงให้ทูตมาเจรจาทำความเข้าใจฉันท์มิตรกับราชสำนักพม่า แม้จะปรากฏชัดว่า พม่าเป็นฝ่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการบุกรุกเข้ามาในเขตแดนของอังกฤษ แต่ฝ่ายพม่าก็คิดว่าตนมีความชอบธรรมที่จะเอาชาวยะไข่คืนมา อีกทั้งยังไม่เข้าใจว่าเหตุผลอะไรที่พม่าไม่สามารถเข้าไปในจิตตะกองได้

บันทึกของร้อยเอกเบอร์นีย์เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์การเจรจาเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยามในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะพบว่าในพระราชสาส์นกล่าวถึงอาณาเขตดินแดนของสยามนั้นยังไม่ต่างจากในสมัยอยุธยา นั่นคือ เป็นการกล่าวถึงเมืองและชนภาษาต่างๆ ที่เป็นประเทศราชมากกว่าจะเป็นพื้นที่ที่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว เป็นอาณาจักรที่มีเขตแดนล้อมรอบและพลเมืองของประเทศ

ดังจะเห็นได้จากพระราชสาส์นในรัชกาลที่ 4 มีข้อความว่า “พระราชสาส์น สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทรมหิทราอยุธยา เป็นใหญ่ในแผ่นดินสยาม เมืองขึ้นใกล้เคียงต่างๆ คือ เมืองลาวเฉียง ลาวกาว กำโพชา แลเมืองมลายูหลายเมือง ฯลฯ” และในพระราชสาส์นที่ถวายสมเด็จพระนางวิกตอเรียฯ พ.ศ. 2398 มีข้อความว่า “พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในรัชกาลที่ 4 ในพระบรมราชวงศ์ ซึ่งดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยาณประเทศบางกอกนี้ ได้ครอบครองเป็นเจ้าของพระมหานครราชธานีใหญ่ในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยามเหนือใต้ แลแผ่นดินต่างๆ อยู่เคียงอยู่ใกล้ในที่นั้นๆ บางแห่ง แลเป็นที่อยู่ของชนชาวต่างประเทศมีเพศภาษาต่างๆ หลายอย่าง คือ ลาวเฉียง ลาวกาว แลกำพูชา มาลายู กระเหรี่ยงแลอื่นๆ ในทิศทางต่างๆ โดยรอบคอบขัณฑสีมาอาณาจักรสยาม…”

จากพระราชสาส์นสามฉบับที่ยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขป จะเห็นว่า มีการกล่าวอ้างถึงอาณาเขตดินแดนภายใต้พระเจ้ากรุงสยาม แต่ไม่มีความชัดเจนแน่นอนและมีความแตกต่างกันไปในแต่ละฉบับ เช่นในฉบับที่พระราชทานไปยังกรุงฝรั่งเศส กล่าวว่า

“…สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทรมหิทราอยุธยา เป็นใหญ่ในแผ่นดินสยาม เมืองขึ้นใกล้เคียงต่างๆ คือ เมืองลาวเฉียง ลาวกาว กำโพชา แลเมืองมลายูหลายเมือง ฯลฯ”

คำถามคือ เมืองมลายูหลายเมืองที่ว่านี้คือเมืองอะไรบ้าง ? และที่กำกับด้วย ฯลฯ หมายถึงอะไร ? และเขตแดนของลาวเฉียงกับลาวกาวอยู่ตรงไหน ? ส่วนพระราชสาส์นที่ถวายสมเด็จพระนางวิกตอเรียฯ พ.ศ. 2398

“…พระราชอาณาจักรฝ่ายสยามเหนือใต้ แลแผ่นดินต่างๆ อยู่เคียงอยู่ใกล้ในที่นั้นๆ บางแห่ง แลเป็นที่อยู่ของชนชาวต่างประเทศมีเพศภาษาต่างๆ หลายอย่าง คือ ลาวเฉียง ลาวกาว แลกำพูชา มาลายู กระเหรี่ยงแลอื่นๆ ในทิศทางต่างๆ โดยรอบคอบขัณฑสีมาอาณาจักรสยาม…”

คำถามคือ สยามเหนือและใต้นั้น สุดเขตที่ไหน ? และอาณาเขตการปกครองนั้นใช้เกณฑ์ของ “คนเชื้อชาติ ภาษา” หรืออย่างไร ?

