posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่แปด): The Quiet American กับ รัฐประหารในลาว พ.ศ.2502  

06 ธันวาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                          

****************************

คำถามที่ผมได้ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้ว คือ การไปสหประชาชาติของนายผุยส่งผลอย่างไร ?

รายงานสรุปผลเกี่ยวับข้อเท็จจริงสถานการณ์ในลาวของคณะอนุกรรมาธิการหาข้อเท็จจริงฯออกมาเป็นอย่างไร ?

และสหรัฐฯอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารอย่างที่เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติจริงหรือไม่ ?

และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติมีทีท่าหรือตอบโต้คำกล่าวของเลขาธิการสหประชาชาติอย่างไร ?

ทำไมนายผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีลาวต้องไปสหประชาชาติ ?

จากการเกิดการใช้กำลังของกองกำลังกองโจรในฝ่ายกลุ่ม “ประเทศลาว” ซึ่งเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ลาวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2502  และมีการปะทะกันในบริเวณพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของลาว ทำให้สหรัฐอเมริกาและตัวแทนที่ปรึกษาในองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization /SEATO/ซีโต้) เห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลาวนั้นมีความรุนแรงมาก มีแต่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่านั้นที่ไม่ให้ค่ากับความตื่นตระหนกดังกล่าวของสหรัฐฯและตัวแทนซีโต้ที่เห็นว่ามีวิกฤตการณ์จากภัยคุกคามทางการทหารของพวกคอมมิวนิสต์ในลาว   กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

รายงานว่า แม้ว่าเวียดตามเหนือและจีนจะสามารถส่งกองกำลังของตนเข้าไปในลาวได้รวดเร็วกว่าพันธมิตรตะวันตก แต่ฝรั่งเศสวิตกว่า หากพันธมิตรตะวันตกส่งกองกำลังเข้าไปในลาวก่อน จะกลายเป็นการยั่วยุและเพิ่มเงื่อนไขให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์จากจีนแลเวียดนามเหนือใช้ไปข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงในลาวได้  จากความเห็นต่างนี้ ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษต้องการให้กรณีดังกล่าวนี้เข้าไปหารือในองค์การสหประชาชาติก่อนที่จะบังคับใช้สนธิสัญญาซีโต้

ในวันที่ 7 เดือนกันยายน พ.ศ. 2502 เลขาธิการสหประชาชาติ นายด๊าก ฮัมมาร์เฮิลด์ (DagHammarskjöld) ได้รายงานวิกฤตการณ์ในลาวอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคง นายนายเฮนรี่ คาบอท ลอดจ์ (Henry Cabot Lodge Jr.) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาโดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการที่ทำหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในลาว  โดยสหรัฐฯ ฝรั่งเศสและอังกฤษผู้สนับสนุนมาตรการดังกล่าวเห็นว่า ในการเข้าไปหาข้อเท็จจริงในลาวควรทำเพียงการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่จะไม่ตัดสินว่าจะต้องมีมาตรการอะไรที่จะต้องทำเพื่อรักษาสันติภาพในลาว ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงได้ลงคะแนนเห็นด้วยต่อข้อเสนอดังกล่าว 10-1 โดยฝ่ายสหภาพโซเวียตเป็นประเทศเดียวที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วย หลังจากนั้น คณะอนุกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงได้เดินทางไปลาว อันประกอบด้วยตัวแทนจากอาร์เยนตินา อิตาลี ญี่ปุ่น และตูนีเซียหลังจากที่ตัวแทนอิตาลีและญี่ปุ่นได้เข้าพบนายผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีลาว และพบหลักฐานที่มีน้ำหนักพอสมควรที่เวียดตามเหนือได้เข้ามีส่วนร่วมในปฏิบัติการทางการทหารในลาว แต่ตัวแทนจากอิตาลีและญี่ปุ่นมีความเห็นส่วนตัวว่า ลาวควรจะใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นกับจีนคอมมิวนิสต์และเวียดนามเหนือ โดยตัวแทนจากญี่ปุ่นเห็นว่า จีนเชื่อว่าสหรัฐฯต้องการที่จะสร้างฐานทัพขึ้นในลาว และหนทางเดียวที่ลาวจะทำให้จีนเห็นว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นคือ ลาวควรจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนและให้ตัวแทนของจีนได้เห็นความจริงด้วยตัวเอง และทั้งตัวแทนอิตาลีและญี่ปุ่นต่างไม่แน่ใจว่าสหประชาชาติจะทำอะไรได้มากนักในกรณีนี้ของลาว เพราะจีนคอมมิวนิสต์และเวียดนามเหนือต่างไม่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ

ตัวแทนอิตาลีและญี่ปุ่นทำให้นายผุยมีความวิตกกังวลอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้ เขาคาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ แต่ตอนนี้ เขากลับต้องกลัวว่าสหประชาชาติจะกดดันให้เขาต้องหันไปเจรจากับเวียดนามเหนือ ผุยจึงเดินทางไปนิวยอร์คทันทีโดยหวังว่าจะไปอธิบายกรณีของประเทศลาวต่อสหประชาชาติด้วยตัวของเขาเอง แต่นายด๊าก ฮัมมาร์เฮิลด์ ไม่เห็นด้วยกับการเดินทางมาสหประชาชาติของนายกรัฐมนตรีลาว เพราะจะเป็นการส่งผลกระทบต่อการเตรียมรายงานของคณะอนุกรรมาธิการหาข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงรวบรวมและสรุปข้อมูลต่างๆอยู่

แม้ว่านายผุยจะเดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่แผนการเข้าประชุมสหประชาชาติต้องยกเลิกกะทันหัน และต้องรีบเดินทางกลับลาว เพราะในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2502  สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ในพระชนมายุ 74 พรรษา เสด็จสวรรคตหลังจากที่ทรงครองราชย์มาถึง 54 ปี พระองค์สวรรคตจากการประชวรมาก่อนหน้านี้  และสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา พระราชโอรสผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ทรงประชวรได้เสด็จขึ้นครองราชย์

สรุปผลรายงานเกี่ยวกับบข้อเท็จจริงสถานการณ์ในลาวของคณะอนุกรรมาธิการหาข้อเท็จจริงฯออกมาเป็นอย่างไร ?

รายงานของคณะอนุกรรมาธิการฯที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 นั้น ไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแต่อย่างใด เพราะมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกองกำลังกองโจรในลาวในช่วงเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมาธิการฯได้มีข้อสรุปว่า กองกำลังกองโจรในลาว “จะต้องมีการประสานงานที่รวมศูนย์สั่งการ” โดยได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือ “อันได้แก่อุปกรณ์ อาวุธ กระสุน พัสดุและเสบียง และรวมทั้งความช่วยเหลือจากแกนนำทางการเมือง”  แต่คณะอนุกรรมาธิการฯได้กล่าวว่า จากหลักฐานที่ได้รับ “ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า มีกองกำลังปกติของทหารเวียดนามเหนือได้ข้ามพรมแดนเข้ามาในลาว”

สหรัฐฯอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารอย่างที่เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติจริงหรือไม่ ?

ฮัมมาร์เฮิลด์เชื่อว่า สหรัฐฯอยู่เบื้องหลังแผนการเดินทางมาสหประชาชาติของนายผุย และในช่วงที่ฮัมมาร์เฮิลด์มาเยือนลาวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2502 เขาได้กล่าวต่อนายเฮนรี่ คาบอท ลอดจ์ (Henry Cabot Lodge Jr.) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติว่า เขาวิตกว่า เจ้าหน้าที่ทางการทหารและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯในลาวกำลังทำการสนับสนุนให้มีการทำรัฐประหารขึ้นในลาว โดยฮัมมาร์เฮิลด์ได้เทียบเคียงสถานการณ์ในลาวกับนวนิยายอันโด่งดังเรื่อง “The Quiet American”  ของเกรแฮม กรีน (Greham Greene) นักเขียนชาวอังกฤษ ที่เผยแพร่มาได้สี่ปีก่อนหน้านั้น นั่นคือ ในปี พ.ศ. 2498        

ทำไมคนระดับเลขาธิการสหประชาชาติถึงอ้างอิงการจะเกิดรัฐประหารในลาวกับ “นวนิยาย” ?

