posttoday

นิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นคำตอบของใคร

10 ธันวาคม 2564

โดย...โคทม อารียา

*************

ผมไม่ได้ติดตามโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะมากนัก เพียงแต่จำได้ว่าเคยได้ยิน หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ พูดว่า เมื่อชาวบ้านจัดชุมนุมที่ทำเนียบเมื่อปีก่อน พอตัวแทนฝ่ายรัฐบาลรับข้อเสนอของชาวบ้าน การประท้วงก็ไปต่อไม่ได้ การชุมนุมก็สลายไปเอง

แต่เมื่อถึงคราวจะจัดการชุมนุมอีกครั้งในปีนี้ เพื่อทวงถามสัญญาของปีก่อน ที่ไม่ค่อยคืบหน้าหรือไม่ทำตาม คราวนี้ยังไม่ทันปักหลักชุมนุม ตำรวจควบคุมฝูงชนก็เข้าสลายการชุมนุมในยามวิกาลประมาณ 21.30 น. ของคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2564 โดยอ้างว่าการชุมนุมอาจจะทำให้มีการติดเชื้อโควิด และอาจเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ถือว่าผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จึงต้องทำตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี การกล่าวที่แสดงว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาล่วงหน้า (premeditated) ไม่ใช่บังเอิญมาประสบเหตุซึ่งหน้าจึงจับกุม คือคำกล่าวที่ว่า มีผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงหลายคน จึงเตรียมตำรวจหญิงเข้าจับกุม ส่วนเหตุผลนั้น มีนายตำรวจคนหนึ่งมาอ้างเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. มีการกีดขวางการจราจรทางเข้าออกของทำเนียบรัฐบาล ตั้งวางสิ่งของบนพื้นผิวจราจร

2. เจ้าหน้าที่เกรงว่าจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคจึงต้องการเข้าไปตรวจสอบ แต่ไม่ได้รับความยินยอม

3. เจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจาหลายครั้ง และจัดเตรียมบริเวณอื่นให้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมก็ยังฝ่าฝืนปักหลักอยู่ที่เดิม

4. เครือข่ายจะนะฯ เคยดำเนินการเรียกร้องเช่นนี้เมื่อปี 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของรัฐบาล และครั้งนั้นก็มีการกระทำผิดเช่นเดียวกัน เมื่อมีการกลับมาชุมนุมครั้งนี้ก็ยังคงฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

5. ข้อมูลด้านการข่าวและการตรวจสอบหลังจับกุมพบว่า มีผู้ร่วมชุมนุมที่มาจากกลุ่มอื่น จึงอาจทำให้เกิดการก่อความไม่สงบ "หากปล่อยให้มีการดำเนินการชุมนุมต่อเนื่องต่อไป อาจจะเกิดการก่อความไม่สงบขึ้นได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องทำการจับกุม"

จากข้อ 3. การบอกว่า “จัดเตรียมบริเวณอื่นให้ชุมนุม” นั้นเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องความเสี่ยงต่อการเผยแพร่โรคตามที่อ้างในข้อ 2. เพราะการให้ชุมนุมที่บริเวณอื่นจะทำให้แรงกดดันทางการเมืองลดลง แต่การแพร่โรคถ้ามีตามที่อ้างคงเหมือนเดิม

จากข้อ 4. การบอกว่ามีการกระทำผิดในปี 2563 ทำให้สงสัยว่าทำไมไม่ดำเนินการ แต่มารีบเร่งดำเนินการทันทีในครั้งนี้

การอ้างตามข้อ 5. ยิ่งไปกันใหญ่ว่า คือบอกว่ามารู้หลังการจับกุมว่า “มีผู้ร่วมชุมนุม” ที่อาจก่อความไม่สงบขึ้นได้ แสดงว่าตอนจับกุมยังไม่รู้และยังไม่มีใครทำอะไร แต่ได้จับกุมไว้ก่อนในทำนอง preventive detention ซึ่งไม่น่าจะมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งศัพท์ที่ใช้ส่อว่าหมายถึง “ผู้ก่อความไม่สงบ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เลยทำให้เกิดประเด็นทางการเมืองในอีกมิติหนึ่ง ห่างไปจากเรื่องการสร้างหรือไม่สร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ที่จะนะ พลอยทำให้ชาวจะนะผู้มาชุมนุมมัวหมองเพราะมี “ผู้ก่อความไม่สงบ” มาร่วมด้วย

ครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะมีความซับซ้อนมาก และมีจุดเริ่มต้นจากเหตุกการณ์ไม่สงบในชายแดนใต้ จึงขอเริ่มโดยการลำดับเหตุการณ์โดยสังเขปเพื่อให้เห็นวิวัฒนาการ ทั้งนี้ขอใช้ข้อมูลที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ บีบีซีไทยรวบรวมมาดังนี้

*4 ต.ค. 2559 ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการ "เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาสและยะลา

*7 พ.ค. 2562 ครม. เห็นชอบให้ขยายโครงการเมืองต้นแบบฯ ไปสู่ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามที่ ศอ.บต. เสนอให้เป็นเมืองต้นแบบที่ 4

