posttoday

20 ปี สสส. (2)

14 ธันวาคม 2564

โดย...วิชัย โชควิวัฒน

**********

สุขบัญญัติในประเทศไทย เริ่มพัฒนามาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ในปี พ.ศ. 2476 คือ “กติกาอนามัย 12 ข้อ” สำหรับสมาชิกอนุสภากาชาด

ต่อมาใน พ.ศ. 2503 กระทรวงศึกษาธิการ จึงกำหนด “สุขบัญญัติ 10 ประการ” ขึ้นมาแทน “กติกาอนามัย” และต่อมาในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดประชุมปรับปรุง “สุขบัญญัติ 10 ประการ เพื่อให้เหมาะสมกับปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ครอบคลุม 6 กลุ่มพฤติกรรม ได้แก่ (1) อนามัยส่วนบุคคล (2) อาหารและโภชนาการ (3) การออกกำลังกาย (4) สุขภาพจิต (5) อุบัติภัย และ (6) อนามัยสิ่งแวดล้อม โดยยังคงหัวข้อรวม 10 ข้อ เรียกชื่อใหม่ว่า “สุขบัญญัติแห่งชาติ” ประกอบด้วย

(1) ดูแลรักษาร่างกาย และของใช้ให้สะอาด (2) รักษาฟันให้แข็งแรง และแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง (3) ล้างมือให้สะอาด ก่อนทานอาหารและหลังขับถ่าย (4) กินอาหาร สุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดสีฉูดฉาด (5) งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ (6) สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น (7) ป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท (8) ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี (9) ทำจิตใจให้ร่าเริง แจ่มใสอยู่เสมอ (10) มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และร่วมสร้างสรรค์สังคม

แนวทางการ “ให้สุขศึกษา” (Health education) และสร้าง “พฤติกรรมสุขภาพ” (Health behavior) นี้มีการใช้ต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ซึ่งสามารถใช้ต่อสู้กับโรคติดเชื้อได้พอสมควร แต่เครื่องมือสำคัญที่ช่วย “ปราบ” โรคติดเชื้อลงได้มาก คือ วัคซีน และยาปฏิชีวนะ

ต่อมาปัญหาสุขภาพของประชาชน ค่อยๆ เปลี่ยนจากโรคติดเชื้อเป็นโรคไม่ติดเชื้อ ตาม “การเปลี่ยนผ่านทางระบาดวิทยา” (Epidemiological transition) นานนับทศวรรษก่อนกำเนิด สสส. ทำให้ สสส. ต้อง “ออกแบบ” ขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป

สสส. กำเนิดขึ้นโดยแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพของประชาชนที่เปลี่ยนไป จากเดิมคือโรคติดเชื้อเป็นหลัก มามีโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อเพิ่มขึ้นมาก จะใช้แต่วิธีการเดิมคือ การมุ่งเน้นการให้สุขศึกษาเป็นหลักไม่ได้

แนวคิดหลักในการสร้าง สสส. มี 3 ประการ ประการแรก คือ การกลับไปสู่ “ต้นตอ” ของเรื่อง “สุขภาพ” ที่มิใช่เพียงการรักษาโรค หรือ “ซ่อม” สุขภาพเท่านั้น แต่ต้องเป็นการ “สร้างสุขภาพ” ตามแนวคิดเรื่องสุขภาพที่ “ตรา” ไว้ใน “ธรรมนูญ” ที่ก่อตั้งองค์การอนามัยโลก (WHO Constitution) ที่นิยามคำว่า “สุขภาพ” ไว้ในคำปรารภว่า สุขภาพ หมายถึง “สภาพของสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม มิใช่เพียงปราศจากโรคและความพิการเท่านั้น” (Health is a complete state of physical, mental and social well-being ; not merely the absence of disease or infirmity) นิยามคำว่าสุขภาพขององค์กรสากลอย่างองค์การอนามัยโลกจึงไปไกลกว่า พุทธภาษิตที่ว่า อาโรคยปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ กล่าวคือไม่เพียงปราศจากโรคและความพิการเท่านั้น แต่ต้องบรรลุถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์พร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม

การสร้างเสริมสุขภาพจึงมิใช่แค่การ “ซ่อมสุขภาพ” แต่ต้องสร้างทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ให้มีสุขภาวะสมบูรณ์ พันธกิจของ สสส. ที่จะสร้างขึ้นจึงต้องมุ่งอุดมคติสูงสุดของสุขภาพตามนิยามของสากล

ประการที่สอง แนวคิดในการนำ “ภาษีบาป” (Sin tax) มาสร้างสุขภาพ โดยศึกษาแบบอย่างจากบางรัฐในออสเตรเลีย และสหรัฐ ที่นำภาษีบุหรี่มารณรงค์เรื่องบุหรี่ โดยเรา “ไปได้ไกล” กว่าต้นแบบของเรา เพราะเราไม่เพียงนำภาษีบุหรี่มารณรงค์เรื่องบุหรี่เท่านั้น แต่เราขยายจากเรื่องบุหรี่เป็นเรื่องสุขภาพ โดยเราโชคดีที่ผู้นำประเทศท่านหนึ่ง คือ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างการขับเคลื่อน พ.ร.บ. สสส. ที่ตั้งคำถามสำคัญว่า “ทำไมเอาแค่ค่าธรรมเนียมภาษีบุหรี่ ทำไมไม่เอาจากเหล้าด้วย” ซึ่งทุกคนยอมรับ ทำให้ฐานเงินทุนขยายออกไปอีก 2 เท่า ซึ่งปัจจุบันรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เก็บจากบุหรี่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ได้จากเหล้าถึง 2 ใน 3

ภาษีบาปของเรา จึงได้ทั้งจากบุหรี่และเหล้า และพันธกิจของเราขยายจากการรณรงค์เรื่องบุหรี่ เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ นี่คือ “นวัตกรรมสังคม” ที่แท้จริง ที่ทั่วโลกยกย่องและชื่นชม หวังว่าจะไม่มี “บุรุษผู้มืดบอด” คนใด จะคิดทำลายอีก

ประการที่สาม การสร้างสุขภาพ เปลี่ยนจาก “การให้สุขศึกษา” เป็นการสร้างเสริมสุขภาพตามแนวทางของสากลคือ “กฎบัตรออตตาวา” (Ottawa Charter)

กฏบัตรออตตาวา ประกาศตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Building healthy public policy) (2) การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (Creating supportive environments) (3) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน (Strengthening community action) (4) การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Developing personal skills) (5) การปรับระบบบริการสุขภาพมุ่งสู่การป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ (Re-orientating health care services toward prevention of illness and promotion of health)

หลักการ 5 ข้อนี้ อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในธรรมชาติมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล แต่มักจะมีพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุผล จึงจำเป็นต้องสร้าง “ระบบนิเวศ” (Ecology) เพื่อ “กล่อมเกลา” “โน้มน้าว” “สร้างบรรยากาศ” และ “บังคับทางอ้อม” ให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง

หลักการเหล่านี้ เกิดจากความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยให้เกิดพฤติกรรมที่พึงควร เพื่อประโยชน์ต่อทั้งตัวมนุษย์เอง ทั้งร่างกายและจิตใจ และสังคม

ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพเข้าใจปรัชญาแนวคิดนี้ให้ดีๆ โดยเฉพาะคนที่ยัง “ยึดติด” กับแนวคิดเก่าที่เชื่อว่า สามารถทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ด้วยการให้ความรู้และทำให้เกิดความเชื่อเท่านั้น

***************