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่แปด): The Quiet American กับ รัฐประหารในลาว พ.ศ.2502  

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่แปด): The Quiet American กับ รัฐประหารในลาว พ.ศ.2502  

       

                                     

         

เนื้อเรื่องหลักของ “the Quiet American” เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเล่าเรื่องของตัวละครที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษชื่อโทมัส ฟาวเลอร์ โดยฟาวเลอร์ได้เล่าถึงการล่มสลายของอาณานิคมฝรั่งเศสในเวียดตามและช่วงแรกเริ่มที่สหรัฐฯเข้าไปเกี่ยวข้องในสงครามเวียดนาม ส่วนเนื้อเรื่องรองเป็นเรื่องรักสามเส้าระหว่างตัวฟาวเลอร์ สายลับซีไอเอที่ชื่อว่าอัลเดน ไพล์ (Alden Pyle) และฟอง (Phuong) สาวเวียดนาม

นัยยะของนวนิยาย “the Quiet American” คือการตั้งข้อสงสัยต่อที่มาของการที่สหรัฐฯเข้าไปพัวพันในเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงทศวรรษ พ.ศ.2493 โดยเกรแฮม กรีน ผู้แต่งได้เสาะหาสาเหตุดังกล่าวผ่านการเชื่อมโยงระหว่างตัวละครสำคัญของเรื่อง นั่นคือ ฟาวเลอร์ ไพล์และฟอง

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่แปด): The Quiet American กับ รัฐประหารในลาว พ.ศ.2502  

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่แปด): The Quiet American กับ รัฐประหารในลาว พ.ศ.2502  

“The Quiet American” ได้รับความสนใจอย่างมากเพราะนวนิยายสามารคาดการณ์ได้ถูกต้องถึงผลของสงครามเวียดนามและนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในเวลาต่อมาตั้งแต่ทศวรรษ พ.ศ. 2493 โดยเกรแฮม กรีน ได้สร้างภาพให้ ไพล์ ตัวละครที่เป็นซีไอเอ หลงเชื่อในความพิเศษของชาติของตัวเอง (American exceptionalism) จนทำให้เขาไม่สามารถเห็นว่า เขาได้นำความหายนะมาสู่ชาวเวียดนามได้อย่างไร

ในการเขียน “the Quiet American” เกรแฮม กรีน ได้ใช้ประสบการณ์ในฐานะเขาเคยเป็นผู้สื่อข่าวในช่วงสงครามให้กับหนังสือพิมพ์ The Times และ Le Figaro ในช่วงที่อินโดจีนอยู่ภายใต้ฝรั่งเศสระหว่าง พ.ศ.2494-2498  และในปี พ.ศ.2494 นี้เองที่ กรีนได้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียน “The Quiet American” ในชณะที่เขากำลังขับรถจาก “เป๋น แช” (Ben Tre เมืองทางตอนใต้ของเวียดนาม) กลับไปยังกรุงไซ่ง่อน โดยมีชาวอเมริกันที่เข้ามาในเวียดนามเพื่อทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมติดรถไปกับเขาด้วย และชาวอเมริกันนี้ได้นั่งบรรยายให้เขาฟังเกี่ยวกับการพยายามหา “กำลังฝ่ายที่สาม” (the third force) ในเวียดนาม

และประเด็นเรื่อง “กำลังฝ่ายที่สาม” นี้เองที่ เกรแฮม กรีนได้เชื่อมโยงกับบุคลิกภาพและจุดยืนของไพล์กับเวียดนาม อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง “the Quiet American”  ดังที่จะได้ขยายความต่อในตอนต่อไป

(แหล่งอ้างอิง: William J. Rust, Before The Quagmire: American Intervention in Laos 1954-1961)