posttoday

รอยร้าวที่ฐานราก...ความเปราะบางของครอบครัวไทยในอนาคต

26 ธันวาคม 2564

โดย...รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร  

 ****************************

ในขณะที่สังคมกำลังแบกรับความคาดหวังต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 13) หมายมุ่งที่จะพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ในอีก 15 ปีข้างหน้า  ครอบครัวซึ่งเป็นฐานรากของสังคมอาจกำลังมีรอยร้าวที่นับวันจะกะเทาะกว้างขึ้น จนทำให้ตำแหน่งการเป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” ตั้งอยู่บนฐานที่เปราะบาง

โครงสร้างครัวเรือนไทย ในหลายทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าเป็นห่วง ซึ่งโครงสร้างครัวเรือนหรืออาจเรียกว่าเป็นรูปแบบการอยู่อาศัย (living arrangement) ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนแบบสามี-ภรรยา-ลูก ครัวเรือนสามรุ่นอายุ ซึ่งหมายถึงมีปู่ย่าตายายอยู่ร่วมด้วย ครัวเรือนข้ามรุ่นซึ่งหมายถึงปู่ย่าตายายอยู่กับหลาน ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยวซึ่งหมายถึงลูกอยู่กับพ่อหรือแม่ ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่โครงสร้างของครัวเรือนว่ามีใครอยู่รวมชายคาบ้าง แต่ยังสะท้อนแง่มุมทางสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และมานุษยวิทยาต่าง ๆ เช่นการฟูมฟักอบรมเลี้ยงดูบุตรโดยพ่อแม่ การเกื้อหนุนกันและดูแลกันระหว่างเจเนอเรชัน รายได้รายจ่าย สายสัมพันธ์และความอบอุ่นทางจิตใจภายในครอบครัว จะเห็นได้ว่า ครอบครัวบางรูปแบบ มีแนวโน้มที่จะมีความเปราะบางสูง เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งเป็นครอบครัวที่พ่อ หรือแม่ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกโดยไม่มีคู่ชีวิตคอยช่วยเหลือ ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหย่าร้าง เสียชีวิต หรือแยกกันอยู่ด้วยความจำเป็นด้านการทำมาหากิน เกิดความอัตคัดทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจ โดยเฉพาะในสภาพสังคมปัจจุบันที่การเลี้ยงลูกต้องใช้ทั้งเงิน เวลา และความรู้ที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังดีที่ลูกยังอยู่กับพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง

ในขณะที่ครอบครัวข้ามรุ่นหรือครอบครัวแหว่งกลาง มีปู่ย่าตายายเป็นคนเลี้ยงดูเด็กโดยที่พ่อแม่ของเด็กมีอันต้องจากบ้านไปทำงานต่างถิ่น หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ ซึ่งแม้ปู่ย่าตายายจะเลี้ยงดูสุดความสามารถแต่เด็กก็อาจมีพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจไม่เต็มที่เท่าที่ควร รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคมและเทคโนโลยีที่รวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเจเนอเรชัน ที่นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย

จากการคาดประมาณสัดส่วนประชากรในครัวเรือนประเภทต่าง ๆ พ.ศ.2563-2583  2 พบว่าครอบครัวไทยมีแนวโน้มที่มีความเปราะบางเพิ่มขึ้น ในประชากรวัยเด็กพบว่า ครัวเรือนพ่อแม่และลูกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 45.5 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 35.2 ในปี 2562 และในอีก 20 ปีข้างหน้าครัวเรือนพ่อแม่และลูกมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 31 ซึ่งแนวโน้มการลดลงได้รับอิทธิพลจากภาวะเจริญพันธุ์ระดับต่ำ อายุเฉลี่ยแรกสมรสยาวนานมากขึ้น และการตัดสินใจที่ไม่มีบุตร

นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือนข้ามรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.9 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 13.7 ในปี 2562 และในอีก 20 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ในปี 2583 และคาดประมาณว่า สำหรับประชากรวัยแรงงาน มีรูปแบบการอยู่อาศัยที่น่าจับตามอง 2 ประเภทที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของครอบครัวในอนาคต คือ (1) การที่ครัวเรือนคนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.4 ในปี 2533 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 13.6 ในอีก 20 ปีข้างหน้า และ (2) การที่ครัวเรือนพ่อ-แม่-ลูกมีแนวโน้มลดลง จากประมาณร้อยละ 53 ในปี 2533 เหลือประมาณร้อยละ 32 ในปี 2563 และร้อยละ 21 ในอีก 20 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังพบว่า ครัวเรือนสามี-ภรรยา (ไม่มีลูก) มีแนวโน้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในปี 2533 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.1 ในปี 2563 และในอีก 20 ปี ข้างหน้าจะมีครัวเรือนคนเดียวประมาณร้อยละ 15.0 ในปี 2583

ในขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่ในครัวเรือนสามรุ่นมีแนวโน้มที่จะลดลงจากร้อยละ 34 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 28 ในปี 2560 และเหลือเพียงร้อยละ 22 ในปี 2583 หากนับเฉพาะครัวเรือนที่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่พร้อมหน้ากัน ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนพ่อเลี้ยงเดี่ยว ครัวเรือนแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือครัวเรือนข้ามรุ่น พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครัวเรือนพ่อเลี้ยงเดี่ยวและแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มจากประมาณร้อยละ 9 ในปี 2533 มาเป็นประมาณร้อยละ 10.6 ในปี 2563 และร้อยละ 11.2

ในปี 2583 ส่วนครัวเรือนข้ามรุ่นเพิ่มจากร้อยละ 1.1 ในปี 2533 มาเป็นร้อยละ 4.9 ในปี 2563 และร้อยละ 7.7 ในปี 2583 สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือการที่สังคมไทยจะมีเด็กราว 2.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ  21.8 ของเด็กทั้งหมดอยู่ในครัวเรือนที่ไม่พร้อมหน้านี้ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อทั้งภาวะความขัดสนในแง่ต่าง ๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ พัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ และสังคม

สำหรับผู้สูงอายุนั้นพบว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ในครัวเรือนสามี-ภรรยา โดยไม่มีลูกหรือคนอื่น ๆ อยู่ด้วยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.9 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 20.6 ในปี 2560 และในปี 2583 จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 23 ส่วนครัวเรือนผู้สุงอายุที่อย่าลำพังคนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.6 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 10.8 ในปี 2560 และราวร้อยละ 15 ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งทั้งครัวเรือนผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันโดยลำพัง หรืออยู่คนเดียวโดยลำพัง นับว่ามีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อในสวัสดิภาพทุกมิติของผู้สูงวัย

แม้ในอีก 20 ปีข้างหน้า เราอาจคาดว่าจะมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุที่อยู่กันตามลำพัง หรืออยู่โดดเดี่ยวคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) รถยนต์ไร้คนขับ (autonomous care) อวัยวะจักรกล (bionic limbs และ prosthetic technology) โทรเวชกรรม (telemedicine) บ้านอัจฉริยะ (smart home) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คงมีแต่ผู้สูงอายุที่มีฐานะเท่านั้นเอื้อมถึงได้ หากภายในระยะเวลา 20 ปีนี้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

จากวิกฤตโควิด-19 และอีกหลากหลายวิกฤตที่ผ่านเข้ามาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ครอบครัวคือ safe zone ที่แท้จริงที่ควร safe ไว้ให้อบอุ่นและแข็งแรง หากสังคมไทยพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจและความเป็นเมืองโดยไม่สามารถรักษาทุนทางสังคมโดยเฉพาะความผูกพันและความสามารถในการดูแลพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ระหว่างเจเนอเรชัน และกับชุมชนรอบข้างเพื่อให้คอยสมานรอยร้าวที่ฐานรากนี้ไม่ให้ถ่างกว้างจนไม่สามารถพยุงรักษาความอยู่ดีมีสุขของสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน ตำแหน่ง “รายได้ปานกลางระดับสูง” ก็อาจไม่ได้ทำให้สังคมไทยมีความสุขมากนัก

รูปที่ 1 การคาดประมาณสัดส่วนประชากรในครัวเรือนรูปแบบต่างๆ

รอยร้าวที่ฐานราก...ความเปราะบางของครอบครัวไทยในอนาคต

รูปที่ 2 การคาดประมาณสัดส่วนประชากรในครัวเรือนไม่พร้อมหน้า

รอยร้าวที่ฐานราก...ความเปราะบางของครอบครัวไทยในอนาคต

รูปที่ 3 การคาดประมาณสัดส่วนประชากรสูงวัยในครัวเรือนคนเดียว และครัวเรือนสามี-ภรรยาเท่านั้น

รอยร้าวที่ฐานราก...ความเปราะบางของครอบครัวไทยในอนาคต

หมายเหตุ: ข้อมูลการคาดประมาณสัดส่วนประชากรเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในครัวเรือนรูปแบบต่างๆ ระหว่างปี 2554-2583 โดยโครงการวิจัย “อนาคตประเทศไทย มิติที่ 1 ประชากรและโครงสร้างสังคม” ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภาการวิจัยแห่งชาติ ใช้ข้อมูลจาก  (1) การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2550 2554 2557 และ 2560 (2) ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 3 พ.ศ.2533 2538 2543 2548 2553 2558 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

*******************

(1) คณะผู้วิจัย: รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจัรกม รศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์, รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน, กาญจนา เทียนลาย, พิมลพรรณ นิตย์นรา, และสิทธิชาติ สมตา

(2) โครงการวิจัย“อนาคตประเทศไทย มิติที่ 1 ประชากรและโครงสร้างสังคม”[1] ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล สนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานสภาการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เรียบเรียงโดย... งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล