posttoday

ประสบการณ์สร้างปัญญา

09 ธันวาคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

***************

วันนี้ขอเริ่มต้นโดยการเขียนด้วยความศรัทธาต่อผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เป็นดาวประดับฟ้าจรัสแสงอยู่ในแวดวงการเมืองของไทย ที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติของนักการเมืองที่ดีซึ่งเป็นความหวังของคนไทย น่าเสียดายที่เธอเพิ่งจะลาออกจากพรรคการเมืองที่เธอสังกัด ทำให้สมาชิกภาพของเธอสิ้นสุดลง หลังจากเป็น ส.ส.เพียงสองปี

ไม่อยากพูดว่าเสียดาย เพราะคนดีคนเก่งแบบนี้อยู่ที่ไหน ทำงานอะไร ก็จะมีส่วนช่วยให้บ้านเมืองและสังคมเจริญเช่นเดียวกัน

“ น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ “ มีชื่อเล่นว่า “เพชร” และเธอก็เป็น “เพชร” ที่ประดับในวงการเมืองไทย เธอเป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช. ไม่ว่าเพชรเม็ดนี้จะไปอยู่ที่ไหน เพชรก็คือเพชรที่ส่องแสงงามทั้งในความสว่างและความมืด

ศรัทธาเธอมานานตั้งแต่ฟังเธอพูดครั้งแรกต่อที่สาธารณะ จำไม่ผิด ขณะนั้นเธอน่าจะยังเรียนอยู่ แต่ทั้งวิธีและเนื้อหาสาระการพูดขณะนั้น ทำให้ประทับใจ เชื่อมั่นในเยาวชนคนนี้ จากนั้น ผู้เขียนก็ได้ติดตามผลงานเธอมาตลอด รวมทั้งการขึ้นพูดบนเวที กปปส. และยิ่งดีใจเมื่อเธอได้รับเลือกเป็น ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองที่ดีพรรคหนึ่งในฐานะส.ส.ที่มีอายุน้อยที่สุด แต่สติปัญญาแหลมคมมากกว่า ส.ส.รุ่นพี่เป็นร้อยคน

ใช้คำว่า “ศรัทธา” กับเธอ คงไม่ผิด เพราะหาคำที่เหมาะสมกว่าคำนี้ยังหาไม่ได้ คนแก่คนหนึ่งจะเกิดความรู้สึก “ศรัทธา” กับเด็กรุ่นลูกคนหนึ่ง คงไม่ผิดอะไร

คนรุ่นใหม่ๆจริงๆต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เลอะเทอะเหมือนกับ ส.ส.หลายคนที่เที่ยวอ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดแต่จะล้มสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ของเก่าล้าสมัย” ฯลฯ

ผู้เขียนได้อ่านบทสัมภาษณ์ น.ส.เพชรชมพู สองหน้าเต็ม ๆ ที่ลงในไทยโพสต์( ลืมบันทึกไว้ว่าวันที่เท่าไร แต่ไม่นานมานี้ ) โดยคุณวรพล กิตติรัตวรางกุล ขอแนะนำให้อ่านหากใครยังไม่ได้อ่าน เปิดดูในเว็บของไทยโพสต์ก็น่าจะมี

สองปีในการเป็นนักการเมือง เธอได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์หลายอย่างเกี่ยวกับการเมืองไทย ทำให้เธอเข้าใจการเมืองไทยหลายแง่หลายมุมมากขึ้น เธอเห็นว่า “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” และ ส.ส.รุ่นใหม่ที่อ้างตัวว่าเป็น “ฝ่ายเสรีนิยม” สามารถเดินไปด้วยกันได้เหมือนกับการเมืองญี่ปุ่น เพียงแต่บางแง่บางมุมก็ต้องหา “จุดเชื่อม”

ประโยคที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษและเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความนี้ คือ “ ตั้งแต่สมัยเรียน มีข้อคิดอันหนึ่งที่ว่า สังคมเหมือนกับเป็นหุ้นส่วนระหว่างคนที่ยังมีชีวิตอยู่ กับ คนที่เสียชีวิตไปแล้ว และคนที่ยังไม่เกิด มันเป็นสายใยที่มีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างแน่นหนา ถ้าเราเติบโตมาในสังคมที่เราไม่ได้มองว่าในอดีตเกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมปัจจุบันจำเป็นต้องเดินเส้นทางนี้ เราก็จะไม่เข้าใจ “

อีกตอนหนึ่ง เธอกล่าวว่า “ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่าก่อนที่จะเป็นประเทศตอนนี้”และเธอได้อ้างคำพูดของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เคยบอกว่า “หากไม่เข้าใจ ก็ไม่รู้จักฐานราก ไม่รู้จักรากเหง้าของประเทศ ก็จะไม่เข้าใจที่ประเทศไทยมาถึงได้ในตอนนี้ ประเพณีบางอย่างมันมีที่มาที่ไปอย่างไร “ เธอกล่าวว่า อย่างน้อยการเรียนรู้ที่มาที่ไป ประวัติศาสตร์ของชาติตัวเอง มันทำให้เข้าใจบริบทของวันนี้ได้ “

คำพูดของเธอ “กระแทก” ความรู้สึกของผู้เขียนอย่างจัง และบอกตัวเองว่า นี่แหละใช่แล้ว จะหาคนอธิบายเรื่องนี้ อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายแบบนี้หาได้ยากมาก เธออาจจะคิดเอง หรือได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านมาจากแหล่งอื่นก็ตาม แต่คำว่า “หุ้นส่วน” ระหว่างอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่ามันแยกกันไม่ออก เราชอบหรือไม่ชอบอดีตแต่เราก็ไม่อาจลบอดีตได้ ส่วนอนาคตนั้นแม้ยังไม่เกิด แต่มันเป็น “แนวโน้ม” ที่จะเกิดจากปัจจุบัน ชอบหรือไม่ชอบเราก็หนีไม่พ้น อนาคตผูกพันหรือเป็นการเดินก้าวต่อไปของปัจจุบัน

อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็น “หุ้นส่วน” ซึ่งกันและกันจริง ๆ ปัจจุบันเป็นผลจากอดีต และอนาคตเป็นผลของปัจจุบัน ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของไทยได้ผ่านการกลั่นกรองและทดลองใช้มานานหลายร้อยปี ก่อนที่เราจะยึดถือในปัจจุบัน และส่งผ่านกันรุ่นต่อรุ่น

ต้นไม้ที่ไม่มีรากก็ไม่โต หรือหากโตก็ง่อนแง่น เจอลมแรง ก็โค่นลงมาแล้ว ต้นไม้จะโตหรือเหี่ยวก็อยู่ที่ราก การสร้างตึกก็ต้องลงฐานราก และดูดินว่าอ่อนแข็งมากน้อยเพียงไร จะใช้ฐานรากใหญ่กว้างลึกเพียงใด หรือทำอย่างไรจะให้ตึกอยู่ได้หากมีแผ่นดินไหว

ทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองไม่เคยลืมสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างสมมาในอดีตจนถึงพวกเราในปัจจุบันนี้ ทำไมเราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ศีลธรรมอันดีที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผู้บริหารบ้านเมืองทำวันนี้ก็เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต

ช่วงห้าปีที่ผ่านมา เราเห็นนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ประกาศตัวเป็น “นักการเมืองรุ่นใหม่” ที่ต้องการรื้อระบบความคิด กระบวนการวัฒนธรรมองค์กร ลบล้างขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคมไทย โดยอ้างว่าเป็น “สิ่งล้าหลัง” ที่ต้องเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดและทัศนคติของสังคมให้หมดตั้งแต่บนสุดจนถึงระดับล่าง พวกนี้จะอ่านหนังสือวิชาการที่ฝรั่งเขียน พออ่านแล้วก็เคลิ้ม แล้วเอาสูตรสำเร็จของฝรั่งมาแปะเป็นของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกัน

