posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบหก): การปฏิเสธคำสาบานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และการยุติ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ในการสืบราชสันตติวงศ์

02 ธันวาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร

*******************

การคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการในพระองค์ โดยพระราชบัญญัติฯกำหนดให้เลือกจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการโดยไม่ได้จำกัดจำนวนและไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีคุณสมบัติความสามารถโดดเด่น การคัดเลือกเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2417 จำนวน 49 พระองค์/คน และครั้งที่สอง พ.ศ. 2430 จำนวน 42 พระองค์/คน

เนื่องจากการทำงานของที่ปรึกษาฯนี้ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์จะทรงปรึกษาแล้วแต่กรณี มิได้ต้องมีองค์ประชุมอย่างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน การดำเนินงานอาจจะเป็นการสั่งการให้ที่ปรึกษาฯบางคนรับไปปฏิบัติ หรือทำงานในลักษณะที่เป็นคณะทำงาน การคัดเลือกจึงอยู่ในลักษณะที่กว้างขวางกว่าสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และในการแต่งตั้งครั้งแรก 49 พระองค์/คน มีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ผู้อาวุโสสูงสุดอย่างพระองค์เจ้ากลาง (กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์) ที่มีพระชนมายุ 68 พรรษาลงมาถึงพระองค์ที่มีพระชนมายุน้อยที่สุด 17 พรรษา

อย่าง สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี และในจำนวน 49 นี้ มีพระบรมวงศานุวงศ์ 13 พระองค์ เป็นข้าราชการระดับเจ้าพระยา 2 คน ระดับพระยา 25 คน ระดับเจ้าหมื่น 3 คนและระดับพระ 5 คนและหลวง 1 คน และจะยังไม่ขอกล่าวถึงการแต่งตั้งครั้งที่สองที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2430

ในเบื้องแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงมีพระราชดำริจะแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค บุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อายุ 46 ปี)ให้เป็นที่ปรึกษาราชการในพระองค์ด้วยเพราะทั้งสองท่านมีประสบการณ์การดูแลราชการแผ่นดินมายาวนาน และได้ทรงมีจดหมายเชิญทั้งสองท่านให้เข้ามาเป็นสมาชิกในสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เพราะไม่ว่าอย่างไรเสีย ในการปรึกษาหารือ พระองค์ก็คงต้องปรึกษาทั้งสองท่านนี้อยู่ดี และพระองค์ต้องการแสดงให้เห็นถึงความมีไมตรี อีกทั้งหากไม่เชิญ ผู้คนก็จะคิดไปได้ว่า การตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์เป็นการแบ่งฝักฝ่ายตั้งแง่และทำให้เกิดความแปลกแยกแตกต่างกัน ดังความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา

“….เห็นว่าเจ้าคุณสมควรจะเป็นที่ปรีวี เคาน์ซิลช่วยทำนุบำรุงในตัวฉัน....เจ้าคุณก็เปนผู้ทนุบำรงแผ่นดินแลตัวฉันมาแล้ว ถึงจะเปนปรีวีเคาน์ซิลก็ดี มิเปนก็ดี ก็คงจะต้องปฤกษาหาฤา...ท่านเสนาบดีนี้ ถึงจะอยู่ในปรีวีเคาน์ซิลก็ดิ มิได้อยู่ก็ดี ฉันก็ไม่มีความรังเกียจสิ่งไร ไม่เป็นเพราะมีความรังเกียจแล้วจึงให้มาเข้าในปรีวีเคาน์ซิล ถ้าจะไม่เชิญให้เจ้าคุณเข้ามา...คนทั้งปวงซึ่งทราบกดหมายและทราบการก็จะพูดกันไปต่างๆ ดูเหมือนในหลวงรังเกียจท่านเสนาบดีผู้ใหญ่..จะมีแต่คนเล็กๆก็ดูหาสมควรไม่...” แต่ทั้งสองท่านปฏิเสธ

ประเด็นที่สมเด็จเจ้าพระยาฯไม่ยอมรับ คือ การต้องทำการสาบานตน โดยท่านได้กราบบังคมทูลเป็นหนังสือตอบกลับ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้จะโปรดเกล้าฯโปรดกระหม่อมให้ข้าพระพุทธเจ้ารับเปนปรีวีเคาน์ซิล ถือกดหมายรับคำษาบาลตัวลงเหมือนคนแก่ทั้งหลาย...ข้าพเจ้าฉลองพระเดช/พระคุณ ไม่ได้”

ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ตนสาบานซ้ำหลังจากที่ได้สาบานไปก่อนหน้าในพระราชพิธีก่อนหน้านี้ เพราะตนได้รับราชการดูแลแผ่นดินมาโดยเป็นเวลายาวนานอันแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีอยู่แล้ว และตนไม่ใช่คนทั่วไปที่จะต้องมาให้ถวายสัตย์สาบานอีก และมีผู้ตีความว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ “คงรู้สึกว่ารัชกาลที่ 5 ทรงกระทำเหมือนไม่ไว้วางใจในตัวท่าน และจะใช้พระราชบัญญัติปรีวี เคาน์ซิลเพื่อตรวจสอบและควบคุมความประพฤติของท่าน”

สำหรับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ อาจจะเป็นได้ว่าเพราะท่านเกรงใจสมเด็จเจ้าพระยาฯผู้บิดาที่ได้ปฏิเสธไปก่อนแล้ว จึงได้ตอบปฏิเสธไปและเพื่อมิให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขัดเคืองพระทัย จึงหาทาออกที่ดูสมเหตุสมผลและนุ่มนวลโดยอ้างเหตุผลว่าตนมีงานราชการมากอยู่แล้ว เกรงว่าจะทำหน้าที่ไม่เต็มที่ รวมทั้งมีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัวอยู่ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมิได้ทรงทักท้วงหรือตำหนิประการใด

การเชิญสมเด็จเจ้าพระยาฯและเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์นั้น นอกจากเหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงต้องการใช้สภาที่ปรึกษาในพระองค์เป็นพื้นที่ของการปรึกษาหารือสมเด็จเจ้าพระยาฯและเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ที่เป็นผู้นำขุนนางตระกูลบุนนาคและเครือข่ายร่วมกับสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์คนอื่นๆ เพื่อลดทอนอำนาจอิทธิพลอันจะเกิดขึ้นจากการสื่อสารแบบเดิมที่ไม่มีเวทีที่เป็นทางการ เพราะการมีพื้นที่หรือที่ประชุมอย่างเป็นทางการที่ต้องอาศัยการลงคะแนนเสียงตัดสินของสมาชิกแต่ละคนโดยเท่าเทียมกันจะช่วยลดอำนาจอิทธิพลและระบบอุปถัมภ์ส่วนตัวลงได้

ดังพระราชปุจฉาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯที่เคยถามต่อร้อยเอกเบอร์นีย์ว่า “สมาชิกรัฐสภามีอำนาจเฉพาะบุคคลหรือไม่ หรือจะมีอำนาจต่อเมื่อร่วมกับสมาชิกรัฐสภาอื่นๆในการปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาเท่านั้น

ดังนั้น การทำให้บรรดาขุนนางเสนาบดีเข้ามาอยู่ในองค์กรหรือสถาบันทางการเมือง จะทำให้ลดทอนอำนาจอิทธิพลของกลุ่มขุนนางเสนาบดีบางกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมือง นั่นคือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค โดยให้เข้ามาใช้อำนาจร่วมกับขุนนางและพระราชวงศ์องค์อื่นๆ

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบหก): การปฏิเสธคำสาบานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และการยุติ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ในการสืบราชสันตติวงศ์

       เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)                             สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ส่วนที่สมเด็จเจ้าพระยาฯไม่พอใจและเกรงว่าจะใช้พระราชบัญญัติปรีวี เคาน์ซิลเพื่อตรวจสอบและควบคุมความประพฤติของท่านนั้น ก็น่าจะมีความจริงส่วนหนึ่ง แต่จริงๆแล้ว จากอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตดหรือสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินต่างหากที่สมเด็จเจ้าพระยาฯควรจะวิตกหวั่นเกรง

สมเด็จเจ้าพระยาฯกลับไม่ได้สงสัยเลยว่า ทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจึงไม่เชิญตนและเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์บุตรชายให้เป็นสมาชิกด้วย แต่กลับตั้งแต่เฉพาะข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์เพียงระดับพระยาเท่านั้น ดังจะได้เห็นการตรวจสอบควบคุมของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นกับขุนนางตระกูลบุนนาค

ที่สำคัญคือ นอกจากสภาที่ปรึกษาในพระองค์จะทำหน้าที่ในการสืบสวนหาความจริงและมีอำนาจในการไต่สวนเหมือนศาลแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการจัดวางสัมพันธภาพทางอำนาจในการสืบสันตติวงศ์ผ่านพิธีการสาบานตนของสมาชิกไว้ได้อย่างแยบคาย ดังในกรณีปฏิกิริยาโต้ตอบของกลุ่มสยามหนุ่มต่อการขาดการเข้าสาบานของสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและเหตุผลในการปฏิเสธการเป็นที่ปรึกษาในพระองค์ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ผ่าน “ดรุโณวาท” ที่มีการตีพิมพ์คำถามข้อสงสัยที่มีผู้ส่งมาภายใต้หัวข้อ “ถามด้วยเรื่องปรีวีเคาน์ซิล”