*9 ธ.ค. 2562 ศอ.บต. ออกประกาศกำหนดให้ อ.จะนะ เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในฐานะ "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต"

*27 ก.พ. 2563 ศอ.บต. ทำหนังสือถึง อบจ.สงขลา ให้ดำเนินการตามมติ ครม. ในส่วนของการปรับผังเมืองเพื่อรองรับการลงทุนของภาคเอกชน ตามแผนการลงทุนเร่งด่วน

*28 เม.ย. 2563 ศอ.บต. ประกาศรับความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จ.สงขลา และเตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พ.ค. 2563

*12 พ.ค. 2563 ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลผลกระทบของโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน

*13 พ.ค. 2563 การชุมนุมของชาวจะนะ ทำให้ ศอ.บต. ประกาศเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมจะนะไปเป็นวันที่ 11 ก.ค.

*11 ก.ค. 2563 ศอ.บต. เดินหน้าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่โรงเรียนจะนะวิทยาและที่ อบต. ตลิ่งชัน โดยใช้กำลังตำรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อยกว่า 1,000 นาย ขณะที่ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการร้องเรียนว่าถูกสกัดไม่ให้เข้าร่วมเวที

*17 ก.ค. 2563 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นประกาศจุดยืนคัดค้านโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ และส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ให้ยกเลิกมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องและหยุดใช้อำนาจพิเศษของ ศอ.บต. ในการผลักดันโครงการ

*18 ส.ค. 2563 ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ และให้กรมโยธาธิการแก้ไขผังเมืองรองรับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน

*28 ก.ย. 2563 คณะกรรมการผังเมืองรวมจังหวัดสงขลามีมติเห็นชอบเปลี่ยนผังเมืองให้ที่ดินบางส่วนของ อ.จะนะ จากพื้นที่สีเขียว/สีเขียวอ่อน (พื้นที่ชนบทเกษตรกรรม/อนุรักษ์ป่าไม้) เป็นสีม่วง (อุตสาหกรรม) เพื่อรองรับโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ

*10-15 ธ.ค. 2563 ชาวบ้านจะนะและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางจาก จ.สงขลา มาปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้นายกฯ หยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และให้จัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนเดินหน้าโครงการ

*14 ธ.ค. 2563 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เดินทางมาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยกล่าวว่าเขาได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้มาสอบถามข้อมูลจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ พร้อมกับบอกว่าจะให้ชะลอโครงการไปก่อน หลังจากนััน ร.อ. ธรรมนัสได้ทำบันทึกข้อตกลง "ผลการเจรจาการแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับผู้แทนรัฐบาล" มีใจความสำคัญคือ

*ยอมรับข้อเสนอของเครือข่ายฯ ที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของ ศอ.บต. และติดตามการแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ

*ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ในโครงการนี้เอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผังเมืองและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการนิคมอุตสาหกรรมโดยบริษัทเอกชน

*รัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ของโครงการ

*15 ธ.ค. 2563 ครม.มีมติให้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

*8 ก.ย. 2564 ร.อ.ธรรมนัสถูกปลดจากการเป็น รมช. เกษตรฯ

*6 ธ.ค. 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้ชุมนุมเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และประท้วงที่มีการทำผิดสัญญาเนื่องจากบริษัทเอกชนได้เดินหน้าจัดทำอีไอเอของโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่

เนื้อหาที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเสนอว่าจะทำได้แก่

1.นิคมอุตสาหกรรมของ IRPC ขนาด 3,000 ไร่ ตอนเหนือของ ต.นาทับ อ.จะนะ ติดกับ อ.เมืองสงขลา (IRPC คือเจ้าของโรงกลั่นปิโตรเคมีที่มาบตาพุด)

2.นิคมอุตสาหกรรมของ TPI-PP ขนาด 16,753 ไร่ ซึ่งรวมถึง ท่าเรือน้ำลึก และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

เลขาธิการ ศอ.บต. พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการนี้ว่า ความจำเป็นที่ต้องพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ก็เพื่อการรองรับเยาวชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จบการศึกษาจะได้ทำงานในพื้นที่ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของเขา จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาเรื่องความยากจนมาก ต้องช่วยกันคิดโครงการให้เกิดพื้นที่จ้างงาน เมื่อถามว่า ถ้าสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะแล้วจะได้อะไร พล.ร.ต.สมเกียรติตอบว่า คือการพัฒนาอุตสาหกรรม

“โครงการนี้รัฐบาลจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เอกชนเข้ามาลงทุนและจ้างงาน ภาคเอกชนเองก็มีหลายทิศทาง เอกชน 1-2 รายต้องการลงทุนเรื่องอาหารฮาลาลครบวงจรที่ทันสมัย อีกรายหนึ่งต้องการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากก๊าซธรรมชาติที่ไม่มีการกลั่นปิโตรเคมี เรื่องนี้มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับไว้อยู่แล้วว่าจะทำอะไรนอกเหนือจากมติไม่ได้ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้”