ที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงความคลุมเครือในอาณาเขตของประเทศ ด้วยขณะนั้นยังไทยหรือสยามยังไม่มีความคิดความเข้าใจในเรื่องแผนที่ตามแบบตะวันตก รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศของโลกตะวันตกที่อิงอยู่กับอธิปไตยของความเป็นรัฐสมัยใหม่ที่จะต้องมีอาณาเขตดินแดนที่ชัดเจนแน่นอน รวมทั้งผู้คนด้วย และที่สำคัญ เมืองและผู้คนต่างๆเหล่านั้นตระหนักรู้เพียงใดว่า ตนอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้ากรุงสยาม ?

ก่อนที่ชาติตะวันตกจะเข้ามาและใช้กติกาของตน เมืองและผู้คนในแถบนี้ก็คงดำรงอยู่ตามระเบียบดั้งเดิมที่ไม่ได้อยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่ ไม่ได้อยู่ภายใต้แผนที่สมัยใหม่ และไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นระเบียบของชาติตะวันตก ดังนั้น ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น คือ การปะทะกันระหว่างวิธีคิดที่แตกต่างกันและมองความยุติธรรมระหว่างประเทศที่แตกต่างกัน

ในตอนปลายรัชกาล ในปี พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ พระองค์จึงทรงมีพระราชสาส์นไปถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และได้ทูลขอให้ทางอังกฤษส่งกงสุลคนใหม่มาแทนเซอร์ รอเบิตส และระบุคุณสมบัติว่าขอให้เป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในกฎหมายระหว่างประเทศ และเมื่อเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ สยามจึงจำต้องเร่งเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ชาติตะวันตกใช้ และรีบดำเนินการสำรวจและกำหนดเขตแดนของไทยให้ชัดเจนแน่นอนและทำเป็นแผนที่ประเทศสยามขึ้น

การจัดทำแผนที่ประเทศได้เริ่มเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2418-2436 และต้องมาหยุดชะงักจากเหตุการณ์สงครามฝรั่งเศส-สยาม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) โดยทางฝ่ายฝรั่งเศสยึดเอาดินแดนซึ่งกองแผนที่ได้สำรวจไว้ แล้วทางเหนือและตะวันออกของแม่น้ำโขง แม้ว่าจะเริ่มมีการทำแผนที่มาจนถึง พ.ศ. 2436

แต่ในทางปฏิบัติ ปี พ.ศ. 2435 เริ่มปฏิรูประบบราชการให้เป็นสมัยใหม่ พบว่า เสนาบดีผู้ใหญ่กระทรวงมหาดไทยรู้จักหัวเมืองชายแดนเพียงแต่ชื่อเท่านั้น ทั้งยังไม่สามารถชี้ตำแหน่งหัวเมืองชายแดนบนแผนที่ได้ ดังนั้น แม้ว่าจะทำแผนที่สำเร็จ แต่กระบวนการรับรู้และการแผ่อำนาจจากส่วนกลางให้ครอบคลุมอย่างชัดเจนแน่นอนก็ยังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับข้าราชการและชาวสยามที่จะตระหนักรับรู้ถึง “ความเป็นประเทศสยาม” ในมิติทางกายภาพ ซึ่งต้องอาศัยแผนที่เป็นจุดตั้งต้นทางจินตนาการ

ก่อนหน้าวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ได้มีการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยามขึ้นแล้วในช่วงเวลาใกล้เคียง ผู้เขียนสันนิษฐานว่า น่าจะร่างขึ้นแล้วเสร็จก่อนเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ 2436) เพราะข้อความในแต่ละมาตรานั้นไม่มีมาตราใดมีปัญหาเท่ากับมาตราที่ 1 ที่เป็นการกำหนดอาณาเขตดินแดน และกล่าวถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์ในแง่ของอาณาเขต โดยถือว่า พระมหากษัตริย์แห่งสยาม “เปนบรมราชาธิราชแห่งมลาวประเทศ มลายูประเทศกเหรี่ยง ฯลฯ”

แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้กระบวนการจัดทำแผนที่ทางการของสยามที่ยังไม่เรียบร้อยลงตัว และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การประกาศใช้ “ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยพระราชประเพณีกรุงสยาม” มีอันต้องชะลอออกไป เนื่องจากเขตแดนสยามที่ปรากฏในแผนที่ของพระวิภาคภูวดล ฉบับ พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) ถูกทำขึ้นก่อนวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ต่อมาสยามต้องปรับปรุงเขตแดนใหม่ หลังจากต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส

ซึ่งผลจากการปรับปรุงเขตแดนดังกล่าว ธงชัย วินิจจะกูล มองว่าเป็นการทำให้สยามมีขอบเขตและดินแดนที่ชัดเจนปรากฏขึ้นครั้งแรก ต่อมาสยามได้จัดทำแผนที่ฉบับทางการขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2440 โดยนายสอนกับนายแบบ