โดยผู้เขียนบทความเรื่อง “ถามด้วยเรื่องปรีวีเคาน์ซิล” อ้างว่าได้อ่านราชกิจจานุเบกษาที่ประกาศเรื่องการถือน้ำพิพัฒน์ และได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพิธีและคำสาบาน โดยอ้างว่า ในคำสาบานนั้นมีข้อความว่า ผู้ที่เป็นที่ปรึกษาในพระองค์ได้สาบานตนว่า “จะรักษาความสามัคคีรศพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันคิดราชการทำนุบำรุงแผ่นดินสยาม ให้มีความเจริญเหมือนคำในเอดเรดส์ (address/ผู้เขียน) กล่าวไว้ว่า ปรีวีเคาน์ซิลทั้งหลายจะตั้งความสุจริตกตัญญูกะตะเวทีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตลอดพระบรมราโชรศที่จะสืบราชอิศริยยศต่อไปให้ต่อติดเนื่องไปดั่งเช่นพระราชทานพรแก่พวกปรีวีเคาน์ซิลทุกประการนั้น ก็เปนที่หมายอีกอย่างหนึ่ง ด้วยว่ากรุงสยามคงจะมีความเจริญต่อไปได้ เพราะการที่จะสืบราชอิศริยยศต่อติดเนื่องกัน”

และผู้เขียนท่านนั้นได้ตั้งคำถามว่า ได้เห็นชื่อเสนาบดีผู้ใหญ่หลายท่าน ได้แก่ เจ้าพระยาภูธราภัย เจ้าพระยาภาณุวงศ์ ที่เข้าพิธีสาบานตน แต่อีกหลายท่านไม่เห็นและผู้เขียนบทความนั้นได้แกล้งแสดงความเห็นว่า ไม่ทราบว่าเป็นด้วยเหตุผลอันใดที่ปรากฏชื่อท่านเสนาบดี จะเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เชิญ เพราะอายุมากและป่วยไข้อยู่ หรือเชิญแล้ว แต่ปฏิเสธด้วยเหตุผลอันใดก็ไม่มีผู้ใดทราบ หรือเป็นเพราะไม่ต้องการอวดสติปัญญา “หรือถ้าในหลวงได้เชิญแล้ว ท่านไม่รับก็ผิดไป ฤาคำสาบาลจะเรี่ยวแรงเปนอย่างไร ท่านกลัวจะรับการไปไม่ตลอด ท่านจึงใม่อาจรับ”

แม้ว่าใน “ดรุโณวาท” จะไม่ได้ประกาศชื่อท่านเสนาบดีที่ผู้ส่งคำถามอ้างว่า แต่อีกหลายชื่อไม่เห็น และยังเลือกที่จะกล่าวถึงชื่อผู้ที่เข้าพิธีสาบาน อันได้แก่ เจ้าพระยาภูธราภัย ซึ่งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณให้แก่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองทั้งสอง นั่นคือ ฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ เพราะเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) เป็นพี่ชายของพระยากลาโหมราชเสนา (กรับ) ผู้ที่ไม่เข้าพิธีสาบานตนในกรณีของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยพระยากลาโหมราชเสนา (กรับ) เลือกที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และการกล่าวถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ก็เป็นการส่งสัญญาณไปยังฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ เพราะเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม) เป็นคนในตระกูลบุนนาคที่มาเข้ากับฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

และสัญญาณดังกล่าวนี้ยังส่งไปยังผู้คนทั่วไปด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้คนฝ่ายตรงข้ามทั้งสอง ก็ยังมีผู้ที่มีจิตใจสมัครสมานที่จะรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้มีความยุติธรรมและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของข้าราชการและราษฎร อีกทั้ง “ดรุโณวาท” ยังเผยแพร่เรื่องราวดังกล่าวในรูปของนิทานเรื่อง “ว่าด้วยนายจิตรกับนายใจสนทนากัน” ที่มีความตอนหนึ่งว่า

“ในหลวงเชิญมาเปนเคาน์ซิลกันทั้งนั้น จะเปนเองไม่ได้ง่ายๆ ต่อทรงรักใคร่เชื่อถือแล้วจึงโปรดให้เปนที่เชิญมาเปนเคาน์ซิลนั้นไม่รับเปนอยู่สองท่านเท่านั้น นายใจจึ่งถามว่าใคร นายจิตรจึ่งว่า พูดไม่ได้ ท่านโตๆ รู้ไปจะเอาตัวไปทำโทษดอก”