“งานที่สำคัญคือท่าเรือน้ำลึก ซึ่งปัญหาในภาคใต้คือเรายังไม่มีท่าเรือน้ำลึก เรามีท่าเรือสงขลาเป็นท่าเรือกลาง แต่มันมีขนาดเล็กไม่เพียงพอต่อการขนส่งในปัจจุบัน มันกลายเป็นว่า การผลิตสินค้าอะไรก็ตามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเฟอร์นิเจอร์นี่ เราต้องใช้รถไฟขนไปยังแหลมฉบังเพื่อนำไปขายต่อ หรือไม่ก็ต้องขนส่งไปท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีอัตราการขนส่งมหาศาล การที่ยังไม่มีท่าเรือน้ำลึกทำให้เราไม่มีการขนส่งผ่านเรือเดินสมุทรไปข้ามทวีปก็มีผลกระทบ

อย่างที่เราลงทุนนิคมเมืองยางพาราหรือ Rubber city ปรากฏว่ามันขยับขยายไปได้ลำบากเพราะนักลงทุนก็ถามว่าจะส่งออกอย่างไร แต่พื้นที่ที่เรากำหนดไว้ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึกในจะนะมันเหมาะสมเพราะความลึกของน้ำทะเล และความลาดชันก็เหมาะสม ก็จะช่วยตรงนี้ได้” (อ่านรายละเอียดเพิ่มที่ https://www.dailynews.co.th/article/834085/)

ข้อเสนอที่สำคัญของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นคือ ชะลอโครงการและมาพูดคุยกันก่อนว่า การพัฒนาอำเภอจะนะและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมียุทธศาสตร์หรือเป้าหมายระยะยาวอย่างไร การกำหนดยุทธศาสตร์นั้นไม่ใช่ให้ ศอ.บต.ไปคิดแล้วมานำเสนอแบบสำเร็จรูป หรือคิดแทนคนในพื้นที่ เพราะคนในพื้นที่อาจคิดต่างก็ได้ เช่น ชอบวิถึชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าวิถีชีวิตแบบสังคมอุตสาหกรรม หรือ ชอบการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงอนุรักษ์หรือที่เรียกว่า เศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy ย่อว่า BCG Economy) ก็ได้

ดังนั้น เมื่อชะลอโครงการแล้ว ขอให้รัฐบาลจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment หรือ SEA) อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการพัฒนาในพื้นที่ของภาคใต้ต่อไป

มีข่าวว่า บริษัทที่ขับเคลื่อนโครงการนี้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ ๆ มาก่อนหน้านี้นานแล้ว เมื่อมีข่าวว่าจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ราคาที่ดินได้พุ่งสูงขึ้น สำหรับคำถามที่ว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นคำตอบของใครนั้น น่าจะตอบผู้ถือครองที่ดินได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งผู้ที่จะมาลงทุนด้วย ส่วน ศอ.บต. คงคิดว่าเป็นคำตอบสำหรับเยาวชนที่กำลังหางานทำอยู่ในพื้นที่

คนที่ชังเอ็นจีโอและเห็นว่าเป็นตัวถ่วงนั้น คงคิดว่าเป็นคำตอบของรัฐบาลและผู้ที่จะเข้ามาช่วยทำให้เกิดความก้าวหน้าและความทันสมัย ส่วนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น คงคิดว่าโครงการนี้ไม่ใช่คำตอบ เพราะไม่สามารถตอบสนองคนที่รักถิ่นฐานบ้านเรือน จึงขอให้มาคิดกันใหม่ในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่นจะดีกว่า ทั้งนี้ ไม่ปฏิเสธการพัฒนา แต่ก็ไม่อยากให้คนรวยจากที่อื่นมาพัฒนาโดยอ้างว่าจะมาช่วยพวกเรา

มีนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งถามผมว่า ทางออกแบบสันติวิธีอยู่ที่ไหน ผมตอบไม่ได้ชัดจึงตอบไปตามฟอร์มว่าอยู่ที่การได้มาคุยกัน คุยกันแบบสานเสวนา (dialogue) จากใจสู่ใจ ผมรู้อยู่ว่าคุยกันยาก เพราะมักมีธงและพร้อมจะชักธงรบกันอยู่แล้ว ชายแดนใต้ชอกช้ำมานาน ถ้าไม่หันหน้ามาคุยกัน ชาวบ้านคงชอกช้ำกันต่อไป ขอเสนอให้หมอสุภัทรกับพลเรือตรีสมเกียรติมานั่งคุยกันฉันมิตรจะได้ไหม ไม่ต้องสวมหัวโขนอะไรมาก ต่างฝ่ายต่างก็บอกว่าทำเพื่อชาวบ้านเหมือนกันอยู่แล้ว เติมความไว้วางใจเข้าไปหน่อย คงคุยกันรู้เรื่องว่า ถ้าจะมีโครงการให้ลูกหลาน โครงการนั้นจะมีหน้าตาอย่างไร และจะทำได้จริงดังตั้งใจหรือไม่