เช่น เลิกประเพณีการไหว้ครู เลิกระบบกราบไหว้ เลิกเรียกพี่ป้าน้าอาลุง และอาจจะลามไปถึงเรียกพ่อแม่ไปด้วย โดยอ้างว่าเป็น “สิ่งล้าหลัง” เป็นความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม แต่ให้เรียกคำนำหน้าว่า “คุณ” แทน ห้ามมีกฎระเบียบบังคับ หากท้องถิ่นใดอยากทำก็ให้ทำตามความสมัครใจ

เสียงตอบรับจากท้องถิ่นสะท้อนจากผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ. ) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต. ) ว่า ประชาชนในท้องถิ่นต้องการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นไว้ หรือเชื่อตามคำโฆษณาชวนเชื่อของนักการเมืองพวกนี้

แสดงว่า คนพวกนี้ไม่รู้จักคำว่า “เราเป็นเรา” โดยคิดแบบผิวเผิน ฉาบฉวย ไม่คำนึงถึงเงื่อนไข และขัอจำกัดทางสังคมที่สลับซับซ้อนและสะสมมายาวนาน แต่พออ่านตำราฝรั่งแล้วเคลิ้ม แล้วเขียนร่างแบบสังคมในอนาคตโดยใช้ประโยชน์จากสังคมดิจิตอล และสร้างสาวกคนรุ่นใหม่หวังจะมีชื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย

บางคนยังงมโข่งอยู่แต่ในตำรา อ่านตำราฝรั่งมากมาย และเลือกอ่านเฉพาะที่ตรงกับจริตของตัวเอง แม้ฝรั่งจะชี้แนะแง่มุมต่าง ๆ ก็ตาม ฝรั่งจะย้ำเสมอว่า เวลาเอาความคิดของเขาไปใช้ ต้องดูและปรับเข้ากับบริบทภายในประเทศของตนเองด้วย อะไรทำได้ทำไม่ได้ อะไรทำได้ขณะนี้ สิ่งใดที่ต้องรอไปก่อน หรืออาจทำไม่ได้เลย

คนพวกนี้อ่านตำราฝรั่งมาก อ่านเยอะ แล้วชอบอ้างอิงตำราฝรั่งเพราะดูโก้เก๋ แต่ลืมนึกถึงสิ่งที่ มหาตมะ คานธี ที่กล่าวว่า

“ ถ้าคุณเรียนจากตำรา คุณได้ความรู้ แต่ถ้าคุณเรียนจากประสบการณ์ คุณได้ปัญญา “ ( สิ่งที่คานธีไม่ได้พูด คือ ปัญญานั้นหากใช้สติกำกับ เราก็มีทั้งความรู้ และสติปัญญา )

คนบางพวกดูเหมือนมีความรู้ มีประสบการณ์ แต่ยิ่งพูดยิ่งแสดงว่าไม่ได้รู้จริง ขาดประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญญา พูดออกมาบางครั้งเหมือนคนขาดสติ

คนรุ่นเก่าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางปัญญา ที่คนรุ่นใหม่เรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวของคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ที่คิดว่าตัวเองเก่งนั้น จริงๆแล้วสมองยังไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ ส่วนคนรุ่นเก่าสมองพัฒนาเกินกำลังจนเริ่มจะเสื่อมแล้ว ถ้ามีตัวเชื่อมเอาความรู้ความคิดของคนสองวัยบวกเข้าด้วยกัน ขจัดทิฐิออกไป ให้เหลือแต่ความรู้และความจริง ผลก็น่าจะออกมาดี เพราะได้เห็นทั้งหมด คือ เห็น “ของเก่าและของใหม่” ด้วยกัน เอาความเห็นแยกส่วนเอามารวมกัน เป็นองค์รวม ทำให้การพัฒนาประเทศได้สมดุล ไม่ใช่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง

ถึงตอนนี้ หลายคนคงเข้าใจแล้วว่า ทำไมเราถึงต้องเรียนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม วัฒนธรรมของชาติไทย ทำไมพ่อแม่ปูย่าตายายถึงห่วงหลาน ๆ และทำไมลูกหลานจึงดูแลเอาใจใส่พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่แก่ลงทุกวัน

ถ้าคุณยังไม่เข้าใจสังคมไทย แล้วจะเป็นผู้แทนของคนไทยได้อย่างไร?