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวตรงๆ ว่า ชื่อท่านเสนาบดีที่หายไปสองท่านคือ สมเด็จเจ้าพระยาฯและเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ แต่น่าจะมีข่าวที่ลือกันออกไปสู่ผู้คนทั่วไปว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ปฏิเสธที่พระราชหัตถเลขาเชิญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และผู้คนก็น่าจะคาดเดาได้ และน่าจะเกิดข้อสงสัยถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดีและความสมัครสมานร่วมมือที่จะพัฒนาบ้านเมืองด้วย “ความสุจริตกตัญญูกะตะเวทีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตลอดพระบรมราโชรศที่จะสืบราชอิศริยยศต่อไป”

นั่นคือ ผู้ที่ปฏิเสธการสาบานคือผู้ที่ไม่ยอมรับว่า ตนจะ “ตั้งความสุจริตกตัญญูกะตะเวที ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตลอดพระบรมราโชรศที่จะสืบราชอิศริยยศต่อไป” โดยเฉพาะข้อความอันหลังนี้ บ่งบอกถึงการไม่ยอมรับให้พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ให้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

และที่น่าสังเกตคือ ต่อจากการตีพิมพ์คำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับ “อีกหลายท่านที่ไม่เห็น” ในรายชื่อผู้เข้าพิธีสาบานตนเป็นที่ปรึกษาในพระองค์และการไม่เข้าพิธีสาบานของพระยากลาโหมราชเสนา (กรับ) ทางบรรณาธิการ “ดรุโณวาท” ได้ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับการสาบานตนภายใต้หัวข้อ “กระษัตรเมืองยุไนติดสเตต” ที่หมอบรัดเลย์เคยตีพิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ “บางกอกรีคอเดอร์” เมื่อเกือบสิบปีก่อน

โดยอธิบายว่า แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่มีพระมหากษัตริย์ แต่ก็มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องสาบานตนต่อรัฐธรรมนูญ การตีพิมพ์การสาบานตนของประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างสหรัฐอเมริกาต่อจากข้อเขียนเรื่อง “คำถาม” เกี่ยวกับการไม่ยอมสาบานตนของข้าราชการเสนาบดีผู้ใหญ่ของสยาม ย่อมเป็นการท้าทายและเสียดสีสมเด็จเจ้าพระยาฯ และพระยากลาโหมราชเสนา (กรับ) ที่ไม่ปฏิเสธการสาบานตน และย่อมจะทำให้ผู้อ่านทั่วไปรู้สึกสงสัยเคลือบแคลงใจไปด้วย

ข้อความในคำสาบานที่ว่า “ตลอดพระบรมราโชรศที่จะสืบราชอิศริยยศต่อไป” ถือเป็นการยุติหลักการ “เอนกนิกรสโมสรสมมุติ” ที่ให้อำนาจในการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ในแต่ละครั้งอยู่ที่ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ขึ้นครองราชย์และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ทำให้กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคมีอำนาจอิทธิพลเหนือพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังยุติสิทธิ์ของผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ไปด้วย หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการยุบเลิกกรมพระราชวังบวรฯ ในฐานะตำแหน่งรัชทายาทไปโดยปริยาย

หรืออาจกล่าวได้ว่า จากคำข้อความในคำสาบานนั้น ถือเป็น “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นครั้งเดียว และมีผลใช้ได้ไปตลอดกาล !

(แหล่งอ้างอิง: จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5, มัดที่ 154 เลขที่ 11 จดหมายเรื่องขอเชิญมาเป็นปรีวีเคาน์ซิล อ้างใน ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2416-2435): ศึกษาในกรณีขุนนางตระกูลบุนนาค; กจท. , ร.5. รล. 5/6 เรื่องข้อบังคับที่ประชุมเสนาบดี อ้างใน ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2416-2435): ศึกษาในกรณีขุนนางตระกูลบุนนาค; ขจร สุขพานิช, “ดรุโณวาท หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย พ.ศ. 2417-2418” อ้างใน ขจร สุขพานิช, ก้าวแรกของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย; ดรุโณวาท, วันอังคาร เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2417 เล่มที่ 1; ดรุโณวาท 1:216 พฤศจิกายน 2417 อ้างใน ประภา สังข์บุญลือ, วิเคราะห์หนังสือพิมพ์ดรุโณวาท)