อย่างไรก็ดี สยามยังต้องทำการแก้ไขเขตแดนต่อไป เนื่องจากยังมีประเด็นการเสียดินแดนเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง ดังนี้ เสียฝั่งขวาแม่น้ำโขง พ.ศ. 2446 แก่ฝรั่งเศส เสียมณฑลบูรพา พ.ศ. 2449 แก่ฝรั่งเศส และเสียไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส พ.ศ. 2451 ให้แก่อังกฤษ อาจมีผู้สงสัยว่าร่างพระกฤษฎีกาฯ ดังกล่าวคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยหรือไม่ วิษณุ เครืองาม เห็นว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้น่าจะมีสถานะของการเป็นร่างรัฐธรรมนูญด้วย

หากไม่ยึดติดกับเงื่อนไขที่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญได้จะต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตกอย่างเดนมาร์กและสวีเดนต่างก็ถือว่ามีรัฐธรรมนูญแม้จะยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เช่น เอกสารกฎหมายของเดนมาร์กที่เรียกว่า Kongelov ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1665 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่สถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของเดนมาร์กและมีการบังคับใช้เรื่อยมาจนเกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1849 เดนมาร์กได้ตีพิมพ์รัฐธรรมนูญดังกล่าวรองรับพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และการสืบราชสันตติวงศ์ตามสายโลหิตอย่างแท้จริง โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของเหล่าอภิชนขุนนางอีกต่อไป

หรือในกรณีของสวีเดน มีการนับว่ากฎหมายแห่งแผ่นดิน (Land Law/ landslag) ที่ตราขึ้นในปี ค.ศ. 1350 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก หรือการนับกฎหมายรูปแบบการปกครองหรือระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ที่บังคับใช้ในปี ค.ศ. 1634 ที่เรียกว่า “The Form of Government” หรือ “The Instrument of Government” (Regeringsform) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสวีเดน แม้ว่าสวีเดนขณะนั้นจะยังไม่ได้เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือประชาธิปไตย และหากจะเปรียบเทียบร่างพระราชกฤษฎีกานี้ในฐานะรัฐธรรมนูญ ก็ควรเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของเดนมาร์กหรือสวีเดนที่กล่าวไปมากกว่าของอังกฤษ เพราะอังกฤษใช้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี แม้ว่าจะไม่ได้มีการนำร่างพระราชกฤษฎีกานี้ไปบังคับใช้ แต่ก็น่าสนใจวิเคราะห์ เพราะอย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของรูปแบบการปกครองที่มีความปรารถนาตั้งใจจะสถาปนาขึ้น

[ แหล่งอ้างอิง: The Burney Papers 1, 154-155 อ้างใน ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผ่นที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, แปลโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ และคณะ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2556); พระราชสาส์นที่ทรงพระราชทานไปยังกรุงฝรั่งเศส พ.ศ. 2398; ประวัติการทำแผนที่ประเทศไทย https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=12&chap=10&page=t12-10-infodetail02.html; โกวิทย์ วงศ์สุรวัฒน์,

“การปกครองของสยามก่อนการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2435” วารสารราชบัณฑิตยสภา 40, 3 (กรกฎาคม - กันยายน 2558); Constitutional Documents of Sweden: The Instrument of Government, The Riksdag Act, The Act of Succession, The Freedom of the Press Act, translated by Ulf K. Nordenson and Frank O. Finney, published by The Swedish Riksdag, (Norstedts Tryckeri, Stockholm, 1975); Lars-Goran Malmberg, “Constitutional amendment in Sweden,” in Engineering Constitutional Change: A Comparative Perspective on Europe, Canada, and the USA, edited by Xenophon Constiades, (London: Routledge, 2013);

“ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ ๑ ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม” รายงานการประชุมเสนาบดีสภา รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ ๑ เรื่อง สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน; วิษณุ เครืองาม, “บทวิเคราะห์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม” http://search02.admincourt.go.th/cgi-bin/koha/opac-detail.pl?biblionumber=379; เจมส์ แมคคาร์ธี, บุกเบิกสยาม : การสำรวจของพระวิภาคภูวดล พ.ศ. 2424-2436. แปลโดย สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์, (กรุงเทพ : River Book 2561); W. Glyn Jones, Denmark, (London: Ernest Benn: 1970) อ้างใน ไชยันต์ ไชยพร, ปิยกษัตริย์ เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก 1849]